×

ดร.สุรเกียรติ์ ชี้ ‘สงครามโลกแบบใหม่’ น่ากังวล ตั้งคำถามประเทศไทยพร้อมฝ่ามรสุมความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันหรือยัง

24.11.2023
  • LOADING...
สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

วันนี้ (24 พฤศจิกายน) ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษบนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ภายใต้หัวข้อ Steering Thailand Through Geopolitical Shift ขับเคลื่อนประเทศไทยฝ่ามรสุมภูมิรัฐศาสตร์โลก 

 

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า มรสุมคือโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) โรคระบาด วิกฤตโลกรวน และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยความเปลี่ยนแปลงของโลกทั้ง 4 ประเด็นข้างต้นมีผลต่อชีวิตของคนทั่วโลก ทั้งในแง่ของความเป็นอยู่ การศึกษา การประกอบอาชีพ รวมไปถึงการท่องเที่ยวอันเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย

 

มรสุมใหญ่ประการต่อมาคือการที่ชาติต่างๆ แข่งขันกันจนเกิดเป็นสงครามรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การเงิน การลงทุน และเทคโนโลยี ผลกระทบที่ตามมาจึงเกิดเป็นภาพของการกีดกันทางการค้า และ Deglobalization ตลอดจนบทบาทเงินหยวนที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังพยายามที่จะแยกการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ หรือ Decoupling ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก

 

นอกเหนือจากสงครามรูปแบบใหม่แล้ว สงครามแบบดั้งเดิม (Conventional Warfare) ก็ยังคงคุกรุ่นตามจุดวาบไฟต่างๆ เช่น ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี สงครามรัสเซีย-ยูเครน การต่อสู้ระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ตลอดจนความขัดแย้งในเมียนมาที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งสงครามแบบดั้งเดิมนี้ยังทำให้เกิดการผนึกกำลังของพันธมิตรกลุ่มใหม่ๆ เช่น Quad, จีน-รัสเซีย-อิหร่าน, AUKUS เป็นต้น ขณะเดียวกันบทบาทขององค์การสหประชาชาติ (UN) ก็อ่อนแอลง ส่วนจีนก็ก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะผู้เจรจาสันติภาพเพิ่มมากขึ้น สามารถทำให้อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย กลับมาจับมือพูดคุยกันได้

 

สงครามรูปแบบใหม่กับสงครามแบบดั้งเดิมมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อภาคพลังงานและเศรษฐกิจไทยในเวลาเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ เราเห็นราคาพลังงานพุ่งขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทั่วโลกต้องขึ้นดอกเบี้ย ตลอดจนเกิดปัญหาความมั่นคงทางพลังงานที่สั่นสะเทือนหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป

 

หนึ่งในคำถามสำคัญคือ ‘โลกเราจะมีสงครามโลกครั้งใหม่หรือเปล่า’ ในส่วนนี้ ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า “ผมคิดว่าเรามี แต่ไม่ใช่สงครามโลกเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ 2 แต่เป็นสงครามโลกแบบใหม่ เป็นสงครามในภูมิภาค เช่น อิสราเอล-ฮามาส ที่ซีเรีย ฮิซบอลเลาะห์ หรืออิหร่านอาจเข้ามาร่วมด้วย 

 

“ซึ่งมันจะเกิดความแตกแยกในสังคมทั่วไปหมด เห็นได้จากการที่ประชาชนหลายประเทศเดินขบวนสนับสนุนแต่ละฝ่าย ในหลายเมืองเริ่มเกิดความเจ็บแค้น แบ่งฝักฝ่าย เป็นสงครามโลกแบบใหม่ที่อยู่ในใจ อันนี้น่ากลัว เพราะมันอาจนำไปสู่การก่อการร้ายได้”

 

โลกของเรากำลังเดินหน้าไปสู่ BANI World หรือโลกที่เปราะบาง สร้างความกังวล คาดเดายาก และไม่สามารถเข้าใจได้ ฉะนั้นถ้าเราจะขับเคลื่อนประเทศไทยฝ่ามรสุมภูมิรัฐศาสตร์โลกไปให้ได้ 

 

  1. เราต้องสร้างการรับรู้และปรับตัวต่อ VUCA และ BANI World 
  2. สร้างการรับรู้และการปรับตัวต่อผลของสงครามแบบใหม่และแบบดั้งเดิม 
  3. ขับเคลื่อนประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง สังคม การต่างประเทศ และองค์กรภายในประเทศ 
  4. ลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างวัย เพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของคนแต่ละเจน 
  5. เราเปลี่ยนจาก ‘การไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร’ สู่ ‘การรู้ว่าเราไม่รู้อะไร’ ซึ่งจะต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

 

นอกจากนี้ ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ครั้งหนึ่งผมบอกว่า โลกจัดระเบียบใหม่ทุกด้าน ประเทศไทยพร้อมด้านใดบ้าง เราต้องทำอะไรบ้างที่จะทำให้ประเทศพร้อมสำหรับอนาคต 

 

“แต่ 2-3 ปีที่ผ่านไป โลกมันเปลี่ยน เราคงต้องเปลี่ยนจาก Future Ready Thailand สู่ Present Ready Thailand คำถามคือว่า ไม่ใช่เราพร้อมสำหรับอนาคตหรือไม่ แต่เราพร้อมหรือยังสำหรับโลกปัจจุบัน เราพร้อมจะฟันฝ่ามรสุมแห่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันหรือยัง”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising