จากเวทีเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ในหัวข้อ ‘THAILAND’S NEW CHAPTER, NEW S-CURVE ประเทศไทยยืนอยู่ตรงไหนในเวทีโลก วางยุทธศาสตร์อย่างไรไม่ให้ตกขบวน’ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) มองว่า “วันนี้เราไม่ได้แพ้ ถ้าเราจะเริ่มวิ่งให้เร็วขึ้น เชื่อว่าไม่มีใครแย่งอุตสาหกรรมนี้ (ยานยนต์) ไปจากไทยได้”
ในอดีตประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาลำดับต้นๆ และถูกคาดว่าจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วก่อนหลายๆ ประเทศ หลังจากที่มีการลงทุนหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นเราหยุดเคลื่อนไหว (Stagnant) แม้ว่าเราจะมีโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และกำลังซื้อที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐา ทวีสิน ชี้ ปัญหาเหลื่อมล้ำและปากท้องเร่งด่วนสุด แนะจัดเก็บภาษีคนรวยมากขึ้น
- ถอดมุมมองต่อ Web 3.0 ผ่านเลนส์ของ ‘Regulator-Investor-Developer’ แท้จริงแล้วคืออะไร?
- วาทะเด็ด THE FUTURE OF WORK อนาคตการทำงาน ทำอย่างไรให้เวิร์ก
- ส่องเทรนด์อนาคต ชี้องค์กรต้องมุ่งโฟกัส Upskill – เพิ่ม Experience ให้กับพนักงาน ป้องกันการเทิร์นโอเวอร์สูง
ความเสี่ยงสำคัญที่ภาคธุรกิจไทยกำลังเผชิญคือ เศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง ทำให้หลายประเทศที่เคยอยู่ห่างจากเราขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และเริ่มเข้ามาแย่งตลาดของไทย
สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์มีจุดแข็งในด้านห่วงโซ่อุปทานที่ครบครัน ทำให้เราสามารถผลิตรถยนต์ได้เกือบสมบูรณ์ทั้งคัน โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 3 ล้านคันต่อปี นอกจากนี้ เรายังมีแรงงานฝืมือที่สามารถผลิตรถยนต์ได้มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี มากไปกว่านั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV ของไทยสามารถทำได้ง่ายกว่า ด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เรามีเหลือ ในขณะที่เพื่อนบ้านอาจจะยังมีไฟฟ้าไม่พอ
“เวลามันเร็วขึ้น หากปล่อยนิ่งไว้ 3-5 ปี โครงสร้างพื้นฐาน กำลังซื้อ ห่วงโซ่อุปทาน ฝืมือแรงงานของคู่แข่งจะเริ่มพัฒนาขึ้น ทำให้ Competitive Advantage ของไทยแย่ลง”
สมโภชน์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการสร้างการเติบโตครั้งใหม่ของไทย ไทยอาจจะทำถูกครึ่งหนึ่งและไม่ถูกอีกครึ่งหนึ่ง
ในส่วนที่ถูกคือ การกระตุ้นให้พัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ และเริ่มให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม และมีการดึงบริษัทต่างชาติเข้ามามากขึ้น
แต่สิ่งที่ไม่ถูกคือ การวางแผนระยะยาวให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ยั่งยืน อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ “เรากำลังมีความสุขกับโมเมนตัมเชิงบวก แต่ถ้าไม่เริ่มเตรียมการให้โมเมนตัมไปต่อ เราก็จะติดกับดักอยู่ตรงนี้”
หากดูจากต้นทุนการผลิต EV เป็นอุตสาหกรรมที่ต้นทุนคงที่สูง แต่ต้นทุนผันแปรต่ำ ฉะนั้นเราควรจะเน้นรถยนต์เชิงพาณิชย์ก่อน คล้ายกับประเทศอื่นๆ เพราะรถยนต์เชิงพาณิชย์จะช่วยให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ช่วยสร้างห่วงโซ่อุปทาน และลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า
“เราต้องพยายามดึงให้การผลิตพื้นฐาน เช่น ชิ้นส่วนสำคัญของ EV ต้องทำให้เกิด Economy of Scale ให้ได้อย่างรวดเร็ว เราต้องทำงานแข่งกับเวลา ไม่สามารถปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติอย่างในอดีต เอกชนกับรัฐบาลต้องร่วมมือกันมากขึ้น”
ภาครัฐต้องวางนโยบายระยะยาวและกำหนดทิศทางให้ชัดเจน พร้อมทั้งขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและลงทุนในอุตสาหกรรมหลัก หากเป็นไปได้ควรจะให้บริษัทไทยมีโอกาสมากกว่า
“ที่ผ่านมาเรามีนโยบาย เพียงแต่ขาดว่าจะทำอย่างไร และจะทำเมื่อใด ไทยมีความพร้อมหมด ขาดอย่างเดียวคือ ขาดคนคุมวงดนตรีให้เกิดการประสานกัน วันนี้เราต้องมองไทยเป็นเหมือนหนึ่งบริษัท”