ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนน่าจะได้ยินข่าวหรือผ่านหูผ่านตาถึงเรื่องที่มี ‘ภูติหนังสือ’ ใจดี ที่นำหนังสือน่าอ่านไปซ่อนไว้ตามสถานที่สาธารณะ เพื่อให้คนที่เผอิญไปพบเห็นเข้าได้อ่านหนังสือดีๆ
ความจริงแล้ว The Book Fairies นั้นเป็นโครงการที่เริ่มขึ้นเมื่อ International Women’s Day ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยผู้ก่อตั้ง คือ คอร์ดีเลีย ออกซ์ลีย์ (Cordelia Oxley) ซึ่งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มขึ้น โดยตั้งใจจะให้ผู้คนทั่วโลกแบ่งปันกันอ่านหนังสือ ปัจจุบันนี้มีการดำเนินโครงการ The Book Fairies อยู่ใน 100 เมืองทั่วโลก และที่เมืองไทยก็เพิ่งจะเป็นที่พูดถึงกันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
THE STANDARD ชวนคุณมาทำความรู้จักกับภูติหนังสือประจำประเทศไทย ธปัน พวงเพชร หญิงสาวอายุ 24 ปี ผู้ที่ทำให้วงการหนังสือกลับมาดูคึกคัก และคนที่รักหนังสือกลับมายิ้มให้กันได้อีกครั้ง
เบื้องหลังของภูติหนังสือ บอนเน่-ธปัน พวงเพชร
ตอนนี้เป็น Head of Content ให้กับสตาร์ทอัพซึ่งทำแอปพลิเคชัน ชื่อ ‘YesMom’ ซึ่งทำเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสุขภาพผู้หญิง มีหน้าที่สนับสนุนผู้หญิงในเรื่องสุขภาพ ช่วยให้เขาสามารถเข้าใจตัวเองและเลือกว่าจะดูแลร่างกายตัวเองอย่างไร
แอปพลิเคชันนี้เริ่มต้นจากการที่ซีอีโอของเรามีความต้องการอยากจะช่วยเหลือผู้หญิงไทยที่มีลูกยาก เพราะสังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่เวลาผู้หญิงไปหาหมอ (ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ชาย) ก็จะถูกบอกให้ทำอย่างนั้นหรืออย่างนี้ ซึ่งเป็นมุมมองจากผู้ชาย หรือผู้หญิงที่มีลูกยากก็อาจจะถูกสังคมโยนโทษ ก็เลยทำแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้หญิงเข้าใจสุขภาพของตัวเองจนสามารถตัดสินใจในเรื่องของตัวเองได้ สมมติว่าเวลาที่เขาไปหาหมอด้วยความเข้าใจว่าตัวเองเป็นอะไร ก็จะสามารถคุยกับหมอและเลือกที่จะตัดสินใจให้กับตัวเองได้
ซึ่งเรารับผิดชอบในเรื่องของการทำคอนเทนต์ในแอปพลิเคชันนี้ โดยการย่อยข้อมูลผลงานวิจัยทางการแพทย์ และการสัมภาษณ์หมอให้ออกมาอ่านง่ายด้วยน้ำเสียงของเพื่อน ให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ โดยไม่ไปตัดสินว่าเขาจะต้องทำอย่างไร ส่วนหนึ่งการที่เราได้มาทำงานตรงนี้ก็เป็นเพราะเคยทำงานให้นิตยสาร ชีวจิต ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นคอลัมนิสต์ให้อยู่ทุกปักษ์
ถ้าจะให้พูดถึงนิสัยรักการอ่าน เราเรียน British and American Studies ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนขึ้นปี 3 ก็จะต้องเลือกว่าจะเน้นหนักไปทางด้านไหน ก็เลยเลือกเรียนภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งจะต้องเน้นหนักในเรื่องภาษา วัฒนธรรมและวรรณคดี แต่จริงๆ แล้วเราชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เลือกเรียนทางด้านนี้ด้วย เรามีความคิดอยู่ตลอดว่าอยากจะทำอะไรเกี่ยวกับหนังสือ ถึงแม้ว่าเดอะ The Book Fairies จะไม่ได้บูมขึ้นมาในเมืองไทย เราเองก็ตั้งใจอยู่แล้วล่ะว่าอยากจะไปเรียนต่อทางด้านวรรณกรรมศึกษา และมีความฝันว่าสักวันหนึ่งอยากจะมีร้านหนังสือเป็นของตัวเอง
จุดเริ่มต้นของ The Book Fairies Thailand
จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของ The Book Fairies เริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษ ผู้ก่อตั้ง คือ คอร์ดีเลีย ออกซ์ลีย์ ซึ่งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นผู้ริเริ่มขึ้น ก่อนหน้านี้เขาเคยทำ Book Underground ซึ่งเป็นการเอาหนังสือไปซ่อนตามสถานีรถไฟใต้ดินมาก่อน แล้วเขาก็เพิ่งเปิดตัวบุ๊กแฟรี่มาได้ประมาณ 1-2 ปี โดยตั้งใจจะให้ผู้คนทั่วโลกแบ่งปันกันอ่านหนังสือ ปัจจุบันนี้มีการดำเนินโครงการ The Book Fairies อยู่ใน ประมาณ 100 เมืองทั่วโลก
ส่วนสาเหตุที่เราได้มาทำบุ๊กแฟรี่ที่เมืองไทยก็เป็นเพราะ เราชื่นชอบและติดตามเอ็มมา วัตสัน อยู่แล้ว เลยได้เห็นในโซเชียลมีเดียว่าเขาเอาหนังสือไปซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ ตามโครงการนี้ ก็เลยตามเข้าไปดูในเว็บไซต์ ibelieveinbookfairies.com และพบว่าแต่ละประเทศทั่วโลกก็มีคนที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของ The Book Fairies ในแต่ละประเทศอยู่ แต่ประเทศไทยเรายังไม่มี เมื่อเห็นดังนั้นก็เลยส่งอีเมลไปคุยกับคอร์ดีเลีย และได้เป็นตัวแทนที่เมืองไทย
ลักษณะการดำเนินการของ The Book Fairies
เราทำในฐานะที่เป็นอาสาสมัครค่ะ ไม่ได้มีการขอลิขสิทธิ์อะไร ทางบุ๊กแฟรี่ทั่วโลกเขาจะมีกรุ๊ปแชตของคนที่เป็นตัวแทนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่ ทุกคนก็จะมาแชร์กันว่าวันนี้เอาหนังสืออะไรไปซ่อนที่ไหน ทำโครงการอย่างไรกันบ้าง สำหรับตัวเราเอง เมื่อเราได้รับอนุญาตจากเขา ก็จะเป็นอาสาสมัครที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางคอยประสานงานอัพเดตให้ ส่วนใหญ่คนที่ทำ The Book Fairies ในต่างประเทศเขาก็ไม่ได้มีทีมงานอะไรมากมายนะคะ แต่ละประเทศทั่วโลกจะมีอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น นอกจากจะคอยอัพเดตในโซเชียลมีเดียให้คนทั่วไปได้รู้ว่ามีโครงการแบบนี้อยู่นะ และคอยแชร์ว่ามีใครเอาหนังสือไปซ่อนที่ไหนบ้าง มีค้นพบหนังสือแล้วนะ ก็จะต้องทำหน้าที่เป็นคนเอาหนังสือไปซ่อน ฯลฯ เป็นการทำงานในลักษณะนี้ค่ะ
สังคมเรารอให้มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นมานานแล้ว และถ้าเรายังเป็นอีกคนหนึ่งที่บ่นว่าอย่างโน้นหรืออย่างนี้ไม่ดี แต่เราก็ไม่ได้ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดการปลี่ยนแปลง ถ้าทุกคนมองแบบนั้นสังคมก็จะมีแต่อะไรแย่ๆ สู้เรามีไอเดียอะไรดีๆ แล้วลงมือทำโดยไม่ต้องกลัวน่าจะดีกว่า
เมื่อ ‘ภูติหนังสือ’ มาถึงเมืองไทย
เราเพิ่งเริ่มเอาหนังสือไปซ่อนเมื่อวันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้เอง เล่มแรกคือ เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince,Antoine de Saint-Exupéry) เล่มที่สองคือ แมวในสายฝน (Cat in the Rain and other selected stories, Ernest Hemingway) ส่วนเล่มที่สาม หวนคืนสู่บาบิลอน (Babylon Revisited and other stories, F. Scott Fitzgerald) เพิ่งวางไปเมื่อเช้า และก็มีคนบอกว่าหาเจอแล้ว
ตอนนี้ผลตอบรับเป็นกระแสที่หลายคนพูดถึง มีคนที่ส่งข้อความมาบอกว่าชอบมาก อยากจะให้มีอะไรแบบนี้มาตั้งนานแล้ว และอยากจะทำบ้าง มีคนแชร์โพสต์ของเราเยอะมาก แต่ยังไม่มีคนอื่นที่เอาหนังสือไปซ่อนเพราะมันค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากต้องใช้สติกเกอร์และเราก็ไม่สามารถที่จะจัดเตรียมให้เขาได้ด้วยตัวเอง คือคนที่อยากจะร่วมกับโครงการนี้จะต้องไปสั่งซื้อสติกเกอร์จากเว็บ The Book Fairies ที่อังกฤษ และรอให้มันมาถึง เพราะคนที่เริ่มต้น The Book Fairies คือคอร์ดีเลียเขามีแนวคิดว่าอยากจะให้เป็นแบบนี้ โดยให้ทุกออร์เดอร์ส่งตรงไปที่เขา เพราะไม่อยากจะให้มันเป็นธุรกิจ และวุ่นวายมากกว่าที่ตั้งใจเอาไว้แต่แรก
ทีแรกเราก็คิดเหมือนกันนะว่าคนไทยจะถอดใจหรือเปล่า เพราะต้องสั่งสติกเกอร์ด้วยเงินปอนด์ แล้วก็ต้องชำระเงินผ่าน PayPal แต่ทุกคนที่เข้ามาในเพจน่ารักกันมาก และก็มีคนคุยกันว่าจะฝากกันซื้อแล้วเอามาแบ่งกันอะไรอย่างนี้ ซึ่งหลังจากที่เมืองไทยเริ่มทำไปได้เพียงแค่ 2 วัน ทางอังกฤษก็บอกว่ามีออร์เดอร์สติกเกอร์เข้ามาเป็นร้อยเลยค่ะ แม้ตอนนี้จะยังไม่มีใครในเมืองไทยที่เอาหนังสือไปซ่อนได้ เพราะอย่างที่บอกว่ามันเพิ่งผ่านมาแค่สัปดาห์เดียว และมีเราเพียงคนเดียวที่มีสติกเกอร์นั้น ส่วนคนอื่นๆ น่าจะกำลังรอสติกเกอร์เดินทางมาถึงอยู่
คนรักหนังสือไม่ได้มีน้อย ผลตอบรับที่ดีเกินคาด
กับฟีดแบ็กที่ได้รับก็ค่อนข้างประหลาดใจ อย่างเวลาที่เราโพสต์ลงไปว่าจะเอาหนังสือเล่มสุดท้ายไปซ่อน ก็มีคนบอกว่าจะไปตามหา แต่จริงๆ แล้วที่ต่างประเทศก็ไม่ได้เป็นกระแสขนาดนี้นะ ไม่ถึงขนาดกับจะต้องไปตั้งใจตามหาอ่านหรือเป็นกระแสขนาดนั้น แม้บางทีก็จะมีแคมเปญที่เขาเล่นกันเป็นครั้งคราวเหมือนกัน อย่างวันเสาร์ที่จะถึงนี้ที่ต่างประเทศก็จะมีแคมเปญ The Book Fairies Treasure ซึ่งจะเล่นกันทั่วโลก คือบอกว่าจะเอาหนังสือไปซ่อน แล้วทิ้งคำใบ้ไว้ในโซเชียลมีเดียให้คนไปตามหา เกิดเป็นกิจกรรมขึ้นมา แต่ก็เป็นแค่ครั้งคราว ซึ่งโดยปกติแล้วมันก็ไม่ได้เป็นกิจกรรมอะไรที่ใหญ่โตซึ่งคนให้ความสนใจมากขนาดนั้น แค่มีคนเอาหนังสือไปซ่อน มีคนเก็บได้ แล้วเอามาแชร์ลงโซเชียลว่าเก็บได้นะ
ส่วนการเลือกหนังสือก็ไม่มีเกณฑ์อะไรเลยนะคะ ก็แค่เราอยากจะให้คนอื่นได้อ่านหนังสืออะไรก็เลือกเองได้เลย
รู้สึกอย่างไรกับที่คนเขาพูดกันว่าคนสมัยนี้อ่านหนังสือน้อยลง?
ตอนแรกเราก็เป็นคนหนึ่งเหมือนกันนะที่คิดแบบนั้น เพราะถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในสังคมของคนที่อ่านหนังสือ แต่เพื่อนๆ รอบตัวก็มีคนที่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสืออยู่เยอะ เราก็เลยอยากจะให้คนอื่นได้อ่านหนังสือกันบ้าง แต่พอบุ๊กแฟรี่เปิดตัวออกไปก็กลายเป็นว่าเราได้มองเห็นแง่มุมใหม่ว่าจริงๆ แล้วคนไทยก็อ่านหนังสือกันเยอะเหมือนกันนะ
และเราก็อยากจะให้สิ่งที่เราทำ อยากให้ The Book Fairies เป็นการจุดกระแส ไม่ได้อยากจะให้คนแค่มาเล่นซ่อนหาหนังสือกัน เพราะหัวใจหลักของโครงการนี้ คืออยากจะให้คนอ่านหนังสือกันมากขึ้น ในอนาคตก็เลยมีโครงการว่าอยากจะให้คนอ่านแล้วมาแชร์รีวิวกันหน่อย เป็นการแชร์ความเห็นช่วยกระตุ้นให้คนอื่นๆ อยากอ่านกันด้วย
คิดดีแล้วต้องลงมือทำ
จริงๆ เราไม่ได้คิดนะ ว่าสิ่งที่ตั้งใจทำมันจะได้รับความสนใจขนาดนี้ ก็เลยยังไม่ได้คิดอะไรมากว่าจะทำอย่างไรต่อ ในอนาคตก็ตั้งใจว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้จะหยุดหากกระแสมันจะซาลงหลังจากนี้ อยากจะทำให้เป็นโครงการในระยะยาว
เราดีใจที่ลงมือทำโครงการนี้ คือเวลาเราเห็นคนเขียนคอมเมนต์ในเพจ หรือเวลามีคนมาพูดกับเราว่า “ไม่กลัวหนังสือจะหายเหรอ” หรือไม่ก็ “คิดว่าคนไทยพร้อมกับอะไรแบบนี้เหรอ” ก็อยากจะสื่อสารออกไปว่า ไม่อยากจะให้ดูถูกคนไทยอะไรขนาดนั้น ที่บอกว่าคนไทยเป็นแบบนั้นแบบนี้ อย่างเรื่องที่บอกว่าไม่กลัวหนังสือหายเหรอ นี่ขอบอกว่าเรื่องแบบนี้มันก็เกิดขึ้นกับคนที่ทำบุ๊กแฟรี่ทั่วโลกเลยนะ ไม่ได้เกิดกับแค่คนไทยหรือกับคนชาติใดชาติหนึ่ง แต่มันเป็นเพราะคนประเภทหนึ่งมากกว่า
แล้วที่บอกว่าคนไทยพร้อมหรือเปล่า เราคิดว่าสังคมเรารอให้มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นมานานแล้ว และถ้าเรายังเป็นอีกคนหนึ่งที่บ่นว่าอย่างโน้นหรืออย่างนี้ไม่ดี แต่เราก็ไม่ได้ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดการปลี่ยนแปลง ถ้าทุกคนมองแบบนั้นสังคมก็จะมีแต่อะไรแย่ๆ สู้เรามีไอเดียอะไรดีๆ แล้วลงมือทำโดยไม่ต้องกลัวน่าจะดีกว่า อย่างตัวเราเองก่อนหน้านี้ก็กังวลอยู่เหมือนกัน แต่ในที่สุดก็คิดว่ามันจะต้องรออะไรอีก ถ้าจะรอให้สังคมพร้อมแค่ไหนจึงจะเรียกว่าพร้อม เพราะปัญหามันมีอยู่แล้วล่ะ แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมที่จะเผชิญและลงมือทำไหม
สำหรับสิ่งที่เราทำไม่ว่ามันจะส่งผลต่อสังคมมากหรือน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยมันก็เป็นสิ่งดีๆ อย่างหนึ่งที่เราพอจะทำให้กับสังคมได้ค่ะ
Photo: ธนชาติ เขื่อนแก้ว
- ข้อมูลเพิ่มเติม www.facebook.com/bookfairiesthailand
- สั่งซื้อสติกเกอร์และร่วมเป็นภูติหนังสือได้ทาง www.ibelieveinbookfairies.com/shop