เพราะของบางอย่างนั้นเราอาจไม่รู้สึกถึงคุณค่าและความสำคัญจนกระทั่งสิ่งนั้นหายไป และด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ข่าวการขาดแคลนของ ซอสพริกศรีราชา ที่ประกาศออกมาเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมากำลังเขย่าหัวใจของชาวอเมริกันที่เป็นแฟนคลับของ Hot Sauce แบรนด์นี้อย่างรุนแรง
โดยสาเหตุนั้นเกิดจากการที่วัตถุดิบสำคัญอย่าง ‘พริก’ กำลังขาดแคลนอย่างหนัก จนทำให้ Huy Fong Foods, Inc. ผู้ผลิตเครื่องปรุงรสยอดนิยมของสหรัฐฯ ได้ออกจดหมายถึงผู้ซื้อฉบับหนึ่งว่า
“ปัจจุบันเนื่องจากสภาพอากาศที่ส่งผลต่อคุณภาพของพริก ตอนนี้เราต้องเผชิญกับการขาดแคลนพริกที่รุนแรงมากขึ้น โชคไม่ดีที่สิ่งนี้อยู่เหนือการควบคุมของเรา และหากไม่มีส่วนประกอบสำคัญนี้ เราก็ไม่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ใดๆ ของเราได้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ข่าวร้ายแห่งปี! ชาวอเมริกันโอดครวญ ‘ซอสพริกศรีราชา’ กำลังขาดแคลน เพราะไม่มี ‘พริก’ มาผลิตสินค้า
- ฉลองวันแห่งซอสเผ็ด! ซอสศรีราชาขึ้นแท่นซอสเผ็ดในดวงใจของชาวอเมริกัน
- คนรักของเผ็ดต้องลอง! Ba Hao จับมือ ซอสพริกศรีราชาตราห่านบิน ครีเอตเมนูจีนทวิสต์จัดจ้านต้อนรับเทศกาลโดยเฉพาะ
ข่าวนี้ทำให้แฟนคลับซอสเผ็ดแบรนด์นี้ถึงกับโอดครวญว่า ‘นี่คือข่าวร้ายแห่งปี’ ขณะที่บางคนอาการหนักถึงขั้นเปรียบเปรยข่าวนี้ว่า ‘เป็นวันสิ้นโลก’ ขนาดนั้นเลย
ภาพ: Ted Soqui / Corbis via Getty Images
อะไรที่ทำให้พวกเขาติดอกติดใจอะไรนักหนากับซอสพริกศรีราชา? รวมถึงเรื่องราวที่น่าสนใจของซอสพริกแบรนด์ที่มีชื่อเป็นไทย แต่เจ้าของที่ทำให้ซอสเผ็ดชนิดนี้อยู่ในใจผู้คนชาวอเมริกันและชาวโลกดันเป็นคนเวียดนาม แล้วมันต่างจากซอสพริกศรีราชาของคนไทยอย่างไร
มาไขความลับของซอสลับไปด้วยกัน
‘ศรีราชา’ จากน้ำพริกตำรับลับสู่ซอสพริกในตำนาน
ก่อนที่จะไปคุยกันเรื่องอื่น สิ่งแรกที่เราควรทำความรู้จักกับซอสพริกศรีราชาคือต้นกำเนิดของซอสระดับตำนานก่อน
ซอสระดับตำนานนั้นก็เกิดจากการตำพริกเป็นเวลานานจริงๆ โดยอ้างอิงจาก ‘ชมรมรักคนรักศรีราชา’ ซอสพริกศรีราชาเกิดจากคุณทวดกิมซัว ทิมกระจ่าง ที่คิดค้นสูตรเครื่องจิ้มที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ โดยครั้งนั้นเรียกว่า ‘น้ำพริกศรีราชา’
เครื่องจิ้มสีแดงชาดที่มีครบรสทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ดนี้ถูกถ่ายทอดมาถึงรุ่นต่อมาอย่างคุณย่าถนอม จักกะพาก ซึ่งทำไว้รับประทานกันเองในครอบครัว แต่เมื่อมีโอกาสนำไปแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านได้ชิมบ้าง เสียงเล่าเสียงลือก็ทำให้ทุกคนอยากชิม และเมื่อได้ลิ้มรสแล้วก็อยากเชียร์ให้มีการทำขายกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
โดยสิ่งที่ทำให้น้ำพริกศรีราชาแตกต่างคือเรื่องของรสชาติที่ให้รส ‘เผ็ดหวาน’ ซึ่งเป็นรสที่ได้มาจากวัตถุดิบหลักอย่างพริกชี้ฟ้า (พันธุ์มันดำ สีแดงสด ผิวเกลี้ยง และมีขนาดเท่าๆ กัน) กระเทียมไทย (ผ่านกรรมวิธีการดอง 7 วัน) น้ำตาลทรายขาว น้ำส้มสายชู และเกลือทะเล
นี่คือต้นกำเนิดของ ‘ซอสพริกศรีราชาพานิช’ อันโด่งดัง ที่มีการตั้งโรงงานใน พ.ศ. 2505 โดยเริ่มจำหน่ายทั่วไปและโด่งดังอย่างมาก ชนิดเป็นที่ร่ำลือกันว่าหากใครได้แวะเวียนมาเที่ยวศรีราชาแล้วก็ต้องแวะซื้อซอสพริกศรีราชาพานิชนี้กลับไปด้วยร่ำไป
ก่อนที่จะถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธุรกิจในครัวเรือนนี้ บริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของซอสตราภูเขาทองได้เข้าซื้อกิจการใน พ.ศ. 2527 และผลิตซอสพริกศรีราชาออกจำหน่ายในวงกว้าง ให้คนไทยได้มีโอกาสลิ้มรสความอร่อยอันเป็นเอกลักษณ์ของซอสนี้ โดยหัวใจสำคัญคือ ‘รสชาติ’ นั้นยังได้รับการรักษาให้ถูกต้องตรงตามต้นตำรับด้วย
แต่แน่นอนว่าอะไรที่ดีย่อมมีคนที่ได้รับแรงบันดาลใจ และนำไปสู่การคิดค้นซอสพริกศรีราชาในสูตรที่มีความแตกต่างกันออกไป เช่น ซอสพริกศรีราชา ตราเกาะลอย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งยี่ห้อระดับตำนานเช่นเดียวกัน
สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดคือแรงบันดาลใจนี้ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงแผ่นดินที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบ
กับการกำเนิดของซอสพริกศรีราชาจากการ Re-create ของชาวเวียดนามที่เดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดินแดนแห่งเสรีภาพ
‘Sriracha’ ซอสตราไก่ที่พิชิตหัวใจชาวอเมริกัน
เดวิด ทราน ชายชาวเวียดนาม กำลังเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองบนชีวิตที่เรียบง่ายในการผลิตซอสเผ็ดที่เอาไว้รับประทานกับเฝอ และกรอกใส่ขวดเร่ขายไปตามถนนในบ้านเกิด
แต่เพราะชีวิตในประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนามนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และนั่นทำให้เขาตัดสินใจที่จะหนีไปตายเอาดาบหน้าด้วยการเดินทางหลบหนีไปกับเรือสัญชาติไต้หวันที่ชื่อ ‘ฮุยฟง’ (Huy Fong) ซึ่งชื่อนั้นมีความหมายว่า ‘เพื่อความเจริญรุ่งเรือง’ โดยหลังการเดินทางอันยาวนานและแสนยากลำบาก ที่สุดแล้วทรานและครอบครัวก็ได้มาถึงแผ่นดินอเมริกาจนได้
เดวิด ทราน – ภาพ: Gina Ferazzi / Los Angeles Times via Getty Images
และเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่บนแผ่นดินที่เขาไม่เคยรู้จัก ทรานตัดสินใจที่จะเริ่มต้นทำในสิ่งที่เขาถนัดอีกครั้ง และมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจด้วยการขายซอสเผ็ดที่ไม่มีขายในอเมริกา ให้แก่ชุมชนของชาวเอเชียอาคเนย์ที่เดินทางไปตั้งรกรากอยู่ที่แคลิฟอร์เนียเป็นจำนวนมาก
อาศัยแรงบันดาลใจจากรสชาติของซอสพริกศรีราชาเป็นสารตั้งต้น ทรานเติมความเป็นตัวของตัวเองในการเพิ่มความเผ็ดร้อนขึ้นไปอีก โดยมีส่วนประกอบสำคัญที่แตกต่างจากซอสพริกศรีราชาตำรับดั้งเดิมคือพริกจาลาปิโน
ปรากฏว่าซอสเผ็ดของเขาถูกอกถูกใจคนเป็นจำนวนมาก ไม่เฉพาะแค่ในครัวเรือนของชาวเอเชียอาคเนย์ แต่ยังรวมถึงตามร้านอาหารเอเชียที่สั่งซื้อซอสของเขาเป็นจำนวนมาก และทำให้จากเดิมที่ผลิตกันในครัวเรือน กรอกใส่ขวดกันทีละขวด ทรานเริ่มตั้งโรงงานผลิตอย่างจริงจัง และนับจากนั้นก็ไม่มีอะไรหยุดเขาได้อีก
ซอสพริกที่ผลิตจากโรงงาน ‘ฮุยฟง’ ซึ่งทรานตั้งชื่อตามเรือที่นำพาเขามาสู่ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ในขวดใสมีฝาสีเขียว แปะโลโก้แบรนด์เป็นรูปไก่ (โต้ง) ซึ่งก็ไม่ได้มีที่มาซับซ้อนอะไร แค่เป็นปีนักษัตรของเขา (และทรานก็ลืมไปแล้วว่าใครเป็นคนออกแบบ แต่ก็ใช้โลโก้นี้ไม่เคยเปลี่ยนจนถึงวันนี้) กลายเป็นขวัญใจของอเมริกันชน
โดยที่คนรักนั้นแทบไม่ได้ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกเวลานาที
‘Secret Sauce’ พิชิตอเมริกาด้วยการตลาด 0 ดอลลาร์
เรื่องที่ทำให้ซอสพริกศรีราชาตราไก่ของเดวิด ทราน กลายเป็นตำราการตลาดระดับสุดยอดคือ การที่เขาทำให้ซอสชนิดนี้กลายเป็นซอสที่ขายดีลำดับต้นๆ และเป็นที่รู้จักไม่เฉพาะแค่ในหมู่คนเอเชีย แต่เป็นชาวอเมริกัน และลามไปถึงตลาดโลก
ที่เจ๋งคือความสำเร็จนี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้ใช้งบการตลาดเลยแม้แต่ดอลลาร์เดียว!
ปรากฏการณ์ ‘Sriracha’ นั้นเกิดขึ้นจากการพูดกันแบบปากต่อปาก โดยเริ่มจากในหมู่ชาวเอเชียด้วยกันที่เป็นลูกค้าประจำของซอสพริกศรีราชาตราไก่ในยุค 80 ที่นำไปสู่การเริ่มพูดถึงวงในแคบๆ ในกลุ่มพ่อครัวแม่ครัวด้วยกันเกี่ยวกับซอสเผ็ดของดียี่ห้อหนึ่ง ซึ่งในยุค 90 นั้นไม่ได้มีการเรียกชื่อว่าเป็นซอส Sriracha อะไร
สิ่งที่เรียกกันในช่วงนั้นคือ ‘Secret Sauce’ หรือ ‘ซอสลับ’
และเพราะความลับไม่มีในโลก ซอสลับที่เกิดในแคลิฟอร์เนียได้เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงกลางปี 2000 ซอสพริกศรีราชาตราไก่มีการเติบโตสูงถึงกว่า 150% โตเร็วยิ่งกว่าใครในตลาด ตามร้านอาหารในอเมริกาต้องมีซอสนี้สำหรับลูกค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตต้องสั่งซื้อเอาไว้ เพราะความต้องการของซอสเผ็ดแบรนด์นี้สูงจนน่าเหลือเชื่อ
ในช่วงปี 2010 แบรนด์คู่แข่งเริ่มต้นคิดค้นซอสศรีราชาของตัวเองขึ้นมา แต่ก็ถูกแฟนคลับหยามหยันว่าซอสชนิดนี้ไม่มีทางผลิตเลียนแบบได้ (คนไทยอาจจะเลิกคิ้วนิดหนึ่งเมื่อได้ยิน) และบรรดาเชฟชั้นนำก็เริ่มคิดค้นสูตรอาหารที่ใช้ซอสศรีราชามาประกอบอาหาร (เช่น ปีกไก่ทอดศรีราชา)
ก่อนที่จะเกิดกระแสที่รุนแรงในช่วงปี 2013 ที่ชาวอเมริกันเริ่มเอาซอสศรีราชามาเหยาะใส่ของกินทุกอย่าง
Sriracha กลายเป็นราชาแห่งซอสไปโดยที่บริษัทแม่อย่าง Huy Fong Foods, Inc. กอบโกยรายได้ถึง 150 ล้านดอลลาร์ หรือ 5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.9% ของตลาดซอสเผ็ดในอเมริกา โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าการตลาดเลย
ตัวเลขดังกล่าวทำให้ศรีราชาพานิช ต้นตำรับตัวจริงได้แต่มองตาปริบๆ แต่ไม่ใช่พวกเขาไม่คิดที่จะลุกขึ้นสู้
เมื่อ ‘ของแท้’ แต่ดันกลายเป็นผู้ท้าชิง
เอาละ มาถึงตรงนี้แล้วคงพอจะเข้าใจแล้วว่าซอสพริกศรีราชานั้นมีต้นกำเนิดที่อำเภอศรีราชา ประเทศไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอาหารของคนไทยจริงๆ
แต่ในมุมของเดวิด ทราน เจ้าของ ‘Sriracha’ ซอสตำรับของเขาที่เป็น ‘ที่รัก’ ของชาวอเมริกันนั้นเป็นผลงานการคิดค้นปรับปรุงรสชาติของตัวเอง เพียงแค่ได้รับแรงบันดาลใจจากซอสที่ถูกปากถูกใจอย่างซอสพริกศรีราชาพานิชเท่านั้น และซอสทั้งสองก็ไม่ได้มีรสชาติที่เหมือนกันด้วย
อย่างไรก็ดีเมื่อมูลค่าตลาดซอสเผ็ดในอเมริกานั้นสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 50,000 ล้านบาท ก็ไม่แปลกที่บริษัทไทยเทพรสจะอยากนำซอสศรีราชาพานิช ต้นตำรับของซอสลับไปให้อเมริกันชนชิมบ้าง ซึ่งดันสวนทางกับซอสพริกศรีราชาตราไก่ของทราน ที่ส่งออกสู่ตลาดโลกและมาถึงซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยด้วยราคาที่สูงกว่าซอสพริกศรีราชาตำรับบ้านเรา
เรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นดราม่าอยู่ประมาณหนึ่ง และกลายเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้หลายคนได้รู้เกี่ยวกับเรื่องของการจดทะเบียนทางการค้า โดยเฉพาะในเรื่องประเด็นที่ว่า ‘ศรีราชา’ (Sriracha) เป็นชื่ออำเภอในประเทศไทย แต่ทำไมถูกชาวเวียดนามนำไปจดทะเบียนการค้าในสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน
เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ไขปริศนาของคำถามที่ว่า ใครเป็นเจ้าของสิทธิชื่อ ‘ซอสพริกศรีราชา’ โดยอธิบายว่า คำว่า ‘ศรีราชา’ เป็นชื่อในอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี และถือเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ‘ไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้’ แต่ผู้ประกอบการสามารถใช้คำว่า ‘ซอสพริกศรีราชา’ บรรยายสินค้า โดยจะต้องมีโลโก้หรือเครื่องหมายการค้าของตนกำกับด้วยเสมอ
สรุปง่ายๆ คือใครก็ใช้คำว่า ‘ซอสพริกศรีราชา’ ได้ แต่ต้องมีโลโก้หรือเครื่องหมายการค้าของตนเองกำกับด้วยเสมอ แต่ถ้าวันหนึ่งผู้ผลิตพิสูจน์ได้ว่า พริกที่ปลูกมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ หรือมีลักษณะพิเศษต่างจากพริกแหล่งอื่น และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) ในประเทศไทยคำว่า ‘ซอสพริกศรีราชา’ ก็จะใช้ได้เฉพาะบริษัทที่ยื่นขอขึ้นทะเบียน GI เพียงผู้เดียว
สำหรับเป้าหมายของซอสพริกศรีราชาพานิชที่เคยให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ไว้เมื่อปี 2019 บัญชา วิญญรัตน์ รองประธานบริษัทไทยเทพรสบอกว่า “ถ้าหากเราสามารถชิงส่วนแบ่งตลาด 1% ที่สหรัฐฯ ได้ ก็นับว่าเราประสบความสำเร็จมากแล้ว”
และจริงอยู่ที่อเมริกันชนผูกพันกับรสชาติของ ‘ซอสตราไก่’ มานาน แต่อย่างน้อยคนไทยก็แอบหวังว่าขอให้พวกเขาได้ลองเปิดใจชิมซอสพริกศรีราชาพานิช (Sriraja Panich) ดูสักหน่อยเถิด
ไม่แน่อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้!
แต่นั่นก็หมายถึงการที่ศรีราชาพานิชต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะการจะสร้างปรากฏการณ์เหมือนที่เดวิด ทราน ทำในช่วง 30 กว่าปีมานี้นั้นไม่ง่าย และที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนใจของคน
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/features/2019-04-06/thaitheparos-sriraja-panich-sriracha-comes-to-the-u-s-market?sref=CVqPBMVg
- https://www.wsj.com/articles/sriracha-hot-sauce-maker-warns-of-summer-shortage-11654915671?mod=e2tw
- https://www.latimes.com/food/dailydish/la-dd-sriracha-documentary-20131211-story.html
- https://vietcetera.com/en/how-huy-fongs-sriracha-hit-150-million-a-year-in-sales-with-zero-marketing
- https://www.thrillist.com/news/nation/history-of-sriracha-origin
- https://vietcetera.com/en/how-huy-fongs-sriracha-hit-150-million-a-year-in-sales-with-zero-marketing
- https://www.konruksriracha.in.th/15414246/-%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP