เพราะ ‘แดนมังกร’ คือเส้นเลือดหลักของ ‘เถ้าแก่น้อย’ ซึ่งที่ผ่านมาได้เจอความท้าทายเข้ามาหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่แบรนด์จีนเองก็หันมาทุ่มตลาดภายในประเทศเช่นกัน
ในการให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ก่อนหน้านี้ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ระบุว่า ในตลาดจีนที่เถ้าแก่น้อยครองส่วนแบ่งกว่า 10% ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพียงแต่ต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่
โดยการปรับทิศทางจะเห็นอย่างชัดเจนในไตรมาส 2 นี้ โดยมีเป้าหมายที่จะเจาะช่องทาง Traditional Trade หรือช่องทางกระจายสินค้าแบบการตลาดดั้งเดิม และช่องทาง E-Commerce ให้มากขึ้น
ล่าสุด TKN ได้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย (Distributor) เพิ่มเติมอีก 1 ราย ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่การกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม Traditional Trade และช่องทาง E-Commerce ซึ่งเป็นช่องทางที่มีศักยภาพและโอกาสขยายตัวได้อีกมาก
การแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายเพิ่มเติมในครั้งนี้ TKN ระบุว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแผนรุกขยายธุรกิจในตลาดจีน โดย TKN วางแผนเพิ่มไลน์สินค้าในช่องทางจำหน่ายร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมและช่องทางออนไลน์ในช่วงครึ่งปีหลังอีก 10 รายการ จากเดิม 6 รายการ
ขณะเดียวกัน บริษัท Pan Orion Corp ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอีกรายในประเทศจีน เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของการทำตลาดในประเทศจีนและเป็นผู้ถือหุ้นใน TKN ในสัดส่วน 3.5% นั้น จะรับผิดชอบการจัดจำหน่ายสินค้าเข้าสู่ช่องทางจำหน่ายห้างค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ Modern Trade เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดผ่านช่องทางดังกล่าว
“ช่วงที่ผ่านมาการทำตลาดใน Traditional Trade และ E-Commerce ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งการเพิ่มเติมตัวแทนจำหน่ายครั้งนี้จะทำให้เราสามารถกระจายสินค้าได้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในทุกช่องทางมากยิ่งขึ้น โดยมั่นใจว่าจากแผนดำเนินงานครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมรายได้จากตลาดส่งออกให้ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้” อิทธิพัทธ์กล่าว
สำหรับไตรมาส 1/64 TKN มีรายได้รวม 919.9 ล้านบาท ลดลง 17.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้จากการขายในต่างประเทศที่ลดลงจากตลาดหลักในประเทศจีน และตลาดในประเทศจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 55.9 ล้านบาท ลดลง 34.8%
ในปี 2564 TKN ตั้งเป้ารายได้รวม 5-5.2 พันล้านบาท เติบโตประมาณ 27% จากปี 2563 ที่มีรายได้ 3,983 ล้านบาท โดย บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิของ TKN ในปี 2564 ไว้ที่ 545 ล้านบาท เติบโต 59%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Hermès เปิดตัวเว็บไซต์ E-Commerce ของตัวเองในประเทศไทย พร้อมจัดส่งสินค้าให้ถึงบ้านลูกค้า
- Louis Vuitton เป็นแบรนด์ลักชัวรีเจ้าแรกในประเทศไทย ที่เปิดเว็บไซต์ช้อปปิ้ง E-Commerce ของตัวเอง
- รู้จัก ‘MercadoLibre’ หรือแพลตฟอร์ม MELI อีคอมเมิร์ซครบวงจรเบอร์ 1 ในแถบลาตินอเมริกา เจ้าของฉายา ‘Amazon’ แห่งทวีปอเมริกาใต้