วันก่อนเพิ่งมีโอกาสได้ไปชมภาพยนตร์เรื่อง The Square โดยที่ก่อนหน้านี้ก็เห็นโปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านตาอยู่บ้าง แต่เพราะอะไรสักอย่างที่ทำให้เลือกไปดูหนังเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับการโปรโมตหนักๆ อยู่ดี แต่ในที่สุดพอซื้อตั๋ว The Square มาเรียบร้อยถึงจะรู้ว่านี่คือภาพยนตร์ดีกรีรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปีล่าสุด และยังเป็นตัวเต็งออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างชาติในปีนี้อีกด้วย
The Square เป็นภาพยนตร์ปี 2017 ของผู้กำกับชาวสวีเดน รูเบน ออสต์ลันด์ และถูกจัดให้อยู่ในหมวด Satire-Drama หรือหนังดราม่าแนวเสียดสีที่ปนมุกตลกแบบดาร์กๆ เข้าไป ภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ของเขาคือ Force Majeure ในปี 2014 ซึ่งก็ได้รับคำชื่นชมหนาหูเช่นเดียวกัน แต่ที่ชัดเจนของหนังโดยผู้กำกับสวีเดนคนนี้คือความรู้สึกที่ ‘ยิ่งดูยิ่งเครียด’ (และความเครียดหรือความไม่สบายใจนี้ไม่ได้แปลว่าไม่ชอบตัวหนัง) ยิ่งดูยิ่งคาใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกไหม ทั้งยังรู้สึกไม่แน่ใจกับตัวละครที่โผล่มา (ดูแล้วบางซีนก็ทำให้นึกถึง Wild Tales ของผู้กำกับอาร์เจนตินา เดเมียน ซิฟรอน) ซึ่งนี่อาจจะเป็นเสน่ห์หลักๆ ที่คนดูรู้สึกได้จาก The Square
The Square ว่าด้วยเรื่องของ คริสเตียน ผู้ชายวัย 50 บุคลิกเท่ ตำแหน่งคิวเรเตอร์ประจำพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่กำลังหาทางโปรโมตงานศิลปะชิ้นใหม่ที่ใช้ชื่อว่า ‘The Square’ แต่ระหว่างนั้นก็เกิดเรื่องราวพังพินาศที่ทำให้เขาตัดสินใจทำอะไรผิดพลาด และส่งผลกระทบทั้งชีวิตส่วนตัวไปจนถึงหน้าที่การงานของเขา ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือรูเบนสร้างภาพยนตร์ The Square เพื่อโปรโมตงานศิลปะ The Square ของตัวเองนี่แหละ (ซึ่งตอนนี้มีจัดแสดงอยู่ทั้งในสวีเดนและนอร์เวย์)
รูเบนให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ The Square เอาไว้ว่า The Square เป็นงานศิลปะของตัวเขาเองและเพื่อน ซึ่งเป็นงานอินสตอลเลชันสี่เหลี่ยมจัตุรัสบนพื้นที่สาธารณะ ถูกล้อมกรอบไว้ด้วยไฟสีขาว และเขียนจำกัดความว่า The Square is a sanctuary of trust and caring. Within it we all share equal rights and obligations. (จัตุรัสแห่งนี้คือเขตแห่งความเชื่อใจและความห่วงใย ภายในจัตุรัส เราทุกคนจะมีสิทธิและหน้าที่ที่เท่าเทียมกัน) นั่นหมายความว่าใครก็ตามที่เข้าไปอยู่ในจัตุรัสแห่งนั้นและขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือเหมือนๆ กัน
รูเบนกล่าวว่าเหตุผลที่เขาทำงานศิลปะชิ้นนี้ก็เพราะสังคมในสวีเดนช่วงปี 2008 มี ชุมชนแบบล้อมรั้วมากขึ้น (Gated Communities) หรือหมายถึงชุมชนที่กันคนนอกออกมาแล้วดูแลกันเอง ซึ่งเขารู้สึกว่าชุมชนแบบนี้เท่ากับการตะโกนบอกคนนอกว่า “นี่มันพื้นที่ของฉัน ฉันจะดูแลรับผิดชอบแค่ขอบเขตนี้ คนนอกเราไม่ยุ่ง” ซึ่งนั่นส่งผลต่อสภาพสังคมโดยรวมที่ทุกคนมีความปัจเจกมากขึ้น มีความ individualistic มากขึ้นจนไม่สนใจปัญหาของคนอื่นที่เราไม่ต้องรับผิดชอบ รูเบนจึงสร้างจัตุรัสนี้ขึ้นเพื่อเตือนตัวเองว่า ทุกคนมีบทบาทในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่จะช่วยเหลือ รับผิดชอบ และเชื่อใจซึ่งกันและกัน
ความคิดของรูเบนอาจจะดูโลกสวย (และเขาเองก็รู้ตัวดี เพราะมีการกล่าวถึงในภาพยนตร์อยู่ด้วย) แต่เชื่อเถอะว่าภาพยนตร์ The Square เสียดสีสังคมสุดๆ และแทบจะทำให้เราตกใจกับการตกตะกอนความคิดของตัวเองขณะชมภาพยนตร์ เพราะหนังพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับการที่คนและสังคมตีความ ‘คุณค่าของความเป็นมนุษย์’ ซึ่งมันซับซ้อนและมีหลายชั้นมาก เช่น ในชีวิตประจำวัน บางทีเราอาจจะคิดว่าเราพร้อมช่วยเหลือคนอื่น เรามีน้ำใจ เพราะเราไปทำบุญ 3 เดือนครั้ง หรือเราเป็นคน ‘เท่าเทียม’ เพราะเราสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และเราฟังสปีชของโอปราห์ วินฟรีย์ แต่ความรู้สึกที่คุณมีต่อบางฉากใน The Square อาจจะทำให้คุณได้คำตอบจริงๆ ในใจว่าคุณเป็นคนมีน้ำใจ เท่าเทียม และไม่เหยียดคนนอกขอบเขตของตัวเองจริงๆ หรือเปล่า
https://www.youtube.com/watch?v=zKDPrpJEGBY
เทรลเลอร์ The Square
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่