×

ทำไม? หุ้นยั่งยืน THSI ต้องเปลี่ยนเป็น ‘SET ESG Ratings’

07.11.2023
  • LOADING...
หุ้นยั่งยืน

HIGHLIGHTS

  • ปัจจุบัน ESG เป็นเรื่องหลักที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจหรือประกอบการลงทุนไปแล้ว และเพื่อสร้างความเข้าใจให้นักลงทุนมากขึ้น ตลท. จึงเปลี่ยนชื่อเรียกหุ้นยั่งยืนจากเดิม THSI เป็น SET ESG Ratings เหมือนกับกองทุนในต่างประเทศ 
  • เมื่อชื่อเรียกหุ้นยั่งยืนเปลี่ยน ดัชนีหุ้นยั่งยืนที่ใช้อ้างอิงในการออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็เปลี่ยนจาก ‘SETTHSI Index’ เป็น ‘SET ESG Index’ 
  • ตลท. พร้อมจัดเรตติ้งจากการประเมินคะแนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนทุกประเภทนำไปประกอบการลงทุนได้ง่ายขึ้น แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ BBB, A, AA และ AAA แต่เป็นเพียงการรวมคะแนนด้าน ESG ไม่ใช่การจัดอันดับเรตติ้งประเมินความเสี่ยงทางการเงินเหมือนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
  • หุ้นยั่งยืนชื่อใหม่มีข้อดีหลายส่วน ตั้งแต่ช่วยให้บริษัทจดทะเบียนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้าน ESG ของอุตสาหกรรมหรือคู่แข่ง และสร้างแรงผลักดันให้มาปรับใช้กับบริษัทตัวเอง รวมทั้งช่วยให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยสามารถประเมินมูลค่าหุ้นและใช้ประกอบการลงทุนได้มากขึ้น

การประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) นับวันมีแต่ความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถช่วยผลักดันและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสู่หนทางความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งหมายรวมถึงภาคตลาดทุนไปด้วย ที่มีความชัดเจนว่าหากอะไรสามารถทำให้การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นไปได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการและโดนใจกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมตลาดทุนเช่นกัน 

 

ตลท. เปลี่ยนชื่อ THSI เป็น SET ESG Ratings

จากการเปิดเผยของ ‘ศรพล ตุลยะเสถียร’ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้เหตุผลถึงสาเหตุที่เปลี่ยนชื่อหุ้นยั่งยืน ‘THSI’ (Thailand Sustainability Investment) เป็น SET ESG Ratings ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป โดยเหตุผลหลักคือ ให้เป็นที่เข้าใจของสากลหรือตามความต้องการและข้อแนะนำของนักลงทุนประเภทต่างๆ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่มองว่า กองทุนที่เกี่ยวกับความยั่งยืนส่วนใหญ่ทั่วโลกจะใช้คำว่า ESG เป็นหลัก 

 

ดังนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารและทำความเข้าใจทั้งการลงทุนและการจัดกลุ่มประเภทการลงทุนด้านความยั่งยืนของไทยได้ดีขึ้น โดยเชื่อว่าเมื่อเปลี่ยนชื่อแล้วจะมีโอกาสและความเป็นไปได้ที่นักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนรายบุคคลในประเทศจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืนมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือกองทุน 

 

ดัชนีหุ้นยั่งยืนเปลี่ยนชื่อเป็น SET ESG Index

เมื่อ ตลท. ได้ตั้งดัชนีหุ้นยั่งยืน ‘SETTHSI Index’ เพื่อให้นักลงทุนและกองทุนได้ใช้อ้างอิงในการลงทุน ซึ่งโดยปกติจะมีการเปลี่ยนรายชื่อหุ้นในดัชนีปีละ 2 ครั้ง คือ รอบเดือนมิถุนายน และรอบเดือนธันวาคม และเมื่อหุ้นยั่งยืน THSI มีการเปลี่ยนชื่อ ดังนั้น ดัชนีหุ้นยั่งยืนก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นกันคือ ‘SET ESG Index’

 

สิ่งใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจกับ SET ESG Ratings

นับแต่มีวิธีการคัดเลือกหุ้นยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 จะเป็นครั้งแรกที่หุ้นยั่งยืนจะมีการประเมินผลรวมจากคะแนน พร้อมกำหนดเป็นเรตติ้ง 4 ระดับ คือ ‘BBB’ ที่ได้คะแนนจากการประเมินผลที่ 50-64 คะแนนขึ้นไป, ‘A’ ได้คะแนน 65-79 คะแนน, ‘AA’ ได้คะแนนประเมิน 80-89 คะแนน และ ‘AAA’ ได้คะแนนจากการประเมินผล 90-100 คะแนน

 

ศรพลกล่าวว่า SET ESG Ratings เป็นการประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG เท่านั้น และนำมาจัดระดับเรตติ้งตามคะแนนรวมของบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่ง เนื่องจาก ตลท. ไม่ใช่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นเหมือนบริษัทเครดิตเรตติ้งทั่วไปที่จะมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงินหรือเพอร์ฟอร์แมนซ์ด้านการเงินของ บจ. โดย ESG Ratings เป็นเพียงตัวช่วยหรือทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยที่นักลงทุนยังต้องพิจารณาข้อมูลด้านการเงินและข้อมูลอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยทุกครั้ง

 

ทั้งนี้ ปกติ Credit Ratings ทั่วไปจะมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ 2 แบบหลักๆ คือ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสะท้อนความแข็งแกร่งขององค์กร โดยดูจากฐานะการเงินและความเสี่ยงของธุรกิจร่วมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ เพื่อสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ ซึ่งมีความแตกต่างจากที่ ตลท. ทำ ที่เป็นการประเมินผลจากคะแนนรวมของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดยคำนึงถึงหลัก ESG เข้ามาในการดำเนินธุรกิจ

 

ข้อดีและประโยชน์จากการเปลี่ยนชื่อหุ้นยั่งยืนและจัดเรตติ้ง

 

สำหรับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย

  • สร้างความเข้าใจตรงกันเหมือนชื่อหุ้น กองทุน หรือดัชนีหุ้นอ้างอิงทั่วโลกที่มักใช้คำว่า ‘ESG’ เป็นส่วนประกอบ
  • การจัดระดับเรตติ้งตามคะแนนจาก ESG ระดับ BBB ขึ้นไป จะเป็นข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเพื่อมาช่วยประกอบการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น 
  • ทำให้สามารถเปรียบเทียบวิธีการทำธุรกิจที่นำประเด็น ESG เข้าไปเป็นกลยุทธ์และปรับการดำเนินธุรกิจในแต่ละบริษัท เมื่อเทียบกับหมวดอุตสาหกรรมเดียวกันหรือคนละหมวดธุรกิจ
  • เป็นข้อมูลที่นำไปประกอบการวิเคราะห์และใช้ประเมินมูลค่าหุ้น เพื่อประกอบการลงทุนหรือจัดพอร์ตการลงทุนต่อไป
  • ทำให้เห็นแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงหรือคณะกรรมการบริษัทได้ชัดเจนว่า ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนอย่างไรบ้าง และพร้อมที่จะลงทุนกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะผู้บริหารระดับสูงถือเป็นส่วนสำคัญต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้ดี
  • ผู้จัดการกองทุนสามารถนำไปพัฒนาการบริการหรือการออกผลิตภัณฑ์สำหรับการลงทุนในตลาดทุนได้อีกหลากหลาย (Investment Products)
  • ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการติดตามและสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนคำนึงถึง ESG

 

สำหรับบริษัทจดทะเบียน

  • ทำให้บริษัทจดทะเบียนเห็น Benchmark การให้ความสำคัญด้าน ESG ของบริษัทตัวเองได้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือได้เห็นพัฒนาการของบริษัทอื่นๆ ที่มีการดำเนินการเรื่อง ESG ในอุตสาหกรรมอื่นๆ 
  • ทำให้เกิดแรงจูงใจหรือแรงขับที่อยากจะพัฒนาให้บริษัทมีทิศทางหรือปรับแผนงาน กลยุทธ์ เพื่อให้บริษัทดำเนินไปได้อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยกำหนดเป้าหมายและพร้อมผลักดันการพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้นได้
  • บริษัทจดทะเบียนไม่มีต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในการปรับแผนงานให้เข้าถึง ESG เนื่องจาก SET ESG Ratings เป็นการประกาศและเปิดเผยสู่ช่องทางสาธารณะโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งสามารถดูระดับเรตติ้งของบริษัทจดทะเบียนอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันหรือในขนาดใกล้เคียงกันได้ 
  • ถือเป็นการสร้างโอกาสทางอ้อมให้กับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในบริษัทที่เห็นแนวทางและความตั้งใจว่า ต้องการเป็นหุ้นที่มีการลงทุนและมีแนวคิดด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น เช่น การได้รับการสนับสนุนออก Green Bond หรือการที่จะขอสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงินในการทำโปรเจกต์ไฟแนนซ์ หรือเครื่องมือทางการเงินประเภทอื่นๆ 

 

ข้อมูลที่ ตลท. นำมาใช้ประเมินหุ้นยั่งยืน 

สำหรับข้อมูลที่ ตลท. นำมาใช้ในกระบวนการประเมินผล ยังคงมาจากข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนจาก 2 ส่วนหลัก คือ ข้อมูลภายในที่บริษัทจดทะเบียนมีการนำส่งมายัง ตลท. โดยตรง และข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยสู่สาธารณะ เช่น แบบ 56-1 One Report, รายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) และเว็บไซต์ของบริษัท 

 

สำหรับกรณีที่มีธุรกิจแตกต่างกัน จะมีวิธีการเปรียบเทียบแนวทางการประเมินในระดับสากลซึ่งครอบคลุมคำถามในมิติบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม และมิติสังคม โดยมี 8 ชุดแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม (ตามที่ซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ) ซึ่งจะประกอบไปด้วยคำถามทั่วไปสำหรับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และคำถามเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีบริบทในการจัดการประเด็นที่เป็นสาระสำคัญแตกต่างกันออกไป ซึ่งการคำนวณคะแนนจะมีกระบวนการถ่วงน้ำหนัก (Weighting) ที่แตกต่างกันใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม

 

กระบวนการคัดเลือกหุ้นยั่งยืน

กระบวนการคัดเลือกและหลักเกณฑ์การประเมินหุ้นยั่งยืน ตลท. ยังใช้วิธีการเหมือนเดิมทุกประการ คือ 

 

  1. เกณฑ์คะแนนจากการประเมินความยั่งยืนที่ได้ 50% ขึ้นไป โดยให้ครอบคลุมทั้ง ESG และมีการถ่วงน้ำหนักของคะแนนตามสาระสำคัญในแต่ละอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 8 หมวด (Industry Weightings) เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะถูกคำนวณน้ำหนักเพิ่มขึ้นในหมวดที่เกี่ยวข้องกับมิติสิ่งแวดล้อม

 

  1. เกณฑ์ด้านคุณสมบัติ เช่น ผลการประเมินคุณภาพการรายงานด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance Report หรือ CGR), ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น, ผลการกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียน, การไม่ถูกลงโทษในประเด็นด้าน ESG และการเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C

 

ทั้งนี้ หากบริษัทจดทะเบียนใดมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ด้านคุณสมบัติ เช่น กรณีมีข่าวด้านลบเกี่ยวกับประเด็น ESG ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีการกล่าวโทษจากหน่วยงานทางการ ซึ่งส่งผลให้บริษัทไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามข้อใดข้อหนึ่ง ตลท. ก็จะมีการคัดชื่อบริษัทออกจากผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ทันที

 

สถานการณ์การลงทุนด้านความยั่งยืนในปัจจุบัน

ภาพการลงทุนในตลาดโลกพบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการลงทุนด้านความยั่งยืนได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาถึง 4 เท่า โดยปี 2012 มีจำนวนกองทุนที่ลงทุนด้านความยั่งยืน 1,050 กองทุน โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) อยู่ที่ 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จนปี 2022 จำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นมาที่ 4,900 กองทุน และมี AUM เพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับการลงทุนในประเทศไทยพบว่า มีจำนวนกองทุนที่สนใจลงทุนด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องทุกปี จนปัจจุบัน ณ เดือนกันยายน 2023 พบว่า มีจำนวนทั้งหมด 86 กองทุน แบ่งเป็น ESG Funds 69 กองทุน และ CG Funds 17 กองทุน โดยทั้งหมดมี AUM อยู่ที่ 6.2 หมื่นล้านบาท 

 

นอกจากนั้นยังมีสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับหุ้นหรือกองทุนยั่งยืน ตั้งแต่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ใน Dow Jones Sustainability Indices สูงสุดในประเทศกลุ่มอาเซียนคือ 26 บริษัท และอยู่ใน FTSE4Good ซึ่งก็สูงสุดในอาเซียนทั้งหมด 42 บริษัท รวมถึงในดัชนี MSCI มากสุดในอาเซียนถึง 41 บริษัท อีกทั้งยังติดใน The Sustainability Yearbook 2023 ของ S&P Global ซึ่งเป็นการติดอันดับ Gold Class จำนวนมากที่สุดในโลกถึง 12 บริษัท โดยจำนวนหุ้นยั่งยืนของ ตลท. ปี 2565 มีจำนวน 166 บริษัทนั้น คิดเป็น 72% ของจำนวนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ในตลาดหุ้นไทย 

 

หุ้นยั่งยืนปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565

ล่าสุด ตลท. ประกาศหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 โดยมีทั้งหมด 193 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีทั้งหมด 166 บริษัท สำหรับการจัดอันดับตามคะแนนครั้งแรกพบว่า มี บจ. ทั้งหมด 33 แห่งที่ได้ระดับ AAA (คะแนนรวม 90-100), ระดับ AA (คะแนนรวม 80-89) มี 71 บริษัท, ระดับ A (คะแนนรวม 65-79) มี 64 บริษัท และระดับ BBB (คะแนนรวม 50-64) มี 25 บริษัท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% เมื่อเทียบกับมาร์เก็ตแคปทั้งหมดของ SET และ mai (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566)

 

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อหุ้นยั่งยืนเพื่อสร้างความเข้าใจและสื่อสารกับผู้ลงทุนทุกประเภทตามระดับสากลมากขึ้นแล้ว อีกทั้งยังมีการจัดเรตติ้งเพื่อให้เห็นพัฒนาการของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ที่นำ ESG มาเป็นส่วนประกอบในการดำเนินธุรกิจ ผลตอบรับจากนักลงทุนจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อได้อย่างหนึ่งว่า ใครเริ่มทำการบ้านก่อนก็น่าจะมีโอกาสก่อนได้ไม่ยาก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X