×

คณบดีศิริราช เผยวัคซีนสลับชนิดไม่มีข้อห้าม ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ขณะที่ผู้สูงอายุ-กลุ่มโรคเรื้อรัง-หญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์สามารถฉีดได้

โดย THE STANDARD TEAM
22.07.2021
  • LOADING...
วัคซีนสลับชนิด

วันนี้ (21 กรกฎาคม) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิดว่า วัคซีนโควิดมี 4 ชนิด คือ mRNA เชื้อตาย ไวรัลเวกเตอร์ และโปรตีนซับยูนิต โดยวัคซีนชนิดเชื้อตายและโปรตีนซับยูนิต มีกลไกสำคัญคือสร้างภูมิคุ้มกันโดยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวกลุ่ม B Cells ที่จะสร้างแอนติบอดีออกมาในกระแสเลือด และป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าไปติดเชื้อในเซลล์ ส่วนชนิด mRNA และไวรัลเวกเตอร์มีกลไกสร้างภูมิคุ้มกันทั้งสองอย่างคือกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด T Cells ที่จะไปฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส และกระตุ้นเม็ดเลือดขาวกลุ่ม B Cells ให้สร้างแอนติบอดี

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็ม 1 เป็นชนิดเชื้อตายที่กระตุ้น B Cells ได้ดี แต่กระตุ้น T Cells ไม่ดีนัก และปรับเอาวัคซีนที่กระตุ้น T Cells ได้ดีคือไวรัลเวกเตอร์มาฉีดเป็นเข็มที่ 2 จึงกลายเป็นให้ฉีดด้วย Sinovac เว้น 3 สัปดาห์แล้วฉีดด้วย AstraZeneca โดย 2 สัปดาห์หลังฉีด AstraZeneca ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูง รวมใช้เวลา 5 สัปดาห์ 

 

ซึ่งข้อมูลวิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า ภูมิคุ้มกันสูงพอน่าจะครอบคลุมสายพันธุ์เดลตา ขณะที่การศึกษาในต่างประเทศพบว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ส่วนการฉีด AstraZeneca 2 เข็ม แม้กระตุ้นทั้ง T Cells และ B Cells แต่ใช้เวลานาน เนื่องจากเว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 10-12 สัปดาห์ และใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจึงขึ้นสูง โดยรวมต้องใช้เวลา 12-14 สัปดาห์ ขณะที่การฉีด AstraZeneca เข็มเดียว ข้อมูลจากต่างประเทศพบว่าไม่พอในการลดการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา และหากระยะเวลาระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ของ AstraZeneca ยิ่งสั้นประสิทธิภาพจะยิ่งน้อยลง

 

“ขณะนี้โควิดสายพันธุ์เดลตาแพร่กระจายเร็วมาก ครอบคลุมทุกทวีป ทำให้ผู้ติดเชื้อทั่วโลกกลับมาเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่การเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากวัคซีนช่วยลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิต ส่วนประเทศไทยสายพันธุ์เดลตาพบมากถึงกว่าร้อยละ 50 ของการติดเชื้อ การฉีดวัคซีนจะลดความรุนแรงและเสียชีวิต และจะช่วยลดการติดเชื้อหากมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนมากพอ ซึ่งการฉีดวัคซีนให้มากนั้นมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ ต้องมีวัคซีนมากพอ บริหารจัดการการฉีดให้มีประสิทธิภาพมากพอ เช่น ฉีดให้ได้ 3-4 แสนโดสต่อวัน และมีผู้มารับการฉีด ดังนั้นเมื่อมีการจัดสรรวัคซีนให้แล้ว ขอให้มารับการฉีดวัคซีนด้วย” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวด้วยว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดนี้ ไม่ได้มีรายงานภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน ส่วนการฉีดวัคซีนกระตุ้นในบุคลากรทางการแพทย์ที่รับ Sinovac 2 เข็ม อยู่บนหลักการเดียวกันคือ กระตุ้นด้วยวัคซีนต่างชนิดคือ AstraZeneca ที่ช่วยกระตุ้น T Cells สำหรับวัคซีนรุ่น 2 รองรับการกลายพันธุ์ ประเทศไทยกำลังเจรจา ซึ่งอย่างเร็วอาจจะมาปีหน้า จึงเป็นอีกเหตุผลในการปรับสูตรการฉีดวัคซีนเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คนไทยปลอดภัยระหว่างรอวัคซีนรุ่น 2

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising