×
SCB Omnibus Fund 2024

ทิสโก้เตือนสภาพคล่องอาจลดลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 6 เดือน กดดันหุ้นโลก 5-7% ด้านทรีนีตี้คาดกำไร บจ. เป็นจุดชี้ชะตาตลาด

01.06.2023
  • LOADING...
สภาพคล่อง

บรรยากาศของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเชิงบวก โดยเฉพาะในตลาด Developed Market เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ส่วนตลาดหุ้นหลักที่ปรับตัวลงในปีนี้ ได้แก่ ฮ่องกง จีน ส่วนตลาดหุ้นไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่ติดลบมากที่สุดในโลก ลดลงไปกว่า 8% โดยเป็นรองเพียงตลาดหุ้นตุรกีที่ลดลง 10% 

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มตลาดหุ้นโลกหลังจากนี้ ไม่เพียงแค่มีความเสี่ยงจากเรื่องเศรษฐกิจโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ยังมีความเสี่ยงจากเรื่องของสภาพคล่องที่อาจจะเริ่มลดลง

 

คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า แม้ว่าคณะเจรจาของทำเนียบขาวและพรรครีพับลิกันได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ แล้ว แต่ตลาดหุ้นยังคงได้รับแรงกดดันจากปัญหาสภาพคล่องที่มาจาก 2 ประเด็นคือ 

 

  1. รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องออกพันธบัตรจำนวนมากมาชดเชยเงินในบัญชีสำรองที่ใช้ไปในช่วงที่ยังไม่สามารถขยายเพดานหนี้ได้  
  2. มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening) ที่ดึงสภาพคล่องออกจากตลาดอีกเดือนละประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์

 

ทั้งสองประเด็นดังกล่าวจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับราว 4% ส่งผลให้มูลค่าหุ้น (Valuation) ทั่วโลกจะลดลงราว 5-7% ซึ่งคาดว่าจะทำให้ดัชนี S&P 500 ปรับฐานลงไปอยู่ระดับราว 3,900 จุด จึงแนะนำให้นักลงทุนขายทำกำไรก่อนในช่วงนี้ 

 

“โดยปกติรัฐบาลสหรัฐฯ จะดำรงยอดเงินในบัญชีสำรองไว้ที่ระดับประมาณ 2% ของ GDP หรือราว 5 แสนล้านดอลลาร์ แต่ในช่วงที่ผ่านมา วิกฤตหนี้ที่ชนเพดานทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงใช้จ่ายเงินจากบัญชีสำรองแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้กู้เงินเพื่อชดเชย จนเงินในบัญชีสำรองลดลงมาเหลือเพียง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบหลายปี” 

 

หลังจากนี้สหรัฐฯ จะต้องออกขายพันธบัตรเป็นจำนวนมากถึง 4-5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อมาคืนเงินในบัญชีสำรอง และเมื่อรวมกับผลของมาตรการ QT ที่ดึงสภาพคล่องออกจากตลาดอีกเดือนละประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ จะส่งผลให้สภาพคล่องโดยรวมลดลงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

 

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจกดดันสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มเติมในช่วงกลางปี โดยก่อนหน้านี้ Fed ส่งสัญญาณว่าอาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 14 มิถุนายน แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ประเมินว่า ยังมีความเสี่ยงที่ Fed อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปที่ระดับสูงกว่าปัจจุบัน 

 

โดยเหตุผลสำคัญมาจาก 1. อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในปัจจุบันนั้นขึ้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อที่ราว 5% แต่ยังต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับในอดีตที่ Fed มักจะขึ้นดอกเบี้ยให้สูงกว่าเงินเฟ้อราว 1-2% ก่อนที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย  

 

และ 2. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง เช่น อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี และยอดขายบ้านที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งอาจสะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันนั้นยังไม่สูงเพียงพอที่จะกดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายของ Fed ในขณะที่ตลาดหุ้นนั้นปรับตัวขึ้นมาสะท้อนความคาดหวังจากการหยุดขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปมากแล้ว โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 10% ซึ่งใกล้เคียงกับในอดีตที่ตลาดจะปรับตัวขึ้น 10% โดยเฉลี่ยหลังจากที่ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย 

 

ในมุมมองของ ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำ QT ของ Fed ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ โดยอยู่ที่ราว 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่เคยบอกไว้ประมาณ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน 

 

“ช่วงที่ผ่านมา Fed เน้นใช้เครื่องมือดอกเบี้ยเป็นหลัก แต่หลังจากนี้หาก Fed ยุติการขึ้นดอกเบี้ย อาจจะเริ่มทำ QT ในระดับที่มากขึ้น” 

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องของสภาพคล่องในปัจจุบันหากพิจารณาจากขนาด Balance Sheet ของธนาคารกลางสำคัญ 4 แห่งรวมกัน ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งอยู่ที่ 23 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงมาจากจุดสูงสุดที่ 26 ล้านล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดซึ่งอยู่ที่ 15 ล้านล้านดอลลาร์ 

 

“หาก Fed หรือธนาคารกลางอื่นๆ เริ่มออกมาส่งสัญญาณเกี่ยวกับการทำ QT ที่มากขึ้น จะเป็นจุดที่เริ่มน่ากังวล แต่การหายไปของสภาพคล่องเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ทำให้หุ้นลง ต้องมีเรื่องของปัจจัยพื้นฐานอย่างความเสี่ยงที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะลดลง หรือเริ่มส่งสัญญาณแย่ลงด้วย” 

 

ส่วนกระแสฟันด์โฟลวในระยะสั้นไหลไปที่ Developed Market ค่อนข้างชัดเจน ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของกลุ่มเทคโนโลยี และปัญหารัสเซียกับยูเครนที่ไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มเติม 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลตัวเลขฟันด์โฟลวของตลาดหุ้นทั่วโลกจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ส่วนใหญ่ยังเป็นการซื้อสุทธิ ได้แก่ 

 

  • ยุโรป +33,000 ล้านดอลลาร์ 
  • ญี่ปุ่น +29,000 ล้านดอลลาร์ 
  • ไต้หวัน +10,000 ล้านดอลลาร์ 
  • เกาหลีใต้ +9,000 ล้านดอลลาร์ 
  • อินเดีย +3,700 ล้านดอลลาร์
  • เวียดนาม +10 ล้านดอลลาร์
  • มาเลเซีย -600 ล้านดอลลาร์
  • ฟิลิปปินส์ -560 ล้านดอลลาร์
  • ไทย -2,800 ล้านดอลลาร์

 

ส่วนจีน +48,000 ล้านดอลลาร์ แต่ข้อมูลอัปเดตถึงแค่สิ้นเดือนมีนาคม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising