×

The Shape of Water: 13 รางวัลบนเวทีออสการ์กับองค์ประกอบที่ ‘ดีพอ’ ในฐานะผู้เข้าชิง

01.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • อธิบายให้เห็นภาพง่ายที่สุด ให้คิดว่า The Shape of Water คือ Pan’s Labyrinth หนังขึ้นหิ้งของ เดล โตโร ในปี 2006 ที่นำมาอัพเกรดใหม่เพื่อกลบจุดบกพร่องบางอย่าง ลดความซับซ้อนและโหดร้าย (แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอยู่เพียบ!) เพิ่มความสนุกชวนติดตาม ทำภาพให้สมบูรณ์ สวยงาม และเพิ่มประเด็นให้ร่วมสมัยมากกว่าเดิม
  • จุดแข็งของ The Shape of Water อยู่ที่ประเด็น ‘ทองคำ’ สำหรับรางวัลออสการ์ ว่าด้วยการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ ที่ถูกอัดแน่นอยู่ใน 123 นาทีของหนังแบบไม่มีการประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้น เดล โตโร เลือกที่จะนำเสนอ ‘เหยียด’ ความแตกต่างทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น ถึงแม้เนื้อเรื่องจะย้อนไปถึงยุคปี 60 แต่ทุกประเด็นก็ยังคงวนเวียนให้เห็นมาถึงปัจจุบัน
  • แซลลี ฮอว์กินส์ โดดเด่นมากในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ที่ถึงแม้เรื่องนี้จะเต็มไปด้วยนักแสดงมากฝีมือ แต่เธอเพียงหนึ่งเดียวที่แบกหนังเรื่องนี้เอาไว้ทั้งหมดด้วยตัวเองเกือบ 100%

 

 

คงต้องลุ้นกันว่าสุดท้ายแล้ว The Shape of Water ผลงานล่าสุดของ กิลเลอร์โม เดล โตโร จะคว้ารางวัลบนเวที ‘ออสการ์ 2018’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคมนี้ ไปได้กี่ตัว หลังจากหนังมีชื่อเข้าชิงมากถึง 13 สาขา แต่เท่าที่พอจะบอกได้คือหนัง ‘มนต์รักต่างสายพันธุ์’ เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์กระแสฮอลลีวูดและออสการ์ในยุคนี้แบบเต็มๆ

 

อธิบายแบบเห็นภาพง่ายที่สุด ให้คิดว่านี่คือ Pan’s Labyrinth (2006) หนังขึ้นหิ้งของเดล โตโร ที่นำมาอัพเกรดใหม่เพื่อกลบจุดบกพร่องบางอย่าง ลดความซับซ้อนและโหดร้าย (แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอยู่เพียบ!) เพิ่มความสนุกชวนติดตาม ทำภาพให้สมบูรณ์ สวยงาม และเพิ่มประเด็นให้ร่วมสมัยมากกว่าเดิม

 

เล่าเรื่องของเอไลซ่า ‘สาวใบ้’ (แต่หูไม่หนวก) พนักงานทำความสะอาด ในห้องทดลองลับของอเมริกา วันหนึ่งเธอได้พบเข้ากับ ‘สัตว์ประหลาดน้ำจากแอมะซอน’ ที่ตกเป็นเหยื่อการทดลองอันแสนโหดร้าย และความรักต่างสายพันธุ์ก็ค่อยๆ เริ่มต้นขึ้น พร้อมกับภารกิจช่วยเหลือ ‘คนรัก’ และรักษาความสัมพันธ์ดั่งเทพนิยายให้ดำรงอยู่ต่อไป

 

 

ว่ากันที่ประเด็นของหนังก่อน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นความโชคดีของเดล โตโร ที่เริ่มต้นโปรเจกต์นี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่การที่หนังเสร็จสมบูรณ์พร้อมฉายในช่วงเวลาที่แคมเปญ ‘Me Too’ และ ‘Time’s Up’ กลายเป็นประเด็นร้อนที่คนในวงการฮอลลีวูดกำลังให้ความสำคัญ และในหนังก็มีประเด็น Sexual Harassment การล่วงละเมิดหรือกดขี่ทางเพศในที่ทำงานสอดแทรกให้เห็นอยู่เต็มไปหมด โดยเฉพาะการวางให้นางเอกเป็นใบ้ พูดไม่ได้ ได้แต่นิ่งเงียบรับทั้งคำสั่ง คำเย้ยหยัน จาบจ้วงและกดเหยียดสารพัด อย่างไม่มีสิทธิ์ตอบโต้ ซึ่งนำไปสู่ซีนหนึ่งที่ชอบมาก คือตอนที่นางเอก ใช้ภาษามือ ‘ด่า’ หัวหน้า โดยที่อีกฝ่ายไม่สามารถรับรู้ความหมาย นั่นแสดงให้เห็นว่า Time’s Up! ถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงจะปลดแอกตัวเองออกจากการกดขี่เสียที!

 

อีกเรื่องที่ถือเป็นประเด็น ‘ทองคำ’ สำหรับรางวัลออสการ์ ที่ว่าด้วยการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ ก็แน่นอนว่าถูกอัดแน่นอยู่ใน 123 นาทีของหนังแบบไม่มีการประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้น เดล โตโร เลือกที่จะจำเสนอประเด็น ‘เหยียด’ ความแตกต่างทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น ถึงแม้เนื้อเรื่องจะย้อนไปถึงยุค 60 แต่ทุกประเด็นก็ยังคงวนเวียนให้เห็นมาถึงปัจจุบัน

 

 

ตั้งแต่การกดขี่ทางเพศ การเหยียดเชื้อชาติที่ทำให้คนผิวสีมีบทบาทได้เพียงแค่คน ‘เก็บกวาดสิ่งสกปรก’ ไปจนถึงการปิดโอกาสในสังคมที่แม้แต่คนผิวสีอยากกินแพนเค้กรสชาติห่วยแตกที่สุดก็ยังไม่อาจทำได้

 

อีกหนึ่งซีนที่หนังใช้ซิมโบลิกเล่าถึงประเด็นทางสังคมผ่าน ‘สัตว์ประหลาดน้ำ’ ที่ถูกนำมาทดลอง ที่แตกต่างจากคนทั่วไปอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่หน้าตาที่อัปลักษณ์ พูดไม่ได้ ไร้เครื่องเพศ (ให้เห็น) อาศัยได้เฉพาะพื้นที่จำกัด จะมีก็เพียงหัวใจ ความรักและความต้องการมีชีวิตอยู่เท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่าเขาคือ ‘สิ่งมีชีวิต’ เช่นเดียวกับมนุษย์ผู้เป็นสัตว์ประเสริฐทั่วไป แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาสามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความปกติอันแสนแปลกปลอมนี้ได้อยู่ดี

 

การที่ตัวหนังเลือกเล่าประเด็นการเหยียดทุกอย่างได้แบบครบรส ทั้งเศร้า หม่นหมอง ดาร์ก จิกกัด เสียดสี ตลกร้ายออกมาอย่างพอดิบพอดี ถึงแม้ในแง่ความสะใจ คนดูหนังอย่างเราคงอยากเห็นการโต้กลับที่เจ็บแสบของเหล่า ‘ตัวประหลาด’ ให้มากกว่านี้อีกหน่อย แต่ถึงอย่างนั้นมันก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ The Shape of Water มีชื่ออยู่ในทำเนียบผู้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แบบไม่ยากเย็น

 

 

ตัดมาที่สาขานักแสดงที่โดดเด่นมากๆ ใน The Shape of Water โดยเฉพาะ แซลลี ฮอว์กินส์ ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ที่ถึงแม้เรื่องนี้จะเต็มไปด้วยนักแสดงมากฝีมือ แต่เธอเป็นหนึ่งเดียวที่แบกหนังเรื่องนี้เอาไว้ทั้งหมดด้วยตัวเองเกือบ 100%

 

ถ้าว่ากันด้วยบุคลิกทั่วไปของเธอในเรื่องอื่นๆ ต้องบอกว่าเธอคือนักแสดงที่ไม่ได้มีคาแรกเตอร์น่าจับตามองเท่าไรนัก ไม่ได้สวยสง่า ออร่าจับ ไม่ได้ร่าเริงชวนให้ยิ้มและไม่ได้น่ารักพอที่จะดึงดูดให้สายตาเราจับจ้องไปที่เธอ แต่ในเรื่องนี้ทั้งๆ ที่รับบทเป็นคนพิการที่เต็มไปด้วยความบกพร่อง แต่เธอกลับดูสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง อีกทั้งหน้าตาที่ดูสวยขึ้นผิดหูผิดตา เรือนร่างที่น่าสัมผัส ความอึดอัดในการพยายามแสดงออก รวมทั้งการเป็นหญิงสาวที่ตกอยู่ในภวังค์แห่งรักที่เป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างของเธอทำให้เราไม่อาจละสายตาไปจากเธอและเอาใจช่วยในทุกๆ อย่างที่เธอตัดสินใจได้ตั้งแต่ต้นจนจบแบบไม่มีข้อสงสัยอะไรแม้แต่น้อย

 

 

หรือจะเป็นสาขานักแสดงสมทบยอดเยี่ยมอย่าง ออคตาเวีย สเปนเซอร์ กับบทบาทเพื่อนผู้คอยช่วยเหลือเอไลซ่าอยู่ตลอดเวลา ที่กลายเป็นเจ้าประจำในสาขานี้ไปเรียบร้อย และคงไม่เกินจริงไปนัก ถ้าเราจะบอกว่าเธอคือนักแสดงที่แสดงถึงบทบาทตัวละครหญิงที่ถูก ‘กดขี่’ ได้ดีที่สุดในยุคนี้ไปแล้ว

 

ส่วนฝ่ายชาย ริชาร์ด เจนกินส์ อีกหนึ่งตัวละครที่คอยช่วยเหลือเอไลซ่าในทุกๆ เรื่อง ในบทบาทศิลปินสูงวัยที่ยังยึดติดอยู่กับงานจิตรกรรมภาพเหมือน ในขณะที่โลกกำลังขับเคลื่อนไปสู่โลกของภาพถ่ายที่สมจริงยิ่งกว่า ซึ่งถือว่าตัวเจนกินส์เองก็ทำได้ดีตามมาตรฐาน ถึงจะมีบทให้แสดงไม่เยอะมากนัก แต่ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ในเรื่องได้เป็นอย่างดี

 

เพียงแต่ปัญหาในการชิงรางวัลสาขานี้อยู่ที่กระดูกชิ้นโตอย่าง คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ จากเรื่อง All the Money in the World ที่เข้ามารับบทแทน เควิน สเปซีย์ ซึ่งถูกถอดออกจากประเด็น Sexual Harassment ที่น่าจะติดป้ายจองสาขานี้เอาไว้เรียบร้อย เพื่อเป็นการแสดงออกในการเคลื่อนไหวประเด็นการกดขี่ทางเพศของออสการ์ในปีนี้

 

อีกคนหนึ่งที่น่าเสียดายมากๆ เพราะไม่มีชื่อของ ไมเคิล แชนนอน ติดอยู่ในรายชื่อผู้เข้าชิงสาขานักแสดงนำชาย ในบทเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสุดโหดที่เป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางความรักของเอไลซ่าในเรื่องนี้ เพราะเอาจริงๆ ถ้าไม่นับสาขานักแสดงสบทบยอดเยี่ยมของเจนกินส์ เราคิดว่าด้วยความร้าย โรคจิต ความสับสน ก่อกวน บ้าอำนาจ ที่เขาแสดงออกมานั้นดีพอที่จะมีชื่อเข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมได้ด้วยซ้ำไป

 

 

ส่วนรางวัลสาขาวิชวลที่ The Shape of Water เข้าชิงอย่าง กำกับภาพยอดเยี่ยม ตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ก็ถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมตามมาตฐาน ทุกองค์ประกอบศิลป์ในเรื่องสวยงาม สมจริง ชวนติดตาม ทุกฉากที่เกี่ยวกับความรักของเอไลซ่าและคู่รักต่างสายพันธุ์ ที่คุมโทนทุกอย่างออกมาได้อย่างหมดจด มีทั้งความเงียบเชียบ เรียบง่าย โรแมนติกและสวยงามชวนฝัน โดยเฉพาะฉากมีเซ็กซ์กันของทั้งคู่ที่ไม่ได้โฉ่งฉ่าง เร้าอารมณ์ เราเห็นเพียงแค่การกอดอันแสนอบอุ่น แต่ก็ทำให้เห็นว่าเซ็กซ์ของพวกเขามีความหมายกว่าเซ็กซ์ของมนุษย์ปกติในเรื่องด้วยซ้ำ

 

รวมทั้งฉากกอดกันใต้น้ำครั้งสุดท้ายในตอนจบ ที่เห็นในโปสเตอร์ว่าสวยมากๆ แล้ว บอกเลยว่าพอเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวแล้วสวยกว่าที่เห็นไปอีกหลายเท่าตัว เอาง่ายๆ ว่าถึงขนาดสวยจนลืมความโหดร้ายที่ทั้งสองคนเจอมาก่อนหน้านี้ไปได้แทบทั้งหมดเลยทีเดียว

 

Photo: filmmusicreporter.com

 

หมวดสุดท้าย คือรางวัลสาขาเกี่ยวกับเสียงที่ The Shape of Water ก็สามารถเข้าชิงทั้ง บันทึกเสียงยอดเยี่ยม ลำดับเสียงยอดเยี่ยม แต่เราขอโฟกัสเฉพาะสาขาที่โดดเด่นที่สุดคือสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ อเล็กซองดร์ เดส์ปลาต์ ที่ตอนแรกเราคิดว่า ฮานส์ ซิมเมอร์ ที่อาจหาญใส่เสียงนาฬิกาและสารพัดเสียงสุดหลอนให้ติดอยู่ในโสตประสาทคนดูตลอดการรบในสมรภูมิ ณ หาดดันเคิร์ก จะผูกขาดรางวัลนี้ไว้แน่ๆ แต่ความเรียบง่าย แต่มาถูกที่ถูกเวลาของ ‘เสียง’ ที่เดส์ปลาต์เลือกใช้ในเรื่องนี้อาจทำให้บัลลังก์นั้นต้องสั่นคลอน

 

น่าจะพูดได้ว่าสาขานี้จะเป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 ขั้วตรงข้ามระหว่างการออกแบบเสียงเพื่อเป็น ‘ตัวหลัก’ จนเกือบจะขโมยซีนทุกอย่างในหนังไปได้ใน Dunkirk กับการใช้เสียงเป็นตัว ‘ซัพพอร์ต’ เพื่อส่งให้คนดูตกอยู่ในภวังค์ความรักที่สวยงามใน The Shape of Water ซึ่งในฐานะคนที่แอบเวียนหัว (ไปจนถึงขั้นรำคาญนิดๆ) กับเสียงประกอบที่มาแบบไม่ให้พักของ ฮานส์ ซิมเมอร์ ตอนนี้ทำให้เราแอบเอาใจช่วย อเล็กซองดร์ เดส์ปลาต์ ในหนังรักสัตว์ประหลาดต่างสายพันธุ์มากกว่า

 

ปัญหาอย่างเดียวอยู่ที่ถ้าดูในองค์ประกอบทั้งหมด The Shape of Water คือหนังที่ ‘ดีพอ’ สำหรับเข้าชิงรางวัลทั้งหมดอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าแยกส่วนออกมาทีละองค์ประกอบแล้วเปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ ในแต่ละสาขา The Shape of Water ก็อาจจะยังไม่ถึงขั้นยืนอยู่บนจุดสูงสุดของรางวัลได้ ยกเว้นสาขา นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่เราแอบเอาใจช่วยจริงๆ ว่าน่าจะได้ยินชื่อ The Shape of Water ดังขึ้นมาบนเวทีประกาศผลรางวัลออสการ์ในวันที่ 5 มีนาคมนี้   

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X