×

ถอดมุมมองต่อ Web 3.0 ผ่านเลนส์ของ ‘Regulator-Investor-Developer’ แท้จริงแล้วคืออะไร?

27.11.2022
  • LOADING...

จากเวทีเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 ในหัวข้อ ‘WEB3 REVOLUTION OR ILLUSION? อนาคตของ WEB3 รุ่งหรือร่วง?’ โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 3 ท่าน ได้แก่ มุขยา พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ Chief Venture and Investment Officer บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด, ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ สรวิศ ศรีนวกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Band Protocol

 

Web 3.0 คืออะไร

มุขยา พานิช มองว่า Web 3.0 คือยุคที่ 3 ของอินเทอร์เน็ต เป็นอินเทอร์เน็ตที่เป็นของผู้ใช้และผู้สร้าง ซึ่งผู้คนนิยามว่า Read-Write-Own นอกจากผู้ใช้จะสามารถอ่านและสร้างเนื้อหาได้แล้ว ยังสามารถเป็นเจ้าของเนื้อหาที่สร้างขึ้นมา โดยที่ผู้สร้างสามารถนำเนื้อหาของตัวเองไปใช้ซื้อขายได้ด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โดยจะมีโทเคนเป็นเหมือนตัวแทนของความเป็นเจ้าของ

 

ถ้ามองกลับไปยัง Web 1.0 จะเป็นอินเทอร์เน็ตที่มีไว้เพื่ออ่านอย่างเดียว (Read Only) ถัดมา Web 2.0 จะเป็นยุคที่ผู้ใช้นอกจากการอ่านแล้ว ยังสามารถสร้างเนื้อหาเองได้ (Read and Write) ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, Google เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


แต่อย่างที่เรารู้กันว่าเมื่อเราสร้างเนื้อหาบนแพลตฟอร์มต่างๆ ผู้ที่เป็นเจ้าของเนื้อหาคือบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้ อย่างเช่น การที่เราสร้างเนื้อหาบน Facebook และเป็นเนื้อหาที่ Facebook ไม่ชอบ บริษัทก็อาจจะถูกแบนจากการใช้ Facebook เป็นต้น เพราะฉะนั้น Web 2.0 จึงเหมือนเป็นการสร้างในระบบปิด และผู้ที่ได้รับประโยชน์ทุกอย่างคือบริษัทขนาดใหญ่

 

“คนที่ได้ประโยชน์ทุกอย่างคือ Big Tech Company ซึ่งเปิดให้เราสามารถใช้งานได้ฟรี แต่จริงๆ แล้วพวกเราคือผลิตภัณฑ์ของเขา พวกเขานำข้อมูลของเราไปสร้างรายได้ผ่านการขายพื้นที่โฆษณา”

 

ด้าน ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย มองว่า เมื่อพูดถึงคำว่า Web 3.0 ทำให้เกิดความรู้สึกต่อเนื่องมาจาก Web 2.0 เป็นขั้นหนึ่งของการสร้างกระแสว่า Web 3.0 จะเป็นสิ่งถัดไป กลายเป็นว่าบล็อกเชนหรือเรื่องของ Decentralization เกาะอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น เกาะกับเว็บ กลายเป็น Web 3.0, เกาะกับ Virtual Reality (VR) กลายเป็น Metaverse, เกาะกับ Payment กลายมาเป็นแพลตฟอร์ม Payment ในยุคถัดไป

 

“ทั้งหมดนี้คือการพยายามที่จะหาว่าเราคิดค้นบล็อกเชนมาได้แล้ว เราจะนำไปใช้อย่างไรบ้าง เปรียบเสมือนกับการมีคำตอบอยู่แล้ว วันนี้เราพยายามจะหาคำถามที่ถามแล้วได้คำตอบอันนี้”

 

หากมองย้อนไปในอดีต โลกของอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 60 โดยหน่วยงานด้านการทหารของสหรัฐฯ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็น World Wide Web (www) ในยุค 90 โดย Tim Berners-Lee วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ ก่อนที่ผู้คนจะขนานนามว่านี่คือ Web 1.0

 

เมื่อพัฒนาเข้าสู่ Web 2.0 ทำให้เกิดบริษัทอย่าง Google และ Facebook เป็นต้น ถัดมา Tim Berners-Lee ก็ได้นิยาม Web 3.0 ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยการตั้ง Semantic Web ซึ่งคือการกระจายศูนย์ของข้อมูล

 

Web 3.0 โดยการนิยามของ Tim Berners-Lee คือการแชร์ข้อมูลกันระหว่างคอมพิวเตอร์ ทำอย่างไรให้ข้อมูลเปิดกว้างและเข้าถึงกันได้มากขึ้น ถูกลง และแชร์กันได้มากขึ้น”

 

หากมองย้อนกลับใน Web 2.0 จริงๆ แล้วเราเป็นเจ้าของคอนเทนต์ สาเหตุที่ทำให้เกิดการรวมศูนย์อย่าง Facebook, TikTok เพราะการเกิด Information Overload บริษัทเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยคัดกรองข้อมูลที่เราอยากจะดูมาให้ เป็นคุณค่าที่เขาให้เรา แล้วทำให้เขาได้รางวัลบางอย่างตอบแทน เช่น รายได้ มูลค่า

 

อีกหนึ่งมุมมองที่หลายคนอาจมองข้ามไปคือ การรวมศูนย์ช่วยขจัดปัญหาหลายเรื่อง เช่น การลดต้นทุน เพราะหากทุกคนต้องจัดการเนื้อหาของตัวเองอาจทำได้ยาก

 

“ในความเป็นจริงแล้วโลกของเรามีการกระจายศูนย์ (Decentralized) มานานแล้ว การที่แพลตฟอร์มอย่าง Facebook แบนเนื้อหาใด ผู้ใช้สามารถจะนำคอนเทนต์นั้นไปลงแพลตฟอร์มอื่นได้ แต่ปัญหาคืออาจจะไม่มีใครเห็น”

 

การที่ Web 3.0 เกิดขึ้นมาไม่ได้ช่วยป้องกันให้เราเป็นเจ้าของเนื้อหาที่ตัวเองสร้างขึ้น

 

“Decentralization ไม่ใช่การสร้างแพลตฟอร์มบางอย่างขึ้นมาอยู่ตรงกลาง แต่คือการแข่งขันที่ทำให้มีแพลตฟอร์มหลายๆ อัน และเราสามารถเลือกเองได้ว่าอยากจะไปอยู่บนแพลตฟอร์มไหน”

 

ณัฐย้ำกว่า นิยามของ Web 3.0 น่าจะเป็นเหมือนกับที่ Tim Berners-Lee บอกไว้ว่า Semantic Web คือการช่วยให้คนเป็นเจ้าของข้อมูลอย่างแท้จริง และเลือกนำข้อมูลนี้ไปใช้บนแพลตฟอร์มอื่นได้ มากกว่าที่จะเป็นลักษณะของ Read-Write-Own แบบที่หลายคนให้นิยามกันในเวลานี้

 

ขณะที่ สรวิศ ศรีนวกุล มองว่า Web 3.0 เป็นศัพท์ที่ถูกใช้ในเชิง Marketing Term หรือในแง่การตลาดค่อนข้างมาก จนเป็น Buzzword อยู่ ณ ตอนนี้

 

โดยส่วนตัวของสรวิศมองว่า Web 3.0 คือการกระจายศูนย์ (Decentralization) และการเชื่อมต่อระหว่างบุคคล (Peer to Peer) ทั้งยังมองว่า Web 3.0 มีอรรถประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายทั้งด้านความโปร่งใส (Transparency), การไม่สามารถแก้ไขภายหลังการสร้าง (Immutability) และการต้านความเปลี่ยนแปลง (Censorship Resistance)

 

ความแตกต่างของ Web 3.0 กับ Web 2.0 คือ ‘Ownership’ หรือ ‘ความเป็นเจ้าของ’ เนื่องจากว่าในยุคของ Web 2.0 บริษัทที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มมีอำนาจในตัวแพลตฟอร์มสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter ที่ถูกสร้างมาเพื่อให้ผู้ใช้แลกเปลี่ยนเนื้อหาระหว่างกันได้ แต่ด้วยความผูกขาดอำนาจไว้กับแพลตฟอร์ม ทำให้บัญชีผู้ใช้งานของลูกค้าสามารถถูกแบนได้ อย่างบัญชีของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เป็นต้น

 

“การมีอำนาจขนาดนี้นับว่าเป็นประเด็นที่ควรกังวล เนื่องจากผลกระทบในระยะยาวนั้นสามารถกำหนดทิศทางความคิดของคนได้เลยทีเดียว”

 

สรวิศยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ของตนเองว่า เขาเคยสร้างแอปพลิเคชันเกมบนแพลตฟอร์ม ซึ่งสามารถดาวน์โหลดผ่าน Playstore ของ Google จนติดท็อปฮิต และสร้างยอดขายมากมาย ทำให้เขาและเพื่อนๆ ลงทุนในเกมดังกล่าวเพิ่มเติม แต่ภายหลัง Google ได้ลบแอปพลิเคชันออกจาก Playstore โดยไม่บอกกล่าว ทั้งยังไม่สามารถต่อรองเงื่อนไขอะไรได้ ซึ่งในมุมมองของสรวิศนั้นดูไม่ยุติธรรม เพราะเขาและทีมงานมีต้นทุนในการสร้างแอปพลิเคชันดังกล่าว แต่หากเราดำเนินการแบบ Web 3.0 นั้น อำนาจจะไม่ถูกผูกไว้ที่คนใดคนหนึ่งอย่างที่เป็นดังกล่าว

 

อนาคตของ Web 3.0 หลังฟองสบู่คริปโตแตก

ณัฐกล่าวว่า ทุกครั้งที่มีความตื่นเต้น ความสนใจ หรือการให้ค่ากับบางอย่างมากเกินไป ทำให้คนที่อาจจะไม่ดี ไม่เก่ง ไม่มีประสบการณ์ สามารถทำอะไรก็ได้และกลายเป็นสิ่งที่ดูดี อย่างช่วงฟองสบู่ ICO ขนาดโปรเจกต์ที่บอกชัดเจนว่านี่คือเหรียญปลอมก็ยังสามารถขายได้

 

“แม้จะมีข้อดีคือโปรเจกต์ต่างๆ ระดมทุนได้ง่าย แต่เมื่อมันเลยความเหมาะสม ทำให้คนเปลี่ยนความรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นของปลอมไปเสียหมด แม้จะมีของจริงปนอยู่บ้าง”

 

ความแตกต่างระหว่างฟองสบู่ดอตคอมปี 2000 กับฟองสบู่คริปโต คือโปรเจกต์ดอตคอมมีการสกรีนมาแล้วระดับหนึ่งจากนักลงทุนอย่าง Venture Capital (VC) แต่กับโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับคริปโตหรือโทเคนในปัจจุบัน ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าไปลงทุนได้ตั้งแต่ต้น ถึงขนาดมีการวิเคราะห์ว่า ICO ที่ออกมานั้นกว่า 80% เป็นโปรเจกต์ที่หลอกลวงตั้งแต่ต้น

 

ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ แม้ฟองสบู่ดอตคอมจะทำให้มูลค่าหายไป 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในเวลา 1-2 ปี แต่การระดมทุนในช่วงนั้นถูกนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับโลก แต่พอเป็นโลกของคริปโตเราไปลงทุนเกี่ยวกับบล็อกเชนเต็มไปหมด เมื่อฟองสบู่แตกออกเราเหลืออะไรบ้าง

 

“ในภาพจบ (ฟองสบู่คริปโต) ไม่ได้สร้างอะไรเหลือให้โลกใบนี้ นอกเหนือจากการพัฒนาของบล็อกเชน และการดึงคนทั่วไปให้เข้าไปเสี่ยงในธุรกิจที่ยังไม่ได้สร้างความชัดเจนว่าจะสร้างผลตอบแทนได้ไหม ดึงคนมาพนันร่วมกัน ดึงคนมาเป็นหนูทดลองด้วยกัน แทนที่จะให้สิ่งเหล่านี้ถูกดำเนินการอยู่ใน Sandbox วันนี้กลายเป็นว่าโลกทั้งใบกลายเป็นจานทดลอง”

 

ในมุมของสรวิศมองว่า Web 3.0 มีการใช้งานอยู่ในขณะนี้แล้ว คือ Bitcoin ซึ่งเป็นตัวอย่างของ Peer to Peer ที่สามารถใช้เป็นสินทรัพย์ที่เก็บรักษามูลค่า (Store of Value) ทั้งยังมีความเป็น Decentralized อีกด้วย จากการที่สามารถส่งต่อระหว่างกันโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง หรืออย่าง Stablecoin (USDT) ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างนั้น แม้ในขณะนี้อาจจะยังไม่แพร่หลายเหมือนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาเช่นกัน

 

แม้จะเกิดกรณี FTX แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตล่มสลาย แต่แพลตฟอร์มอย่าง UniSwap ซึ่งเป็น Decentralized Exchange หรือศูนย์แลกเปลี่ยนแบบไม่อาศัยตัวกลางกลับไม่ได้รับผลกระทบ มีแต่ Centralized Exchange หรือศูนย์การแลกเปลี่ยนคริปโตแบบอาศัยตัวกลางที่ได้รับผลกระทบ เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้คนตระหนักว่า ‘Not Your Key Not Your Coin’ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ช่วง 2-3 ปีนี้คนมั่นใจเกินไป

 

สรวิศกล่าวทิ้งท้ายว่า ใครก็ตามที่สนใจในคริปโตหรือบล็อกเชน ควรมีเหตุผลในการเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจนี้ จะในฐานะนักธุรกิจ ฝ่ายกำกับดูแล หรือเทรดเดอร์ ก็ควรรู้แน่ชัดว่าตนเองจะเข้ามาทำอะไร เพื่อจะได้รู้และปกป้องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

ขณะที่มุขยาฉายภาพว่า ปัจจุบันเราได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่าบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้ความสนใจกับ Web 3.0 มากขึ้น แต่ความสำเร็จของ Web 3.0 หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่พัฒนาการของนวัตกรรมจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว

 

“คนมักจะพูดว่าตอนนี้ Web 3.0 เป็นเหมือนฟองสบู่ดอตคอม เพราะสิ่งที่เราคาดหวังเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงต่างกันมาก แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือมีคนเก่งๆ เข้ามาอยู่ในวงการ Web 3.0 มากขึ้น ซึ่งเป็นเหมือน Paradigm Shift”

 

อย่างไรก็ตาม การประเมินความเสี่ยงและมูลค่าของนวัตกรรมใหม่อย่าง Web 3.0 หรือคริปโต เป็นสิ่งที่ยากต่อการทำความเข้าใจ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมควรจะช่วยให้ความรู้และสร้างการรับรู้ให้คนหมู่มาก เพื่อป้องกันความเสียหายจากนวัตกรรมใหม่

 

พร้อมกันนี้หน่วยงานกำกับควรเข้ามามีบทบาทในการดูแลเรื่องการจัดการเงินทุนของลูกค้าที่ฝากไว้กับแพลตฟอร์มต่างๆ และกำกับดูแลเรื่องของการใช้อัตราทด (Leverage) ที่สูงมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยี

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising