วันนี้ (14 พฤศจิกายน) ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ ในหัวข้อ Geoeconomics 2025: Mapping the Future of Economic Power เปิดแผนที่อำนาจเศรษฐกิจปี 2025
ปานปรีย์กล่าวว่า ปัจจุบันมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งโรคระบาด ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความรุนแรงเกิดขึ้นในหลายภูมิภาค รวมถึงปัญหาเศรษฐศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเครียดของสหรัฐอเมริกาและจีนส่งผลกระทบภาพรวมทุกด้าน ทั้งการค้า การลงทุน และเทคโนโลยี รวมถึงเศรษฐกิจไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เราต้องมาเข้าใจแผนที่อำนาจเศรษฐกิจโลก
ปานปรีย์กล่าวถึงจีนว่า มีการเชื่อมต่อกับประเทศอื่นในหลายมิติ ทางด้านการเมืองผ่านกลุ่ม BRICS เพื่อร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ลดการพึ่งพาจากชาติตะวันตก จะเห็นว่าประเทศที่มีประชากรจำนวนมากของโลกต่างอยู่ในกลุ่มนี้ และไทยกำลังจะสมัครเข้าไปเป็นสมาชิก
จีนยังเป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียนตามข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ครอบคลุม (RCEP) ที่ทำให้การค้าหมุนเวียน มีสภาพคล่องสูงมากขึ้น นอกจากนี้จีนยังพยายามขยายอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านโครงการ Belt and Road Initiative ไปเกือบค่อนโลก โดยสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับจีนที่เป็นโรงงานสินค้าของโลก แต่โครงการนี้อาจเป็นการสร้างภาระหนี้ในระยะยาว
ด้านสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจขั้วเดิมมีการปรับตัวเพื่อสู้กับการเติบโตและการขยายอิทธิพลของจีนในฐานะผู้นำระเบียบโลกอย่างเข้มข้น นอกจากการรวมกลุ่มกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังเล็งเห็นความสำคัญของประเทศกลุ่มมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย จึงริเริ่มกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) เพื่อสร้างความได้เปรียบในภูมิภาค
ปานปรีย์กล่าวอีกว่า หากมองในแผนที่จะเป็นว่าสหรัฐฯ อยู่ซ้าย จีนอยู่ขวา IPEF คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านธุรกิจและความมั่นคง ซึ่งล้อมรอบจีนในเกือบทุกด้าน ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในนั้นจึงต้องวางตัวให้เหมาะสม โดยก่อนหน้านี้โลกของเรามองเศรษฐกิจเหนือการเมือง แต่เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ Geoeconomics นำ Geopolitics เช่น การทำสงครามการค้าเพื่อตั้งกำแพงภาษี ด้วยการกีดกันสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงสกัดกั้นเทคโนโลยีขั้นสูงจากจีน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โลกยุคใหม่ที่การค้าเสรีเป็นตัวขับเคลื่อนกลับกลายเป็นการทวนกระแสโลกาภิวัตน์
ปานปรีย์กล่าวว่า หากเราสังเกตตามแผนที่จะเห็นว่ากลุ่มประเทศ OECD และกลุ่ม BRICS ไม่มีประเทศที่เหมือนกันหรือทับซ้อนเลย แต่หากมองในแง่ของข้อตกลงต่างๆ ทั้งด้านการค้า การลงทุน การไหลเวียนของเงินทุน และการพัฒนาเทคโนโลยี จะพบว่ามีพันธมิตรที่เหลื่อมกันอยู่ทั้งสองฝ่ายมีเราเป็นหนึ่งในนั้น ท่ามกลางข้อเสนอของทุกฝ่ายแล้วไทยควรทำอย่างไร
ในมุมมองส่วนตัวมองว่าการบริหารงานด้านเศรษฐกิจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เราจะต้องวางตัวเป็นกลางอย่างมีกลยุทธ์ การเป็นกลางเพียงอย่างเดียวไม่คุยกับใครอาจทำให้ความได้เปรียบทางการค้าและโอกาสต่างๆ หายไป เพราะชาติอื่นจะมองว่าเราไม่ชัดเจน การที่จะรับโอกาสได้จากทุกฝ่ายต้องทำให้เรามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน ยังต้องมีการขยายการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันกับตลาดโลกไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันจะต้องป้องกันความเสี่ยงโดยการกระจายการค้าไปหลายที่ หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศซึ่งจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจได้
ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวสามารถช่วยด้านเศรษฐกิจได้ และหากเราเดินหน้า FTA กับประเทศในยุโรปและสหราชอาณาจักร จะทำให้เราสามารถแข่งขันเรื่องการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามได้ แต่เรากับคู่ค้าจะต้องมีมาตรฐานที่เหมือนกัน เพราะแต่ละประเทศไม่ได้มองถึงสินค้าและต้นทุนเพียงอย่างเดียว แต่มองถึงเรื่องความรับผิดชอบของสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิมนุษยชน
ปานปรีย์ย้ำด้วยว่า ในโลกที่แบ่งขั้วเราต้องสร้างดุลยภาพ ไม่พึ่งพาใครมากเกินไป เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าอนาคตใครจะเป็นผู้ควบคุม ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อไทย การที่ทรัมป์ 2.0 ขึ้นมาพร้อมกับนโยบายสหรัฐอเมริกามาก่อนจะส่งผลต่อนโยบาย เศรษฐกิจโลกจะเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ เกิดการแข่งขันทางการค้าระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯ และจีน เชื่อว่าไทยในฐานะประเทศส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นอันดับหนึ่งจะโดนกำแพงภาษี ดังนั้นจึงต้องติดตามภาษีของแต่ละประเภทสินค้าให้ดี และเจรจาเพื่อคงความได้เปรียบทางการค้าของไทยในอนาคต
ส่วนการแบ่งขั้วจากสหรัฐฯ ต่อจีน และการถอนจีนออกจากการปฏิบัติต่อสินค้าจากประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน (MFN) อาจเกิดประโยชน์กับไทย เพราะฐานการผลิตหลายอุตสาหกรรมจะย้ายออกจากประเทศจีน ซึ่งมีหลายอุตสาหกรรมที่เรามีโอกาส เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องดื่ม รวมทั้งภาคการเกษตร แต่ไม่ได้หมายความว่าโอกาสจะเกิดกับเรา เพราะนโยบายของทรัมป์ทุกประเทศจะต้องเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ใหม่หมด และแนวโน้มการเจรจาจากพหุภาคีจะเปลี่ยนเป็นเจรจาเป็นคู่ และ Mini-Free Trade Agreement (Mini-FTA) เราจึงต้องพร้อมทั้งยุทธศาสตร์และประสิทธิภาพเพื่อชิงจังหวะนี้ให้กับประเทศ
ปานปรีย์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในปีที่จะมาถึงในโลกยังมีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องพร้อมทั้งเชิงรับและเชิงรุก การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมียุทธศาสตร์จะมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และควรเปิดโอกาสให้ตัวเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง สามารถพูดคุยได้ทุกฝ่าย เข้าได้ทุกชาติ ไม่ว่าจะเกิดสงครามหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าการค้าจะเป็นเช่นไรเราต้องเดินต่อไปให้ได้