×

เส้นทาง Tiffany & Co. จากเงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 ดอลลาร์ สู่แบรนด์เครื่องประดับระดับโลก

24.07.2021
  • LOADING...
Tiffany & Co.

ถ้าพูดถึงแบรนด์เครื่องประดับอเมริกันที่โด่งดังไปทั่วโลกจากการปรากฏอยู่ในป๊อปคัลเจอร์ ทั้งหนัง เพลง และซีรีส์ เป็นต้องนึกถึง Tiffany & Co. เพราะแบรนด์นี้เคยเป็นทั้งชื่อหนังคลาสสิกจากปี 1961 เรื่อง Breakfast at Tiffany’s และมักจะถูกพูดถึงบ่อยๆในซีรีส์ชีวิตสาวนิวยอร์กในยุค 2000 อย่าง Sex and the City รวมทั้งปรากฏชื่อในเพลงอีกหลายเพลง 


ย้อนกลับไปในปี 1837 ชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี่ ในวัย 25 ปี และ จอห์น บี. ยัง เปิดร้านขายเครื่องเขียนและของใช้หรูหราภายในบ้านที่นิวยอร์ก โดยใช้เงินลงทุนจากพ่อของเขาเพียง 1,000 ดอลลาร์ ในช่วงเวลานั้นเองที่เขาเริ่มเห็นสไตล์เฉพาะตัวของสาวอเมริกันที่แยกออกจากขนบเดิมๆ ของยุโรปอย่างที่เคยเป็นมา จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Tiffany & Co. นับตั้งแต่บัดนั้น 


สัญลักษณ์ที่ต้องนึกถึงเมื่อพูดถึงเครื่องประดับแบรนด์นี้ก็คือกล่องสีฟ้าเฉดพิเศษ ซึ่งว่ากันว่า ชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี่ ได้แรงบันดาลใจมาจากสีของเทอร์ควอยส์ที่เจ้าสาวในศตวรรษที่ 19 นิยมทำเข็มกลัดประดับเทอร์ควอยส์มอบให้กับแขกที่มาร่วมงาน กล่องสีฟ้านี้เป็นที่หวงแหนขนาดห้ามไม่ให้พนักงานนำกล่องออกจากร้าน นอกจากใส่สินค้าและมอบให้กับลูกค้าเท่านั้น ต่อมาในปี 1998 สีฟ้านี้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของ Tiffany & Co. และในปี 2002 ก็ให้ Pantone® กำหนดค่าสีพิเศษที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของ Tiffany & Co. ในชื่อ Blue 1837 ซึ่งตั้งชื่อตามปีก่อตั้งแบรนด์นั่นเอง


อีกหนึ่งผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของ Tiffany & Co. ต้องยกให้กับ Tiffany® Setting แหวนหมั้นที่ได้รับการดีไซน์ขึ้นในปี 1886 ให้เพชรยกลอยจากตัวเรือนด้วยแฉก 6 แฉก แสงจึงส่องสะท้อนเพชรได้จากทุกมุม ฉีกจากขนบเดิมๆ ที่เพชรมักจะถูกฝังอยู่ในตัวเรือน จนกลายเป็นรูปแบบแหวนหมั้นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้แต่คนสำคัญอย่างอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ยังเลือกแหวนหมั้นจาก Tiffany & Co. นอกจากนี้เครื่องประดับของแบรนด์นี้ยังเป็นที่โปรดปรานของ แจ็กเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิส, เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ อีกด้วย 


Tiffany & Co. เป็นแบรนด์เครื่องประดับที่ดูเป็นมิตรกว่าแบรนด์หรูหราแบรนด์อื่นๆ เป็นเครื่องประดับเพชรจึงเหมาะกับการใช้งานที่ใส่ได้ทุกวัน แต่ก็ยังมีเครื่องประดับแบบ High Jewelry ในชื่อ Blue Book Collection ที่เป็นเหมือนคอลเล็กชันมาสเตอร์พีซของแบรนด์ โดยชื่อได้แรงบันดาลใจจากแคตตาล็อกไดเร็กเมลของ Tiffany & Co. ในปี 1845 ซึ่งนับเป็นแคตตาล็อกที่รวบรวมทั้งเครื่องประดับและของใช้สุดหรูภายในบ้านเล่มแรกของอเมริกา ในแง่ของการลงทุน Tiffany & Co. อาจหวือหวามาก แต่ในแง่การใช้งานและรอขายตามการปรับตัวของราคาอัญมณีที่เพิ่มขึ้นก็น่าจะคุ้มค่า และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา LVMH เพิ่งบรรลุข้อตกลงเข้าซื้อ Tiffany & Co. ด้วยมูลค่าสูงถึงรา 5 แสนล้านบาท ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่น่าตื่นเต้นจากแบรนด์นี้ก็เป็นได้

 

5 คอลเล็กชันขวัญใจนักสะสมจาก Tiffany & Co.

 

Tiffany® Setting 

​​ก่อนปี 1886 แหวนเพชรหรือแหวนหมั้นมักจะฝังเพชรไว้กับตัวเรือน จนกระทั่ง ชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี่ ได้แนะนำ Tiffany® Setting ที่ดีไซน์ให้แหวนมีง่าม 6 แฉก เพราะยกเพชรขึ้นจากตัวเรือนทำให้เหมือนลอยอยู่บนอากาศเพื่อเปิดรับแสงตกกระทบกับตัวเพชร จนกลายเป็นรูปแบบของแหวนหมั้นที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน 

 

 

Tiffany T 

คอลเล็กชันรูปตัว T ที่เหมือนการหลอมรวม DNA ของ Tiffany & Co. เอาไว้ด้วยกัน ซึ่งตัว T ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของงานดีไซน์เครื่องประดับ Tiffany & Co. ตั้งแต่ยุค 80 ผ่านวัสดุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทองคำโรสโกลด์ ทองคำ ทองคำขาว และเงิน ประดับตกแต่งด้วยอัญมณีหลายรูปแบบ ทั้งเทอร์ควอยส์ โอปอลสีชมพู มุก และนิล

 

 

Tiffany T1

ดีไซน์ที่ได้รับการพัฒนามาจากคอลเล็กชัน Tiffany T ในรูปแบบวงกลมที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวไร้รอยต่อ 

 

 

Tiffany Key 

Tiffany Key  เปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 ความพิเศษอยู่ที่ดีไซน์รูปหัวกุญแจที่มีความหลากหลาย ทั้งสัญลักษณ์ดอกลิลลี่, ใบไม้ 3 แฉก, ดอกไม้ต่างๆ ประดับประดาด้วยเพชรอันวิจิตรตระการตา 

​​

 

Return to Tiffany®

จุดเริ่มต้นของ Return to Tiffany® ต้องย้อนกลับไปในปี 1966 เมื่อครั้งที่ Tiffany & Co. เริ่มขายคีย์แท็กที่มีวลี ‘Please Return to Tiffany & Co. New York’ แท็กกุญแจมีหมายเลขกำกับที่ไม่ซ้ำกัน 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising