×

นักวิชาการไทยคาด สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจรุนแรงขึ้นหลังฤดูหนาวผ่านพ้น และยาวต่อเนื่องตลอดปี 2023

26.11.2022
  • LOADING...
สงครามรัสเซีย-ยูเครน

วันนี้ (26 พฤศจิกายน) ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเวทีงานเสวนา THE END OF GLOBALIZATION?: จากยูเครนถึงไต้หวัน ไทยควรวางหมากอย่างไร ในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งเป็นหนึ่งในเวทีพูดคุยภายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหลังฤดูหนาวผ่านพ้นไป 

 

ศ.ดร.สุรชาติ อธิบายว่า “วันนี้เป็นวันที่ 279 ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เข้าสู่เดือนที่ 9 เข้าสู่สงครามฤดูหนาว แปลว่าหลังจากนี้อากาศจะทำให้ปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองฝ่ายช้าลง โอกาสที่ด้านหนึ่งยูเครนเคยเคลื่อนกำลังรบเร็วจะมีเงื่อนไขทางอากาศมาบีบ จะทำให้รู้เลยว่าเส้นทางทหารเหลือมากน้อยแค่ไหน พอเข้าเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน สภาพดินจะกลายเป็นดินโคลน พอกลางเดือนพฤศจิกายนเข้าสู่เดือนธันวาคม หิมะจะมา แปลว่านับจากนี้สงครามอาจจะเบาลงนิดหน่อย แต่หลังจากต้นปีหน้า เมื่อสงครามก้าวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ จะไม่ต่างจากสงครามในช่วงแรกๆ 

 

“ฟันธงได้เลยว่าหลังฤดูหนาว ปีหน้าสงครามจะหนักขึ้น วันนี้รัสเซียเองก็เริ่มเตรียมพร้อมสำหรับการรบในปีหน้า การถอยกำลังไปอีกฝั่งหนึ่ง ในวันนี้น่าสนใจว่านั่นอาจจะเป็นการถอยในเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากอาวุธยุทโธปกรณ์ของยูเครนที่ได้รับจากบรรดาชาติตะวันตกมีระยะยิงที่ดูเหมือนจะไกลกว่า หนทางเดียวคือถอยไปอีกฝั่งของแม่น้ำดนีเปอร์ เพียงพอที่จะใช้เป็นระยะกันได้บ้างบางส่วน”

 

ศ.ดร.สุรชาติ ระบุว่า “ปีหน้าสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นอะไรที่น่าจับตามอง ผมคิดว่า เลขาธิการ NATO พูดตั้งแต่กลางปีปัจจุบัน (2022) ว่า สงครามจะยาวต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2023 และหนึ่งในประเด็นที่เกี่ยวพันกับความกลัวคือ เรื่องของสงครามนิวเคลียร์ จากทั้งกรณีของการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ รวมถึงในยูเครน แต่ผมมองว่าความกลัวในปัจจุบันจริงๆ ที่น่ากังวล คือการใช้ปืนใหญ่ยิงโจมตีโรงไฟฟ้าซาปอริซเซียแล้วจะกลายเป็นหายนะ ไม่ต่างจากเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ซึ่งน่ากลัวมาก ลมได้พัดพากัมมันตภาพรังสีลอยไปไกลถึงสแกนดิเนเวีย” 

 

ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามต่อไปว่า นอกจากตัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว จะมีการใช้ในลักษณะของตัวอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีไหม 

 

ศ.ดร.สุรชาติ อธิบายว่า อาวุธนิวเคลียร์หลักๆ มี 2 ระดับ ในทางยุทธศาสตร์ (Strategic Nuclear Weapon) ก็จะเป็นบรรดาขีปนาวุธข้ามทวีปหรือขีปนาวุธพิสัยกลาง อาทิ กรณีของวิกฤตการณ์คิวบา ในขณะที่อาวุธนิวเคลียร์ในทางยุทธวิธี (Tacticle Nuclear Weapon) จะเป็นกระสุนปืนใหญ่ติดหัวรบนิวเคลียร์ ทุ่นระเบิดนิวเคลียร์ ตอร์ปิโดติดหัวรบนิวเคลียร์ ยังรวมถึงอาวุธยิงระยะใกล้ 

 

คำถามต่อไปคือ ถ้ารัสเซียถอยทัพจริงๆ ในปีหน้า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียจะใช้นิวเคลียร์ทางยุทธวิธี เพื่อแก้เกมการถอย หรือการตอบโต้ของยูเครนหรือไม่ และถ้าหากยูเครนถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธในทางยุทธวิธีจริง สงครามคงจะขยายตัวอย่างมาก

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising