นักเศรษฐศาสตร์เปรียบภาพรวมเศรษฐกิจไทยเหมือนวัยชราภาพ เสน่ห์ไม่เท่ากับในอดีต หลังฟื้นตัวช้ากว่านานาประเทศแม้โควิดคลี่คลาย แนะแร่งปรับมายด์เซ็ต เน้นเชื่อมโยงกับภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก เพื่อสร้างการเติบโตครั้งใหม่
จากเวทีเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ในหัวข้อ ‘EDGE OF TOMORROW เศรษฐกิจไทยบนปากเหว’ ผ่านมุมมองของ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐา ทวีสิน ชี้ ปัญหาเหลื่อมล้ำและปากท้องเร่งด่วนสุด แนะจัดเก็บภาษีคนรวยมากขึ้น
- ถอดมุมมองต่อ Web 3.0 ผ่านเลนส์ของ ‘Regulator-Investor-Developer’ แท้จริงแล้วคืออะไร?
- วาทะเด็ด THE FUTURE OF WORK อนาคตการทำงาน ทำอย่างไรให้เวิร์ก
- ส่องเทรนด์อนาคต ชี้องค์กรต้องมุ่งโฟกัส Upskill – เพิ่ม Experience ให้กับพนักงาน ป้องกันการเทิร์นโอเวอร์สูง
และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท Sea Group
เกียรตินาคินภัทรเผย เศรษฐกิจไทยไม่น่าดึงดูดเท่าอดีต
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวบนเวทีเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ในหัวข้อ ‘EDGE OF TOMORROW เศรษฐกิจไทยบนปากเหว’ ว่า ประเทศไทยเหมือนกับสาวสวยเจ้าของร้านขายของชำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ใครเดินผ่านก็ต้องแวะอุดหนุนเป็นประจำ วันนี้ผ่านไป 20 ปี เจ้าของร้านก็ยังสวยแต่กลับชราลง จึงทำให้ปัจจุบันไม่สามารถดึงดูดลูกค้าได้เท่าในอดีต
โดยปัญหาของเศรษฐกิจไทยคือโตช้าลงเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบตามมาอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญระดับประเทศจะลดลง, โอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคมของคนไทยจะลดลง และปัญหาทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น
“การฟื้นตัวจากโควิดยังเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจไทยอยู่ หลายๆ ประเทศฟื้นกลับไปเรียบร้อยแล้ว แต่ GDP ของเรายังไม่กลับไปเท่าระดับก่อนโควิด เพราะฉะนั้นเราเผชิญกับหลุมที่ลึกกว่าคนอื่น และเราปีนขึ้นมาช้ากว่าคนอื่น”
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ข้างนอกมากมาย แต่ไทยกลับแสวงหาโอกาสจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ดีมากนัก
แนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากนี้ไทยยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่สูง รวมถึงเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวหรือมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
“ในอังกฤษหรือยุโรปอาจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปแล้วก็ได้ ในฐานะที่เศรษฐกิจไทยเป็นประเทศเล็กและเปิดเราหลีกหนีจาก Shock นี้ไม่ได้แน่ๆ”
“เรากำลังจะเจอ Head Wind ที่สำคัญ พายุที่กำลังจะมาคือเศรษฐกิจภายนอกซึ่งจะนำไปสู่ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว เพราะถ้าเศรษฐกิจภายนอกไม่ดีนักท่องเที่ยวจะมาเหมือนเดิมหรือไม่”
สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ปัญหาสำคัญนั่นก็คือโครงสร้างประชากร โดยไทยกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจำนวนประชากรวัยทำงานกำลังลดลง โอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจหลังจากนี้จึงมีความท้าทายอย่างมาก
“ถ้าเราไม่เพิ่มผลิตภาพแรงงานยังไงการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ต้องชะลอตัวลงไปเรื่อยๆ”
เตือนเศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความเสี่ยง ‘เหนือความคาดหมาย’
ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ถึงแม้จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจโลกที่กำลังจะแย่ อาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไปด้วย ทำให้การฟื้นตัวไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง รวมถึงอาจมีความเสี่ยงที่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้น โดยล่าสุด บล.เกียรตินาคินภัทร ได้จะปรับประมาณการทางเศรษฐกิจปี 2566 ลง โดยคาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตเพียง 2.8%”
ขณะที่ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท Sea Group มองว่า ประเทศไทยเหมือนนักกีฬาที่แก่ตัวลง เมื่อก่อนเคยโดดเด่น และเคยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย แต่ในปัจจุบันกลับชราลง ซึ่งก็คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เห็นได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ไม่ได้เติบโตเร็วเหมือนในอดีต
“การที่เป็นนักกีฬาที่แก่ตัวลงก็ไม่ได้แปลว่าอนาคตนักกีฬาจะจบ นักกีฬาที่แก่ตัวที่เล่นได้นานมากๆ และก็ยังเก่งและมีประโยชน์กับทีมมีเยอะ แต่มันต้องยอมรับเปลี่ยนมายด์เซ็ต เปลี่ยนแอตติจูดของเรา ว่าเราไม่ใช่สตาร์ ไม่ใช่ทุกคนจะต้องวิ่งเข้ามาหาเรา ไม่ใช่ที่ที่แมวมองจะมาหาเรา เราต้องวิ่งเข้าไปหาแมวมอง”
แนะหาจุดเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ยังมองว่าประเทศไทยต้องมองตัวเองใหม่ โดยควรมองว่าเป็นประเทศเล็กประเทศหนึ่งในโลกที่ต้องเชื่อมโยงกับโลก เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาโลกมากกว่าที่โลกพึ่งพาประเทศไทย เพราะฉะนั้น ประเทศไทยต้องมองออกไปยังภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจว่ากระแสโลกตอนนี้มีการแข่งขันอะไรกัน และจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยโดดเด่นและใช้เป็นจุดปักธงได้
“การที่เราเป็นนักกีฬาที่แก่ตัวลง เรายังไปได้อีกไกล และหลายประเทศก็ไปได้อีกไกล แต่มันต้องเปลี่ยนกรอบความคิดและเปลี่ยนวิธีเล่น”
ในส่วนของการเตรียมพร้อมรับมือสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ต้องคำนึงใน 3 สิ่งที่สำคัญ ได้แก่
1. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
คำว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance สิ่งหนึ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญของปีนี้คือเราต้องไม่ลืมตัว ‘S’ หรือประเด็นในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะอาจจะเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว
“หากคนมีปัญหาปากท้อง เราจะบีบให้คนไปเปลี่ยนผ่านเข้าไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ยากขึ้น เราถูกบีบให้ชดเชยราคาน้ำมันดีเซล เราถูกบีบให้กลับมาใช้พลังงานเก่าๆ ยิ่งประเทศที่ดูแลคนตัวเล็กได้แย่ก็จะมีตัวเลือกที่ยากขึ้น
“ความเหลื่อมล้ำเป็นรากฐานของความยาก ความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานใหม่เช่นกัน เพราะฉะนั้น ESG ต้องมีตัว S”
2. การเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจในยุคดิจิทัล (Digital Transformation)
ในสองปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันมีคนไทยกว่า 42 ล้านคนที่เคยซื้อของออนไลน์ กลุ่มคนตัวเล็กจำนวนมากสามารถเติบโตขึ้นมาได้ผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น SMEs ที่สามารถเข้าถึงอีคอมเมิร์ซและขายสินค้าได้ทั่วประเทศ
“จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่คนตัวเล็กต้องการดิจิทัล ดิจิทัลเองก็ต้องการคนตัวเล็ก เพราะว่าเศรษฐกิจดิจิทัลโตต่อไม่ได้ ถ้าเศรษฐกิจดิจิทัลไม่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้คนตัวเล็ก คนที่เข้าไม่ถึงการเงินการธนาคาร”
3. การเปลี่ยนขั้วอำนาจโลกไปเป็นเอเชียมากขึ้น (Asian Century)
“เอเชียต้องมีอาเซียน” ในโลกยุคอาเซียนจะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น และเนื้อหอมมากขึ้น เกิดกลยุทธ์ China Plus One (C+1) เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สนับสนุนให้นักลงทุนกระจายการลงทุนโดยไม่เพียงแต่ลงทุนในจีน แต่เลือกพอร์ตการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นผ่านการลงทุนในหลากหลายประเทศในอาเซียน
3 ประเด็นดังกล่าวนับว่าเป็นความท้าทายและโอกาสมหาศาลของเศรษฐกิจไทย หากเราเข้าใจเทรนด์เหล่านี้