สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center โดย International Institute for Management Development หรือ IMD ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2561 ซึ่งสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเขตเศรษฐกิจสูงสุด 5 อันดับแรกยังเป็นกลุ่มประเทศเดิม อันดับที่ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือฮ่องกง, สิงคโปร์, เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาเขตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน สามารถเรียงลำดับได้ดังนี้
- สิงคโปร์ (อันดับที่ 3)
- มาเลเซีย (อันดับที่ 22)
- ไทย (อันดับที่ 30)
- อินโดนีเซีย (อันดับที่ 43)
- ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 50)
สำหรับประเทศไทย เดิมปี 2560 อยู่อันดับที่ 27 แต่ปีนี้กลับตกลงมา 3 อันดับ อยู่อันดับที่ 30 โดยผลการจัดอันดับนี้แบ่งเกณฑ์เป็น 4 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ, ประสิทธิภาพของภาครัฐ, ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประเทศไทยมีผลการจัดอันดับดีขึ้น 1 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (อันดับที่ 48) มีผลการจัดอันดับเท่าเดิม 2 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ (อันดับที่ 10) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (อันดับที่25) ขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐกลับมีอันดับที่ลดลง (อันดับที่ 22)
ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒน์ ให้เหตุผลว่าสาเหตุที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 22 มาเป็นอันดับที่ 24 ในปีนี้เป็นผลมาจากการใช้จ่ายขาดดุลเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลก็เฝ้าระวังและรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว
สำหรับอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยย้อนหลัง 5 ปี พบว่าอยู่ในช่วงอันดับที่ 27-30 โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ปี 2556 อันดับที่ 27
- ปี 2557 อันดับที่ 29
- ปี 2558 อันดับที่ 30
- ปี 2559 อันดับที่ 28
- ปี 2560 อันดับที่ 27
- และปี 2561 อันดับที่ 30
อ้างอิง:
- สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย
- thailandcompetitiveness.org/topic_detail.php?lang=Th&ps=70