บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ ระบุว่า ได้ปรับลดเป้าหมาย SET Index สิ้นปีหน้าปรับลดลงจากเดิมที่ 1,680 จุด เป็น 1,590 จุด ตาม EPS ที่ลดลง พร้อมเตรียมทบทวนปรับลด GDP ไทยปีหน้าลงจากเดิมที่ 4.1% ส่วน บล.โนมูระ พัฒนสิน ขอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาส 1/66 เพื่อนำมาประกอบการทบทวนเป้าดัชนีสิ้นปี 2566 ที่ 1,800 จุด
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ในเดือนธันวาคมนี้ ธนาคารกลางสำคัญที่จะมีการประชุม ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แม้คาดว่าจะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.50% เทียบกับที่ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งก่อน แต่มองว่าตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวขึ้น 2 เดือนติดต่อกันในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ที่ผ่านมารวมกว่า 14% ได้ตอบสนองเชิงบวกไปพอสมควรแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง
- “นี่เป็นราคาที่เราพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย” เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยกล่าวหลัง Jaymart ควักเงิน 1.2 พันล้านบาทเข้าถือหุ้น 30%
- ADVANC ทุ่ม 32,420 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ 3BB จาก JAS
- กางแผน ‘โอ้กะจู๋’ หลังมี OR เป็นแบ็กอัป เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 60 แห่ง ขายผักสดและบุก CLMV ก่อน IPO ในปี 2567
อีกทั้งหากมองไปปีหน้าเชื่อว่าตลาดจะให้น้ำหนักมากขึ้นกับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด ที่จะมีผลกระทบให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ที่มีความกังวลเศรษฐกิจถดถอย สะท้อนจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Bond Yield) คู่ของอายุ 10 ปี และ 2 ปี ที่ติดลบอยู่แล้ว
ล่าสุดส่วนต่าง US Bond Yield คู่ของอายุ 10 ปี และ 3 เดือน เพิ่งติดลบในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าเป็นคู่ตัวเลขสำคัญที่ช่วยยืนยันโอกาสเกิด Recession ในระยะข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ โดยใช้เวลาเฉลี่ย 19 เดือนหลัง Yield Curve ติดลบ
อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นจะตอบสนองล่วงหน้าด้วยการปรับตัวลงก่อนประมาณ 6 เดือน ดังนั้นหากอิงการปรับฐานลงครั้งใหญ่ของราคาหุ้นในอดีตเทียบกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน นักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนมากเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 เป็นต้นไป
ในส่วนของมุมมองกำไรสุทธิต่อหุ้น และดัชนีหุ้นไทยนั้น หลังจากที่งบไตรมาส 3/65 โดยรวมออกมาแย่กว่าคาด และ TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU) มีแนวโน้มจะปรับลดประมาณการ GDP ไทยปีหน้าลงจากปัจจุบันที่คาดไว้ขยายตัวที่ 4.1% จึงปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาด หรือ SET EPS ปี 2565 ลงจากเดิมที่ 99.9 บาทต่อหุ้น เป็น 96 บาทต่อหุ้น และปี 2566 จากเดิมที่ 103.8 บาทต่อหุ้น เป็น 99.5 บาทต่อหุ้น
ส่งผลให้เป้าหมาย SET Index เหมาะสมสิ้นปีนี้ปรับลง จากเดิม 1,700 จุด เป็น 1,650 จุด โดยประเด็นหลักๆ จากการปรับ SET EPS ลง พร้อมทั้งปรับเป้าหมาย SET Index สิ้นปีหน้าปรับลดลงจากเดิมที่ 1,680 จุด เป็น 1,590 จุด มาจากการปรับ SET EPS ลง และปรับระดับ P/E Ratio ที่เหมาะสมลงจาก 16.6 เท่า เป็น 15.4 เท่า หรือ De-rating เพื่อสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย และรัฐเตรียมเก็บภาษีการขายหุ้น
อย่างไรก็ดี ยังมุมมอง SET Index ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าเชิงบวกจากโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง รวมทั้งโอกาสเกิดการเลือกตั้งในประเทศ และคาดหวังจีนจะทยอยเปิดประเทศ โดยมอง SET Index มีโอกาสที่จะขึ้นทะลุระดับ 1,700 จุดในช่วงครึ่งปีแรกก่อนที่จะปรับตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง
ด้าน กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยฯ ยังคงเป้าหมาย SET Index สิ้นปีนี้ 1,690 จุด เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของ Fed ที่เริ่มเห็นแนวโน้มเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว หลังจากล่าสุด เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนว่า Fed จะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ ถือเป็นปัจจัยบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงในทั่วโลก รวมถึงหุ้นไทยให้มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับในสิ้นปี 2566 ยังเป้าหมาย SET Index ไว้ที่ 1,800 จุด หลังจากนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลในประเด็นดอกเบี้ยของ Fed อีกคาดว่าจีนจะเริ่มผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID และทยอยกลับมาเปิดประเทศได้ในปีหน้า จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถเดินทางกลับมาไทย ช่วยสนับสนุนให้การภาคท่องเที่ยวที่ถือเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยสามารถฟื้นตัวได้ชัดเจน
ขณะที่กำไรต่อหุ้น (EPS) ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 99 บาทต่อหุ้น ส่วนในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 105 บาทต่อหุ้น จากปัจจัยบวกที่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ ส่งผลบวกต่อเนื่องไปยังกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้มีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีในช่วงไตรมาส 1/66 จะมีการทบทวนเป้าหมายดัชนี และ EPS ของปี 2566 โดยจะนำประเด็นข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้าว่าจะมีผลกระทบอย่างไรมาประกอบการพิจารณาอีกครั้ง
ด้าน กิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ล่าสุดฝ่ายวิเคราะห์ฯ ได้ประเมินตัวเลขเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 2566 ไว้ที่ 1,900 จุด ส่วนเป้าหมายสิ้นปี 2565 ยังคงไว้ที่ 1,730 จุด
สำหรับในปี 2566 มีปัจจัยบวกจากหลายประเด็นจากภายในประเทศ ทั้งเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งจะทำให้มีเงินสะพัดใช้จ่ายมากขึ้นในกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รวมถึงความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายที่ดีขึ้น
นอกจากนี้กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap) ในกลุ่ม Domestic Play ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์, ค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังมีโอกาสที่กำไรเติบโตได้ค่อนข้างดี เพราะจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องจากแรงหนุนของการบริโภคในประเทศ และการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น พร้อมประเมินว่า EPS ในปีนี้จะอยู่ที่ 88.6 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน ส่วนในปี 2566 คาดว่า EPS จะอยู่ที่ 98.30 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 11% จากปีนี้