×

The Underclass ห้องนี้ไม่มี..ห่วย มีแต่ ‘ระบบเฮงซวย’ ที่แบ่งแยกผู้คนออกจากกัน

06.07.2020
  • LOADING...

* บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ The Underclass ตอนที่ 1

 

“รู้ไหมว่าตัวเองน่าสงสารขนาดไหน จะต้องมีอีกกี่คนที่ตกเป็นเหยื่อของระบบบ้าๆ ที่รอง ผอ. มันสร้างขึ้นมาอีก”

 

หนึ่งในประโยคที่ช่วยเสริมความเข้มข้นตั้งแต่เปิดคลาสเรียนวันแรก สำหรับซีรีส์ The Underclass ห้องนี้ไม่มี..ห่วย ซีรีส์แนว Coming of Age ของผู้กำกับ ภาส พัฒนกำจร (ซีรีส์ The Change Company, X Years After และภาพยนตร์เรื่อง School Tales เรื่องผีมีอยู่ว่า) ที่ได้สมาชิก BNK48 มาเป็นกลุ่มนักแสดงหลัก เพื่อนำเสนอเรื่องราวสะท้อนการศึกษา สังคม และสิ่งที่วัยรุ่นต้องเผชิญในครั้งนี้

 

ผ่านการเซตเรื่องราวในโรงเรียนหญิงล้วนด้วย ‘ระบบ’ ที่เราสามารถตีความคำคำนี้ไปได้อย่างหลากหลาย ที่ทั้งหมดดูๆ ไปแล้วมันคลับคล้ายคลับคลากับสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี

 

 

เรื่องราวของ The Underclass เริ่มต้นขึ้น ณ ดินแดน ‘สตรีเลิศหล้า’ โรงเรียนประจำหญิงล้วนที่มี ‘ระบบ’ แบ่งแยกชนชั้นระหว่าง ‘นักเรียนเก่ง’ กับ ‘นักเรียนห่วย’ อย่างชัดเจน ด้วยการจัดผลคะแนนที่ติดตัวนักเรียนทุกคน 

 

วันหนึ่ง พะแพง (มิวนิค-นันท์นภัส เลิศนามเชิดสกุล) นักเรียนอันดับ 6 จากคลาส A ถูกจับได้ว่าโกงข้อสอบ ถูกลดคะแนนประจำตัวและต้องย้ายไปเรียนร่วมกับนักเรียนคลาส F ที่รวบรวมเหล่า ‘นักเรียนห่วย’ ที่สุดของโรงเรียนเอาไว้ด้วยกัน

 

พะแพงพยายามตัดขาดกับเหล่า ‘เพื่อนใหม่’ ตั้งเป้าหมายว่าต้องรีบกลับไปสู่คลาส A ให้ได้อีกครั้ง แต่เปิดเทอมใหม่ได้เพียง 1 วัน เธอกลับเข้าไปพัวพันกับปฏิบัติการของแก๊งแกะดำ ที่นำโดย มีน (มิวสิค-แพรวา สุธรรมพงษ์) หัวหน้ากลุ่มคลาส F ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่พะแพงจะได้พบเจอกับมิตรภาพและบทเรียนจากความห่วยที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อนในชีวิต 

 

 

หนึ่งในความโดดเด่นที่เราชื่นชอบเป็นการส่วนตัว คือวิธีการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นโครงเรื่อง เสื้อผ้าหน้าผมของตัวละคร บทพูด มุกตลกขบขัน รวมทั้งคาแรกเตอร์สุดจัดจ้านจนเรารู้สึกว่าเชื่อได้จริงๆ ถ้ามีคนบอกว่านี่คือซีรีส์ฉบับ Live Action ของมังงะเรื่องหนึ่ง แต่ก็แน่นอนว่าจุดนี้จะสร้างความหงุดหงิดและสงสัยให้กับผู้ชมที่ต้องการความเป็นธรรมชาติ สมจริง และไม่คุ้นชินกับการเล่าเรื่องแบบนี้มาก่อน 

 

เฉพาะอีพี 1 ที่เพิ่งออกอากาศมา นอกจากการแบกรับความกดดันของพะแพง คาแรกเตอร์หัวขบถสุดขั้วของมีน ก็ยังมีตัวละครอย่าง แตม (ฝ้าย-สุมิตรา ดวงแก้ว) หลานของรอง ผอ. นักเรียนอันดับหนึ่งแห่งคลาส A เพียบพร้อมทั้งบุคลิกภาพ ความสามารถ และอำนาจ ที่มองแค่ปราดเดียวก็เดาได้ไม่ยากว่านี่คือภาพจำของประธานนักเรียนสุดเนี้ยบ 

 

ตัวละคร เหมียว (ฟ้อนด์-ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา) หนึ่งในนักเรียนคลาส F ที่มีจิตใจอ่อนโยน ขี้กลัว ซุ่มซ่าม แต่เมื่อไรที่ความกลัวของเธอถูกกระตุ้นจนถึงขีดสุด เธอจะกลายเป็นเด็กสาวที่มีพละกำลังล้นเหลือ จนสามารถถีบรั้วเหล็กกระเด็นได้ง่ายๆ

 

หรือตัวละครอย่าง กุ๊ก (สตางค์-ตริษา ปรีชาตั้งกิจ) เด็กสาวสุดห้าวที่พร้อมเป็นตัวบวกให้เพื่อนได้ทุกสถานการ์ณ์, มี่จัง (มิโอริ โอคุโบะ) นักเรียนญี่ปุ่นจิตใจงามที่เป็นห่วงเป็นใยทุกคน แม้กระทั่งพะแพงที่ไม่ชอบเด็กคลาส F ก็ตาม, ลัคกี้ (ก่อน-วฑูศิริ ภูวปัญญาสิริ) เด็กสาวผู้ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเท่าไรนัก และมักจะมีความคิดที่ทำให้รู้สึกมืดมนอยู่บ่อยครั้ง, กะเพรา (นิ้ง-มนัญญา เกาะจู) เด็กสาวที่นิ่งเป็นหลับ ขยับเป็นกิน และ อีเมล (จิ๊บ-สุชญา แสนโคต) ฝ่ายซัพพอร์ตผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ที่มีโน้ตบุ๊กติดตัวตลอดเวลา ฯลฯ

 

คือตัวอย่างการสร้างกิมมิกให้ตัวละครเป็นที่จดจำ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนบรรดาคาแรกเตอร์ในการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนที่ติดตามงานประเภทนี้มาอยู่บ้าง ก็บอกได้ว่าทั้งการดีไซน์ตัวละครและการแสดงของสมาชิก BNK48 หลายคน สามารถนำเสนอออกมาได้ไม่เคอะเขิน แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทุกคนเป็นอย่างมาก และเราหวังว่าจะพัฒนามากยิ่งขึ้นในอีพีต่อๆ ไป

 

 

แต่อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่าประเด็นที่เราสนใจซีรีส์เรื่องนี้เป็นพิเศษคือโครงเรื่องหลักที่ว่าด้วย ‘โรงเรียนหญิงล้วน’ ที่มีการวาง ‘ระบบ’ เพื่อแบ่งแยกนักเรียนด้วย ‘ผลคะแนน’ ผ่านการสอบและการสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน โดยนักเรียนที่มีผลคะแนนมากที่สุด ‘16 อันดับแรก’ จะได้เรียนอยู่ในคลาส A

 

ไม่ว่าจะบังเอิญหรือตั้งใจ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ 16 อันดับแรกนั้นฉายภาพของการคัดเลือก ‘เซ็มบัตสึ 16’ คนของ BNK48 ได้อย่างพอดิบพอดี และนั่นหมายรวมถึงประเด็น ‘การแข่งขัน’ ระหว่างเพื่อนในห้องที่จะต้องทำ ‘คะแนน’ ให้ได้สูงที่สุด เพื่อที่จะได้อยู่ 16 อันดับแรกต่อไปจนจบการศึกษา และโครงเรื่องเหล่านี้ก็ยิ่งดูสมจริงมากขึ้น เมื่อเหล่านักแสดงของเรื่องต่างเป็นหนึ่งในสมาชิก BNK48 ด้วยเช่นกัน

 

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้เรื่องราวที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของการ์ตูนญี่ปุ่น The Underclass กำลังทำหน้าที่สะท้อนภาพความโหดร้ายของ ‘ระบบการศึกษา’ ผ่านเรื่องราวการแบ่งแยกนักเรียนเก่งและนักเรียนห่วยด้วยผลคะแนนสอบที่สุดโต่งได้อย่างแสบสัน

 

ตัวละครอย่าง พะแพง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดคือผลลัพธ์อันเลวร้ายและน่าเศร้าที่เกิดขึ้นจาก ‘ระบบบ้าๆ นี่’ ได้ชัดเจนที่สุด เมื่อพะแพงตัดสินใจโกงข้อสอบเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตกอันดับ เพราะไม่ต้องการให้ครอบครัวของตัวเองต้องผิดหวัง

 

เรียกได้ว่าซีรีส์ The Underclass ห้องนี้ไม่มี..ห่วย ดูจะไม่ได้เป็นซีรีส์ Coming of Age ที่ว่าด้วยเรื่องราวการเรียนรู้และเติบโตของเหล่าวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราจะต้องติดตามกันในอีพีต่อไปว่า ‘ระบบ’ ที่ตีตราคุณค่าของเด็กๆ ด้วยผลคะแนนสอบจะส่งผลอย่างไรต่อตัวละครในเรื่องกันอีกบ้าง 

 

เพราะ ‘ประตูกั้น’ ทางเดินที่ถูกทำลาย เป็นเพียงจุดเริ่มต้นภาคการศึกษาใหม่ของ ‘แก๊งแกะดำ’ (ที่เราคาดหวังการเฉลยที่มาของกลุ่มนี้อยู่มากๆ), การเรียนรู้ครั้งสำคัญผ่านคำว่า ‘ห่วย’ ของพะแพง, ชีวิตของเด็ก ‘วัยรุ่น’ ที่ผูกติดอยู่กับระบบ 

 

รวมทั้งภารกิจสำคัญที่บอกว่า ‘การเอาชนะ’ ไม่ใช่การแย่งชิงอันดับที่หนึ่ง แต่อาจหมายถึงการทำให้ไม่ต้องมีใครถูกกดขี่ด้วยระบบนี้อีกต่อไป

 

สามารถติดตาม The Underclass ห้องนี้ไม่มี..ห่วย ได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 21.30 น. ทาง GMM25 และเวลา 23.00 น. ทาง Netflix

 

ภาพประกอบโดย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X