“เด็กไฮโซติดเกาะ เจอสึนามิ และเจอเหตุการณ์ประหลาด”
คือคอนเซปต์เบื้องต้นที่ จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ (ผู้กำกับลัดดาแลนด์ และ เพื่อน..ที่ระลึก) ได้รับโจทย์จากทีม Netflix ให้มาพัฒนาต่อเป็น ‘เคว้ง’ (The Stranded) ซีรีส์แนวดราม่า-ไซไฟ-แฟนตาซี ความยาว 7 ตอน ออริจินัลคอนเทนต์เรื่องแรกที่ทำกับประเทศไทย เตรียมออกฉายแบบรวดเดียวจบช่วงปลายปีนี้
โดยจิมและทีมเขียนบท 8 คน ได้ผนึกกำลังร่วมตีโจทย์ ใส่ความเป็นหนังลึกลับ (ย้ำว่าไม่ใช่ซีรีส์ผี!) ความเชื่อ ตำนานพื้นบ้าน และผสมผสานกับความเป็น ‘วัยรุ่น’ ของเด็กไทย ภายใต้สถานการณ์กดดัน ที่ค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นตัวตนแท้จริงที่ซ่อนอยู่ข้างในของตัวละครทั้งหมดออกมา จิมให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า
“ความเป็นวัยรุ่นทั่วโลกมีความคล้ายกันอยู่ เพียงแต่คาแรกเตอร์วัยรุ่นไทยอาจจะต่างไปนิดหน่อย ตรงที่เราใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจเรื่องราวบางอย่างในชีวิต ทำให้แตกต่างจากภาพยนตร์ที่มีผู้ใหญ่ที่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจเป็นตัวขับเคลื่อน
“ความน่าสนใจคือเมื่อเราจับความลี้ลับเหนือธรรมชาติ มาเจอกับความรู้สึกของวัยรุ่น ตรรกะที่ได้จะไม่เหมือนกันเลย ผู้ใหญ่จะคิดว่า อย่าเข้าไปเลย แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นเขาจะอยากรู้ว่ามันคืออะไร พร้อมเสี่ยงทำอะไรบ้าๆ พาตัวเองเข้าไปค้นหา จะมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเยอะ เพราะขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมนมากกว่าตรรกะ”
เอริก้า นอร์ท หัวหน้าฝ่าย International Content ของ Netflix ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็ยืนยันว่าเนื้อเรื่องในซีรีส์เคว้ง เหมาะสมกับการเป็นออริจินัลคอนเทนต์ของประเทศไทย และจิมก็เป็นผู้กำกับที่ผสมผสานเอกลักษณ์ทั้งความเป็นวัยรุ่น และความเชื่อพื้นบ้าน เข้ากับความเป็นสากลได้อย่างดี
“จิมเป็นคนที่มีแนวคิดในการสร้างสรรค์ที่แข็งแรงมาก เขาสามารถดึงคอนเซปต์ทั้งหมดมาทำเป็นสคริปต์ และสร้างสคริปต์ให้มีชีวิตขึ้นมาได้จริงๆ เราะพูดกันเสมอว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นเพราะเวทมนตร์หรือพลังพิเศษไม่ได้ มันต้องมีเหตุผลเบื้องหลังที่เด็กๆ จะต้องถูกบังคับให้เห็นจุดใหม่ของชีวิตตัวเองบนเกาะร้างที่เราสร้างขึ้นมา เพื่อให้โฟกัสกับเรื่องราวมากกว่าสถานที่ ที่ผู้ชมทั้งคนไทยและต่างชาติจะรับรู้ร่วมกันได้”
นอกจากความลี้ลับ เรื่องราวที่น่าค้นหา ความน่าสนใจอีกหนึ่งอย่างของซีรีส์เคว้ง คือการรวมทีมนักแสดงรุ่นคุณภาพทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ แบบดรีมทีมชนิดที่ไม่ได้มีให้เห็นกันบ่อยๆ
โดยทีมนักแสดงรุ่นใหม่ที่รับบทเป็นแก๊งเด็กติดเกาะ นำทีมโดย มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล, โอบ-โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์, แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช, ชาลีดา กิลเบิร์ต, แจ็ค-กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา, เพิร์ธ-ธนพนธ์ สุขุมพันธนาสาร, มาร์ค-ศิวัช จำลองกุล, แพม-เปมิกา สุขสวี, ธิชา วงศ์ทิพย์กานนท์
ส่วน บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ ที่รับบทเป็นคราม ตัวละครหลักที่ลุกขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือตัวเอง และพาเพื่อนๆ ทุกคนให้รอดพ้นจากสถานการณ์เลวร้าย ที่ต้องเข้าเวิร์กช็อปฝึกดำน้ำ ปีนเขา จับปลาจนคล่องแคล่วก่อนเริ่มถ่ายทำ ที่ได้ซึมซับลักษณะนิสัยของตัวละครกลับไปใช้ในชีวิตจริง
“ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบตัวละครเปลี่ยนไปเยอะมาก ยิ่งเจอปัญหาให้เครียดมากเท่าไร ตัวละครก็เติบโตไปตามสถานการณ์เท่านั้น ตัวบทไม่ได้ยากเท่าไร แต่ปัญหาอยู่ที่พื้นฐานของผมกับครามค่อนข้างแตกต่างกัน ผมเป็นคนพลังงานสูง เครียด คิดเยอะ แต่ครามจะชิลและรีแล็กซ์กับทุกอย่าง ซึ่งพอปรับจูนเข้าหากัน ความผ่อนคลายของครามช่วยให้ผมรู้สึกสบายใจในการใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้นไปด้วย”
ส่วนทีมนักแสดงรุ่นใหญ่ประกอบด้วย เมฆ-หัฒศนัย (วินัย) ไกรบุตร, ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, เปิ้ล-หัทยา วงษ์กระจ่าง, อร-อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ และ นก-สินจัย เปล่งพานิช ที่ช่วงหลังจะเห็นเธอรับงานแสดงน้อยลงมาก แต่ก็ถูกความลึกลับของบท และความเป็นมืออาชีพของทีมงานดึงดูด ให้ยอมรับเล่นบทครูหลิน อีกหนึ่งตัวละครที่เต็มไปด้วยความลึกลับในซีรีส์เรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน
“อย่างแรกคือการได้ทำงานกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะมีโอกาสได้มีส่วนในผลงานที่กระจายไปสู่ระดับโลก และการทำงานแบบชาวต่างชาติคือประสบการณ์ที่ดีสำหรับการเป็นนักแสดง
“เพราะหลายครั้งเวลาเล่นหนังหรือละคร ที่เราได้แค่เรื่องย่อก่อน แล้วบทตามมาทีหลัง พอถึงเวลาก็มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ถูกต้องนัก แต่ครั้งนี้ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ มีการคุยกันถึงเป้าหมายที่ชัดเจน มีสไตล์หลายๆ อย่างที่ทำให้วงการของเราพัฒนาไปข้างหน้าได้
“ส่วนเนื้อเรื่อง ชอบที่เขาให้ความสำคัญกับเรื่องของเด็กๆ ทั้งปัญหาและวิธีแก้ปัญหา การเอาตัวรอด หรือวิธีที่ถูกเลี้ยงดูมาแต่ละครอบครัว มีผลต่อการอยู่ร่วมกันทั้งหมด มันคือหนังที่พูดถึงวัยรุ่น แต่ทุกคนสามารถดูแล้วจะต้องชอบเหมือนกัน”
ภาพ: Netflix และ Tossapon Somvong
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์