×

Thematic Investor: หมดมุก?

06.08.2021
  • LOADING...
Thematic Investor

ย้อนกลับไปปี 2020 การลงทุนที่ทั่วทั้งตลาดต้องมี หนีไม่พ้น Innovative Disruption หรือไม่ก็เป็นกองทุน Thematics ใหม่ๆ จากหลากหลาย บลจ.

 

ทุกอย่างดูดีไปหมด จนการลงทุนมาสะดุดในช่วงต้นปี 2021 เมื่อตลาดเชื่อเรื่องการ Reopening และ Bond Yield พลิกเป็นขาขึ้น ตัวเลือกใหม่สาย Value ที่ตรงไปตรงมา และต้นทุนทางการเงินที่คาดว่าจะสูงขึ้น ทำให้การลงทุนแนว Hyper Growth ต่างปรับฐานกันถ้วนหน้า

 

แต่ปัจจุบัน แม้ไวรัสจะกลับมาระบาดใหม่ทั่วโลก หลายประเทศมีความเสี่ยงที่จะต้องเลื่อนการ Reopening ออกไปไม่มีกำหนด Bond Yield สหรัฐฯ ย่อตัวกลับมาแทบเท่ากับปลายปี 2020 แต่น่าแปลกที่กองทุน Disruptive Innovation ยอดฮิต กลับไม่เขียวสดใสเหมือนปีก่อน จนนักลงทุนหลายท่านตั้งคำถามว่า Thematic Investing ทั้งหลายพบกับทางตันแล้วหรือไม่ 

 

ผมเริ่มหาคำตอบจากกลุ่มการลงทุนขวัญใจรายย่อยอย่าง ARK Invest ก่อน

 

โดยในปีนี้ธีมที่ดีสุดของ ARK คือ Autonomous Tech & Robotics (ARKQ) ปรับตัวบวกราว 6% แย่ที่สุดคือ ARKG หรือ ARK Genomic Revolution ติดลบ 9% ส่วนกองทุนหลัก ARKK ติดลบอยู่ประมาณ 3% ทั้งหมดแพ้ดัชนี MSCI All World Index ที่ครึ่งปีแรกปรับตัวบวกถึง 12% อย่างไม่ต้องสืบ 

 

แต่ที่น่าสนใจคือ ETF ของ ARK กลับ Underperform แม้กระทั่งดัชนีที่ ARK ทำขึ้นเองอย่าง MSCI ACWI IMI Innovation Index ที่บวกในครึ่งปีแรก 11% 

 

เหตุผลส่วนหนึ่งผมเชื่อว่าเกิดจากการที่มีเงินเข้าออกมากผิดปกติ มีจังหวะที่ต้องปรับพอร์ตโดยไม่จำเป็นบ่อยครั้ง แต่ส่วนมากดูจะมาจากการที่ ARK ปรับสัดส่วนการลงทุนไปมาเพื่อจับจังหวะตลาดเอง และลงทุน IPO ที่ Passive ETF ทำไม่ได้

 

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้เราจะเห็นหน้า เคธี วูดส์ CEO และ CIO ARK บ่อยแค่ไหน แต่ความโด่งดังก็ไม่ได้การันตีผลตอบแทน ส่วนการเป็น Active Investor ใช่ว่าจะดีกว่า Passive Investor เสมอไป

 

ต่อมาคำถามว่า Thematic Investing นั้นหมดความนิยมแล้วหรือ? ตลาดธีมทั้งหมดตอบว่า “ไม่ใช่” แต่ที่เกิดขึ้นคือตลาด “เปลี่ยนธีม”

 

ผมใช้ข้อมูลจาก Citi Research เปรียบเทียบจักรวาลธีมเกือบ 100 ธีม ที่ Citi เชื่อว่าตลาดกำลังให้ความสนใจ ไม่น่าเชื่อว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ไม่มีธีมไหนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ

 

ธีมที่เด่นและลงทุนได้ไม่ยาก 3 ธีม ประกอบด้วย 

 

  • ‘Belt and Road’ ลงทุนเกี่ยวกับนโยบายโครงสร้างพื้นฐานตามแนวคิดของรัฐบาลจีน 
  • ‘Manufacturing Onshoring’ หรือบริษัทสหรัฐฯ ที่กลับมาเพิ่มการลงทุนในประเทศ
  • ‘Service Offshoring’ ลงทุนในบริษัทภาคบริการที่ลดต้นทุนด้วยการจ้างแรงงานต่างประเทศ 

 

ทั้งหมดให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงระดับ 18-26% 

 

ฝั่งธีมที่แย่กว่าตลาดมีผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วง 4-7% ได้แก่ ‘Space Exploration’ การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ไปถึงอวกาศ, ‘Solar and Wind Energy’ พลังงานทางเลือกที่มีต้นกำเนิดมาจากลมและแสงแดด, ‘Biotech’ ที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยีตั้งแต่การเกษตรไปจนถึงการผลิตยารักษาโรค

 

ความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มนี้มีหลายเรื่อง คือ

 

หนึ่งคือธีมที่ผลงานดี เป็นธีมที่แนวโน้มรายได้ (Earning Momentum) ถูกปรับตัวขึ้นมากที่สุด

 

แรงสนับสนุนหลักช่วงนี้มาจากนโยบายภาครัฐและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังโควิด นักวิเคราะห์มองไปในทางเดียวกันว่าสายพานการผลิตแบบ Globalization มีปัญหา จึงเป็นโอกาสของบริษัทที่สามารถผลิตจบครบลูปได้เอง

 

สองคือธีมที่พื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง (High Quality) ได้รับความสนใจมากขึ้น

 

ผมเชื่อว่าเหตุผลหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ไม่พร้อมกัน ทำให้สหรัฐฯ เข้าสู่ช่วง Late-Cycle ของภาคธุรกิจเร็วกว่าที่ควรจะเป็น นักลงทุนกังวลต่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดการช่วยเหลือลง จึงเข้าสู่โหมดปลอดภัยไว้ก่อน

 

สามคือธีมระยะสั้น (Cyclical Theme) ทำผลงานได้ดีกว่าธีมระยะยาว (Secular Theme) 

 

เพราะตลาดเชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดทุกประเทศต้องลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานใหม่ บริษัทต้องยกระดับเทคโนโลยีเพื่อรองรับกำลังซื้อรอบใหม่หลังวิกฤต การเติบโตแบบวัฏจักรจึงควรเกิดขึ้น อย่างที่เราเห็นมาแล้วกับราคาน้ำมันหรือสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่กันได้ไม่ยาก 

 

และสุดท้าย เมื่อเป็นการลงทุนสไตล์ Thematics แนวโน้มราคา หรือ Price Momentum มักมีความสัมพันธ์กับทิศทางของการลงทุนในระยะสั้นสูง เพราะรายย่อยและผู้แนะนำการลงทุนคือส่วนใหญ่ของ Thematic Investor นักลงทุนกลุ่มนี้แม้จะเชื่อในธีมระยะยาว แต่ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนใจเมื่อมีการลงทุนที่น่าสนใจกว่าเข้ามาในตลาด และด้วยเงินทุนต่อรายที่ไม่สูง เมื่อเปลี่ยนมุมมองจึงมักโยกเงินทั้งหมดไปพร้อมกัน ทำให้เกิด Price Reversal และ Momentum ที่เด่นชัด

 

เมื่อเข้าใจเหตุผลทั้งหมด ใครที่สนใจหรือลงทุนในธีมไหนอยู่ก็ต้องเรียนรู้และปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในตลาดไม่ต่างกับการลงทุนปกติ 

 

เพราะไม่ใช่ว่าเราอยู่กับธีมระยะยาว แล้วผลตอบแทนระยะสั้นจะต้องดีเสมอ

 

ไม่ใช่ว่าเลือก บลจ. ชื่อดัง แล้วจะชนะตลาดตลอด

 

และไม่ใช่ว่า Thematic Investing จะหมดมุก 

 

แต่บางครั้งก็ต้องกลับมาดูพอร์ตเราเองด้วยว่า ธีมลงทุนของเรากระจุกตัวเกินไปไหม มีเหตุการณ์ที่ทำให้ธีมของตลาดเปลี่ยนไปหรือเปล่า และควรตั้งความหวังให้ตรงกับระยะเวลาของธีมที่เราลงทุนไปด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X