×

จับตาเดือน ก.ย. นี้ Fed เริ่มหั่นดอกเบี้ยเป็น Healthy Cut ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจบางจุดที่อ่อนแอ ดัน Fund Flow กลับเข้าเอเชีย

31.07.2024
  • LOADING...

รุ่งโรจน์ เสกสรรค์วิริยะ ผู้อำนวยการอาวุโส Investment Product Selection and Partnership ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า การประชุมนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ในช่วงวันที่ 30-31 กรกฎาคม ซึ่งจะทราบผลในคืนวันนี้ (31 กรกฎาคม) ตามเวลาประเทศไทย คาดว่าจะมีมติให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50%

 

โดยประเมินว่า เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed จะออกมาระบุว่า เหตุผลในการคงดอกเบี้ยในรอบนี้เพื่อรอติดตามข้อมูลตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพื่อยืนยันว่ามีทิศทางปรับตัวลดลงมาจริง และนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินหรือลดอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป ซึ่งหากเป็นไปตามสมมติฐานดังกล่าวจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) ของสหรัฐฯ ที่เคยอยู่ในระดับสูง ปรับลดลงทันที

 

คาด Fed หั่นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจบางจุดที่อ่อนแอ

 

ตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่ Fed เริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือนกันยายนนี้ ซึ่งโดยปกติในช่วงฤดูกาลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน ซึ่งหากจะเกิดขึ้นก็ควรเป็นการประชุมในรอบเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม

 

โดยมีมุมมองว่าการลดดอกเบี้ยของ Fed ในครั้งนี้จะเป็น Healthy Cut แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะมีความแข็งแรง แต่ก็มีเหตุผลในการช่วยเหลือเศรษฐกิจบางส่วนที่อ่อนแอ

 

ทั้งนี้ ข้อมูลปัจจุบันพบว่าตัวเลขเงินฝากของสหรัฐฯ ที่เคยอยู่ในระดับสูงเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวลดลง สะท้อนว่ากำลังการบริโภคของสหรัฐฯ ในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวลดลงหรือชะลอตัวลง

 

อีกทั้งเริ่มเห็นแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของผู้บริโภคในกลุ่มบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งการที่ดอกเบี้ยคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาระจ่ายดอกเบี้ยของรัฐบาลในการออกพันธบัตรทรงตัวในระดับสูง ซึ่งหากดอกเบี้ยมีทิศทางปรับลดลงก็จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ลงได้ ดังนั้นจึงมองว่าการลดดอกเบี้ยในรอบนี้สามารถเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาบางจุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังอ่อนแอได้

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมาประมาณ 5% เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรออกมาก่อนล่วงหน้าจากความคาดหวังว่า Fed ใกล้จะปรับลดดอกเบี้ยลง ก็ไม่ได้สร้างความตระหนกให้กับนักลงทุน เพราะก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงต่อเนื่องมาประมาณ 10% ส่งผลให้มีมูลค่าหุ้นของสหรัฐฯ แพงในเกือบทุกกลุ่ม

 

หุ้นสหรัฐฯ เสี่ยงปรับฐานหลังดอกเบี้ยลด

 

รุ่งโรจน์กล่าวว่า หากดูสถิติในอดีตช่วงที่มีการลดดอกเบี้ยของ Fed พบว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนที่ดอกเบี้ยจะปรับลดลง โดยหลังจากดอกเบี้ยลงน่าจะเริ่มเห็นการปรับฐานลง

 

พร้อมทั้งประเมินว่าการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงนี้จะมีความผันผวนตามข้อมูลข่าวสารของดอกเบี้ยที่ออกมา แต่หากมีข้อมูลที่เริ่มนิ่งแล้วก็มีโอกาสเห็นตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

 

ด้านดอกเบี้ยนโยบายในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา หลังจากดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขึ้นไประดับสูงสุดที่ 5.25-5.5% ขณะที่ดอกเบี้ยของไทยไม่สามารถปรับขึ้นได้ในระดับเดียวกับของสหรัฐฯ ซึ่งสถานการณ์มีความแตกต่างจากในอดีต เพราะโดยปกติกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามักจะมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่ในรอบนี้ดอกเบี้ยของไทยกลับต่ำกว่าของสหรัฐฯ และยังไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ เนื่องจากมีปัจจัยเฉพาะจากภายในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม หาก Fed ปรับลดดอกเบี้ยลงในเดือนกันยายนนี้ตามคาด ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดแรงกดดันของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย แต่เมื่อเปรียบเทียบส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ ยังติดลบในระดับค่อนข้างมากอยู่แล้ว ส่งผลให้ ธปท. มีแรงกดดันลดลงในการพิจารณาตัดสินใจทั้งลดหรือคงดอกเบี้ย

 

ทั้งนี้ การลดลงของดอกเบี้ยสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) มีโอกาสจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในเอเชีย รวมถึงไทย ซึ่งจะมีผลให้ค่าเงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่าลงมากกว่าระดับปัจจุบัน

 

ไทย ‘เงินเฟ้อภาคผลิต’ สูง

 

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันของไทย ตัวเลขเงินเฟ้อในภาคการผลิตอยู่ในระดับสูงกว่าเงินเฟ้อการบริโภค ซึ่งเป็นสาเหตุจากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น แต่ไม่สามารถส่งต่อไปยังผู้บริโภคได้ สะท้อนว่าภาคการบริโภคของไทยกำลังอยู่ในภาวะอ่อนแอ

 

นอกจากนี้ แนวโน้มการว่างงานมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มสูงขึ้น หลังจากเริ่มมีกระแสข่าวทยอยปิดโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งต้องติดตามตัวเลขอัตราการว่างงานว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

 

ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในการบริโภคของประชาชนยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งไทยยังมีอัตราการฝากเงินในระดับสูง สะท้อนว่าการบริโภคของไทยยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยมีมุมมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยลงอาจจะช่วยได้บ้าง แต่ยังไม่ได้มีผลกระทบมากเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ทั้งหมด

 

ดังนั้นมีมุมมองว่าทางการควรหาแนวทางในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในภาคเอกชนในการดึงดูดให้เข้ามาลงทุนเพิ่มสูงขึ้น เพื่อสร้างอุปสงค์ใหม่ๆ ให้กับประเทศในระยะยาว

 

ดิจิทัลวอลเล็ตช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

 

ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่กำลังจะออกมา ประเมินว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยได้ในระยะสั้นในบางหมวด โดยเฉพาะภาคการบริโภค ขณะที่เซ็กเตอร์อื่นๆ ยังมีความคาดหวังว่าควรมีมาตรการทางการคลังเข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการหลักที่มีผลมากกว่ามาตรการทางการเงิน

 

สำหรับคำแนะนำการลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นยังมีความผันผวน แนะนำให้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ เพราะการลดดอกเบี้ยของ Fed ในรอบนี้จะมีผลกระทบต่อดอกเบี้ยระยะสั้นช่วง 1-2 เดือน หรือ 1-2 ปี เป็นต้น แต่ไม่มีผลกระทบกับดอกเบี้ยในระยะยาว

 

ดังนั้นควรเน้นลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุไม่ยาวมาก แต่ต้องมีระยะยาวเพียงพอในการสร้างผลตอบแทน หรือหวังส่วนต่างกำไรจากการลงทุนในอนาคต โดยมี 2 กองทุนแนะนำ คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ อินคัม (ชนิดสะสมมูลค่า) (SCBINCA) กับกองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ (UGIS-N)

 

โดยมีนโยบายลงทุนในกองทุน PIMCO GIS Income Fund (กองทุนหลัก) โดยเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก โดยกลยุทธ์ของกองทุนเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีเครดิตเรตติ้งสูง โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ AA- มีการกระจายการลงทุนในตราสารหนี้หลากหลายกลุ่มทั้งภาครัฐและเอกชน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising