ถึงแม้ว่า ‘ปีเสือ’ จะล่วงเลยผ่านเข้าสู่ปีกระต่าย 2566 ไปเป็นที่เรียบร้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ผ่านหมุนตามไปก็คือการดำรงอยู่ของเสือ สัตว์ที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของความดุดัน แต่ในขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งความสง่างาม และทรงเสน่ห์ในแบบของพวกมันเอง
โดยเฉพาะ ‘เสือโคร่ง’ หนึ่งในสายพันธุ์ของเสือที่เปรียบได้ดั่งสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและธรรมชาติ (เสือโคร่งเป็นเหมือนมาตรวัดความครบวงจรของห่วงโซ่อาหารที่ดี มีหน้าที่ควบคุมสัตว์กินพืชไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป)
ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เสือโคร่งยังกลายเป็นสัตว์ที่ถูกล่าและฆ่าโดยฝีมือของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมติดลำดับต้นๆ ของโลก โดยตลอดกว่าร้อยปีที่ผ่านมา เสือโคร่งกว่าแสนตัวที่เคยใช้ชีวิตอย่างอิสระตามธรรมชาติ มีจำนวนประชากรหลงเหลือไม่ถึง 4,000 ตัวเท่านั้น!
ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเสือโคร่งที่อยู่ในประเทศไทยเพียง 200 ตัวหรือ 5% จากจำนวนทั้งหมด (ใน 13 ประเทศทั่วโลก) โดยที่ไทยเป็นประเทศเดียวเท่านั้นในอาเซียนที่ยังมีเสือโคร่งอาศัยตามแหล่งธรรมชาติ เสือโคร่งจึงถูกจัดให้อยู่ในสภาวะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าพวกมันจะเป็นสัตว์ที่อยู่ลำดับต้นๆ ของห่วงโซ่อาหาร มีสถานะเป็นเหมือนผู้ล่า แต่ในบางสถานการณ์ และหลายๆ ช่วงเวลา พวกมันก็ไม่อาจรอดพ้นเงื้อมือจากสัตว์สายพันธุ์ที่ดุร้ายกว่าอย่างมนุษย์อยู่ดี ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้าเป็นอย่างมาก
ทำไมเสือโคร่งใกล้สูญพันธุ์ อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงกันแน่?
อย่างที่ได้บอกไปในช่วงต้นของบทความว่า ผู้อยู่เบื้องหลังความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับเสือโคร่งก็คือมนุษย์ แต่วิธีการที่เกิดขึ้นกับพวกมันต่างหากที่ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็ล้วนแล้วแต่สร้างความเสียหายให้กับเหล่าประชากรเสือโคร่งแทบทั้งสิ้น!
ทั้งการล่าโดยตรงเพื่อค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย หรือนำอวัยวะของพวกมันมาทำเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์แต่งบ้าน สารพัดสารเพ ซึ่งในที่นี้ยังรวมไปถึงการลอบค้าหรือล่าสัตว์อื่นๆ อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเหมือนการฆ่าเสือโคร่งให้ตายทางอ้อม เพราะเท่ากับเป็นการพรากอาหารไปจากพวกมัน
ไปจนถึงการบุกรุกพื้นที่ป่า ตัดไม้ทำลายป่าจนทำให้เสือโคร่งไร้บ้าน ไร้ที่อยู่อาศัย
ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมเลวร้ายที่มนุษย์ได้กระทำต่อเหล่าเสือโคร่งแทบทั้งสิ้น และถึงเวลาอันสมควรแล้ว ที่การคุกคามชีวิตเสือโคร่งไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตามควรจะสิ้นสุดลงได้แล้ว
9 ปีที่ห่วงใยเสือโคร่งของบี.กริม กับก้าวต่อไปสู่อนาคตของระบบนิเวศที่ยั่งยืน
ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในหน่วยงานที่ลงมือทำอย่างต่อเนื่องและจริงจังกับการดูแล อนุรักษ์เสือโคร่งมาโดยตลอดก็คือ ‘บี.กริม’
บี.กริม ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทเอกชนรายแรกและรายเดียวที่ยืนหนึ่งในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ผ่านการสนับสนุน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wild Life Fund – Thailand: WWF-Thailand) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ทั้งยังให้การสนับสนุนการอนุรักษ์ เพิ่มจำนวนประชากร ไปจนถึงป้องกันดูแลที่อยู่อาศัยผ่านโครงการและวิธีการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับ WWF และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อสนับสนุนโครงการอนุรักษ์เสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ซึ่งประกอบไปด้วย
- การสนับสนุนกล้องดักถ่ายภาพ ติดตั้งตามจุดต่างๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (Camera Trap) – เพื่อศึกษาวิจัยและสำรวจประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าต่างๆ รวมถึงสำรวจพื้นที่ครอบครองของเสือโคร่งและความหนาแน่นของเหยื่อ
- สนับสนุนและติดตั้งระบบเสารับส่งสัญญาณวิทยุ ( Radio Tower and Portable 2-Way Radio) – เชื่อมโยงระบบป้องกันรักษาป่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารขณะปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า (Ranger) รวมทั้งพัฒนาห้องปฏิบัติการและศูนย์ข้อมูลงานลาดตระเวนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ส่งเสริมระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) – เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย แล้วนำมาจัดระเบียบ วิเคราะห์ และประมวลผล ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมเฉพาะทาง ทำให้สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของการลาดตระเวน ผ่านการประมวลผลเชิงพื้นที่ได้สะดวก เป็นรูปธรรม นำไปสู่การวางแผนการปฏิบัติงานลาดตระเวนได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการสนับสนุนการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่, สนับสนุนเสบียงอาหาร, สนับสนุนการก่อสร้างจุดสกัดแม่กระสา และสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตรหลานของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
- สร้างศูนย์การเรียนรู้ Tiger Learning Center – จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา ณ โรงเรียนอนุบาลคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้นักเรียนและชุมชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้เกี่ยวกับเสือและสัตว์ป่าในพื้นที่ของตนและประเทศไทย รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อรักษาผืนป่าและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
ทำไม บี.กริม ถึงต้องห่วงใยและใส่ใจเสือโคร่ง?
หนึ่งในประเด็นที่องค์กรน้อยใหญ่ต่างก็เร่งจังหวะขยับและปรับตัวใส่ใจให้พร้อมกันคือ มิติด้านความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยเล็งเห็นแล้วว่านี่คือวาระเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายควรจะต้องหันมาดูแล ใส่ใจ และมีมาตรการในการจัดการอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม จับต้องได้
แต่หัวข้อเดียวกันนี้ไม่ได้มีแค่ประเด็นการดูแลห่วงโซ่การผลิตในซัพพลายเชนของตัวเองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลาสติกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีมิติอื่นๆ อีกหลายหลากที่นับรวมเป็นการใส่ใจด้านความยั่งยืน
และการสนับสนุนการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือโคร่งก็เป็นหนึ่งในวิธีการของการใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่ บี.กริม เลือกที่จะปฏิบัตินั่นเอง
นอกเหนือจากนี้ ในมุมมองและวิสัยทัศน์ของทาง บี.กริม ที่ยึดมั่นในแนวทางการสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (Empowering the World Compassionately) ก็ค่อนข้างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ไม่แปลกที่พวกเขาจะเลือกแนวทางที่ต่างจากองค์กรอื่นๆ แต่สร้างผลกระทบเชิงบวกหรืออิมแพ็กให้กับโลกใบนี้ได้ดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
มีคำกล่าวของ โรเบิร์ต สวอน นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ นักสำรวจ และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ที่เคยบอกเอาไว้ว่า “หนึ่งในภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงต่อโลกใบนี้ คือความเชื่อที่ว่าจะมีคนอื่นๆ มาช่วยอนุรักษ์โลก”
(The greatest threat to our planet is the belief that someone else will save it.)
เพราะมนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย อย่ารีรอให้ถึงวันที่ไม่มีอะไรหลงเหลือให้เรามานั่งเซฟกันอีกต่อไป อะไรที่ทำได้ไม่ต้องรอช้า ลงมือทำเลย แม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยที่เราทำได้ แต่ยิ่งมากคน มากความใส่ใจ สิ่งเหล่านั้นอาจจะสร้างผลกระทบได้มหาศาลมากกว่าที่เราคิด
เหมือนที่ บี.กริม ยึดมั่นในการสนับสนุนอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่งมานานกว่า 9 ปี และยังจะยึดมั่นลงมือทำต่อไปเพื่อโลกใบนี้ที่ดีกว่าเดิมของเรา