×

โตไวจนกลายเป็นภัยคุกคาม เมื่อ TikTok เตรียมถูกแบนในสหรัฐฯ ทางรอดคืออะไร

โดย THE STANDARD TEAM
31.07.2020
  • LOADING...
โตไวจนกลายเป็นภัยคุกคาม เมื่อ TikTok เตรียมถูกแบนในสหรัฐฯ ทางรอดคืออะไร

HIGHLIGHTS

  • TikTok แอปพลิเคชันโซเชียลวิดีโอสัญชาติจีน เพิ่งเปิดตัวและทำตลาดทั่วโลกราวปี 2017-2018 เท่านั้น แต่สามารถเติบโตรวดเร็วแบบก้าวกระโดด แถมยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงโควิด-19 เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น
  • ผู้ใช้งานรายเดือน (MAUs) ของ TikTok ขึ้นไปถึง 1 พันล้านคนหลังเปิดตัวมาได้แค่ราว 2 ปีเท่านั้น ซึ่งเร็วมากเมื่อเทียบกับรายใหญ่อย่าง Facebook, Instagram ที่ใช้เวลาราว 7-8 ปี 
  • TikTok กำลังเผชิญสถานการณ์ที่เสี่ยงจะโดนแบนในสหรัฐฯ จากข้อกล่าวหาเรื่องรัฐบาลจีนเข้าถึงข้อมูลได้ ทางออกก็จะต้องแยกบริษัทในสหรัฐฯ ให้ตัดขาดจากจีน

ราว 2 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในแอปพลิเคชันสัญชาติจีนที่มาแรงที่สุดคงหนีไม่พ้น TikTok แอปฯ วิดีโอสั้นความยาวไม่เกิน 60 วินาที ที่ไม่ใช่แค่ได้รับความนิยมในไทยหรือฝั่งเอเชียเท่านั้น แต่ยังมาแรงแซงแอปฯ โซเชียลอื่นๆ แม้กระทั่งในสหรัฐฯ ที่ Facebook และ YouTube ยึดครองพื้นที่มานานด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯ​ และจีนในช่วงปีที่ผ่านมา ก็ไม่วายทำให้แอปฯ วิดีโอสายบันเทิงที่ดูไม่มีพิษมีภัยพลอยโดนหางเลขไปด้วย หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่ว่าจะแบน ทำให้สถานการณ์ของ TikTok ตอนนี้ส่อเค้าว่าอาจจะตามรอย Huawei แม้จะกระทบบริษัทแม่อย่าง Bytedance เต็มๆ แต่อย่างน้อยเคสนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเสียทีเดียว

 

โซเชียลที่ขับเคลื่อนด้วยวิดีโอ

TikTok เป็นแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียจาก Bytedance บริษัทอินเทอร์เน็ตสัญชาติจีน เปิดตัวเมื่อราวปี 2017 ก่อนขยายออกสู่ตลาดโลกอย่างจริงจังราวปี 2018 เป็นแอปฯ วิดีโอที่เปิดให้ผู้ใช้งานสร้างหรือแชร์คอนเทนต์ใดๆ ก็ได้ในความยาว 15 วินาที และไม่เกิน 1 นาที มีแอปฯ​ ลูกพี่ลูกน้องชื่อ Douyin เปิดตัวปี 2016 ให้บริการคล้ายๆ กัน แต่เฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น

 

จุดเด่นของ TikTok คืออินเตอร์เฟส (UI) ที่แสดงผลวิดีโอแบบ 100% ทั้งหน้าจอในแนวตั้ง ซึ่งเข้าถึงง่ายและเหมาะกับสมาร์ทโฟนมากกว่า ขณะที่เมื่อเปิดแอปฯ เข้าไปครั้งแรกก็จะเจอฟีดวิดีโอเลย ไม่มีหน้าล็อกอินให้รำคาญ รวมถึงไม่จำเป็นต้องล็อกอินก็สามารถสร้างและตัดต่อวิดีโอได้ง่ายๆ เลยภายในแอปฯ

 

การทำวิดีโอสั้นๆ ส่งผลดีต่อทั้งคนสร้างและคนเสพคอนเทนต์ เพราะคนสร้างสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่และไม่ซับซ้อน เพราะเวลาไม่นาน คนเสพก็สามารถดูได้เรื่อยๆ เพราะคลิปหนึ่งไม่นาน รวมถึงสามารถเปลี่ยนคลิปที่ดูได้เรื่อยๆ แค่ปัดขึ้นหรือลง นอกจากนี้ Bytedance ยังเอาแอปฯ Musical.ly แอปฯ ร้องเพลงและคาราโอเกะที่ซื้อมาเมื่อปี 2018 รวมเข้าไปอยู่ใน TikTok ด้วย ยิ่งช่วยเปิดพื้นที่และรูปแบบคอนเทนต์ให้มากขึ้น

 

นอกจากอินเตอร์เฟสและประสบการณ์ใช้งาน (UI/UX) ที่ง่ายและลงตัว คอนเทนต์ที่กลายเป็นกระแสจนเกิดการส่งต่อหรือทำเลียนแบบ และแนวทางการตลาดของ Bytedance ที่ดึงอินฟลูเอนเซอร์ดังๆ มาสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มแล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของ TikTok คือ AI หรือปัญญาประดิษฐ์

 

คงคาดเดาไม่ยากว่า Bytedance ใช้ AI มาเป็นตัวช่วยเรื่องประมวลผลและแนะนำคลิปให้ผู้ใช้งาน โดยเรียนรู้จากพฤติกรรมการดูคลิป เช่น ระยะเวลาที่ใช้ การกดไลก์ หรือการปัดคลิปที่ไม่ชอบทิ้ง

 

ทว่า สิ่งที่ AI ของ Bytedance แตกต่างจาก AI ที่ Facebook, YouTube หรือ Netflix ใช้คือ 3 รายหลังจะใช้ AI เพื่อ ‘แนะนำ’ ฟีดของผู้ใช้งานและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่าการแนะนำนั้นตรงใจหรือไม่ตรงใจ ทว่า AI บน TikTok จะ ‘ตัดสินใจ’ ให้แทนว่า คลิปนี้ผู้ใช้งานคนนี้น่าจะชอบและแสดงผลขึ้นมาให้เลย (แน่นอนว่า AI ก็จะเรียนรู้ไปด้วยเช่นกัน) กล่าวอีกอย่างคือ ฟีดบน TikTok ถูกควบคุมและสั่งการด้วย AI ไม่ใช่แค่ขับเคลื่อนเหมือนผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ

 

โตไวจนเป็นภัยคุกคาม

องค์ประกอบต่างๆ ข้างต้นทำให้ TikTok เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก ไม่ว่าจะในไทยเอง หรือแม้แต่ในอินเดียและสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดใหญ่

 

TikTok เปิดเผยว่า มีผู้ใช้งานรายเดือน (Monthly Active Users) ทั่วโลกรวมกัน 500 ล้านคน (แน่นอนว่ารวมในจีน) แต่ก็ถือว่าค่อนข้างเร็ว เพราะใช้เวลาเพียง 2 ปีหลังเปิดตัว ก่อนที่ผู้ใช้งานจะขึ้นไปแตะ 1 พันล้านคนได้ราวปี 2019 ซึ่งเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่าง Facebook หรือ Instagram ที่กว่าจะมีผู้ใช้เหยียบ 1 พันล้านคน ต้องใช้เวลาราว 7-8 ปี

 

ขณะที่ตัวเลขจากการเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงมีนาคมที่ผ่านมาของ Comscore บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาดและสื่อของสหรัฐฯ ก็ชี้ว่า ยอดผู้ใช้งาน TikTok ในสหรัฐฯ ทั้งบนสมาร์ทโฟนและบนเว็บไซต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่คนอยู่บ้านเพิ่มมากขึ้น

 

จำนวนผู้ใช้งานบนสมาร์ทโฟนอยู่ที่ราว 18.6 ล้านคนในเดือนตุลาคม เพิ่มมาเป็น 28.8 ล้านคนในเดือนมีนาคม หรือเพิ่มขึ้น 55% เช่นเดียวกับจำนวนนาทีเฉลี่ยที่ใช้งานต่อคนต่อเดือน ก็เพิ่มจาก 442.9 นาที เป็นราว 858 นาที หรือเพิ่ม 93.7% 

 

ส่วนเวอร์ชันเว็บอยู่ที่ 27 ล้านคนในเดือนตุลาคม ก่อนเพิ่มมาเป็น 52.2 ล้านคนในเดือนมีนาคม หรือเพิ่มถึง 93.2% ส่วนจำนวนนาทีเฉลี่ยเพิ่มจาก 305.9 นาที เป็น 476 นาที หรือราว 55.6%

 

การเติบโตของ TikTok เป็นภัยต่อโซเชียลเจ้าอื่นๆ ในแง่ธุรกิจแน่ๆ อย่าง Facebook, YouTube, Instagram และหลายเจ้าก็พยายามออกแอปฯ หรือฟีเจอร์ที่เลียนแบบอย่าง Lasso ของ Facebook ที่เปิดมาได้ราวปีครึ่งก่อนจะปิดตัวลงไป (หลายคนน่าจะแทบไม่เคยได้ยินชื่อ) หรือกระทั่งตอนนี้ก็มีข่าวลือว่า YouTube กำลังทดสอบฟีเจอร์ Shorts สำหรับโพสต์วิดีโอขนาดสั้นคล้ายกับ TikTok ด้วย

 

นอกจากในแง่ธุรกิจแล้ว ในแง่ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว TikTok ก็ถูกสงสัยหรือแม้กระทั่งฟ้องร้อง อย่างกรณีคดีความระหว่างคณะกรรมการการค้าของสหรัฐ (Federal Trade Commission) ที่สั่งปรับ TikTok 5.7 ล้านดอลลาร์ เพราะละเมิดความเป็นส่วนตัวจากการเก็บข้อมูลผู้ใช้อายุต่ำกว่า 13 ปี โดยไม่ได้รับการยินยอม ก่อนที่กลุ่มสิทธิเด็กจะออกมาเปิดเผยในอีกราว 1 ปีให้หลังว่า TikTok ยังคงละเมิดความเป็นส่วนตัวของเด็กในสหรัฐฯ และละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้กับ FTC

 

และด้วยความที่ Bytedance เป็นบริษัทจีน TikTok ก็หนีไม่พ้นจะโดนกล่าวหาว่าถูกรัฐบาลจีนแอบดักข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูลปลอม ไปจนถึงควบคุมและเซ็นเซอร์คอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม เพราะที่ผ่านมา TikTok มีท่าทีชัดเจนในการแบนคลิปที่ผิดกฎหมายจีนหรือรัฐบาลจีนสั่งห้าม เช่น คอนเทนต์เกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน, การประท้วงในฮ่องกง หรือการเรียกร้องเอกราชของทิเบต เป็นต้น

 

The Guardian ของอังกฤษ ก็เคยเปิดเผยเอกสารไกด์ไลน์ของ TikTok (www.theguardian.com/technology/2019/sep/25/revealed-how-tiktok-censors-videos-that-do-not-please-beijing) ที่แนะนำผู้ใช้งานว่าไม่ควรทำคอนเทนต์ที่ขัดแย้งกับแนวทางของรัฐบาลจีน ซึ่ง Bytedance ก็โต้แย้งว่า ไกด์ไลน์ฉบับดังกล่าวเป็นของเก่าและเลิกใช้งานไปแล้ว ไกด์ไลน์ฉบับปัจจุบันไม่ได้มีการระบุเนื้อหาต้องห้ามอีกแล้ว 

 

อีกประเด็นที่สหรัฐฯ กลัวที่สุดคือ Bytedance ที่มีข้อมูลผู้ใช้งาน TikTok ในสหรัฐฯ อาจจะถูกรัฐบาลจีนบีบด้วยกฎหมายให้เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้งานในสหรัฐฯ แม้ Bytedance จะยืนยันว่า ข้อมูลผู้ใช้งานสหรัฐฯ ถูกเก็บเอาไว้ในศูนย์ข้อมูลสหรัฐฯ และสำรองข้อมูลไว้ที่สิงคโปร์ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจีนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนนี้ได้ แถม TikTok เองก็ถอนตัวจากฮ่องกง หลังรัฐบาลจีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแล้วก็ตาม

 

แต่ถามว่าในมุมสหรัฐฯ แล้ว ท่าทีและคำยืนยันเหล่านั้นจะมีน้ำหนักเพียงใด หากพนักงาน Bytedance ที่อยู่ในจีนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจีน และในทางเทคนิคแล้วสามารถเข้าถึงข้อมูลของ TikTok ได้ไม่ว่าจะเก็บเอาไว้ที่ไหน

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศแรกที่เริ่มแบนกลายเป็นอินเดีย ที่กำลังมีความขัดแย้งกับจีน โดยประกาศแบนแอปฯ จีนชุดแรก 59 รายการเมื่อปลายเดือนที่แล้ว โดยมี TikTok เป็นหนึ่งในนั้น (ล่าสุดประกาศจะแบนเพิ่ม 47 แอปฯ ในระลอกสอง)

 

หลังอินเดียขยับ สหรัฐฯ ก็เริ่มขยับตามด้วย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาแบนแอปฯ โซเชียลจากจีนตามอินเดีย โดยอ้างความกังวลเรื่องรัฐบาลจีนเข้าถึงข้อมูล เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่เพิ่งมีข่าวไม่กี่วันที่ผ่านมาว่ากำลังพิจารณาจะแบน TikTok ตามอินเดียและสหรัฐฯ

 

ทางรอดอาจต้องแยกตัว

แม้ว่าในแง่กฎหมายของสหรัฐฯ แล้ว ไม่มีข้อไหนที่ให้อำนาจรัฐบาลในการห้ามไม่ให้ TikTok ให้บริการในสหรัฐฯ เอาดื้อๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไม่มีช่องทางในการจัดการประเด็นที่ (รัฐบาลมองว่า) เป็นภัยต่อความมั่นคงนี้เสียทีเดียว

 

ทางออกที่ถูกพูดถึงและดูจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ TikTok ต้องถูกแยกและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากบริษัทแม่สัญชาติจีนอย่าง Bytedance โดยคนแรกๆ ที่ออกมาแนะนำเรื่องนี้คือ ลอร์รี คุดโลว์ ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาว เขาเสนอว่า TikTok จะอยู่รอดได้คือ ต้องแยกออกมาดำเนินงานในฐานะบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ อย่างเดียวเท่านั้น 

 

เท่ากับว่าทางเลือกของ Bytedance คือต้องขายหุ้น TikTok (เฉพาะในสหรัฐฯ) ให้บริษัทสัญชาติอเมริกัน (ไม่ว่าจะขายทั้งหมดหรือขายหุ้นส่วนใหญ่) ซึ่งก็มีรายงานจาก The Information ว่านักลงทุนอเมริกันที่ลงทุนใน Bytedance เริ่มพูดคุยประเด็นนี้แล้ว โดยมีรายงานว่ามูลค่าที่ถูกประเมินกันภายในสูงถึงราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่ากลุ่มทุน General Atlantic ที่เป็น Private Equity ของสหรัฐฯ และ Sequoia Capital บริษัท VC เริ่มหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ เรื่องซื้อ TikTok แล้วเช่นกัน

 

หรือหาก TikTok ในท้ายที่สุดขายไม่ได้และถูกบีบจนไม่สามารถให้บริการในสหรัฐฯ ได้เหมือนเดิม ก็อาจเป็นโอกาสของแอปฯ คล้ายๆ กันที่จะเข้ามาแทนที่ก็ได้ เพราะอย่างในกรณีของอินเดีย หลังแบน TikTok แอปฯ ที่ให้บริการคล้ายๆ กันอย่าง Roposo ก็มีผู้ใช้งานพุ่งแบบก้าวกระโดด 

 

เห็นสถานการณ์ TikTok แบบนี้แล้ว Facebook อาจจะรู้สึกว่าคิดผิดที่ปิดตัวแอปฯ Lasso ที่ตั้งใจทำขึ้นมาแข่ง (แล้วแพ้) ไปก่อนหน้านี้ก็เป็นได้

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising