วันนี้ (24 พฤศจิกายน) ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษบนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ภายใต้หัวข้อ The Future Starts Now ผลักดัน ‘อุตสาหกรรมใหม่’ เพื่ออนาคตของไทยที่ยั่งยืน
ดร.บุรณินกล่าวว่า ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงของโลกถือว่ารุนแรงมาก การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกถูกท้าทายจากหลายประเทศ เป็นสาเหตุที่เรามองว่าโลกปั่นป่วน หากเรามองย้อนกลับไปตั้งแต่ในอดีตช่วงคริสต์ศักราชที่ 1,500-2,000 โลกมีผู้นำจากหลายชาติแตกต่างกันไป
เริ่มที่ประเทศจีน ในสมัยราชวงศ์หมิง มีการทำเครื่องปั้นดินเผา มีหลักความรู้ต่อเรือจึงกลายเป็นผู้นำโลก ต่อมายุคที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นผู้นำ ถือว่าโดดเด่นในทางการค้าระหว่างเอเชียและยุโรป นอกจากนี้เนเธอร์แลนด์ยังเก่งทางด้านเทคโนโลยีเกษตรหรือที่เรียกว่าไบโอเทคโนโลยี (ยุคตื่นทิวลิป)
ถัดมาเมื่อมีการค้นพบเครื่องจักรกลไอน้ำ มี ‘กี่’ ที่ใช้ทอผ้า ประเทศอังกฤษก็ก้าวสู่การเป็นผู้นำ จนกระทั่งสมัยที่สหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นผู้นำโลกด้วยจุดเด่น Mass Production และ Soft Power ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ที่เราต่างยอมรับว่าแบรนด์ของสหรัฐอเมริกาคือ Soft Power
ดร.บุรณินกล่าวต่อว่า การขึ้นนำของชาติอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาไม่มีใครท้าทายอเมริกาได้ แต่วันนี้เราเห็นว่าจีนกำลังหายใจรดต้นคออเมริกา และเป็นที่มาของการที่โลกวันนี้มีการปั่นป่วนรุนแรง
สิ่งที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอีกหนึ่งเรื่องคือ ‘โลกแก่’ อนาคตในปี 2050 โลกเราจะมีประชากรอายุเกิน 60-65 ปีถึง 16% เป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยได้กลายเป็นผู้นำในเรื่องนี้ เพราะวันนี้ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว และใน 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีประชากรอายุเกิน 60-65 ปีเพิ่มขึ้นถึง 32% ฉะนั้นถ้าถามว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตอย่างไรในสังคมสูงวัย เนื่องจากในปี 2050 หรือ 25 ปีข้างหน้าแรงงานในประเทศจะลดลงถึง 20% นี่จึงเป็นโจทย์ที่เราต้องหาวิธีปรับปรุงรับมือ
ดร.บุรณินกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกเพิ่มเติม เริ่มต้นที่ประเด็นของโลกร้อนวันนี้ มีรายงานว่าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นมา 1.1 องศาเซลเซียส ทั้งโลกตั้งเป้าหมายว่าไม่อยากให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาฯ เพราะผลที่ตามมาคือจะทำให้น้ำแข็งละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น แต่การที่ทุกประเทศทำตามมาตรการ Net Zero Emissions มีโอกาสช่วยชะลออุณหภูมิโลกสูงเพียง 14% เท่านั้น
เรื่องความรวดเร็วของการสื่อสารจากข้อมูลพบว่า ผู้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ กว่าจะมีผู้ใช้จำนวน 50 ล้านคนต้องใช้เวลายาวนานกว่า 38 ปี ขณะที่ ChatGPT ใช้เวลาน้อยกว่า 2 เดือน สามารถมีผู้ใช้งาน 50 ล้านคนได้แล้ว สิ่งนี้จึงสะท้อนถึงการยอมรับในเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้นของพวกเราเอง
ดร.บุรณินกล่าวต่อว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อเรากลับมามองที่ประเทศไทย จึงเกิดคำถามว่าประเทศของเราเปลี่ยนไปมากหรือน้อย? เปลี่ยนไปเร็วหรือช้า? เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ถ้าเราย้อนกลับไปช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศไทยเติบโตก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจฟองสบู่ ไทยมีอัตราส่วนการลงทุนต่อ GDP ถึงเกือบ 40% เป็นช่วงที่ประเทศไทยเฟื่องฟู GDP โตเกือบ 10% การลงทุนทำให้เกิดการพัฒนาแรงงาน ค่าแรงของแรงงานที่สูงขึ้น
แต่หลังจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง 20 ปีที่ผ่านมา การลงทุนต่อ GDP ของประเทศอยู่ที่ 20% หรือ 25% ค่าแรงที่เคยขึ้นเรื่อยๆ ก็อยู่ในระดับทรงๆ ฉะนั้นปัญหาที่ไทยเจอคือไม่มีการลงทุนใหม่ ไม่มีเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมใหม่ในระบบเศรษฐกิจ
“วันนี้ถ้าเราจะลงทุนใหม่ เราก็ไม่มีคนที่มีขีดความสามารถเพียงพอ ฉะนั้นเรื่องคน การลงทุน และแรงงานเป็นเรื่องที่จะต้องผสมผสานกัน” ดร.บุรณินกล่าว
ดร.บุรณินระบุว่า ประเทศไทยพูดเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 ในปี 2554 และกลับมาพูดกันอีกครั้งเมื่อปี 2560 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ต้องย้อนถามว่าวันนี้พวกทุกคนคิดว่าประเทศไทยเป็น 4.0 แล้วหรือไม่? หรือเป็นแค่ 2.0 หรือ 3.0?
ช่วงที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จมากๆ ช่วงหนึ่งคือมีการลงทุน Eastern Seaboard, การนำพลังงานในประเทศขึ้นมาใช้, มีการขยายตัวไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมหนัก อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอันนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่ไทยเคยทำสำเร็จในอดีต
“การเติบโตของประเทศไทยที่จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โอกาสที่เป็นไปได้มีหลายทาง แต่มันจะหายไปแน่ถ้าสุดท้ายเราไม่มีการทำอะไรใหม่ๆ” ดร.บุรณินกล่าว
ดร.บุรณินกล่าวว่า ถ้าไทยอยากจะพ้นกับดักรายได้ปานกลางใน 10 ปีข้างหน้า GDP ควรจะโตปีละ 6.5% ในอดีตเราอาจจะพูดว่าโตเพียง 3% ต่อเนื่อง 20 ปีก็เพียงพอ แต่ถ้าเราต้องโตภายใน 10 ปีเพื่อแข่งกับโลกให้ได้เราต้องโต ปีละ 6.5%
สิ่งที่เราต้องช่วยกันคือทำให้ประเทศไทยที่กำลังหลับอยู่ ตื่นขึ้นมาเป็น Activate Mode จาก Sleep Mode เปลี่ยนให้เป็นโหมดที่มีการตื่นตัว และสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราอยู่ได้และตื่นขึ้นมาได้ เราต้องมี Resilience หรือความยืดหยุ่น ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น ถึงจะต่อสู้ในเวทีโลกได้ เราจำเป็นต้องมีคำนี้เป็นคำแรก คำนี้จะทำให้เราไม่ตายต่อให้ล้มแล้วลุกขึ้นมาได้
ส่วนคำที่ 2 ที่เราต้องมีคือ Perform หรือแผนดำเนินการในอุตสาหกรรม ทำให้สินทรัพย์เติบโตขึ้น เราก็ต้องเอาสินทรัพย์หลักรวมกับนวัตกรรม ปลดล็อกศักยภาพของธุรกิจเราให้มากขึ้น ปลดพันธนาการของเราที่มีอยู่
“ถ้าต้องการก้าวไปสู่การเติบโตครั้งใหม่ เราจะต้อง Transform ปลดปล่อยศักยภาพของประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมและคนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ New Business Model นี่คือการตอกย้ำว่าทำไม Future ต้อง Start Now” ดร.บุรณินกล่าว
ดร.บุรณินกล่าวต่อว่า ปตท. ในฐานะเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำข้ามชาติเป็นบริษัทใหญ่ของประเทศไทย เราลุกขึ้นมาเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ จากเดิมเป็น ‘บริษัทพลังงานชั้นนำข้ามชาติ’ เราใช้คำใหม่เมื่อ 2 ปีที่แล้วเป็น ‘ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต Powering Life with Future Energy and Beyond’
เราเริ่มตั้งแต่ในส่วนของธุรกิจเดิม ทำให้บริษัทพลังงานมีศักยภาพมากขึ้น เปลี่ยนจาก Energy เดิมเป็น Clean Energy และ Green Energy มีการลงทุนด้านพลังงานทดแทน วางแผนการกักเก็บพลังงาน การขยายห่วงโซ่ของพลังงาน และการเสาะหาพลังงานใหม่
ส่วนธุรกิจอื่นๆ ปตท. เล็งเห็นถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์สุขภาพมากขึ้น เพราะมองว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศเริ่มต้นในการเข้าสู่สังคมสูงวัย เราจึงพัฒนาธุรกิจให้เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น รวมทั้งลงทุนในอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ นอกจากมีหมอแก่ง มีโรงพยาบาลมาก ต้องมียาที่ดี มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดีด้วย
ดร.บุรณินกล่าวว่า นอกจากนี้เราจำเป็นต้องขยายศักยภาพของประเทศไทยผ่านระบบโลจิสติกส์ ตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถเชื่อมโยงประเทศไทยเข้ากับอาเซียน เข้ากับจีน เชื่อมโยงการขนส่งทางเรือ ทางอากาศ ทางรถไฟ เข้าด้วยกัน วันนี้ค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ประเทศไทยคิดเป็นเกือบ 14% ของ GDP จะทำอย่างไรให้ลดเหลือได้ 5% นั่นหมายถึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเกือบ 8%
สำหรับ ปตท. 2-3 ปีที่ผ่านมาเราลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเราไปสู่รูปแบบใหม่ เพื่อสร้าง Ecosystem ให้เกิดกับประเทศไทย ฉะนั้นถ้าเราจะ Reactivate Thailand ขึ้นมา สิ่งแรกเราต้องเปลี่ยนจากห่วงโซ่การผลิตเป็นการสร้าง Ecosystem, ลงทุนเทคโนโลยีกับการตลาด, องค์กรขนาดใหญ่ต้องคิดใหญ่กว่าเดิม, SMEs ต้องเข้ามามีส่วนร่วมเติบโตไปพร้อมกัน, SMEs ต้องหาความชำนาญเฉพาะ และหาจุดยืนใน Ecosystem และทุกคนทุกองค์กรต้องปรับตัว เสริมสร้างความสามารถขีดการแข่งขันร่วมกัน
“เมื่อเรามีความหวัง มีความกล้า เราจะทำให้เกิดบทบาทใหม่ของประเทศไทย ประเทศไทยเรายังมีหวัง แต่อยู่ที่เรากล้าไหมที่จะทำ เรามีความฝันร่วมกันหรือไม่ ที่จะทำให้ประเทศไทยมีบทบาทใหม่ในเวทีโลก” ดร.บุรณินกล่าว
📌อัปเดตเทรนด์โลกกว่า 20+ Sessions ซื้อบัตรชมย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/TSEF2023ED
✅ ราคาพิเศษ! 2,500 บาท ถึง 31 ธันวาคม 2566 เท่านั้น
✅ รับชมออนไลน์ทุกที่ทั่วโลก
✅ ดูย้อนหลังนาน 6 เดือน (1 ธันวาคม 2566 – 31 พฤษภาคม 2567)
✅ สรุปเนื้อหา Visual Summary ทุกเวที
Media Partner
📌รับสรุปเนื้อหาทุกเวที 20+ Sessions
ซื้อบัตรชมย้อนหลังวันนี้ดูได้นานถึง 6 เดือน