×

รู้จัก The Unit สื่อกลางและระบบการชำระเงินระหว่างประเทศสมาชิก BRICS+

03.11.2024
  • LOADING...
The Unit Brics

ทำไมถึงต้องมีการสร้างเงินสกุลใหม่ และ/หรือ ระบบใหม่ในการชำระเงินระหว่างประเทศ 

 

เงินตรา (Money) สกุลใดๆ ในโลกจะเป็นที่ยอมรับและถูกใช้ก็ต่อเมื่อมันสามารถทำงานได้ใน 3 หน้าที่ ได้แก่ 

 

  1. เป็นหน่วยในการวัดค่า (Unit of Account) เช่น เราสามารถบอกได้ว่าองุ่น 1 กิโลกรัมมีราคาเท่ากับ 60 บาท หรือเท่ากับ 1.75 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 240 เยน 
  2. เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) นั่นคือทุกคนยอมรับที่จะแลกมูลค่าของสินค้าและบริการที่ตนเองผลิตและบริโภคกับเงินตราจำนวนหนึ่งๆ และสามารถนำเงินตราจำนวนนั้นไปซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าและบริการต่างๆ ได้ เช่น เกษตรกรชาวสวนองุ่นสามารถแลกองุ่นที่เขาปลูกและเก็บเกี่ยวเป็นเงินตรา แล้วนำเงินตราที่ได้รับนั้นไปซื้อหาสินค้าและบริการอื่นๆ
  3. เป็นเครื่องสะสมมูลค่า (Store of Value) นั่นคือผู้ที่ถือครองเงินตราสกุลนั้นๆ ไว้สามารถเก็บเงินตราเหล่านั้นไว้ใช้ข้ามช่วงเวลาได้ โดยที่มูลค่าของเงินตรานั้นๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ (อาจสูญหายมูลค่าไปบ้างแต่ไม่มากนักหากเกิดภาวะเงินเฟ้อ) เช่น เกษตรกรชาวสวนองุ่นคนนั้น หากเก็บองุ่นเอาไว้เพื่อจะเอาไปแลกเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่กำลังจะวางจำหน่ายในอีก 4 เดือนข้างหน้าก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากองุ่นจะเน่าเสีย ไม่มีมูลค่าอีกต่อไป ดังนั้นเขาจึงขายองุ่นแล้วเก็บเงินตราจำนวนนั้นไว้ เพื่อใช้ซื้อโทรศัพท์ในอีก 4 เดือนข้างหน้าแทน

 

นั่นหมายความว่าหากเงินตราสกุลใดทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ทั้ง 3 ด้าน คนในประเทศนั้นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะใช้เงินสกุลของประเทศตนเองในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากแต่ในบางประเทศ เงินตราสกุลหลัก (Local Currency) ของประเทศอาจทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก เช่น ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงๆ นั่นหมายความว่า การเก็บเงินสกุลของตนเองไว้ เมื่อเวลาผ่านไปมูลค่าของเงินตราสกุลของตนก็ลดลงไปเรื่อยๆ (เงินเท่าเดิม ซื้อของได้ลดลง) ดังนั้นคนในประเทศนั้นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะนำเงินสกุลของตนเองไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลของประเทศอื่นๆ ที่รัฐนั้นๆ มีการทำนโยบายการเงินที่ดี (นั่นคือมูลค่าของเงินไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ) หนักเข้าเมื่อคนจำนวนมากในประเทศนั้นๆ นิยมดำเนินการเช่นนี้ ประเทศนั้นๆ ในทางปฏิบัติก็อาจมีการนำเงินสกุลของประเทศอื่นมาใช้แทนเงินสกุลของตนเอง สถานการณ์เช่นนี้ในทางวิชาการเรียกว่า Dollarization ซึ่งไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เงินสกุลอื่นๆ ก็สามารถถูกนำไปใช้แทนเงินสกุลหลักของประเทศตนเองได้ อาทิ หลายๆ ประเทศในประชาคมอาเซียนก็นิยมใช้ทั้งดอลลาร์สหรัฐ, ยูโร, หยวน และบาท แทนเงินสกุลของตนเอง ทั้งในการวัดค่า เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน และสะสมมูลค่า

 

คำถามสำคัญ 2 คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ 

 

  1. แล้วเพราะเหตุใดตลอดช่วงระยะเวลากว่า 80 ปีที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐถึงกลายเป็นเงินสกุลหลักที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ จนถึงเป็นเครื่องมือหลักในการลงทุนและการสำรองเงินตราระหว่างประเทศ
  2. แล้วเพราะเหตุใดสถานะนี้ของเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือการเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า De-dollarization

 

ต่อคำถามข้อที่ 1 เงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มถูกใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้นแทนเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1914-1918) ซึ่งเป็นช่วงที่สหราชอาณาจักรที่เดิมเคยเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก และเป็นผู้กำหนดระบบปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศที่เป็นอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate Regime) โดยระบบปริวรรตเงินตราในรูปแบบนี้เรียกว่าระบบมาตรฐานทองคำ (The Gold Standard) 

 

ทุกประเทศกำหนดค่าเสมอภาคเงินสกุลของตนเองเทียบเท่ากับน้ำหนักทองคำ และใช้ทองคำเป็นเครื่องมือหนุนหลังในการออกธนบัตร รวมทั้งอนุญาตให้ทองคำและเงินสกุลต่างๆ สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ โดยทุกธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องอนุญาตให้มีการนำเงินสกุลของตนมาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำ รวมทั้งสามารถส่งออกและนำเข้าทองคำระหว่างประเทศได้ โดยธนาคารกลางมีหน้าที่ต้องบริหารปริมาณเงินในประเทศให้สอดคล้องกับปริมาณทองคำที่แต่ละประเทศสำรองเอาไว้ 

 

ระบบปริวรรตเงินตรามาตรฐานทองคำเริ่มมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสงครามที่ทุกประเทศต้องการควบคุมและกีดกันการค้า รวมทั้งไม่ต้องการส่งมอบทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ของประเทศให้กับประเทศอื่นๆ ที่ตนเองขาดดุลการค้าด้วย และในขณะเดียวกันปริมาณทองคำที่หมุนเวียนในระบบ ก็เริ่มมีไม่เพียงพอกับขนาดของเศรษฐกิจโลกที่มีธุรกรรมระหว่างประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งสหราชอาณาจักรเองก็อ่อนแอลงมากจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกเลย ก็ทะยานขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทั้งในมิติการทหารและมิติเศรษฐกิจ บทบาทของดอลลาร์สหรัฐเริ่มมีเพิ่มขึ้นในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

 

มาตรฐานทองคำพังทลายอย่างสิ้นเชิงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 1939-1945) ดังนั้นในช่วงปลายสงคราม สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรจึงมีการเรียกประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางในระดับนานาชาติขึ้นที่โรงแรม Mount Washington เมืองเบรตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมป์เชอร์ สหรัฐอเมริกา การประชุมเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-22 กรกฎาคม 1944 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมถึง 730 คน จาก 44 ประเทศ และเรียกการประชุมครั้งนั้นอย่างเป็นทางการว่า ‘the United Nations Monetary and Financial Conference’ แต่มหาชนส่วนใหญ่จะนิยมเรียกการประชุมครั้งนี้ด้วยชื่อที่รู้จักกันดีว่า ‘การประชุมเบรตตันวูดส์’ (The Bretton Woods Conference) 

 

การประชุมที่มีสถาปนิกหลักผู้ออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่ของโลกในยุคหลังสงครามโลก 2 คนคือ แฮร์รี เด็กซ์เตอร์ ไวต์ เจ้าหน้าที่อาวุโส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และ เซอร์จอห์น เมย์นาร์ด คีย์เนส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่ง King’s College และ Cambridge ผู้วางรากฐานกลุ่มแนวคิด Keynesian Economics ที่เน้นการให้บทบาทภาครัฐเป็นผู้นำในการจัดการกับระบบเศรษฐกิจ ผ่านตำราเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนวิธีคิดของโลกไปตลอดกาล The General Theory of Employment, Interest and Money โดยเฉพาะในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกในทศวรรษ 1930 (The Great Depression) ผลงานการออกแบบระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ของทั้งสองคนร่วมกับที่ประชุม ณ เมืองเบรตตันวูดส์ ทำให้เกิดองค์การทางการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญขึ้นมา 2 หน่วยงาน นั่นคือ

 

  1. ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการโอนเงินช่วยเหลือ (ในรูปของเงินกู้) จากประเทศที่มีศักยภาพ (สหรัฐอเมริกา) ไปยังประเทศที่เสียหายจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และในปัจจุบันเป็นองค์กรหลักของกลุ่มธนาคารโลก (The World Bank) ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางทางการเงินระหว่างประเทศสมาชิกที่มีเงินช่วยเหลือ ที่ต้องการปล่อยสินเชื่อเพื่อการพัฒนาให้กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยเน้นความช่วยเหลือทั้งในมิติการเงินและมิติวิชาการองค์ความรู้ ซึ่งเน้นแนวคิดการพัฒนาแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตก (Western Liberal Democracy)
  2. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังติดตามการชำระเงินระหว่างประเทศ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศผ่านระบบปริวรรตเงินตราที่จัดตั้งขึ้นหลังสงคราม ในชื่อที่นิยมเรียกกันว่า The Bretton Woods System (ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีระบบปริวรรตเช่นนี้อีกแล้ว) แต่ IMF ก็ยังต้องทำหน้าที่ดูแล เฝ้าระวัง และให้คำแนะนำตักเตือน หากประเทศสมาชิกดำเนินนโยบายการเงิน และ/หรือ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความสุ่มเสี่ยง รวมทั้งให้ประเทศต่างๆ สามารถกู้ยืมเงินได้ตามโควตาสิทธิถอนเงินพิเศษ (Special Drawing Rights: SDRs) เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ สร้างดุลยภาพของอัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงินระหว่างประเทศ 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 2 ประเด็นที่ไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จผ่านการเจรจาครั้งนี้ ประเด็นแรกคือ การจัดตั้ง International Trade Organization (ITO) เพื่อที่จะเป็นองค์การระหว่างประเทศที่สนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่เสรีและเปิดกว้าง โดยผู้คัดค้านและทำให้กฎบัตรฮาวานา (Havana Charter) เพื่อก่อตั้ง ITO ต้องล้มไปคือที่ประชุมรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ในอีก 4 ทศวรรษต่อมาสหรัฐอเมริกาเองกลับต้องมาผลักดันแนวคิดนี้อีกครั้ง จนก่อให้กำเนิดองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ได้สำเร็จ เพื่อให้ทั้ง IBRD, IMF และ WTO กลายเป็นกลไกสำคัญในการวางระเบียบโลกทางภูมิเศรษฐศาสตร์ในช่วงหลังสงครามเย็นที่สหรัฐฯ ทะยานขึ้นเป็นเจ้าโลก (Hegemon) (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทที่ 13 โลกาภิวัตน์ ระเบียบโลกเก่าที่เราต้องเรียนรู้ หนังสือไทยในระเบียบโลกใหม่ Amidst the New World Order โดยสำนักพิมพ์มติชน)

 

และประเด็นที่ 2 ซึ่งผลักดันโดย เซอร์จอห์น เมย์นาร์ด คีย์เนส แต่ไม่สำเร็จ นั่นคือ Bancor และ The Clearing Union

 

คีย์เนสเชื่อว่าหลังสงครามเศรษฐกิจโลกจะยังปั่นป่วน และจะมีหลายประเทศที่ต้องเผชิญกับภาวะขาดดุลบัญชีการชำระเงินระหว่างประเทศ (Balance of Payment) ซึ่งจะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงระดับโลกอีกครั้ง และด้วยประสบการณ์ที่เห็นธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England) ไม่สามารถบริหารจัดการปริมาณเงินปอนด์สเตอร์ลิงให้สอดคล้องกับปริมาณสำรองทองคำ ในการเป็นทั้งทรัพย์สินเพื่อรักษาค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนได้ตามมาตรฐานทองคำ คีย์เนสจึงเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานระหว่างประเทศขึ้นมาเรียกว่า ‘The Clearing Union’ เพื่อทำหน้าที่ออกเงินสกุลใหม่ เพื่อใช้เป็นทั้งสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสำหรับการค้าระหว่างประเทศและใช้เป็นเงินสกุลที่จะปิดบัญชี สร้างสมดุลให้กับการชำระเงินระหว่างประเทศแทนที่ทองคำในระบบมาตรฐานทองคำ โดยคีย์เนสเรียกเงินสกุลใหม่ที่เขาเสนอนี้ว่า ‘Bancor’ โดยแต่ละประเทศจะกำหนดค่าเสมอภาค (Par Value) กับเงินสกุลใหม่นี้ เขาเสนอให้ระดมทุน 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับเป็นทุนเริ่มต้นของ The Clearing Union และแต่ละประเทศจะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนของตนให้คงที่กับค่าเสมอภาคที่เทียบกับเงิน Bancor และกลไกการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนคงที่จะทำได้ผ่านการได้รับวงเงินเครดิตที่จะสามารถกู้ยืม เพื่อไปใช้ชดเชยทุนสำรองในกรณีขาดดุลการชำระเงินในการป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่อง และในขณะเดียวกันหากประเทศเกิดดุลการชำระเงิน ก็ต้องส่งเงิน Bancor ส่วนเกินกลับมาเพิ่มให้กับ The Clearing Union

 

ข้อเสนอแนะของคีย์เนส ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก ณ ช่วงเวลานั้น ถูกตีตกไป โดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของประเทศที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกนั่นคือ แฮร์รี เด็กซ์เตอร์ ไวต์ แห่งกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ที่เสนอว่าให้ทำทุกอย่างแบบที่คีย์เนสเสนอ แต่ขอเปลี่ยนชื่อเป็น The Stabilization Fund โดยในที่สุดการตั้งชื่อมาลงตัวที่ชื่อว่า The International Monetary Fund หรือ IMF ที่เรารู้จัก และไวต์ยังขอให้ไม่ต้องมีการออกเงินตราสกุลใหม่เพื่อมาทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ แต่ให้ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐร่วมกับทองคำทำหน้าที่นี้แทน โดยที่ทุกประเทศกำหนดค่าเสมอภาคของเงินสกุลของตนเองกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แล้วใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ และ/หรือ ทองคำ ในการเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยน ชำระราคา และส่งมอบระหว่างประเทศ ทั้งในทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำหน้าที่บริหารจัดการให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพในระดับนานาชาติ รวมทั้งยังมีหลักประกันด้วยว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะมีมูลค่า โดยสหรัฐฯ จะกำหนดให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐปรับเพิ่มและลดตามปริมาณทองคำที่สหรัฐฯ เก็บสะสมไว้เป็นทุนสำรองเงินตรา โดยกำหนดค่าเสมอภาคของเงินดอลลาร์สหรัฐและทองคำไว้ที่เงิน 35 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีค่าเทียบเท่าทองคำน้ำหนัก 1 ออนซ์ (Troy Ounce) และสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ นั่นหมายความว่าหากสหรัฐฯ ค้าขายเกินดุลการชำระเงิน (ส่งออกสินค้าและบริการมากกว่านำเข้า และ/หรือ เงินลงทุนไหลเข้าไปในสหรัฐฯ มากกว่าที่ไหลออกจากสหรัฐฯ) แล้วทำให้สหรัฐฯ มีทองคำเพิ่มขึ้น 1 ล้านออนซ์ไหลเข้าประเทศ สหรัฐฯ ก็จะปรับเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นได้ 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในทางตรงกันข้ามหากสหรัฐฯ ขาดดุลการชำระเงินคิดเป็นมูลค่าทองคำ 2 ล้านออนซ์ สหรัฐฯ ก็ต้องปรับลดปริมาณเงินในระบบลง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนี้เป็นต้น รวมทั้งตกลงกันด้วยว่าทุกประเทศจะดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ โดยต้องรักษาค่าเงินของตนเองให้เปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน +/- 1% จากค่าเสมอภาคที่ตนกำหนด สหรัฐฯ จะอนุญาตให้นำเงินดอลลาร์สหรัฐมาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ที่ค่าเสมอภาคนี้ โดยในขณะนั้นทุกประเทศเห็นควรให้เป็นอย่างนั้น เพราะสหรัฐฯ คือประเทศเดียวที่ถือครองทองคำกว่า 574 ล้านออนซ์ หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณทองคำสำรองทั่วโลก และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เงินดอลลาร์สหรัฐจึงกลายเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เป็นเครื่องวัดมูลค่า เป็นเครื่องสะสมมูลค่า และเป็นเงินสกุลหลักของโลก 

 

แต่สถานะนี้ของเงินดอลลาร์สหรัฐก็ใช่ว่าจะสามารถคงอยู่ได้เสมอไป เพราะเรายังมีประเด็นคำถามประเด็นที่ 2 นั่นคือ แล้วเพราะเหตุใดสถานะนี้ของเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือการเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า De-dollarization

 

ระบบเบรตตันวูดส์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะทำงานไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่แล้วเมื่อทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ณ ช่วงเวลาทศวรรษ 1950-1970 เริ่มเห็นสหรัฐฯ ทุ่มเทเงินลงทุนมหาศาลไปในการทำสงครามในช่วงสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลีที่สหรัฐฯ ใช้งบประมาณทางการทหารไปในราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในระหว่างปี 1950-1953 (เทียบเท่ากับ 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ มูลค่าเงินปี 2023) หรือสงครามเวียดนามที่สหรัฐฯ ใช้เงินงบประมาณไปอีก 1.68 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในระหว่างปี 1953-1974 (เทียบเท่ากับ 1.59 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ มูลค่าเงินปี 2022) เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลในการทำสงครามมหาศาลนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นทันทีว่า สหรัฐฯ ยังคงรักษาวินัยทางการเงิน ดำเนินนโยบายการเงินอย่างรับผิดชอบอยู่หรือไม่ หรือในความเป็นจริงแล้วสหรัฐฯ แอบพิมพ์เงินเพิ่ม?

 

ความไม่เชื่อมั่นเหล่านี้ทำให้หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป เริ่มต้นโดย นายพลชาร์ลส์ เดอ โกล ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่แสดงเจตจำนงในเดือนกุมภาพันธ์ 1965 ว่าจะนำเงินดอลลาร์ที่ฝรั่งเศสถือครองเอาไว้ โดยเฉพาะใช้เป็นเงินทุนสำรอง กลับมาขอแลกคืนเป็นทองคำ โดยจากข้อมูลที่เปิดเผยในภายหลังโดย IMF พบว่า ณ ปี 1966 สหรัฐฯ มีทองคำที่สำรองโดยธนาคารกลางเพียงพอที่จะให้ทุกคนมาแลกเปลี่ยนได้เพียง 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น โดยในจำนวนนี้สามารถให้ต่างประเทศแลกได้เพียง 3.2 พันล้านดอลลาร์ (เพราะที่เหลือต้องเก็บไว้ใช้สำหรับหนุนหลังสภาพคล่องภายในประเทศ) ในเวลานั้นคำเสนอเรื่อง Bancor ของ เซอร์จอหน์ เมย์นาร์ด คีย์เนส จึงถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง และ IMF ก็ออกสกุลเงินที่อ้างอิงโดยตะกร้าเงินหลายสกุลในสัดส่วนที่สะท้อนมูลค่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในโลก และใช้เป็นสิทธิพิเศษที่แต่ละประเทศจะมีโควตาในการยืมเงินกองทุนของ IMF ไปใช้ในกรณีประสบวิกฤตการเงินในนาม ‘สิทธิพิเศษถอนเงิน’ (Special Drawing Rights: SDRs หรือ XDR) โดย IMF เริ่มต้นระบบนี้ในปี 1969 โดยหวังจะให้เงินสกุล XDR เป็นเครื่องอ้างอิงในระบบการชำระเงินระหว่างประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้น

 

กลับมาที่สหรัฐอเมริกา แม้การเจรจาเพื่อขอร้องให้แต่ละประเทศไม่มาไถ่ถอนทองคำจะได้ผล แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น เพราะสหรัฐฯ เองก็ยังคงใช้เงินมหาศาลต่อไป และไม่น่าจะสามารถรักษาวินัยในการดำเนินนโยบายได้ ดังนั้นในปี 1971 เยอรมนีประกาศจะนำเงินดอลลาร์มาแลกเป็นทองคำอีกครั้ง และนอกจากจะนำเงินดอลลาร์มาแลกคืนแล้ว ยังแสดงเจตจำนงจะขอออกจากระบบเบรตตันวูดส์อีกด้วย ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ในขณะที่ในสหรัฐฯ เองภาวะเงินเฟ้อก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพราะปริมาณเงินในระบบมีมากจนเกินไป

 

ในที่สุดสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถคงระบบเบรตตันวูดส์ไว้ในรูปแบบดั้งเดิมได้อีกต่อไป โดยในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 1971 (หลายๆ คนที่ถือโชคลางก็เอาวันนี้ไปตีความอีกมากมาย) ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน จึงประกาศคำสั่ง 3 ข้อ ได้แก่ 

 

  1. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Treasury Secretary) จอห์น คอนแนลลี ปิด Gold Window ในการรับแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นทองคำ
  2. ประกาศตรึงค่าแรงและราคาสินค้าเป็นเวลา 90 วัน เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
  3. ประกาศคิดค่าบริการ (Import Surcharge) 10% จากมูลค่าสินค้าต่างประเทศที่นำเข้ามาภายในสหรัฐฯ เพื่อให้ผู้ผลิตชาวอเมริกันยังสามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศได้ และเพื่อป้องกันเงินดอลลาร์ที่จะไหลออกไปซื้อสินค้าในต่างประเทศ สถานการณ์ดังกล่าวถูกขนานนามว่า The Nixon Shock

 

แน่นอนว่าสหรัฐฯ เองยังคงไม่ละเว้นความพยายามในการรื้อฟื้นระบบขึ้นมาใหม่ โดยในคราวนี้เกิดขึ้นผ่านข้อตกลงระหว่าง 10 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อข้อตกลง ‘Smithsonian Agreement’ ที่ขอให้ทุกประเทศยังคงกำหนดค่าเสมอภาคของเงินสกุลของตนกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และช่วยในการรักษาเสถียรภาพ โดยในค่าเงินเคลื่อนไหวได้ไม่เกิน +/- 2.25% (จากเดิม +/- 1%) และสหรัฐฯ ขอลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลงเมื่อเทียบกับทองคำจากเดิมที่ 35 ดอลลาร์ต่อ 1 ออนซ์ เป็น 38 ดอลลาร์ต่อ 1 ออนซ์ (หรือเงินดอลลาร์ลดค่า Devalue ลง 8.5%) โดยหวังว่าการรักษาระบบปริวรรตเงินตราแบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่นี้ จะเป็นระบบที่ยังคงมีต้นทุนในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ต่ำ ไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และอยู่ในระดับที่สหรัฐฯ สามารถบริหารจัดการได้ 

 

ซึ่งไม่จริง เพราะในที่สุดสหรัฐฯ เองก็ต้องประกาศลดค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับทองคำอีก 2 ครั้ง นั่นคือช่วงปลายปี 1971 ปรับค่าเป็น 44.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ออนซ์ทองคำ และในปี 1972 ปรับอีกครั้งเป็น 70.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ออนซ์ทองคำ หรืออีกนัยหนึ่งนั่นคือเมื่อเทียบกับ 35 ดอลลาร์ต่อ 1 ออนซ์ที่สหรัฐอเมริกาเคยประกาศไว้ครั้งแรก เงินดอลลาร์อ่อนค่าไปแล้วกว่าเท่าตัว หรือนั่นหมายความว่าสหรัฐฯ แอบพิมพ์เงินเพิ่มไปมากกว่าที่ตัวเองเคยสัญญาไว้แล้วอย่างน้อย 2 เท่า และทุกประเทศก็เชื่อว่าจริงๆ สหรัฐฯ แอบพิมพ์เงินเพิ่มไปมากกว่านั้น และนั่นก็ส่งผลให้ในสหรัฐฯ เองเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงที่เรียกว่า The Great Inflation of the 1970s ตั้งแต่ปี 1965-1982 

 

ดังนั้นในที่สุดเมื่อถึงเดือนมีนาคม 1973 สหรัฐฯ ก็ประกาศยุติการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์กับทองคำอย่างเป็นทางการในทุกกรณี และประกาศให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐสามารถปรับขึ้นลงได้ตามกลไกตลาด อุปสงค์ และอุปทาน ไม่มีการรับรองอีกต่อไปว่าทุกๆ ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐจะมีสินทรัพย์ที่เป็นโลหะมีค่าอย่างทองคำหนุนหลังหรือไม่ โดยสิ่งที่ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐยังคงมีค่าและยังใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอีกต่อไปนั่นคือ ความเชื่อมั่นและความคุ้นชินของระบบที่ใช้เงินสกุลนี้มาอย่างต่อเนื่องเกือบ 30 ปี รวมทั้งสหรัฐฯ เองก็ยังใช้ความได้เปรียบในสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ซาอุดีอาระเบียกำลังติดพันกับสงครามกลางเมืองในเยเมนเหนือ (ปี 1962-1970) ที่เป็นการสู้รบกันระหว่างราชวงศ์เยเมนที่มีซาอุดีอาระเบียสนับสนุนกับฝ่ายสาธารณรัฐเยเมนที่มีอียิปต์เป็นฝ่ายสนับสนุน โดยซาอุดีอาระเบียหวาดกลัวภัยคุกคามจากการแทรกแซงของอิสราเอลที่อาจทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องเปิดศึก 2 ด้าน รวมทั้งเมื่อซาอุดีอาระเบียเห็นแสนยานุภาพของกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพอากาศอิสราเอลในช่วงสงคราม 6 วัน (Six-Day War วันที่ 5-10 มิถุนายน 1967) ที่ฝ่ายโลกอาหรับพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ดังนั้นการกำเนิดขึ้นของ Petrodollar ที่เป็นข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในโลกจึงเกิดขึ้น โดยสหรัฐฯ จะเป็นฝ่ายให้ความคุ้มครองทางการทหาร สนับสนุนกำลังรบผ่านการขายอาวุธในซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งส่งสัญญาณเป็นนัยๆ ให้อิสราเอล (ซึ่งสหรัฐฯ ให้การอุปถัมภ์) ไม่มายุ่งเกี่ยวกับกิจการของซาอุดีอาระเบีย แลกกับการที่ซาอุดีอาระเบียต้องยอมขายน้ำมันดิบให้สหรัฐฯ และกดดันให้องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of the Petroleum Exporting Countries: OPEC) หันมาใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและใช้ดอลลาร์สหรัฐในการกำหนดราคาน้ำมัน และเนื่องจากน้ำมันดิบคือวัตถุดิบตั้งต้นของการผลิตในทุกอุตสาหกรรมในทศวรรษ 1960-1970 ดังนั้นดอลลาร์สหรัฐจึงกลับมาผงาดอีกครั้ง จนหลายคนขนานนามว่า Petrodollar คือการเปลี่ยนระบบปริวรรตเงินตราจาก Dollar-for-Gold เป็น Dollar-for-Oil

 

เงินดอลลาร์สหรัฐรอดหวุดหวิดจากการถูก De-dollarization ไปได้ในทศวรรษ 1970 และยังคงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ นอกจากการเป็นสื่อกลางในการค้าพลังงานแล้ว สหรัฐอเมริกา ณ ทศวรรษ 1970 ยังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเกือบทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้นเมื่อทุกคนค้าขายกับสหรัฐฯ การใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหน่วยวัดค่า เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน หรือแม้แต่เป็นเครื่องสะสมมูลค่า จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้ผูกปริมาณเงินดอลลาร์ไว้กับปริมาณทองคำที่ไหลเข้าและออกจากประเทศอีกต่อไป เช่นเดียวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดในระบบปริวรรตอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Flexible Exchange Rate Regime) 

 

คำถามที่สำคัญคือ แล้วสหรัฐฯ จะเฝ้าติดตามการเคลื่อนย้ายเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนมหาศาลที่ถูกใช้ในทุกประเทศทั่วโลกได้อย่างไร และใครจะเป็นผู้บริหารจัดการควบคุมดูแลนโยบายการเงินที่มีปริมาณมหาศาลขนาดนี้

 

นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งระบบ Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication หรือ SWIFT ขึ้นในปี 1973 ระบบ SWIFT เป็นระบบการรายงานข้อมูลการโอนเงินตราระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงสถาบันการเงินมากกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยในแต่ละวันจะมีการรับรู้ถึงการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านระบบ SWIFT ถึงกว่า 32 ล้านข้อความ โดยระบบนี้ก่อตั้งขึ้นโดยคำแนะนำของสหรัฐอเมริกาต่อตัวแทนสถาบันการเงินของประเทศต่างๆ ในยุโรป ปัจจุบัน SWIFT มีศูนย์ข้อมูลและศูนย์ควบคุมบัญชาการ ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการรับจ่ายเงินตราระหว่างประเทศให้กับสถาบันการเงินต่างๆ ตั้งอยู่ใน 4 จุด ได้แก่ Zoeterwoude ประเทศเนเธอร์แลนด์, Culpeper มลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา, Diessenhofen ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าประเด็นนี้จะเป็นอีกหนึ่งประเด็นขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นทางภูมิเศรษฐศาสตร์ เมื่อฮ่องกงจะกลับเข้าสู่การเป็นระบบเดียวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างสมบูรณ์ในปี 2047) 

 

ในขณะที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักในการติดตามเฝ้าระวังการเคลื่อนไหว ย้าย โอน เงินดอลลาร์สหรัฐในต่างประเทศทั่วโลกคือธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก (Federal Reserve Bank of New York) ซึ่งธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก แห่งนี้ถือเป็นสาขาที่มีความสำคัญมากที่สุด (First Among Equals) เพราะถึงแม้ผู้ว่าการธนาคารกลางทั้ง 12 สาขาที่รวมกันเป็นระบบธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา จะมีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบเท่ากับตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ ความคิดเห็นและการตัดสินใจของสาขานิวยอร์กจะเป็นตัวกำหนดทิศทางและการตัดสินใจของระบบทั้งหมด ทั้งนี้ เนื่องจากสาขานิวยอร์กเป็นสาขาหลักที่ควบคุมนโยบายการเงิน (ดูแลการเปลี่ยนแปลงปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐ) โดยการปฏิบัติหน้าที่แทน Federal Open Market Committee และทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานแทนระบบธนาคารกลางทั้งหมด เนื่องจากเป็นที่ตั้งของระบบการซื้อขายพันธบัตรสหรัฐฯ (System Open Market Account) และยังเป็นเพียงสาขาเดียวของระบบธนาคารกลางที่เป็นตัวแทนของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Department of the Treasury) รวมทั้งยังเป็นสถานที่จัดเก็บปริมาณทองคำสำรองที่มีปริมาณมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา 

 

แต่ดูเหมือนตั้งแต่เข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา สถานะของเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะเงินสกุลหลักของโลกกำลังถูกสั่นคลอนอีกครั้ง และครั้งนี้รุนแรงยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุผลทั้งในมิติอุปทานนั่นคือการดำเนินนโยบายการเงินที่ไม่มีความรับผิดชอบของสหรัฐฯ เอง และมิติอุปสงค์นั่นคือหลากหลายประเทศเริ่มต้องการมองหาสกุลเงินอื่นๆ ที่จะมาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็ดูเหมือนจะมีตัวเลือกหลายๆ ทางที่ดีกว่า โดยคำสาเหตุต่างๆ สามารถอธิบายได้ดังนี้

 

  • นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่ไม่มีความรับผิดชอบ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของวิกฤตการเงิน Subprime Mortgage Crisis ที่ตั้งเค้าในปี 2007 และเลวร้ายรุนแรงในปี 2008-2010 จนถึงการขยายตัวสู่ Global Financial Crisis ที่ต่อเนื่องจนถึงปี 2012-2013 (บางครั้งถูกเรียกว่า The Great Recession) และอีกครั้งในปี 2020-2022 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 สหรัฐอเมริการับมือกับวิกฤตการณ์เหล่านี้ด้วยวิธีการที่เปรียบเสมือนการฉีดสเตียรอยด์เพื่อประคับประคองอาการให้ดีขึ้น แต่ไม่ได้กำจัดเนื้อร้าย กำจัดมะเร็งออกจากระบบ ทั้งนี้ เพราะต้นตอของปัญหาที่ต่อเนื่องคือ การบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน แน่นอนว่าตามตำราเศรษฐศาสตร์ กระแสหลักที่นักเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เรียนกันมาตลอดนั่นคือ ในภาวะวิกฤตเช่นนี้วิธีการจัดการกับมะเร็งร้ายที่บ่อนเซาะระบบเศรษฐกิจคือ ต้องคัดแยกสถาบันการเงินที่ดีออกจากสถาบันการเงินที่ดำเนินกิจการผิดพลาด สถาบันการเงินที่ดีที่มีความรับผิดชอบจะต้องได้รับการคุ้มครอง ในขณะที่สถาบันการเงินที่มีปัญหาต้องถูกปิดกิจการ เอาสัญญาเงินกู้ต่างๆ เหล่านั้นมาคัดแยกประเภทแล้วบริหารจัดการ โดยที่แน่นอนว่าผู้ถือหุ้นและผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินเหล่านั้นต้องมีส่วนรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าวิธีการนี้ ‘เจ็บแต่จบ’ เพราะหลังจากดำเนินการตัดเนื้อร้ายออกไป ระบบจะเหลือแต่สถาบันการเงินที่บริหารจัดการดี มีความเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันก็จะเป็นบทเรียนให้กับนักลงทุนและผู้ฝากเงินว่าอย่าเห็นแก่ผลตอบแทนที่หวือหวา เอาเงินไปลงทุน และ/หรือ ไปฝากกับสถาบันการเงินที่บริหารจัดการแย่ ความเสี่ยงสูงเกินไป หรือบริหารความเสี่ยงไม่ดี ระบบจะค่อยๆ กลับฟื้นคืนขึ้นมาอย่างเข้มแข็งกว่าเดิม ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับกรณี 1997-1998 Asian Financial Crisis หรือที่ชาวไทยนิยมเรียกว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

 

หากแต่สหรัฐฯ ไม่ใช้วิธีการนี้ กลับฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ด้วยเหตุผลที่ว่า “Too Big, Too Fall” สถาบันการเงินเหล่านี้มันใหญ่โตเกินกว่าที่จะปล่อยให้ล่มสลายไปได้ ด้วยเกรงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อนักลงทุน (เจ้าของ ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ในสถาบันการเงินเหล่านั้น) รวมทั้งผู้ฝากเงิน (ประชาชนจำนวนมาก) จะเสียหาย และระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะล่มสลาย ดังนั้นสิ่งที่สหรัฐฯ ดำเนินการผ่านนโยบายการเงินในห้วงเวลาดังกล่าวคือ การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มแล้วอัดฉีดปริมาณเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบ หรือที่เรียกกันว่าการ Quantitative Easing (QE) นั่นเท่ากับเป็นการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปประคับประคองอาการให้เสมือนว่าผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น แต่ในความเป็นจริงเนื้อร้ายหรือมะเร็งร้ายที่เป็นต้นตอของปัญหายังไม่ได้ถูกกำจัดออกไป หากแต่กลับทำให้สถาบันการเงินเหล่านั้นกลับสามารถขยายกิจการได้อีก ด้วยความที่อัตราดอกเบี้ยซึ่งเปรียบเสมือนราคาของเงินทุนอยู่ในอัตราที่ต่ำ สภาพคล่องในระบบที่เพิ่ม ยิ่งกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวมาชดเชยภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ผู้ฝากเงินก็ไม่ต้องสูญเสียเงินฝากของตน ทุกอย่างดูจะหมุนต่อไปได้โดยที่สหรัฐฯ มีความได้เปรียบคือ เงินดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ใช้กันเฉพาะในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังหมุนเวียนอยู่ในโลกอีกมหาศาล ดังนั้นการพิมพ์เงินเพิ่มแต่เงินถูกหมุนออกไปต่างประเทศ ก็ทำให้ไม่เกิดสภาพเงินล้นระบบในประเทศจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ

 

หากแต่เมื่อไปพิจารณาจะพบว่า สหรัฐฯ เองกลับเสพติดการใช้ QE โดยตั้งแต่ปี 2008 จนถึง 2022 สหรัฐฯ ใช้มาตรการ QE หลักๆ รวมแล้ว 4 ระลอก ได้แก่

 

  • QE1 เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2008 ด้วยจำนวนเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และไปสู่จุดสูงสุดของการอัดฉีดเงินที่ระดับ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนมิถุนายน 2010 และระบบธนาคารกลางตัดสินใจคงปริมาณเงินเอาไว้ในระบบโดยไม่ดูดออกไปเป็นจำนวน 2.054 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • QE2 รอบใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2010 โดยเพิ่มปริมาณเงินในระบบอีก 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • QE3 เที่ยวนี้ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้วิธีอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเป็นรายเดือนอย่างต่อเนื่องทุกๆ เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2012 จนถึงตุลาคม 2014 ยาวนานต่อเนื่องจน QE3 ถูกเรียกด้วยชื่อเล่นว่า QE-Infinity โดยมีการเพิ่มปริมาณเงินไปรวมทั้งสิ้นกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • QE4 เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการเงินโดยเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบโดยเริ่มต้นที่ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และไปสิ้นสุดในราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

นั่นทำให้เมื่อรวมปริมาณเงินที่สหรัฐฯ พิมพ์เพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ QE ถึงจุดสูงสุดมูลค่าถึง 8.97 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนเมษายน 2022 

 

มาถึงจุดนี้ปริมาณเงินมหาศาลที่ฉีดเข้าสู่ระบบพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีปฏิบัติการเช่นนี้ สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, จีน และประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยเอง ก็มีมาตรการในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน แต่ปริมาณเงินที่ประเทศอื่นๆ อัดฉีดเข้าสู่ระบบก็คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการที่สหรัฐฯ ดำเนินการ และนั่นทำให้ปริมาณเงินในระดับโลกมีมากจนเกินไป สภาพคล่องล้นระบบนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้ประชาชนผู้บริโภคทั่วโลกเดือดร้อน และประเทศที่ได้รับผลกระทบย้อนกลับอย่างรุนแรงมากก็คือสหรัฐอเมริกานั่นเอง โดยอัตราเงินเฟ้อที่พิจารณาจากดัชนีราคาผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เคยอยู่ที่ระดับ 0.1% เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2022 ซึ่งถือเป็นการพุ่งทะยานขึ้นสูงสุดของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ

 

เมื่อเป็นเช่นนี้สหรัฐอเมริกาก็ดำเนินนโยบายการเงินแบบหมุนตัว 180 องศา โดยการดูดสภาพคล่องออกจากระบบผ่านมาตรการที่รู้จักกันในนาม Quantitative Tightening (QT) ซึ่งปฏิบัติการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรุนแรงอย่างยิ่ง โดยสิ่งที่สะท้อนถึงการดูดสภาพคล่องหรือลดปริมาณเงินออกจากระบบของธนาคารกลางสหรัฐฯ พิจารณาได้จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Fed Fund Rate) ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจำนวน 10 ครั้ง (ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2022 – 3 พฤษภาคม 2023 และอาจยังมีการดำเนินการอีกในอนาคต) ทำให้อัตราดอกเบี้ยทะยานจากระดับ 0.25-0.5% ไปอยู่ที่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งแน่นอนว่าเป็นต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงันเนื่องจากดอกเบี้ยที่สูง ทำให้การลงทุนและการบริโภคสะดุด ทั้งยังรุนแรงจนถึงทำให้สถาบันการเงินบางแห่งไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

 

แน่นอนว่าสำหรับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐ และใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนและการสะสมมูลค่าในช่วง QE ที่ทำให้เงินเฟ้อสูง นั่นก็หมายความว่าเงินดอลลาร์ที่ตนถือครองมีมูลค่าลดลง แล้วเมื่อใช้ QT อย่างรวดเร็วและรุนแรง นั่นก็ทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก เงินทุนมหาศาลไหลกลับสหรัฐฯ เพื่อไปรับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่สูง ทำให้หลายประเทศขาดสภาพคล่อง ผู้ประกอบการจำนวนมากเจ็บตัวจากค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน หลายๆ ฝ่ายพิจารณาว่าการดำเนินนโยบายการเงินเช่นนี้เป็นความไม่รับผิดชอบในการดำเนินนโยบายสำหรับประเทศที่มีเงินสกุลหลักที่เป็นเครื่องอ้างอิงในระดับนานาชาติ และนั่นส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงทำให้หลายๆ ประเทศ หลายๆ ภาคเอกชน เริ่มพิจารณาหาทางเลือกใหม่ๆ สำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศเพื่อทำการค้าและการลงทุน

 

  • การดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯ ที่สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาระยะยาว ปัจจุบันสหรัฐฯ มียอดหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับสูงเกินกว่า 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่รายได้ของประเทศหรือมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐฯ (GDP) อยู่ที่ 23.32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือนั่นหมายความว่าถ้าทั้งสหรัฐฯ ทำงานสร้างรายได้มาเท่ากับ 100 บาท รัฐบาลสหรัฐฯ เพียงเจ้าเดียวก็เป็นหนี้ไปแล้ว 123.86 บาท หรือมี Debt to GDP Ratio = 123.86% ณ สิ้นปี 2022 ซึ่งนั่นเกินกว่าเพดานหนี้สาธารณะที่รัฐสภาสหรัฐฯ กำหนดไว้

 

สหรัฐฯ คือประเทศที่จัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และมีภาระในการใช้จ่ายงบประมาณสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในรายจ่ายเพื่อความมั่นคงของชาติ นั่นทำให้โดยเฉลี่ยทุกๆ วันจันทร์-ศุกร์ (เพราะตลาดพันธบัตรปิดทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์) รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องออกตั๋วเงินคลัง (ระยะเวลาไถ่ถอนไม่เกิน 1 ปี) และพันธบัตรรัฐบาล (ระยะเวลาไถ่ถอนเกิน 1 ปี) เพื่อก่อหนี้สาธารณะโดยเฉลี่ยวันละ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อมาชดเชยส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ 

 

ลองจินตนาการว่า หากในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2023 รัฐสภาสหรัฐฯ ไม่อนุมัติให้รัฐบาลสามารถกู้เงินเพิ่มโดยการขยายเพดานหนี้สาธารณะขึ้นไปได้ อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือ รัฐบาลสหรัฐฯ จะผิดนัดการชำระหนี้ (Default) ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคลังของสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าผลในระยะสั้นที่ตามมาทันทีคือ ระบบสถาบันการเงินในสหรัฐฯ จะวิบัติ เพราะสถาบันการเงินจำนวนมากถือครองพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคลังของสหรัฐฯ ไว้เป็นทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ตามมาด้วยตลาดเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลกจะไร้ซึ่งเสถียรภาพ หรืออาจจะถึงกับล่มหรือปิดทำการซื้อขายชั่วคราว เนื่องจากค่าเงินของเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกต่างมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ที่หนุนหลัง ในระยะเวลาต่อมาเครดิตหรือความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและต่อสหรัฐอเมริกาจะถดถอย และนั่นจะส่งผลต่อระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร หากสินทรัพย์ที่ใช้ในการหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรเงินบาททุกๆ บาทมีค่าลดลง เพราะในมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 อนุญาตให้ไทยสามารถใช้พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศเป็นสินทรัพย์ที่ประกอบขึ้นเป็นทุนสำรองเงินตรา นั่นย่อมหมายถึงวิกฤตการณ์ทางการเงินของไทยและของโลกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

 

แน่นอนว่าในที่สุดรัฐสภาสหรัฐฯ จะอนุญาตให้มีการขยายวงเงินเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อไปได้ เราอาจรอดพ้นวิกฤตการณ์ในระยะสั้นได้ หากแต่ในระยะยาวจะเกิดอะไรขึ้น เพราะสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทำในขณะนี้คือการเล่นเกม Balance Transfer หรือเกมหมุนเงินของคนที่ขาดความรู้ทางการเงินผ่านบัตรเครดิตหลายๆ ใบ

 

ลองนึกภาพนาย A ที่มีบัตรเครดิต 2 ใบ แล้วใช้บัตรใบแรกรูดซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ก่อหนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่ใบเรียกเก็บเงินส่งมาที่บ้าน แล้วเขาก็แก้ปัญหาโดยการเอาบัตรเครดิตใบที่ 2 ไปกดเงินสดออกมาใช้หนี้บัตรเครดิตใบแรก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนก่อหนี้เต็มวงเงินของบัตรเครดิตทั้งสองใบ และกำลังจะขอออกบัตรเครดิตใบที่ 3 กับสถาบันการเงินแห่งใหม่ เพื่อเอามาหมุนเงินแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อะไรจะเกิดขึ้นหากวันหนึ่งทุกสถาบันการเงินไม่ออกบัตรเครดิตใบใหม่หรือไม่สามารถมีใครให้กู้อีกต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ นาย A จะถูกฟ้องและกลายเป็นบุคคลล้มละลาย

 

คำถามคือ แล้วนาย A หรือรัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถก่อหนี้แบบนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ แบบนี้หรือไม่ ในอดีตอาจจะเป็นไปได้ เนื่องจากสหรัฐฯ คือเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก สหรัฐฯ คือคู่ค้าอันดับ 1 กับทุกประเทศ ทุกคนต้องการขายของให้กับสหรัฐฯ และหวังว่าเขาจะสามารถกู้เงินมาจ่ายหนี้ไปได้เรื่อยๆ 

 

แต่วันนี้คือวันที่ 135 ประเทศทั่วโลกมีจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และ/หรือ อันดับ 2 ในขณะที่จีนกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก และหนี้สาธารณะต่อ GDP ของจีน ณ ปี 2022 ก็อยู่ที่ระดับ 76.90% ทุกประเทศเริ่มมีทางเลือกมากยิ่งขึ้นและลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ลง

 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นสัดส่วนการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่ใช้เป็นทุนสำรองเงินตราของแต่ละประเทศทั่วโลก ซึ่งมีสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่หลายๆ ประเทศขยายสัดส่วนของเงินหยวนของจีนในตะกร้าเงินให้เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับที่ปริมาณการสะสมทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

  • การใช้เครื่องมือทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอาวุธในการประหัตประหาร หลังจากที่รัสเซียซึ่งถูกกดดันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในประเด็นการขยายตัวของสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) รัสเซียตอบโต้กลับโดยการละเมิดหลักการที่นานาชาติยอมรับ โดยการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน เดินหน้าปฏิบัติการทางการทหาร เข้ารุกรานประเทศยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 

 

สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกแถลงในวันเดียวกันเกี่ยวกับการประณามการกระทำของประเทศรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน และประกาศถึงมาตรการตอบโต้ทั้งในทางการทหารและมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยในแถลงการณ์ของประธานาธิบดีไบเดน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ประกาศอย่างชัดเจนว่า “This is going to impose severe costs on the Russian economy, both immediately and over time. I just spoke with the G7 leaders this morning, and we are in full and total agreement. We will limit Russia’s ability to do business in Dollars, Euros, Pounds, and Yen to be part of the global economy. We will limit their ability to do that. We are going to stunt the ability to finance and grow Rus- — the Russian military. We’re going to impose major — and we’re going to impair their ability to compete in a high-tech 21st century economy. We’ve already seen the impact of our actions on Russia’s currency, the Ruble, which early today hit its weakest level ever — ever in history. And the Russian stock market plunged today. The Russian government’s borrowing rate spiked by over 15 percent. In today’s actions, we have now sanctioned Russian banks that together hold around $1 trillion in assets. We’ve cut off Russia’s largest bank — a bank that holds more than one third of Russia’s banking assets by itself — cut it off from the U.S. financial system. And today, we’re also blocking four more major banks. That means every asset they have in America will be frozen.”

 

จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ ประกาศตอบโต้การกระทำที่ผิดกฎบัตรของสหประชาชาติ โดยจะร่วมกับพันธมิตรใช้ทั้งมาตรการทางการทหาร ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และทางเศรษฐกิจการเงิน โดยหวังจะให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัสเซียต้องล่มสลายภายในปี 2022 โดยมาตรการทางการทหารนำไปสู่การสนับสนุนทางการเงิน สนับสนุนอาวุธ และการฝึกสอน-ฝึกซ้อมหน่วยรบของยูเครน มาตรการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีผ่านการจำกัดการซื้อขายถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับรัสเซีย ทั้งจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งยังกดดันประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน ให้ดำเนินการร่วมด้วย ส่วนมาตรการทางเศรษฐกิจนอกจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจห้ามการค้าการลงทุนกับรัสเซียและวิสาหกิจของทั้งรัฐและเอกชนรัสเซียแล้ว มาตรการอื่นๆ ที่ไม่เคยถูกนำมาใช้ก็ได้รับการยกขึ้นมา เพื่อใช้เครื่องมือทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอาวุธในการประหัตประหาร อาทิ การนำรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ซึ่งด้านหนึ่งทำให้ธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศของรัสเซียเป็นอัมพาต แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับทำให้สหรัฐฯ เองสูญเสียการรับรู้ถึงปริมาณการเงินที่มีการเคลื่อนย้ายของรัฐบาลและเอกชนรัสเซีย รวมทั้งยังเป็นการผลักให้รัสเซียไปใช้ระบบการส่งข้อมูลแบบเดียวกัน แต่เป็นระบบของจีนที่เรียกว่า The Clearing House Interbank Payments System (CHIPS) และระบบที่รัฐไม่สามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างสิ้นเชิง อาทิ การโอนเงินผ่านระบบคริปโตเคอร์เรนซี

 

สหรัฐฯ ยังดำเนินการตัดตอนห้ามเอกชนและธุรกิจรัสเซียไม่ให้สามารถดำเนินธุรกรรมผ่านผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ เช่น Visa, Mastercard และ American Express

 

สหรัฐฯ และพันธมิตรอายัดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซีย ซึ่งฝากไว้ในสถาบันการเงินและระบบธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ฝากไว้ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร ทำให้รัสเซียสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 40%

 

สหรัฐฯ เริ่มต้นการอายัดเงินทุนของบริษัทเอกชนและวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซีย และเริ่มการนำเอาเงินทุนดังกล่าวไปใช้ในการสนับสนุนการทำสงครามของยูเครน

 

สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรต้องการกดราคาขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของรัสเซีย โดยกดดันให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ให้กับใครก็ตามที่ต้องการซื้อสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้จากรัสเซีย ห้ามบริษัทประกันไม่ให้ขายกรมธรรม์ให้กับใครก็ตามที่ต้องการซื้อสินค้าเหล่านี้ เช่นเดียวกับที่ห้ามบริษัทโลจิสติกส์ไม่ให้ทำหน้าที่ส่งมอบสินค้าเหล่านี้หากราคาขายไม่ตรงตามที่สหรัฐฯ ต้องการ

 

แน่นอนว่ามาตรการเหล่านี้ตรงข้ามกับแนวคิดโลกาภิวัตน์ที่สหรัฐฯ วางกติกาไว้เองอย่างสิ้นเชิง และเท่ากับเป็นการกดดันในทางอ้อมให้ประเทศและเอกชนรายอื่นๆ ทั่วโลกที่รู้สึกว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของตนอาจไม่เป็นที่พอใจหรือไม่เป็นที่วางใจของสหรัฐฯ ต้องนำไปสู่การดำเนินการเช่นนี้ของสหรัฐฯ ประเทศเหล่านั้น เอกชนเหล่านั้น ย่อมต้องการป้องกันตนเองโดยการลดความเสี่ยงที่จะพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐลง แล้วหันไปใช้เงินตราสกุลอื่นๆ หรือสินทรัพย์อื่นๆ หรือเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงของตนอย่างแน่นอน

 

1. ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเงินสกุลท้องถิ่นที่กำลังพัฒนาอยู่ ณ ขณะนี้

 

จากเหตุผลข้างต้นที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของสหรัฐฯ ที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ นโยบายการคลังที่ขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องและสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการขาดความเชื่อมั่น ร่วมกับการใช้เครื่องมือทางการเงินเป็นอาวุธในการทำสงคราม ปัจจัยเหล่านี้ย่อมสร้างความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในการที่จะวางไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว นั่นคือการทั้งใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักเพียงสกุลเดียวในการเป็นสื่อกลางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมทั้งการใช้เป็นเครื่องสะสมมูลค่าในฐานะเงินทุนสำรองทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศและทุนสำรองเงินตรา ประกอบกับการที่สหรัฐฯ ไม่ใช่คู่ค้าหลักแค่เพียงรายเดียวที่มีมูลค่าการค้ามหาศาลเมื่อเทียบกับคู่ค้าอันดับที่ 2, 3 หรือ 4 อีกต่อไป หากแต่กลับกลายเป็นจีนที่กลายเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 และ/หรือ อันดับที่ 2 ของ 135 ประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับที่เงินยูโรกลายเป็นตัวเลือกที่มีบทบาทมากยิ่งขึ้น และเช่นเดียวกับความพยายามของจีนและกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้) รวมกับประเทศพันธมิตรที่มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการสร้างระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศในรูปแบบใหม่ อาทิ การสร้างเงินสกุลที่จะใช้เป็นสื่อกลางระหว่างกัน 

 

ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่มีธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เป็นหุ้นส่วน ตั้งอยู่ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ BIS มีหน้าที่ดูแลระบบเงินตราระหว่างประเทศในหลายมิติ ซึ่งเปรียบเสมือนกับการเป็นนายธนาคารของบรรดาธนาคารกลางทั้งหลาย ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างธนาคารกลางและสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศต่างๆ ปัจจุบันมีธนาคารกลางกว่า 60 แห่งทั่วโลกเป็นสมาชิกสถาบันนี้ โดย BIS เองก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อปรากฏการณ์นี้ ดังนั้นตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา BIS Innovation Hub’s Hong Kong Centre ร่วมกับ Hong Kong Monetary Authority (เทียบเท่ากับธนาคารกลางของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน), ธนาคารแห่งประเทศไทย, Digital Currency Institute of the People’s Bank of China และธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการ ‘mBridge’ ขึ้น เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่จะสนับสนุนให้แต่ละประเทศที่มีการค้าและการลงทุนระหว่างกัน สามารถใช้เงินสกุลท้องถิ่นของตนเองในการทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินสกุลของประเทศที่ 3 เป็นสื่อกลาง (นั่นคือดอลลาร์สหรัฐ) โครงการ mBridge พัฒนาบล็อกเชนใหม่ที่เรียกว่า mBridge Ledger ซึ่งธนาคารกลางสร้างขึ้น โดยเฉพาะสำหรับธนาคารกลาง เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มเฉพาะทาง และมีความยืดหยุ่นสำหรับการนำระบบชำระเงินข้ามพรมแดนหลายสกุลเงินมาใช้ในสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ในปี 2022 แพลตฟอร์ม mBridge ได้รับการทดสอบผ่านโครงการนำร่องระหว่างธนาคารพาณิชย์ 20 แห่ง จาก 4 เขตเศรษฐกิจ (ฮ่องกง, ไทย, จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) โดยโครงการนำร่องนี้ส่งเสริมการทดลองใช้ CBDC หลายสกุลโดยการชำระเงินมูลค่าจริงโดยตรงบนแพลตฟอร์ม ผ่านการดำเนินธุรกรรมของลูกค้าองค์กร โดยมีการทดลองกับการโอนเงินท้องถิ่นมากกว่า 160 ครั้ง เทียบเท่ากับมูลค่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

แม้แต่ในประชาคมอาเซียนเอง จากการประชุมสุดยอดผู้นำเมื่อวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2023 ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศก็ลงนามในปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคและการส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น (ASEAN Leaders’ Declaration on Advancing Regional Payment Connectivity and Promoting Local Currency Transaction) โดยปฏิญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญ ได้แก่ 

 

  1. ผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค
  2. ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม เพื่อสนับสนุนให้มีการชำระเงินข้ามพรมแดนที่ไร้รอยต่อและปลอดภัย
  3. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเอื้อให้ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนสามารถทำงานร่วมกันได้
  4. ส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเอื้อให้ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนสามารถทำงานร่วมกันได้ รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
  5. การส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น โดยจะสนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานด้านการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency Transaction Task Force) ให้มีหน้าที่กำกับดูแลภาคการเงิน เพื่อลดความเปราะบางของภูมิภาคต่อความผันผวนจากภายนอก

 

รวมทั้งยังพิจารณาให้เกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุนและสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศในภูมิภาค โดยผู้นำอาเซียนมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนเป็นผู้ดูแลการดำเนินการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค และพิจารณาแนวทางพัฒนากรอบการส่งเสริมการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น โดยให้ประสานกับคณะทำงานของภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

 

สำหรับความร่วมมือในระดับที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีภารกิจในการติดตาม ประเมิน และรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของสมาชิกในภูมิภาค ASEAN+3 ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนร่วมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ก็มีการศึกษาและเผยแพร่เอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในหัวข้อ ‘Expanding Local Currency Transactions in ASEAN+3 Cross-Border Payments’ เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของแต่ละประเทศในการทำธุรกรรมระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น

 

2. รูปแบบที่เป็นไปได้ในการออกเงินสกุลใหม่

 

รูปแบบที่เป็นไปได้ในการออกแบบเงินสกุลใหม่ที่ผ่านมาอาจจำแนกออกได้เป็น 5 แนวทาง ได้แก่

 

  1. Bretton Wood Model ซึ่งนั่นคือการร่วมกันกำหนดให้มีเงินสกุลใดสกุลหนึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยในการวัดมูลค่า เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน และเป็นเครื่องมือในการสะสมมูลค่าระหว่างประเทศ โดยในครั้งนั้นที่มีการประชุมกันก็มีความพยายามในการสร้างเงินสกุลใหม่ที่เรียกว่า Bancor ซึ่งจะหนุนหลังค่าเงินโดยทองคำเต็มมูลค่า ซึ่งในท้ายที่สุดก็มีการปรับเปลี่ยนข้อตกลง จนมีการรับรองให้เงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในช่วงต้นของบทความนี้ และในท้ายที่สุดสหรัฐฯ เองก็ประกาศยกเลิกระบบปริวรรตเงินตราต่างประเทศในรูปแบบนี้ไปแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 1970

 

  1. Euro Currency Model สกุลเงินยูโรมีต้นกำเนิดมาจากสนธิสัญญา Maastricht Treaty (ปี 1991) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิก 12 ประเทศของประชาคมยุโรป (European Community: EC ปัจจุบันคือสหภาพยุโรป European Union: EU) ได้แก่ สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ไอร์แลนด์, เบลเยียม, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, สเปน, โปรตุเกส, กรีซ และลักเซมเบิร์ก โดยประเทศสมาชิกตกลงจะบูรณาการระบบเศรษฐกิจในระดับสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Monetary Union: EMU) ซึ่งหมายถึงการมีนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศร่วมกัน (Common External Policy), ลด ละ เลิก ข้อกีดกันทางการค้าทั้งที่บริเวณชายแดนและภายในแต่ละประเทศ จนเกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ทั้งสินค้า, บริการ, เงินทุน และแรงงาน รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจทุกประเทศที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันของวัฏจักรเศรษฐกิจ ก่อนที่จะใช้นโยบายการเงิน (Monetary Policy) ร่วมกัน และยกเลิกเงินสกุลท้องถิ่นของตนเองและให้สัตยาบันในสนธิสัญญาที่เรียกร้องให้มีเงินสกุลเดียวกันที่เรียกว่า ‘เงินยูโร’ (Euro: EUR) โดย ณ ปัจจุบันมี 20 ประเทศ จาก 27 ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ใช้เงินสกุลดังกล่าวร่วมกัน และยอมลดอำนาจอธิปไตยทางการเงินของตนเองลง ทั้งยังให้ใช้ระบบธนาคารกลางร่วมกันผ่านธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) 

 

แม้ว่าเงินยูโรจะกลายเป็นสกุลเงินที่มีความเข้มแข็งและเป็นอีกหนึ่งสกุลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นในการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาและกำหนดเกณฑ์ที่เข้มงวดสำหรับการแปลงสกุลเงินเป็นยูโรและการเข้าร่วมใน EMU รวมทั้งข้อกำหนดที่ผูกพันนโยบายการคลัง (Fiscal Policy) ภายใต้ Stability and Growth Pact เช่น การขาดดุลงบประมาณรัฐบาลได้ไม่เกิน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP), การรักษาระดับหนี้สาธารณะต่ำกว่า 60% ของ GDP, การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน, การรักษาอัตราเงินเฟ้อไม่เกิน 1.5% ของอัตราเงินเฟ้อ 3 อัตราที่ต่ำที่สุดในสหภาพยุโรป และอัตราเงินเฟ้อระยะยาวไม่เกิน 2% กลับกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินยูโรในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2000 และยังส่งผลต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

 

  1. Decentralize Model หรือการปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการอย่างเต็มที่ในการสร้างสกุลเงินใหม่ๆ ขึ้นมา โดยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศไม่ได้มีส่วนในการควบคุมแต่อย่างใด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของ Model นี้ก็คือเงินคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่เกิดขึ้นบนเทคโนโลยีบล็อกเชน 

 

บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่มีการบันทึกจัดเก็บข้อมูลผ่านการเข้ารหัส (Cryptography) ร่วมกับกลไกฉันทมติ (Consensus Algorithm) หรือกลไกที่ทำให้ทั้งเครือข่ายเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับความถูกต้องของธุรกรรมหรือข้อมูล อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ เมื่อนายเอและนายบีตกลงทำธุรกิจร่วมกัน ข้อมูลทางธุรกิจของนายเอและนายบีต้องมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และต้องมีการประมวลผลคิดคำนวณข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งมักจะมีปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ 

 

ประการที่ 1 หากข้อมูลนั้นมีขนาดใหญ่และต้องมีการประมวลผลที่ยุ่งยากซับซ้อน นั่นเท่ากับว่าต้องมีการลงทุนซื้อซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) ที่มีความสามารถในการประมวลผลระดับสูงมาใช้ในการคิดแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งซูเปอร์คอมพิวเตอร์เหล่านี้มักมีราคาสูงมากและผู้ประกอบการทั่วไปอาจไม่มีกำลังทุนมากพอที่จะเข้าถึงได้ 

 

ส่วนประการที่ 2 จะแน่ใจได้อย่างไรว่าการประมวลผลที่ได้มานั้นจะไม่ถูกบิดเบือนโดยคู่ค้าที่มาทำธุรกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นนายเอ และ/หรือ นายบี ตลอดจนบุคคลภายนอกที่อาจเข้าไปดัดแปลงแก้ไขข้อมูล จนมีคนได้เปรียบ-เสียเปรียบ หรือมีการฉ้อโกงเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายต่างๆ

 

เทคโนโลยีบล็อกเชนได้รับการพัฒนาขึ้นมาใช้งานเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยการนำเอาข้อมูลที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมาเข้ารหัสที่มีระดับความปลอดภัยสูงอย่างยิ่ง เนื่องจากวางอยู่บนระบบเลขฐาน 16 แล้วจึงแยกย่อยข้อมูลขนาดใหญ่นี้ให้กลายเป็นชิ้นส่วนย่อย จากนั้นก็กระจายข้อมูลที่เป็นชิ้นส่วนย่อยดังกล่าวไปบนระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลชุดนี้สามารถใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์ดิจิทัล ส่วนบุคคลอื่นใดเข้ามาช่วยกันประมวลผลข้อมูลที่ถูกแยกออกเป็นชิ้นส่วนย่อยและกระจายไปในระบบเหล่านี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการแก้โจทย์ปัญหาที่ซับซ้อนน้อยลงจากเดิม ที่ข้อมูลขนาดใหญ่และมีความยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าที่อุปกรณ์ดิจิทัลทั่วไปจะสามารถประมวลผลได้ ดังนั้นการใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์กระจายศูนย์ในการประมวลผล หรือที่เรียกว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนเช่นนี้ จึงมีความสะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการลงทุนซื้อหรือเช่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 

 

ส่วนในประเด็นเรื่องความปลอดภัย เทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีระบบการตรวจสอบความถูกต้องของการประมวลผลข้อมูลที่ถูกแยกออกเป็นส่วนย่อยเหล่านั้นผ่านคอมพิวเตอร์ในระบบอีกจำนวนมากมายมหาศาล ด้วยระบบที่เรียกว่าการรับรองผลและการประมวลผลก่อนที่จะรับรองผลอีกครั้ง แล้วจึงเก็บข้อมูลเหล่านั้นเอาไว้โดยการใส่รหัส ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวคอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาลที่กระจายตัวกันอยู่ทั่วโลกจะรับรองสำเนาซึ่งกันและกัน ว่าข้อมูลชุดนี้มีความถูกต้องตรงกันหรือไม่ หรือที่เรียกว่ากลไกฉันทมติ และด้วยกลไกนี้ทำให้ไม่มีใครไม่ว่าจะเป็นนายเอ นายบี หรือบุคคลภายนอก ก็ไม่สามารถเข้ามาแก้ไขข้อมูลเหล่านี้ได้ เพราะมีสำเนาข้อมูลที่เข้ารหัสเช่นเดียวกันนี้อยู่อีกมหาศาล และหากมีการแก้ไขข้อมูลชุดใดชุดหนึ่ง ข้อมูลชุดนั้นก็จะผิดพลาดและไม่สามารถนำมายืนยันกับข้อมูลเดียวกันในชุดอื่นได้ 

 

นอกจากนี้การประมวลผลด้วยวิธีดังกล่าวยังมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ทุกการกระทำจะมีการจัดเก็บข้อมูลเอาไว้ โดยที่ใครก็สามารถเข้ามาดัดแปลงแก้ไขได้ และขณะเดียวกันก็มีความปลอดภัยระดับสูง เพราะจะมีก็แต่เฉพาะนายเอกับนายบีเท่านั้นที่จะมีกุญแจ สามารถถอดรหัสและอ่านข้อมูลที่เหมือนกันได้ ดังนั้นเทคโนโลยีบล็อกเชนจึงทำให้การทำธุรกรรมบนระบบออนไลน์เกิดขึ้นจริง มีความถูกต้อง ปลอดภัย และต้นทุนต่ำ 

 

จากกระบวนการประมวลผลของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่กล่าวมาแล้วนั้นจะเห็นได้ว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการเหล่านั้นคือคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดิจิทัลจำนวนมากที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกัน เพื่อทำหน้าที่ในการประมวลผล ตรวจสอบ และรับรองการประมวลผล คำถามคือ อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้คนจำนวนมากยอมเอาคอมพิวเตอร์ของตนเองมาทำงานเป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่ายที่ยิ่งใหญ่มหาศาลนี้ คำตอบก็คือคนที่นำเครื่องคอมพิวเตอร์มาร่วมอยู่ในระบบจะได้รับผลตอบแทนในรูปของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ และความเป็นสินทรัพย์เกิดขึ้นเมื่อมีระบบกรรมสิทธิ์ที่จะกล่าวถึงต่อไปในหัวข้อโทเคนที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่หนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับการพูดถึง และมักจะใช้เป็นสิ่งตอบแทนเมื่อมีการนำอุปกรณ์ดิจิทัลของแต่ละบุคคลเข้ามาร่วมทำงานในระบบบล็อกเชนก็คือ สกุลเงินดิจิทัลหรือที่เรียกว่า ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ (Cryptocurrency) โดยคริปโตเคอร์เรนซีสกุลแรกๆ ที่ทำให้คนรู้จักการใช้งานระบบบล็อกเชนก็คือสกุล ‘บิทคอยน์’ (Bitcoin) ซึ่งถูกประดิษฐ์และเปิดตัวใช้งานครั้งแรกในปี 2008 (ดังนั้นต้องอย่าสับสนระหว่างตัวระบบบล็อกเชนกับสินทรัพย์ดิจิทัล)

 

ในปัจจุบันมีความพยายามนำสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทมาใช้เป็นเงินตรา (Money) สำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนบนระบบออนไลน์ แต่เนื่องจากกลไกการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโตเคอร์เรนซีนั้นมีลักษณะที่เป็นระบบที่ไร้แกนกลาง (Decentralized) หรือไร้ผู้ควบคุมกำหนดนโยบาย ทำให้คนบางส่วนยังมองว่า การทำธุรกรรมผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงและไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง แต่หากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นๆ ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นในอนาคต ก็จะเท่ากับว่าการทำธุรกรรมบนโลกไซเบอร์จะมีระบบการชำระเงินที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

 

  1. Central Bank Digital Currency (CBDC) Model นอกจากระบบที่ไร้แกนกลางอย่างในกรณีของคริปโตเคอร์เรนซีแล้ว ในปัจจุบันยังมีระบบการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลบนโลกออนไลน์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีความทันสมัยและสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้มากยิ่งกว่านั่นก็คือระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆ (Central Bank Digital Currency) หรือที่เรียกว่า CBDC ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนาและประกาศใช้สกุลเงินดิจิทัล ไปจนถึงการปรับเพิ่มหรือลดปริมาณเงินดิจิทัลในระบบให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจไม่ต่างไปจากเงินตราประจำชาติ

 

ทั้งนี้ การนำระบบประมวลผลในรูปแบบบล็อกเชนมาใช้ ก็เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลธุรกรรมที่มีความปลอดภัยสูงและต้นทุนต่ำ ร่วมกับความเชื่อมั่นในระบบของธนาคารกลางที่มีทั้งตราสารทางการเงิน และ/หรือ โลหะมีค่า รวมถึงเงินตราสกุลต่างประเทศเป็นเครื่องหนุนค่าเงิน ประกอบกับการมองภาพรวมของการดำเนินนโยบายทางการเงินและการมีกฎหมายรับรอง ส่งผลให้ CBDC เป็นระบบที่ได้รับความเชื่อมั่นอย่างสูง จากความมั่นใจในเสถียรภาพของค่าเงินและความสามารถในการตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับข้อมูลการทำธุรกรรมของเงินแต่ละหน่วยได้ ซึ่งเป็นการป้องกันการฟอกเงินและอาชญากรรมทางเงิน รวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนแล้วแต่สามารถปิดจุดอ่อนของคริปโตเคอร์เรนซีที่ไร้แกนกลางได้ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศในปัจจุบันเริ่มเดินหน้าในการพัฒนา ทดลอง และประกาศใช้เงินสกุลดิจิทัลของตนเองมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

จีนถือเป็นอีกประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency Electronic Payment: DCEP, 数字货币电子支付) หรือที่นิยมเรียกกันในชื่อ ‘หยวนดิจิทัล’ (e-CNY) ซึ่งมีการนำมาทดลองใช้ในวงกว้างเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นทดลองใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2020 ที่ปริมาณเงิน 150 ล้านหยวนดิจิทัล ในพื้นที่มหานครเซินเจิ้น, ซูโจว, เฉิงตู และเขตเศรษฐกิจใหม่อย่างสยงอัน จากนั้นก็ขยายขอบเขตการทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลไปในอีกหลายพื้นที่ ซึ่งการใช้เงินหยวนดิจิทัลในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างภาคประชาชนกับภาคธุรกิจนั้น จะทำผ่านเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายระยะใกล้ (Near Field Communication: NFC) ที่ฝังตัวอยู่ในสมาร์ทโฟน ทำให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินด้วยสกุลเงินหยวนดิจิทัลระหว่างกันได้โดยไม่ต้องเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นระบบที่ทำงานคล้ายกันกับระบบบัตรโดยสารรถสาธารณะนั่นเอง 

 

การทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง ในเดือนธันวาคม 2022 พบว่ามีการใช้เงินหยวนดิจิทัลแล้วในกว่า 25 มหานครและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นเซี่ยงไฮ้, ไห่หนาน, ฉางชา, ซีอาน, ชิงเต่า, ต้าเหลียน, เทียนจิน, ฉงชิ่ง, กวางโจว, ฝูโจว, เซี่ยเหมิน, เจ้อเจียง, หางโจว, หนิงป่อ, เวินโจว, หูโจว, เช่าซิง, จินหัว, ปักกิ่ง, จางเจียโข่ว, จี่หนาน, ฟางเฉิงกัง, หนานหนิง, คุนหมิง และสิบสองปันนา รวมถึงการใช้อย่างไม่เป็นทางการในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งการใช้เงินหยวนดิจิทัลได้รับการยอมรับและใช้งานกันอย่างแพร่หลายอย่างรวดเร็วในประเทศจีน เป็นผลมาจากการใช้จ่ายเงินหยวนดิจิทัลสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนจีนที่กว่าร้อยละ 90 ของการชำระ แลกเปลี่ยน และโอนเงินระหว่างกัน เกิดขึ้นผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แล้วตั้งแต่ปี 2021

 

ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการเริ่มต้นทดลองใช้เงินบาทดิจิทัลในนาม ‘โครงการอินทนนท์’ ซึ่งริเริ่มโดยธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันทางการเงิน 8 แห่งและบริษัท R3 ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบบล็อกเชน DLT ในแพลตฟอร์ม Corda ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับการจัดเก็บข้อมูลด้วยการประมวลผลและการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ อันเป็นคุณลักษณะสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งบริษัท R3 เข้ามามีบทบาทในการทดสอบความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี DLT กับระบบการชำระเงินของประเทศ 

 

โครงการอินทนนท์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 

 

ระยะที่ 1 คือการสร้างระบบการชำระเงินต้นแบบ 

 

ระยะที่ 2 คือการพัฒนาขีดความสามารถของระบบการชำระเงินต้นแบบ โดยต่อยอดจากโครงการในระยะที่ 1 ให้ครอบคลุมถึงการใช้ประโยชน์จากสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) มาจำลองวงจรชีวิตของพันธบัตร 

 

ระยะที่ 3 เป็นการเชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินในต่างประเทศผ่านการใช้ CBDC ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตไปสู่การชำระเงินข้ามประเทศระหว่างสถาบันการเงิน 

 

โดยเงินบาทดิจิทัลทุกหน่วยที่ออกใช้ จะหนุนด้วยสินทรัพย์ในรูปแบบเดียวกันกับเงินบาทที่เป็นธนบัตรตาม พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 ทุกประการ

 

จากนั้นจะเข้าสู่ระยะการทดลองใช้เงินบาทดิจิทัลในระดับที่กว้างขึ้นเรียกว่า ‘โครงการบางขุนพรหม’ โดยจะเป็นการทดสอบการใช้ CBDC ระดับพื้นฐานกับประชาชนรายย่อยในวงจำกัด (Pilot Phase) ราว 10,000 ราย ร่วมกับภาคเอกชนและสถาบันการเงินเอกชนจำนวน 3 รายระหว่างปี 2022-2023 เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของเงินบาทดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในภาพรวม ซึ่งในช่วงของการทดลองนี้ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมโครงการ mBridge ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น

 

  1. Mixed Model คือการนำเอาข้อดีของแบบจำลองทั้ง 4 แบบที่กล่าวไปแล้วข้างต้นมาผสมผสานกันเพื่อสร้างระบบการปริวรรตแลกเปลี่ยนชำระเงิน รวมทั้งสร้างเงินสกุลใหม่ขึ้นมา ซึ่งระบบของกลุ่มความร่วมมือ BRICS ที่มีการศึกษาและนำเสนอในการประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS เมื่อวันที่ 22-24 ตุลาคม 2024 ณ ประเทศรัสเซีย และจะอธิบายในรายละเอียดในส่วนต่อไป

 

3. BRICS Bridge Multisided Payment Platform และ The Unit

 

กลุ่ม BRICS ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 9 ประเทศ ได้แก่ B บราซิล, R รัสเซีย, I อินเดีย, C จีน และ S แอฟริกาใต้ ร่วมกับอีก 4 ประเทศสมาชิกที่รับเข้ามาในปี 2023 อันได้แก่ อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และในปี 2024 มีการขยายขอบเขตความร่วมมือ โดยมีการประกาศประเทศพันธมิตรอีก 13 ประเทศ อันได้แก่ 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน (ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม), 2 ประเทศเอเชียกลาง (คาซัคสถานและอุซเบกิสถาน), 2 ประเทศลาตินอเมริกา (คิวบาและโบลิเวีย), 2 ประเทศยุโรป (เบลารุสและตุรกี) และ 3 ประเทศแอฟริกา (แอลจีเรีย ไนจีเรีย และยูกันดา)

 

BRICS เริ่มต้นจากการสร้างศัพท์คำเรียกกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง และจะมีบทบาทขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2050 ตามการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ จิม โอ’นีลล์ แห่ง Goldman Sachs ในปี 2001 โดยในขณะนั้น จิม โอ’นีลล์ ใช้ตัวย่อเพียง 4 ประเทศ คือ BRIC โดยในช่วงเวลาเดียวกันอีกหนึ่งสำนักที่ปรึกษา PricewaterhouseCoopers (PwC) เอง 2 นักเศรษฐศาสตร์ จอห์น ฮอว์กสเวิร์ธ และ กอร์ดอน คุกสัน ก็สร้างคำศัพท์ขึ้นมาอีกคำหนึ่งเช่นกัน โดยเรียกกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้ว่า E7 ซึ่งย่อมาจาก Emerging Seven ที่ล้อกันกับอดีตประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก 7 ประเทศที่ถูกเรียกว่า G7 หรือ Group of 7 โดย E7 ในขณะนั้นหมายถึงจีน, อินเดีย, บราซิล, รัสเซีย, อินโดนีเซีย, เม็กซิโก และตุรกี ซึ่ง PwC เชื่อว่ามูลค่าเศรษฐกิจของกลุ่ม E7 จะมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของกลุ่ม G7 (สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, แคนาดา และอิตาลี) ได้ภายในปี 2030

 

การก่อกำเนิดอย่างเป็นทางการของกลุ่ม BRIC เกิดขึ้นเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 4 ประเทศหารือนอกรอบระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN General Assembly: UNGA) ครั้งที่ 61 ในเดือนกันยายน 2006 และปูทางไปสู่การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRIC ครั้งแรก ณ เมือง ยากาเตรินเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2009 โดยผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมในวันนั้นคือ ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล, ดมิทรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย, มันโมหัน สิงห์ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย และ หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

จากนั้นในปี 2010 จีนซึ่งในขณะนั้นต้องการสร้างพันธมิตรที่แน่นหนามากยิ่งขึ้นกับกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา ก็เป็นผู้เสนอให้เชิญผู้นำแอฟริกาใต้เข้าร่วมเป็นสมาชิก และมีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น BRICS ณ การประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ครั้งที่ 3 ที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน (เกาะไหหลำ) ประเทศจีน

 

ปัจจุบันจากข้อมูลสถิติในปี 2023 กลุ่มประเทศ BRICS 9 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจเทียบเท่ากับ 34% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งโลก ในขณะที่กลุ่ม G7 มีมูลค่า GDP รวมกันเท่ากับ 30.7% โดยมีจีน, อินเดีย, รัสเซีย และบราซิล เป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 1, 3, 6 และ 8 ของโลก ตามลำดับ (ในขณะที่แอฟริกาใต้อยู่ในอันดับที่ 33) กลุ่ม BRICS มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันกว่า 26.06 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (Nominal GDP) หรือคิดเป็น 51.171 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (GDP PPP)

 

ในมิติภูมิศาสตร์ BRICS มีอาณาเขตรวมกันเท่ากับ 39,746,220 ตารางกิโลเมตร หรือในราว 26.7% ของพื้นที่ทั้งโลก และมีประชากรรวมกันมากกว่า 3,245.36 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับ 41.5% ของจำนวนประชากรของทั้งโลก

 

ในทางภูมิเศรษฐศาสตร์ ประเทศสมาชิก BRICS เป็นเจ้าของปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติราว 45% ของทั้งโลก, ควบคุม 72% ของปริมาณสำรอง Rare Earth Metals (ยังไม่รวมประเทศพันธมิตร ซึ่งโบลิเวียมีสำรองสินแร่ลิเธียม และอินโดนีเซียมีสำรองสินแร่นิกเกิล) รวมทั้งยังควบคุมการผลิตราว 42% ของธัญพืชที่ผลิตได้ทั่วโลกในแต่ละปี และตัวเลขที่น่าสนใจที่สุดคือ จีน, อินเดีย, รัสเซีย และบราซิล มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นอันดับที่ 1, 4, 5 และ 10 ของโลก ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีทุนสำรองระหว่างประเทศในจำนวนที่มากกว่าสหรัฐอเมริกาด้วยกันทั้งสิ้น ณ ปี 2023 ทั้ง 5 ประเทศมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันมากกว่า 5.124 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นกว่า 39.6% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมดของโลก และความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศของกลุ่ม BRICS กลายเป็นประเด็นที่มหาอำนาจต้องจับตา โดยเฉพาะสถาบันที่มีการจัดตั้งขึ้น เช่น

 

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ (New Development Bank: NDB)

 

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ หรือ New Development Bank (NDB) ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 และเริ่มให้บริการทางการเงินในปี 2015 โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการให้บริการทางการเงินไว้ในระดับพหุภาคี (Multilateral Development Bank) ซึ่งนั่นหมายความว่าการระดมเงินทุนและการปล่อยสินเชื่อจะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงระหว่าง 5 ประเทศ BRICS เท่านั้น โดยเป้าหมายของการปล่อยสินเชื่อของ NDB อยู่ที่การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และ NDB มีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อในราว 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ปัจจุบัน NDB ปล่อยสินเชื่อไปแล้วมากกว่า 50 โครงการในวงเงินมากกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโครงการที่มีการปล่อยสินเชื่อตกอยู่ใน 5 กลุ่ม ได้แก่ กิจการพลังงาน, กิจการบริหารจัดการน้ำ, กิจการขนส่งและโลจิสติกส์, กิจการพัฒนาเมืองและกิจการเมืองสังคม รวมทั้งกิจการการปรับปรุงภาคการผลิตไปสู่เทคโนโลยีสะอาด

 

NDB คือสถาบันการเงินที่มีศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อในระดับนานาชาติเช่นนี้ เมื่อทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ที่ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมแล้วกว่า 106 ประเทศ ทุนจดทะเบียน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (98% ได้รับการจัดสรรแล้ว) มีทุนชำระแล้วกว่า 1.91 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วมกับกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) อีก 4 หมื่นล้านดอลลาร์ นี่คือเงินทุนสำหรับปล่อยสินเชื่อเพื่อการพัฒนามูลค่ากว่า 9.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ International Bank for Reconstruction and Development หรือ IBRD ซึ่งเป็นองค์กรหลักของกลุ่มธนาคารโลก (The World Bank), ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา (African Development Bank: AfDB) ที่ทำหน้าที่ในรูปแบบเดียวกัน หากแต่สิ่งที่แตกต่างกันคืออิทธิพลของประเทศมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ที่ใช้สถาบันการเงินระหว่างประเทศในรูปแบบนี้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่แนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตก (Western Liberal Democracy) ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดต้องยอมรับแนวคิดดังกล่าว เพื่อแลกกับเงินกู้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หากแต่ระบบที่นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนและพันธมิตร BRICS ไม่ว่าจะเป็น NDB, AIIB หรือ Silk Road Fund จะเน้นการปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาโอกาสและความคุ้มค่าของโครงการที่จะลงทุนเป็นหลัก โดยปราศจากประเด็นอุดมการณ์ทางการเมืองและแนวคิดทางเศรษฐกิจ ดังนั้นบทบาทของสถาบันการเงินใหม่ๆ เหล่านี้จึงมาท้าทายบทบาทของกลุ่มธนาคารโลก

 

หน่วยงานบริหารเงินทุนสำรองในภาวะฉุกเฉิน (BRICS Contingent Reserve Arrangement: CRA) 

 

เช่นเดียวกับธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ถูกสร้างขึ้นในทศวรรษ 1940 ภายใต้ข้อตกลงเบรตตันวูดส์ เพื่อจัดระเบียบระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งควบคุมดูแลระบบปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศ กลไกสำคัญสิ่งหนึ่งของ IMF คือ การให้โควตาแต่ละประเทศภาคีในการกู้เงินในภาวะที่ประเทศประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินและขาดแคลนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม IMF ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอว่า การปล่อยเงินกู้ตามโควตามักจะต้องแลกมากับข้อแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ที่มีแนวโน้มจะทำให้ประเทศผู้กู้ดำดิ่งลงในวิกฤตการณ์เศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น รวมถึงโครงสร้างการตัดสินใจที่แต่ละประเทศมีสิทธิ์ในการออกเสียงไม่เท่ากัน และอิทธิพลของประเทศในกลุ่มประเทศรายได้สูงที่มีอิทธิพลอย่างสูงใน IMF ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดแทบจะไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงอย่างเท่าเทียม ดังนั้นในหลายภูมิภาค อาทิ ภายในกลุ่ม ASEAN+3 ก็มีการสร้างกองทุนสำรองเงินฉุกเฉินวงเงิน 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นมาภายใต้ชื่อ ‘ความริเริ่มเชียงใหม่’ (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ที่จะเป็นกองทุนให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ, จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หากประเทศใดประเทศหนึ่งประสบภาวะวิกฤตการณ์ทางการเงิน โดยเงื่อนไขในการใช้เงินกองทุนไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนและย้อนแย้งดังกรณีของ IMF

 

ด้วยแนวคิดแบบเดียวกัน กลุ่ม BRICS ลงนามใน BRICS Contingent Reserve Arrangement หรือ CRA เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2014 ณ การประชุมที่เมืองฟอร์ตาเลซา ประเทศบราซิล โดย CRA จะมีเงินกองทุนตั้งต้นมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินกองทุนและ CRA เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่การประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ในปี 2015 นั่นเท่ากับว่าภาวะพึ่งพิงต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และการพึ่งพิงต่อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐของประเทศกำลังพัฒนาเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่เหล่านี้ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

ระบบการสื่อสารข้อมูลการโอนย้ายเงินตราระหว่างประเทศ (BRICS Bridge Multisided Payment Platform)

 

ตั้งแต่การประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ในปี 2015 ทั้ง 5 ประเทศก็ริเริ่มความพยายามในการลดการพึ่งพาระบบการส่งข้อมูลการถ่ายโอนเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในนาม Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication (SWIFT) ลง ด้วยความห่วงกังวลเรื่องการพึ่งพาระบบของโลกตะวันตก SWIFT คือระบบที่ทำให้สหรัฐฯ ผ่านการทำงานของระบบธนาคารกลาง และกระทรวงการคลังสามารถติดตามเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายเงินดอลลาร์สหรัฐได้ทั่วทั้งโลก ทำให้สามารถบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ นอกขอบเขตประเทศ (Extraterritorial Jurisdiction) ได้อย่างไม่จำกัด 

 

ดังนั้นตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา กลุ่ม BRICS จึงเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงระบบการส่งข้อมูลในลักษณะเดียวกันของประเทศจีนในนาม Cross-Border Interbank Payment System (CIPS) ของอินเดียในนาม Structured Financial Messaging System (SFMS) ของรัสเซียในนาม System for Transfer of Financial Messages (SPFS) และระบบการชำระเงินแบบเรียลไทม์ของบราซิลในนาม Pix (คล้ายๆ กับระบบ PromptPay ของประเทศไทย) เข้าด้วยกัน และระบบดังกล่าวถูกใช้งานมากยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อสหรัฐฯ ปลดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ภายหลังจากที่รัสเซียล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยยูเครนในปี 2022

 

เมื่อรัสเซียพบกับอุปสรรคจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยนานาประเทศ ในขณะที่มติของผู้นำกลุ่ม G7 ที่ต้องการลดการพึ่งพาสินค้า บริการและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน โดยผู้นำกลุ่ม G7 ให้คำว่า De-risk ลดความเสี่ยง แทนที่คำว่า De-coupling แต่ความหมายก็ยังคงเหมือนเดิมนั่นคือ สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกับประเทศจีนยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งนั่นยิ่งเป็นการผลักให้มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก BRICS มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น เมื่อรัสเซียไม่สามารถขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรปได้อีกต่อไป จีนและอินเดียจึงเข้ามาเติมเต็มภาวะสุญญากาศ โดยการที่จีนประกาศพร้อมจะซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียและพร้อมทำสัญญาระยะยาว โดยมีข้อแม้ว่าการซื้อขายพลังงานเหล่านี้จะทำกันในรูปแบบของสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนและลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ ลองนึกภาพหากต้องแลกเงินหยวนเป็นดอลลาร์สหรัฐ และส่งมอบเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกกับพลังงาน และเมื่อรัสเซียรับการชำระเงินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็ต้องไปแลกเป็นเงินรูเบิลอีกครั้ง นั่นเท่ากับทั้งสองฝ่ายคือจีนและรัสเซีย ต้องจ่ายต้นทุนค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยน 2 รอบ มีความเสี่ยงในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน 2 รอบ และการดำเนินธุรกรรมในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ สามารถเข้าแทรกแซงกิจการได้ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนผ่านเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศในกลุ่ม BRICS ที่สามารถเก็บเอาไว้ใช้ค้าขายและลงทุนระหว่างกันได้ ก็จะทำให้แต่ละสมาชิกสามารถบริหารจัดการต้นทุนและความเสี่ยงของประเทศได้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการแลกเปลี่ยนชำระบัญชีตามที่มีอยู่ อาทิ ระบบของ BIS ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิก BRICS ได้อย่างสมบูรณ์โดยเฉพาะรัสเซีย และทำให้ประเทศสมาชิก BRICS ยังคงต้องพึ่งพาเงินตราสกุลของประเทศนอกกลุ่มอยู่ดี

 

ตัวอย่างที่สำคัญคือ การขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียให้กับอินเดีย โดยอินเดียชำระเงินรูปีให้กับรัสเซียเป็นการแลกเปลี่ยน นั่นทำให้รัสเซียได้รับเงินรูปีเข้าไปเก็บไว้ในประเทศผ่านวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมหาศาล แต่ในเมื่อมูลค่าของสินค้าและบริการที่รัสเซียต้องการนำเข้าจากอินเดียมีมูลค่าต่ำมาก นั่นทำให้รัสเซียเองก็ประสบปัญหาไม่รู้จะดำเนินการอย่างไรกับเงินรูปีจำนวนมหาศาลที่เก็บไว้ เพราะรูปีไม่ได้มีศักยภาพเท่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐหรือเงินยูโรที่สามารถนำไปลงทุนในตลาดการเงินได้ทั่วโลก

 

หรือในกรณีของการค้าระหว่างจีน อินเดีย และรัสเซีย ก็เช่นเดียวกัน อินเดียคือลูกค้ารายใหญ่ของจีน จีนส่งออกสินค้าบริโภค สินค้าทุน และวัตถุดิบจำนวนมากให้อินเดีย ในขณะที่การส่งออกของอินเดียไปยังจีนมีมูลค่าไม่สูงนัก ดังนั้นหากใช้เงินหยวนค้าขายระหว่างกัน คำถามคืออินเดียจะไปหาเงินหยวนจำนวนมากมาจากที่ใด 

 

แต่ปัญหานี้เริ่มมีทางออกโดยผ่านเงินสกุลของประเทศที่ 3 หรือประเทศนอกกลุ่ม BRICS อาทิ ในขณะนี้อินเดียทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียมาแปรรูปแล้วส่งออกไปขายยังตลาดยุโรป นั่นทำให้อินเดียมีเงินไหลเข้าจำนวนมหาศาล ส่วนหนึ่งก็นำไปจ่ายค่าน้ำมันให้รัสเซีย อีกส่วนหนึ่งก็นำไปจ่ายค่าสินค้านำเข้าให้จีน ซึ่งแน่นอนว่าหากต้องบริหารเงินดอลลาร์สหรัฐหรือเงินยูโรที่รับมา โดยต้องไปแลกเป็นทองคำเพื่อส่งมอบชำระค่าน้ำมันให้รัสเซีย หรือไม่เช่นนั้นก็เสียต้นทุนในการแลกเปลี่ยน 2 ต่อในการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างสกุลต่างๆ รวมทั้งต้นทุนในการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากต้องพึ่งพาเงินหลายสกุลเงินเพื่อค้าขายกันเองภายในกลุ่ม

 

ดังนั้นการค้าขายระหว่างประเทศสมาชิก BRICS จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างระบบการชำระเงินระหว่างกันเองขึ้นมา โดยโจทย์สำคัญคือ การลดการพึ่งพาเงินสกุลของประเทศที่ 3 (ที่มีสภาพคล่องสูงกว่า แต่กลับเป็นประเทศที่เป็นปรปักษ์ในทางยุทธศาสตร์) และนั่นคือที่มาของการเสนอสมุดปกขาว (White Paper) ของการสร้าง The Unit ให้เป็นหน่วยในการวัดมูลค่าและเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทางบัญชี รวมทั้งเป็น Digital Token สำหรับระบบการชำระเงินที่วางอยู่บนบล็อกเชนที่อนุญาตให้แต่ละประเทศสมาชิกสามารถซื้อ ขาย แลก เปลี่ยน เงินตรา และชำระค่าสินค้าระหว่างกันโดยตรงโดยใช้เงินสกุลท้องถิ่น และระบบนี้ถูกเรียกว่า BRICS Bridge Multisided Payment Platform

 

จากเอกสาร White Paper ‘The Unit’ ที่เป็นที่มาของเอกสารที่ The Financial Services and Investments Working Group ที่ถูกจัดตั้งโดย BRICS Business Council นำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ทำให้เราทราบว่า ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศระบบใหม่นี้จะวางอยู่บนระบบบล็อกเชนแบบ ‘องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์’ (Decentralized Autonomous Organization: DAO) โดยตัวระบบจะมีการกระจายอำนาจ (Decentralized) ที่ไม่ได้ถูกควบคุมหรือได้รับอิทธิพลจากรัฐบาลหรือสถาบันใดๆ เพียงสถาบันเดียว แต่จะมีการกระจายระหว่าง Node ต่างๆ ซึ่งเชื่อว่า Node เหล่านี้จะกระจายตัวให้สถาบันที่จะตั้งอยู่อย่างน้อยที่สุดในประเทศสมาชิกหลัก 5 ประเทศผู้ก่อตั้ง BRICS ร่วมกันวางชุดคำสั่งและเงื่อนไขในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ในรูปแบบ Smart Contract และให้กลไกการทำงานบนเทคโนโลยีบล็อกเชนแบบ DAO นี้ ตัดสินใจในการให้บริการปริวรรตเงินตราระหว่างสกุลเงินท้องถิ่นโดยอัตโนมัติ โดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งการเทียบเคียงค่าของสกุลเงินท้องถิ่นที่จะนำมาชำระแลกเปลี่ยนระหว่างกันจะเทียบเคียงกับ Digital Token ที่เกิดขึ้นจากระบบบล็อกเชนนี้ที่มีชื่อเรียกว่า The Unit 

 

ซึ่ง Unit จะเป็นโทเคน (Token) ในรูปแบบเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ที่มีการหนุนหลังเต็มจำนวน โดยประธาน New Development Bank เปิดเผยว่า Unit จะหนุนหลังด้วยทองคำในสัดส่วน 40% ซึ่งจะจัดเก็บในรูปแบบของทองคำแท่ง (Kilo Bar) ที่จัดเก็บไว้ในแต่ละ Node และอีก 60% จะหนุนหลังด้วยเงินสกุลอื่นๆ ของประเทศ BRICS ผู้ก่อตั้ง 5 ประเทศ บวกกับธนาคารกลางของอียิปต์ถือครองทองคำอยู่แล้วมากกว่า 20% ของปริมาณทองคำที่สำรองไว้ในธนาคารกลางทั่วโลก และอีก 60% จะหนุนหลังด้วยเงินสกุลอื่นๆ ของประเทศ BRICS รวมทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตอาจมีสินทรัพย์อื่นๆ อาทิ เงินตราต่างประเทศสกุลต่างๆ และอาจพัฒนาถึงขนาดนำเอาทรัพยากรธรรมชาติ (อันได้แก่ ปริมาณสำรองสินแร่ต่างๆ หรือศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตร) มาเป็นทรัพย์สินที่จะใช้หนุนหลังในสัดส่วน 60% นี้ ซึ่งตะกร้าเงิน / สินทรัพย์ที่หนุนหลังนี้ จะทำให้ The Unit มีมูลค่าและช่วยลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะเปลี่ยนแปลง หากมีการเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์และอุปทานของการชำระเงินระหว่างประเทศ

 

ซึ่งหากระบบการชำระเงินและสกุลเงิน CBDC หรือ Unit สามารถนำมาใช้ได้จริง ก็จะทำให้สมาชิกกลุ่ม BRICS บรรลุเป้าหมายทั้ง 3 เป้าหมาย นั่นคือ 

 

  1. Unit จะทำหน้าที่เป็นสกุลเงินที่เป็นกลางทางการเมือง เพื่อลดการแทรกแซงทางการเมืองในการค้าและกระแสทุน
  2. เป็นแหล่งเก็บสะสมมูลค่า (Store of Value) ที่มีเสถียรภาพ เพื่อป้องกันความกดดันทางเศรษฐกิจภายนอก
  3. ลดการพึ่งพาสกุลเงินหลักของโลก โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐ และยังทำให้แต่ละสมาชิกไม่ต้องสะสมเงินสกุลของประเทศสมาชิกอื่นๆ ไว้ในจำนวนที่มาก จนสร้างภาระในการบริหารจัดการ

 

โดยสถานะล่าสุดของข้อเสนอในการจัดตั้งระบบการชำระเงินร่วมกัน และ The Unit จะถูกนำไปพิจารณาอีกครั้งโดยคณะทำงานของแต่ละประเทศ ก่อนที่จะถูกนำไปบรรจุเป็นวาระหลักของการประชุมสุดยอด BRICS ในปี 2025 

ภาพ: Skorzewiak via Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X