ผลกระทบจากโควิดทำให้ต้องเลื่อนเปิดมาหลายรอบ แต่ในที่สุด โรงแรม The Standard , Bangkok Mahanakhon แลนด์มาร์กแฟลกชิปของเอเชียใจกลางกรุงเทพฯ ของเชนโรงแรม The Standard ก็มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 29 ก.ค. นี้ ซึ่งถือเป็นโรงแรมที่ใช้แบรนด์ The Standard แห่งที่ 2 ในไทยต่อจากหัวหิน
“เชื่อว่า The Standard, Bangkok Mahanakhon จะสร้างปรากฏการณ์ที่ทั่วโลกต่างต้องจับจ้องไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะในไทย” เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งรอบนี้สวมหมวกประธานกรรมการ Standard International บริษัทแม่ของเครือโรงแรม The Standard กล่าว
เหตุที่ครั้งนี้เศรษฐาไม่ได้พูดในฐานะ ‘ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)’ เหมือนทุกครั้งที่ออกงานแถลงข่าวและแถลงการณ์ของแสนสิริ เป็นเพราะปัจจุบันแสนสิรินั้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 62% ในเชนโรงแรมสุด ‘ฮิปสเตอร์’ อย่าง Standard International
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เชนโรงแรม The Standard ของแสนสิริ เข้าบริหารโรงแรมในตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร ประเดิมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมดีเดย์ปลายปีนี้
- ‘แสนสิริ’ ลงทุน 800 ล้านบาท เปิด ‘โรงแรม The Standard, Hua Hin’ มองไกล 2-3 ปี เตรียมนำเข้ากองรีทหรือออกเป็น ICO
- Amar Lalvani ประธานกรรมการบริหารผู้อยู่เบื้องหลัง The Standard, Bangkok Mahanakhon กับประสบการณ์การพักผ่อนระดับไอคอนิก
รับจ้างบริหารจาก คิง เพาเวอร์
สำหรับโรงแรม The Standard, Bangkok Mahanakhon ที่กำลังจะเปิดนี้ ทางเชน The Standard จะเป็นเพียงผู้รับจ้างบริหารจากกลุ่มคิง เพาเวอร์
โดยหากย้อนกลับไป กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ทุ่มเงินกว่า 14,000 ล้านบาท เข้าซื้อโครงการมหานครในส่วนของโรงแรม, จุดชมวิว Observation Deck, อาคารรีเทลมหานครคิวบ์, ร้านค้าปลีกบริเวณพื้นที่รีเทล 4 ชั้น รวมถึงที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมจาก บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แล้ว
ก่อนจะเปลี่ยนมือจากเพซมาเป็นคิง เพาเวอร์นั้น มีการระบุว่า โรงแรมซึ่งจะตั้งอยู่ที่ชั้น 1-20 จะถูกพัฒนาเป็นบูติกโฮเทลขนาด 155 ห้อง ภายใต้แบรนด์ ‘เดอะ บางกอก เอดิชั่น’ (The Edition) ซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่ภายใต้เครือยักษ์ใหญ่อย่าง Marriott
แต่หลังจากเปลี่ยนเจ้าของได้ไม่นานก็มีการประกาศว่าโรงแรมที่ตั้งอยู่ในตึกมหานครจะถูกเปลี่ยนเป็น ‘โรงแรมโอเรียนท์ เอ็กซ์เพรสแห่งแรกของโลก’ ซึ่งอยู่ภายใต้ Accor Hotels เครือบริหารโรงแรมยักษ์ใหญ่ โดยมีห้องพักรวมทั้งหมด 154 ห้อง แต่สุดท้ายก็ถูกเปลี่ยนมาใช้เชน The Standard แทน
ราคาห้องพักจะมีตั้งแต่ 5,500-20,000 กว่าบาท โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000 บาทต่อคืน ขณะนี้มียอดจองเข้ามาแล้วประมาณ 20% นอกจากนี้ยังมีคิวรอจองร้านอาหาร Ojo (โอโฮ) นานถึง 1 เดือนแล้วด้วย
รายได้เติบโต
เศรษฐากล่าวต่อว่า การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ทำให้ Standard International ที่มีแสนสิริเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สามารถสร้างรายได้จากพอร์ตลงทุนธุรกิจโรงแรมไลฟ์สไตล์ระดับโลก เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาที่ท้าทายถึง 128% ในปีที่ผ่านมา
โดยรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน การจัดงาน และการท่องเที่ยวแบบกลุ่มองค์กรเติบโตสูงขึ้น ขณะเดียวกันขยายระยะเวลาเข้าพักนานขึ้นจาก 2.5 วัน เป็น 4 วัน และใช้เวลาพักผ่อนไปกับไลฟ์สไตล์ในโรงแรมมากขึ้น จากอาหารและเครื่องดื่มซึ่งทำรายได้มากกว่าห้องพัก สวนทางอุตสาหกรรมโรงแรมที่รายได้จากห้องพักจะมากกว่า ตลอดจนการจองเข้ามาโดยตรงมากถึง 55% ต่างจากอุตสาหกรรมที่อยู่ราว 20% เท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการจองผ่านแพลตฟอร์มกลางจึงต้องเสียค่าธรรมเนียม 17-20%
“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรม The Standard เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งแม้ในสถานการณ์โลกที่ท้าทายและผลกระทบเศรษฐกิจ”
โดยปัจจุบันมีโรงแรม 7 แห่งทั่วโลก ได้แก่ ไมอามี, นิวยอร์ก, ลอนดอน, มัลดีฟส์, อิบิซา และหัวหิน ในประเทศไทย ที่แสนสิริลงทุนเอง 100% ด้วยเม็ดเงินกว่า 800 ล้านบาท
โรงแรม The Standard, Hua Hin ถือว่าเติบโตได้ดี มีอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ที่สูงถึง 80% ภายในเดือนแรกที่เปิดตัว และมียอดจองห้องพักเต็มต่อเนื่องเกือบทุกสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าคู่แข่งราว 10% นอกจากนี้ยังมีอัตราราคาอยู่ที่ 6,000 บาท และวันหยุด 9,000 บาท ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งเช่นกัน
ตามแผนภายในปี 2569 จะมีโรงแรม The Standard ทั่วโลก 19 แห่ง ในประเทศไทยจะมีเปิดตัวอีกแห่งหนึ่งที่ ‘พัทยา’ ซึ่งตัวโรงแรมตั้งอยู่บริเวณหาดจอมเทียน คาดเปิดปี 2568 โดยครั้งนี้เป็นการรับจ้างบริหารเช่นกัน เนื่องจากแสนสิริย้ำว่า ต่อไปจะไม่เน้นลงทุนเองแต่จะรับจ้างบริหารและร่วมถือหุ้นมากกว่า
นอกจากนี้ในไทยจะมีการเปิดตัว The Peri Hotel บริเวณสุขุมวิท 24 ด้วยจำนวน 169 ห้อง ในปี 2568 ซึ่ง The Peri นั้นมีที่เขาใหญ่และหัวหินอยู่แล้ว
นำแบรนด์ Bunkhouse เข้ามาเจาะโรงแรมขนาดเล็ก
ด้วยเมืองไทยที่เป็นหมุดหมายหลักที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบและสถานการณ์ที่กำลังฟื้นตัว ทำให้ Standard International จะนำเครือ ‘Bunkhouse’ (บังค์เฮาส์) ภายใต้ 2 แบรนด์คือ ‘The Saint Collection’ และ ‘By Bunkhouse’ เข้ามาในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเข้ามาเจาะกลุ่มตลาดทั้งท่องเที่ยวลักชัวรี นักเดินทางที่แสวงหาประสบการณ์การเดินทางแบบมีสไตล์ และนักลงทุนพัฒนาโรงแรม 3 จุดเด่นด้านงานดีไซน์ ความใส่ใจในรายละเอียด และการสร้างวัฒนธรรมที่จริงใจ ซึ่งปัจจุบัน Bunkhouse มีโรงแรมทั้งหมด 9 แห่งในสหรัฐอเมริกา
Bunkhouse จะเข้ามาเจาะโรงแรมขนาดเล็กและขนาดกลางด้วยจำนวนห้องเริ่มต้น 30 ห้องไปจนถึง 100 ห้อง โดยเศรษฐาย้ำว่า “จะไม่มีการเข้าไปซื้อเพื่อรีโวทเอง แต่จะเข้าไปคุยกับเจ้าของโรงแรมเดิมที่เห็นศักยภาพให้เราเข้าไปบริหารให้ หรือหากจะลงทุนก็จะเป็นลักษณะร่วมลงทุนมากกว่า”
เศรษฐาฉายภาพว่า Bunkhouse เหมาะสำหรับเมืองรอง เช่น เชียงราย, สุโขทัย, จันทบุรี, ระยอง และชุมพร ซึ่งเป็นเมืองเล็กที่มีวัฒนธรรมอันโด่ดเด่น แต่ยังขาดเชนโรงแรมระดับโลกเข้าไปเติมเต็มนักท่องเที่ยวที่อยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ
ภายใน 3-5 ปี คาดว่า Bunkhouse จะมีโรงแรมราว 6 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในจำนวนนี้คาดว่า 3 แห่งจะอยู่ในไทย เหตุที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายเยอะเป็นเพราะว่า “เรามีความท้าทายในการต้องอธิบายให้เจ้าของโรงแรมเข้าใจคอนเซปต์ซึ่งแตกต่างจากโรงแรมโดยทั่วไป” เศรษฐากล่าว
ในแง่ของภาพรวมเศรษฐามองว่า ด้วยค่าเงินบาทที่อ่อนและการเปิดประเทศ จะสร้างอานิสงส์ระยะสั้นช่วง 3-9 เดือนข้างหน้า แต่ยังมีความท้าทายจากสายการบินที่จะเข้ามา รวมถึงระยะยาวต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่อาจจะออกนโยบายฟรีวีซ่า เป็นต้น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP