×

ผู้ว่าฯ ธปท. ชี้ทางรอดประเทศไทยพ้นปากเหว Climate Change ต้องเปลี่ยนผ่านระบบสู่ ‘เศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน’

25.11.2022
  • LOADING...

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยทางออกของปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ซึ่งก็คือปัญหา Climate Change ที่จะมีผลกระทบในวงกว้างนั้น คือการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน ECONOMIC FORUM 2022 บนเวที ‘ทางออกประเทศไทย: ก้าวข้ามความเสี่ยงสู่เศรษฐกิจยั่งยืน’ ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายในหลายด้าน ทั้งสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่สูง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


สำหรับอีกความท้าทายสำคัญหรืออยู่บนปากเหวขนาดใหญที่ไทยกำลังเผชิญ ซึ่งต้องถอยตัวเองออกมาในขณะนี้ คือปัญหา Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่จะมีผลกระทบในวงกว้าง โดยทางออกของปัญหานี้คือ การเปลี่ยนผ่าน (Transition) ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันของไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแบบมีความยั่งยืนมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

 

เนื่องจากหากยังคงนิ่งเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่มีผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในด้าน Fiscal Risk ทั้งปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่จะมีผลกระทบที่มีความรุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition Risk ต่างๆ ที่อาจทำให้การเปลี่ยนผ่านไม่ราบรื่น

 

นอกจากนี้จะมีผลกระทบจากประเด็นที่ราคาพลังงานของตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากผลกระทบของภาวะสงครามแล้ว ยังมีปัญหาด้านซัพพลายของพลังงานฟอสซิลที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ซึ่งซัพพลายยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาการลงทุนในพลังงานฟอสซิลของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ระดับโลกมีการขยายการลงทุนใหม่ๆ ที่น้อยลง ขณะที่การลงทุนในพลังงานทดแทนก็ไม่ได้มีมากเพียงพอที่จะมาทดแทนพลังงานฟอสซิลที่หายไป

 

สำหรับโจทย์สำคัญทางเศรษฐกิจของไทย คือการเปลี่ยนผ่านที่มีอุปสรรคและต้นทุนที่น้อยที่สุด (Least-Disruptive Transition) หรือการเปลี่ยนผ่านโดยไม่ให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง

 

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจของไทยจะเป็นไปอย่างราบรื่นได้ต้องคำนึงใน 4 มิติที่สำคัญ ได้แก่ มิติความมั่งคั่ง (Prosperity), ความยืดหยุ่น (Resiliency), ความยั่งยืน (Sustainability) และความทั่วถึง (Inclusivity) โดยสิ่งที่ ธปท. ต้องการเห็นในมิติแรกคือ ความมั่งคั่ง โดยยังต้องการเห็นการเติบโตเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง รวมถึงช่วยให้ภาคธุรกิจและแรงงานสามารถอยู่รอดได้ให้มากที่สุดในช่วงการเปลี่ยนผ่าน 

 

สำหรับสิ่งที่ไม่อยากเห็นเกิดขึ้นคือ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ออกมาและบังคับใช้เร็วมากเกินไป และไม่มีความเหมาะสมเพียงพอ จนมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ กล่าวคือ ภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวตามได้ทัน จนเกิดผลข้างเคียงและกลายเป็นการฟอกเขียว (Greenwashing) 

 

ส่วนมิติที่สองคือ ความยืดหยุ่น โดยอยากเห็นระบบเศรษฐกิจและการเงินของไทยมีเสถียรภาพที่ดี ทั้งภาคธุรกิจและแรงงานสามารถรองรับความเสี่ยง Climate Change ได้ ซึ่งหากภาคธุรกิจไม่มีกันชนที่เพียงพอ สินเชื่อที่ภาคธนาคารพาณิชย์ปล่อยในช่วงที่ธุรกิจกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านก็มีความเสี่ยง และเกิดเป็นหนี้เสีย (NPL) ขึ้นได้ หรือในมุมกลับกันภาคธุรกิจเอกชนอาจเร่งการเข้าไปลงทุนในธุรกิจสีเขียวมากจนเกินไปจนเกิดภาวะฟองสบู่ได้

 

มิติที่สามคือ ความยั่งยืน โดยไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐและการสนับสนุนเงินจากภาครัฐตลอดไป และไม่ต้องการให้เป็นเพียงกระแสระยะสั้นเพื่อทำการตลาดแล้วจบไป 

 

และมิติที่สี่คือ ความทั่วถึง โดย ธปท. ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังมากจนเกินไป โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้งครัวเรือนและแรงงาน และไม่ต้องการให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีธุรกิจบางกลุ่มสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่ารายอื่นๆ

 

สำหรับประเด็นที่ต้องการเห็นคือ ภาคการเงินเข้าสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวให้มีความราบรื่นขึ้น เรื่องแรกคือ การออกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์การเงินเอื้อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเป็นไปโดยราบรื่น เรื่องที่สองคือ ต้องการให้ภาคสถาบันการเงินนำนโยบายการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นแนวปฏิบัติ (Standard Practice) นำปรับใช้ทำแผนธุรกิจภายใน (Internalize)

 

อย่างไรก็ตาม ธปท. ไม่ต้องการให้ภาคสถาบันการเงินดำเนินนโยบายธุรกิจที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจ รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจสร้างความเสี่ยงให้เกิดฟองสบู่ในธุรกิจสีเขียว (Green Bubble) รวมถึงอาจตัดขาด ไม่สนับสนุนทางการเงินในธุรกิจที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจนถูกกระทบในที่สุด

 

สำหรับบทบาทของ ธปท. คือการเข้ามาช่วยสนับสนุนภาคการเงินของไทย ให้การเปลี่ยนผ่านของภาคการเงินไทยได้มีส่วนช่วยให้ระบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่มีความยั่งยืนเป็นไปอย่างราบรื่น และเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรค

 

โดย ธปท. เข้ามาช่วยกำหนดกรอบ (Framework) เป็นมาตรฐาน มีความชัดเจน ซึ่งมีการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Taxonomy) ให้กับสถาบันการเงินว่าในเรื่องใดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการออกผลิตภัณฑ์การเงินได้อย่างเหมาะสม

 

อย่างไรก็ดี การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้เน้นในเรื่องให้การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวเท่านั้น แต่ยังต้องให้การดูแลกลุ่มที่ไม่ใช่ธุรกิจสีเขียวด้วย เพื่อให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจไทย ควบคู่กับการเปิดเผยข้อมูลได้อย่างมีความโปร่งใส และหากลไกที่เข้ามาช่วยค้ำประกันความเสี่ยงในเรื่องของการลงทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ยังมีความไม่แน่นอน

 

ทั้งนี้ ธปท. จะเริ่มการดำเนินการควบคู่ไปกับกำหนดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Disclosure) โดยในปี 2567 กำหนดให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศมีการทำรายงานเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และจะออกคู่มือของภาคสถาบันการเงิน (Handbook) ด้านสิ่งแวดล้อมออกมาใช้ในครึ่งแรกของปี 2566 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising