จากจดหมายถึงผู้ถือหุ้น 2566 ของ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) ซึ่งเขียนโดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทอย่าง ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล นอกจากจะเป็นการอธิบายถึงพัฒนาการของบริษัทที่ผ่านมา ยังเชื่อมโยงไปถึงการดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถในอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนนี้เอง ปิยะศักดิ์มองว่าแต่ละบริษัทควรช่วยกันเปิดเผยข้อมูลเครดิตของลูกค้าให้กับเครดิตบูโร
ปิยะศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและผู้ให้บริการสินเชื่อในรูปแบบฟินเทค (FinTech) จำนวนมาก ใช้การโฆษณาด้วยการบอกว่า ‘สินเชื่อจะได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องตรวจสอบประวัติเครดิต’
ซึ่งหัวเรือใหญ่ของเงินติดล้อมองว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลและค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะเป็นการดึงดูดผู้กู้ที่มีความเข้าใจผิด และกลัวว่ากระบวนการตรวจสอบข้อมูลจากเครดิตบูโร หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) จะทำให้เวลาในการอนุมัติสินเชื่อช้าลง และยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ‘แบล็กลิสต์ (Blacklist)’ จะทำให้ผู้กู้ที่มีประวัติเครดิตไม่ดีไม่สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้อีกเลย
ในความเป็นจริงแล้ว ‘แบล็กลิสต์ของเครดิตบูโร’ เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ และการตรวจสอบข้อมูลจากเครดิตบูโรไม่ได้ทำให้การอนุมัติสินเชื่อช้าลง และไม่มีผลใดๆ กับการพิจารณาอนุมัติ
“การอนุมัติสินเชื่อขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการสินเชื่อว่าจะให้น้ำหนักกับผลการตรวจสอบข้อมูลจากเครดิตบูโรแค่ไหน ซึ่งน้ำหนักนั้นอาจเป็นศูนย์ก็ได้”
นอกจากนี้ ผู้เล่นบางรายในอุตสาหกรรมอาจพยายามหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลของผู้กู้แก่บุคคลอื่น ทำให้ลูกค้าถูกจำกัดตัวเลือกผู้ให้บริการ ซึ่งการไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครดิตบูโรและไม่เปิดเผยข้อมูลเครดิตของผู้กู้ อาจช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะสั้น แต่จะส่งผลเสียต่อผู้กู้และอุตสาหกรรมการเงินของประเทศในอนาคต
“ฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งและมีขนาดใหญ่ควรถือเสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ สามารถถูกใช้โดยหน่วยงานกำกับและผู้เล่นในตลาด เพื่อให้เกิดความสามารถในการวัดความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพิ่มความสามารถในการติดตามระดับหนี้ครัวเรือน ลดความยุ่งยากในการปล่อยสินเชื่อ”
โดยพื้นฐานแล้วผู้ให้บริการสินเชื่อคือตัวกลางที่ใช้ข้อมูล และถือเป็นช่องทางในการเชื่อมโยงระหว่างผู้กู้กับผู้ออม ฐานข้อมูลประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมที่ด้อยโอกาสที่สุดในประเทศ เมื่อรวมกับเทคโนโลยีในปัจจุบันจะทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
นอกจากนี้ การมีข้อมูลเครดิตที่เพียงพอจะช่วยให้ผู้บริการสินเชื่อสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยคนหนุ่มสาว และผู้กู้ที่มีประวัติการกู้ยืมน้อยให้สามารถสร้างประวัติทางการเงิน และช่วยให้ผู้กู้ที่มีประวัติทางการเงินไม่สามารถปรับปรุงประวัติที่เสียหายได้ และเมื่อเวลาผ่านไปผู้คนจะเรียนรู้วิธีที่จะจัดการกับประวัติทางการเงิน และมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นได้
สำหรับเอกสารฉบับเต็มสามารถอ่านได้จาก 20230224-tidlor-letter-to-shareholders-2023-th.pdf (tidlorinvestor.com)
บทความที่เกี่ยวข้อง
- “นี่เป็นราคาที่เราพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย” เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยกล่าวหลัง Jaymart ควักเงิน 1.2 พันล้านบาทเข้าถือหุ้น 30%
- ADVANC ทุ่ม 32,420 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ 3BB จาก JAS
- กางแผน ‘โอ้กะจู๋’ หลังมี OR เป็นแบ็กอัป เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 60 แห่ง ขายผักสดและบุก CLMV ก่อน IPO ในปี 2567