×

ตำนาน ข้อห้าม ความเชื่อ และสารพัดเกร็ดน่ารู้แต่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน

01.02.2022
  • LOADING...
Chinese New Year Festival

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • จากประชากรทั่วโลกทั้งหมดซึ่งมีอยู่ประมาณ 7.7 พันล้านคน มีการประมาณการว่ากว่า 2 พันล้านคน หรือคิดเป็นประชากร 1 ใน 4 ของโลก มีส่วนร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะได้รับผลกระทบจากโควิดแต่นี่ก็ยังเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญที่ทำเกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนมากที่สุดในโลก
  • ตำนานโบราณของจีนระบุถึงสัตว์ร้ายที่เรียกว่า ‘เหนียน’ ว่าเป็นที่มาของการตกแต่งด้วยสีแดงและการจุดประทัด นี่ยังเป็นเทศกาลที่มีการจุดประทัดและพลุไฟมากที่สุดในโลก มีซองอั่งเปานับล้านที่ผู้คนมอบให้แก่กัน เช่นเดียวกับอาหาร ผลไม้มงคล ของไหว้ต่างๆ ตลอดจนความเชื่อโชคลางมากมาย

เทศกาลปีใหม่ของจีนหวนกลับมาอีกครั้งในปีนี้ เราทุกคนต่างคุ้นเคยกับการเฉลิมฉลองนี้ของชาวจีนกันดี ทว่าตรุษจีนเองก็มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ทั้งประวัติความเป็นมา ตำนาน ข้อห้าม ตลอดจนความเชื่อและข้อเท็จจริง ต่อไปนี้คือ สารพัดเกร็ดน่ารู้แต่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีนที่เรารวบรวมนำมาฝากกัน  

 

Chinese New Year Festival

(Photo Credit : https://kdthamann.wixsite.com/kathrynswordvomit/post/the-legend-of-the-monster-nian-or-the-legend-of-chinese-new-year )

 

สัตว์ประหลาด ‘เหนียน’ กับตำนานตรุษจีน

ตรุษจีน หรือ ‘ชุนเจี๋ย/กว้อชุนเจี๋ย/กว้อเหนียน’ นับเป็นวันสำคัญของจีนที่มีมานับแต่โบราณ ตามตำนานเล่ากันว่ามีสัตว์ดุร้ายชนิดหนึ่งเรียกว่า ‘เหนียน’ ออกอาละวาดกินผู้คนเป็นประจำ เทพเจ้าจึงลงโทษให้มันลงจากเขาได้เพียงครั้งเดียวในรอบ 365 วัน ในยามเมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านพ้นและฤดูใบไม้ผลิกำลังเวียนมา เหนียนก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันภัยของเจ้าเหนียนตัวร้าย ทุกบ้านจึงสะสมเสบียงไว้ มีการประดับประดาด้วยของตกแต่งสีแดงเพื่อทำให้เหนียนกลัว เช่นเดียวกับการประดับแสงไฟ จุดประทัดและพลุ จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อเหนียนจากไปแล้ว ทุกบ้านก็ออกมาแสดงความยินดีกัน พร้อมทั้งนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน ต่อมาจึงกลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองแห่งความสุขที่เรียกกันว่า ‘ตรุษจีน’ นอกจากนี้วันสำคัญในเทศตรุษจีนยังประกอบไปด้วย ‘วันจ่าย’ หมายถึงวันที่ออกไปจับจ่ายซื้อของไหว้ต่างๆ ‘วันไหว้’ สำหรับทำการไหว้เทพเจ้า และ ‘วันเที่ยว’ ซึ่งทุกคนจะออกจากบ้านไปเที่ยว (ในปีนี้ตรงกับวันที่ 30-31 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์ ตามลำดับ)

 

Chinese New Year Festival

(Photo Credit : https://www.tripsavvy.com/chinese-new-year-celebration-1458286

 

เทศกาลที่ประชากร 1 ใน 4 ของโลกร่วมกันเฉลิมฉลอง

แม้จะเป็นเทศกาลของจีนซึ่งเฉลิมฉลองกันในประเทศแถบเอเชียเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่รู้กันหรือไม่ว่าสำหรับตรุษจีนในปีล่าสุด 2022 นี้ มีการประมาณการว่าจากประชากรทั่วโลกทั้งหมดซึ่งมีอยู่ประมาณ 7.7 พันล้านคน กว่า 2 พันล้านคน หรือคิดเป็นประชากร 1 ใน 4 ของโลก นั้นมีส่วนร่วมฉลองเทศกาลนี้กันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สำหรับประเทศที่กำหนดให้มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ในช่วงตรุษจีน ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เกาหลีใต้ มาเลเซีย เกาหลีเหนือ ไต้หวัน สิงคโปร์ และบรูไน ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ตามเมืองใหญ่ๆ ในโลกตะวันตก ก็มีการเฉลิมฉลองตรุษจีนกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์ก ลอนดอน แวนคูเวอร์ และซิดนีย์ ฯลฯ 

 

Chinese New Year Festival

 

ผู้คนมอบซองอั่งเปาให้กันหลายล้านซองในเทศกาลตรุษจีน

สีแดงเป็นสีมงคลและโชคลาภสำหรับชาวจีนทำให้มีการประดับประดาต่างๆ ในเทศกาลตรุษจีนด้วยสีแดง เช่นเดียวกับธรรมเนียมการมอบซองอั่งเปาสีแดง ซึ่งนับเป็นการการส่งความปรารถนาดีและโชคลาภให้แก่กัน สำหรับคนไทยหลายๆ คนนั้นอาจจะคุ้นหูกับคำว่า ‘อั่งเปา’ และ ‘แต๊ะเอีย’ ซึ่งมักจะได้ยินในเทศกาลนี้กันดี แต่อาจจะไม่รู้ว่าทั้งสองคำนี้มีความหมายอย่างไร อันที่จริงนั้นอั่งเปามีความหมายถึงซองสีแดง (อั่ง = สีแดง สีมงคล, เปา = ซอง) ส่วนแต๊ะเอียนั้นหมายถึงเงินหรือสิ่งที่อยู่ภายในซอง ส่วนใหญ่นิยมให้เป็นเลขคู่หรือเลขเรียงเพื่อสื่อถึงความเป็นสิริมงคล แม้ตามธรรมเนียมนั้นผู้มีงานทำหรือผู้มีอายุมากกว่ามักเป็นผู้มอบให้กับคนอายุน้อยกว่า แต่คนอายุน้อยก็สามารถมอบอั่งเปาให้กับคนมีอายุมากกว่าได้เหมือนกัน นอกจากสมาชิกภายในบ้านที่มอบอั่งเปาให้แก่กันแล้ว ยังมีการให้อั่งเปากันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง หัวหน้าไปถึงลูกน้อง ฯลฯ ว่ากันว่าระหว่างช่วงเทศกาลนี้ผู้คนทั่วโลกมอบซองอั่งเปาแดงหลายล้านซองให้แก่กัน และปัจจุบันนี้ยังได้มีการส่งซองอั่งเปาสีแดงจำนวนมากในรูปแบบ Digital Angpao 

 

Chinese New Year Festival

(Photo Credit : https://www.topchinatravel.com/customer-center/china-train-travel-rushes.htm

 

เทศกาลที่เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนมากที่สุดในโลก และผลกระทบจากโควิด

ความน่าทึ่งอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับตรุษจีนคือ นี่เป็นหนึ่งในเทศกาลประจำปีที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนที่ใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยธรรมเนียมที่ต้องใช้เวลารับประทานอาหารร่วมกับสมาชิกครอบครัวในวันส่งท้ายปีเก่า ในสถานการณ์ปกติชาวจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 200 ล้านคนเดินทางไกลในช่วงวันหยุดนี้ และคาดว่ามีการเดินทางในประเทศจีนถึง 3.5 พันล้านครั้ง ผู้คนหลายสิบล้านคนยังเดินทางไปต่างประเทศด้วย สิ่งนี้ทำให้เทศกาลตรุษจีนเป็นการอพยพประจำปีของมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือที่เรียกว่า ‘Spring Festival Travel Rush’ (เทศกาลตรุษจีน หรือ ‘ชุนเจี๋ย’ (春节) ยังหมายถึงเทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ) อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์โควิดได้ทำให้การเคลื่อนย้ายในเทศกาลตรุษจีนเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น โดยเมื่อตรุษจีนปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุว่า การเดินทางทั่วประเทศจีนลดลงถึง 70% ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนวันตรุษจีน

 

Chinese New Year Festival

 

ห้ามซัก กวาด หรือทิ้งขยะ ฯลฯ สารพัดความเชื่อโชคลาง 

ในช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นวันแรกของปีจันทรคตินั้นเต็มไปด้วยความเชื่อโชคลางมากมาย หนึ่งในนั้นคือการไม่อนุญาตให้สระผมหรือเสื้อผ้า เพราะเชื่อกันว่าเป็นการชะล้างโชคลาภ นอกจากนี้คนจีนยังเชื่อว่าการทำความสะอาดบ้านและทิ้งขยะในวันตรุษจีนนั้นจะเป็นการกวาดเอาเงินทองโชคภาพออกไปเสียจากบ้าน ดังนั้นจึงไม่ค่อยนิยมทำความสะอาดบ้านกันในวันตรุษจีน แต่มักจะทำกันหนึ่งวันล่วงหน้าก่อนถึงวันตรุษจีน เพื่อให้บ้านสะอาดเอี่ยมต้อนรับปีใหม่และต้อนรับแขกที่จะมาเยือน นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามอื่นๆ ที่ไม่ควรกระทำกันในวันนี้อีกมากมาย เช่น ห้ามร้องไห้ งดการทะเลาะเบาะแว้งและพูดจาหยาบคาย ห้ามทำของแตก ห้ามใช้ของมีคม ห้ามให้ยืมเงิน ห้ามให้สาลี่และกระจกต่อผู้อื่น ฯลฯ เป็นต้น 

 

Chinese New Year Festival

 

สลัดมงคล ‘หยี่ซัง’ 

‘หยี่ซัง’ (Yu Sheng) หรือ ‘โหลเหหยี่ซัง’ (Lo Hei Yu Sheng) คือสลัดปลาดิบที่ชาวจีนนิยมรับประทานกันในเทศกาลตรุษจีน อาหารมงคลแห่งความสมบูรณ์พูนสุขจานนี้ประกอบไปด้วย ‘หยี่’ (Yu) หมายถึงปลา และ ‘ซัง’ (Sheng) หมายถึงดิบ ซึ่งก็คือเนื้อปลาดิบ อันหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง (ปัจจุบันนิยมใช้ปลาแซลมอน แต่ก็มีที่ใช้ปลาเนื้อแดงอย่างปลาทูน่า บ้างก็เป็นปลาเนื้อข้าว) แล่เป็นชิ้นขนาดพอดีคำและสารพัดผักหลากหลายสี ซอส และเครื่องปรุงรสต่างๆ อย่างน้ำมันถั่วลิสงที่หมายถึงความลื่นไหล งาขาวหมายถึงความเจริญงอกงาม ส้มโอหมายถึงความโชคดี รวมถึงส่วนผสมอื่นๆ อันเป็นมงคล อย่างแมงกะพรุน, หนังปลาทอด, ขิงดอง, มะละกอเชื่อม ฯลฯ​ วิธีการกินหยี่ซังคือต้องกินร่วมกัน เริ่มด้วยการบีบมะนาวบนปลาและกล่าวคำอวยพรให้ร่ำรวย มีชีวิตที่ราบรื่น ใส่น้ำสลัด คลุกเคล้าส่วนผสมต่างๆ ให้เข้ากันโดยใช้ตะเกียบคน และต้องยกตะเกียบขึ้นสูงๆ พร้อมกล่าวคำอวยพรพร้อมกันดังๆ ว่า ‘โละเฮ้’ (Loh Hey) เชื่อว่ายิ่งยกตะเกียบสูงมากเท่าไร เงินทองยิ่งไหลมาเทมา ธุรกิจการค้ารุ่งเรือง สุขภาพแข็งแรง 

 

Chinese New Year Festival

 

เทศกาลอันแสนอุดมไปด้วยอาหารมงคลและของไหว้

ในเทศกาลตรุษจีนนั้นยังเต็มไปด้วยอาหารมงคลต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละอย่างก็เสริมสิริมงคลเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นหมี่ซั่ว หรือบะหมี่ ซึ่งเส้นบะหมี่ที่มีความยาวนั้นมีความหมายถึงการมีอายุมั่นขวัญยืน เมนูปลานึ่งที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เปาะเปี๊ยะหมายถึงร่ำรวยเงินทอง เนื้อสัตว์ไหว้ 3 อย่าง เรียกว่า ‘ซาแซ’ ควรมีให้ครบทั้งสัตว์มีปีก, สัตว์มีครีบ และสัตว์มีกีบเท้า ส่วนถ้าเป็นไหว้ 5 อย่างเรียกว่า ‘โหงวแซ’ บัวลอย นับเป็นของหวานยอดนิยมในเทศกาลนี้ เช่นเดียวกับขนมไหว้อย่าง ขนมกุยช่าย ขนมสาลี่ ขนมไข่ ขนมเทียน ขนมเข่ง เป็นอาทิ ซึ่งแต่ละอย่างก็ล้วนมีความหมายอันเป็นมงคลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อ่านต่อเรื่อง 5 อาหารมงคลตรุษจีน เสริมมงคลทั้งการเงิน การงาน สุขภาพ

 

Chinese New Year Festival

 

เทศกาลที่จุดประทัดและดอกไม้ไฟมากที่สุดในโลก 

ตามความเชื่อของจีนการจุดประทัดและดอกไม้ไฟถูกนำมาใช้เพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ส่วนใหญ่เชื่อว่าแสงจ้าของดอกไม้ไฟและเสียงระเบิดของประทัดทำให้ปีศาจและวิญญาณชั่วร้ายหวาดกลัว มีตำนานของการจุดประทัดที่เกี่ยวพันกับสัตว์ประหลาดที่เรียกว่า ‘ซานเซียว’ และ ‘เหนียน’ นอกจากนี้จีนยังเป็นแหล่งผลิตดอกไม้ไฟประมาณ 90% ของโลก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะมีการจุดพลุและประทัดกันอย่างเอิกเกริกในช่วงเทศกาลนี้ แม้ปัจจุบันในบางพื้นที่และบางประเทศอาจมีการออกข้อห้ามจุดประทัดและพลุ แต่ก็เป็นเรื่องยากเพราะผู้คนยังคงปฏิบัติตามธรรมเนียมความเชื่อ 

 

Chinese New Year Festival

 

ส้มและผลไม้มงคลอื่นๆ ในเทศกาลตรุษจีน 

ผลไม้ยอดนิยมอย่างส้ม ถือเป็นผลไม้ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งประจำเทศกาลนี้ ด้วยความที่ส้มนั้นมีสีทองที่สื่อความหมายถึงความมั่งมีศรีสุขและโชคลาภ จึงมีการไหว้เจ้าด้วยส้ม โดยจัดวางให้เป็นทรงเนินคล้ายภูเขาทอง หรือ ‘กิมซัว’ นอกจากใช้ส้มในการไหว้เจ้าแล้ว ยังนิยมมอบส้มให้แก่กันเพื่อสื่อถึงความปรารถนาดีต่อกันอีกด้วย นอกจากส้มแล้วเทศกาลตรุษจีนยังมีผลไม้มงคลอื่นๆ อย่าง กล้วย ซึ่งต้องมีลักษณะเป็นหวีหรือเครือเพื่อสื่อถึงครอบครัวที่เจริญงอกงามมีลูกหลานสืบสกุล ทั้งกล้วยสีเหลืองทองยังสื่อถึงความมั่งมี แก้วมังกรที่สื่อถึงโชคลาภ แอปเปิ้ลแดงหมายถึงสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ สาลี่คือตัวแทนของโชคลาภเงินทองไหลมาเทมา ทับทิมแดงหมายถึงความโชคดีและครอบครัวอันอบอุ่นไร้ความบาดหมาง ฯลฯ 

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

ภาพ: Shutterstock

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X