×

การปรับตัวในระเบียบโลกใหม่ “เมื่อไทยขาดการวาดภาพอนาคต” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

26.11.2021
  • LOADING...
สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

วันนี้ (26 พฤศจิกายน) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวสปีชบนเวที ‘ประเทศไทยกับการปรับตัวในระเบียบโลกใหม่’ (New World Order: Impacts and Implications for Thailand) ภายในงานงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 The Great Reform ‘ปฏิรูปประเทศไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน’ 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เริ่มต้นจากการฉายภาพกว้าง (I.) การเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 1. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามามีผลต่อหลากหลายแง่มุมของสังคมไทยและสังคมโลก รวมถึง 2. การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจและการเมืองโลกที่ภูมิภาคเอเชียกลับมาผงาดขึ้นอีกครั้ง นำไปสู่ความขัดแย้งของมหาอำนาจในทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน 

 

อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจในภูมิภาค แม้ในปัจจุบันจะเกิดความอ่อนแอของระบบพหุภาคี (Multilateralism) ที่มีสหประชาชาติเป็นแกนหลัก โดยไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 พร้อมผลักดันความตกลงการค้าเสรีแห่งเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ในเวทีการประชุมนี้ ขณะที่ประชาคมโลกกำลังเผชิญหน้ากับการหดตัวของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และโลกาภิวัตน์ที่เป็นเศษเสี้ยว (Fragmented Globalization), เกิดการเงินเพื่อการพัฒนาใหม่ๆ อย่าง BRICS Bank และ AIIB, เกิดระบบสร้างเสถียรภาพทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน (CMIM) รวมถึงบทบาทของเงินหยวน (RMB) ที่มีเพิ่มมากขึ้นในเวทีโลก ในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศ (Global Reserve) ที่รับรองโดย IMF รวมถึงความพยายามของจีนในการผลักดันให้เงินหยวนเงินสกุลสากลที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศ ยังไม่นับรวมเทคโนโลยีทางการเงินและสินทรัพย์อย่าง Digital Finance และ Blockchain ที่เริ่มมีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน

 

  1. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปสู่ความปกติใหม่ (New Normal) เมื่อเกิดโควิด เกิดการปรับเปลี่ยนในมิติต่างๆ ทั้งในการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน การใช้ชีวิต การปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม มีความพยายามในการปฏิรูประบบสาธารณสุขให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในอนาคต 

 

ขณะที่ 4. แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในประชาคมโลก ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากแรงกระเพื่อมที่สำคัญจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ (COP) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีการปรับแนวทางต่างๆ ให้สอดรับกับกรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)

 

ก่อนที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ จะกล่าวถึง (II.) การแผ่อิทธิพลและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองของมหาอำนาจผ่านการแข่งขันด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยี การแข่งขันกันแผ่อิทธิพลในเอเชีย การแข่งขันกันเพื่อหาพันธมิตรทั้งในมิติของการรวมกลุ่มกันและมิติของการทูตเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะการทูตวัคซีน (Vaccine Diplomacy) ที่เห็นกันบ่อยครั้งในช่วงเวลานี้ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์และการส่งมอบวัคซีนโควิด 

 

นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันกันด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เช่น สหรัฐฯ ชูแนวคิดอินโดแปซิฟิก รวมถึงเค้าโครงเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (IPEF) และแผนงาน Build Back Better ในการเมืองสหรัฐฯ ที่นำมาขยายส่วนปรับใช้กับประชาคมโลกเป็น Build Back Better World (B3W) ขณะที่จีนพยายามส่งต่อแนวคิดประชาคมที่แชร์อนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ รวมถึงการผลักดันเวทีการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงโลก (GEDs) และการใช้ Big Data เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

 

ยังไม่นับรวมการแข่งขันกันในกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคต่างๆ การแข่งขันกันด้านค่านิยมระหว่างประเทศ เช่น ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจสีเขียว แนวคิดประชาธิปไตย เป็นต้น อีกทั้งมหาอำนาจต่างยังแข่งขันกันวิจารณ์จุดอ่อนและสร้างภาพเชิงลบต่อกันและกันในพื้นที่สาธารณะอีกด้วย

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวทิ้งท้ายถึง (III.) ประเด็นด้านผลของการเปลี่ยนแปลงของโลกและการแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจต่อประเทศไทยในมิติต่างๆ เช่น ผลต่อการบริโภคข้อมูล เกิดความตื่นรู้ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การมีชุดความคิดที่แตกต่างกัน, ผลต่อการขาดการเชื่อมโยงระหว่างวัย (Intergeneration) ส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย นำไปสู่การขาดบทสนทนาที่จะกระชับช่องว่างเหล่านั้น ขณะที่ผลต่อการขาดกระบวนการสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากความหลากหลาย (Strength out of Diversity) เกิดความตื่นรู้และความต้องการมีส่วนร่วมในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ต้องการเปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลาย ต้องการความหลากหลายแต่ร่วมทิศทาง ไม่ต้องการความหลากทิศแต่รวมศูนย์ ต้องการความแตกต่างที่ไม่ใช่ความแตกแยก 

 

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ มองว่า “การเปลี่ยนแปลงของโลก หากเราจะดึงเข้ามาสู่ประเทศไทย มีผลต่อการเตรียมความพร้อมในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง (Future Ready Thailand) ไทยขาดการวาดภาพอนาคต (Foresight) เราต้องเชื่อมอนาคตให้ได้ เราต้องเชื่อมโลกให้ได้ว่า โลกไปถึงไหน เราต้องหาเทรนด์ให้ได้ เมื่อเราหาได้ เราจึงคิดถึงยุทธศาสตร์และการเตรียมความพร้อม เราต้องอ่านเทรนด์ให้ออก เราต้องอ่านเกมของมหาอำนาจให้ออก เราต้องสัมผัสถึงกระแสลมของความเปลี่ยนแปลงให้ถูก เมื่อถูกทางแล้ว คำถามต่อไปคือ เรากล้าตัดสินใจหรือเปล่า จะเคลื่อนที่ไปกับเทรนด์นั้นหรือจะอยู่กับเทรนด์เก่าๆ ทำอย่างไรให้เราไม่ตกเทรนด์ 

 

“เราอาจขาดการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่ Future Ready Thailand เพราะเรายังไม่ได้วาดภาพอนาคต เรายังไม่ได้เชื่อมอนาคต ผมเชื่อว่ามีผู้คนจำนวนมากที่พร้อมจะเดินเข้าสู้อนาคตเป็นอย่างมาก แต่ถ้าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องเดินไปพร้อมๆ กัน 

 

“โลกกำลังปรับระเบียบทุกด้าน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ประเทศไทยไม่พร้อมเกือบทุกด้านหรือเปล่า? ผมหวังว่า คำตอบของคำถามทิ้งท้ายนี้คือไม่ใช่”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X