×

งานวิจัยพบ นโยบายแก้หนี้ของพรรคการเมืองต่างๆ เสี่ยงก่อภาระทางการคลัง ห่วงบั่นทอนเสถียรภาพทำระบบเศรษฐกิจย่ำแย่

13.04.2023
  • LOADING...

งานวิจัยพบนโยบายแก้หนี้ของพรรคการเมืองต่างๆ เช่น การพักหนี้เกษตรกร พักเงินต้นและดอกเบี้ยหนี้ครัวเรือน และการรื้อระบบปล่อยสินเชื่อ เสี่ยงก่อปัญหาด้านภาระทางการคลัง บั่นทอนเสถียรภาพระบบการเงินและการคลังไทย ทำให้ระบบเศรษฐกิจย่ำแย่ลง

 

ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ได้เผยแพร่งานวิจัยในหัวข้อ ‘นโยบายแก้หนี้ ความประสงค์ดีที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย’ ซึ่งทำการศึกษาแนวนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีการเสนอจากพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เช่น การพักหนี้และการรื้อระบบสินเชื่อ โดยพบว่านโยบายเหล่านี้อาจไม่มีประสิทธิผลมากอย่างที่หวังไว้ และในกรณีเลวร้ายอาจทำให้ระบบเศรษฐกิจย่ำแย่ลง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวซึ่งมีผู้เขียนประกอบด้วย กษิดิ์เดช คำพุช, สรวิศ มา และ ฉัตร คำแสง ได้แบ่งแนวนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของพรรคการเมืองต่างๆ ออกเป็น 3 ประเภท มีรายละเอียดดังนี้

 

แนวนโยบายที่ 1: การพักหนี้เกษตรกร ความประสงค์ดีที่อาจได้ผลน้อย

 

เกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความไม่แน่นอนทางรายได้สูง เพราะผลผลิตจากการเพาะปลูกมักขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรมักอ้างอิงราคาตลาดโลก แต่รายจ่าย เช่น ค่าเช่าที่ดินเพาะปลูก ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย กลับไม่ผันผวนตาม ทำให้ในบางเดือนเกษตรกรอาจไม่มีรายได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายต่างๆ จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อนำรายได้ในอนาคตมาทำการเพาะปลูก

 

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของผลผลิตหรือราคาสินค้าด้านเกษตรก็ทำให้เกษตรกรอาจไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ในหลายครั้งหลายครา เกษตรกรจึงจำต้องกู้ยืมเงินก้อนใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้ก้อนเก่า กลายเป็นวงจรหนี้เกษตรกร จากการสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกรของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าครัวเรือนภาคเกษตร 47% มีรายได้เหลือจากการใช้จ่ายจำเป็นไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายสำหรับการชำระหนี้ โดยที่ 27% มีรายได้ไม่พอรายจ่ายจำเป็นพื้นฐาน เป็นสัญญาณอันตรายมากสำหรับสุขภาพการเงินของเกษตรกรไทย

 

ดังนั้นเมื่อพูดถึงนโยบายภาคเกษตร นอกจากนโยบายเงินอุดหนุนต่างๆ ยังมีนโยบายพักหนี้เกษตรกร ให้หยุดจ่ายเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปในอนาคตได้ นโยบายลักษณะนี้ตั้งใจช่วยให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายน้อยลงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีเงินออมมากขึ้นพอสำหรับการลงทุนรอบใหม่ จนสร้างผลตอบแทนพอที่จะชำระหนี้และหลุดจากวงจรหนี้ได้ในที่สุด

 

พรรคการเมืองหนึ่งที่มีนโยบายพักหนี้เกษตรกรคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งกำหนดว่าจะพักหนี้เกษตรกรเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยพรรคยังไม่ได้ระบุรายละเอียดมากนักว่าจะเลือกพักหนี้เกษตรกรกลุ่มใด กำหนดเพดานหนี้ที่สามารถพักได้สูงสุดต่อคนที่เท่าไร ครอบคลุมสินเชื่อจากแหล่งใดบ้าง

 

ในการดำเนินนโยบายพักหนี้ รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ของเจ้าหนี้ที่จะต้องเสียไปจากการพักชำระหนี้เกษตรกรเมื่อคำนวณงบประมาณที่ภาครัฐต้องชดเชยแก่เจ้าหนี้ โดยคาดการณ์จากปริมาณสินเชื่อของเกษตรกรในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมีมูลค่ารวม 1.5 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่เกษตรกรต้องจ่ายประมาณ 2-4% ต่อปี หากรัฐต้องการพักหนี้และช่วยเหลือภาระดอกเบี้ยให้เกษตรกรชั่วคราว โดยให้สิทธิแก่ทุกคนอัตโนมัติอย่างไม่มีเพดานวงเงิน รัฐจะต้องจัดสรรเงินชดเชยแก่ ธ.ก.ส. 30,000-60,000 ล้านบาทต่อปี

 

การเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ตลอดจนการช่วยเหลือด้วยการพักหนี้อย่างไม่มีวงเงินกำหนด ก็จะมีลักษณะเหลื่อมล้ำ คืออาจช่วยเหลือเกษตรกรที่มีฐานะดีมากกว่ากลุ่มเกษตรกรรายเล็กและเปราะบาง เนื่องจากการเข้าถึงสินเชื่อมักจะขึ้นกับหลักทรัพย์และความสามารถในการสร้างรายได้ จากข้อมูลสำมะโนเกษตรกรของไทยปี 2013 ซึ่งเป็นการสำรวจเกษตรกรขนาดใหญ่ที่เผยแพร่ล่าสุด ชี้ว่ากลุ่มเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด 20% แรก มีหนี้ในระบบประมาณ 120,000 บาท ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยที่สุด 20% มีหนี้ในระบบประมาณ 50,000 บาท

 

แม้ว่านโยบายพักหนี้เกษตรกรอาจช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้ในหลักการ แต่จากงานศึกษาเชิงประจักษ์พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ในช่วงปี 2015-2021 ซึ่งมีทั้งนโยบายที่พักชำระหนี้เฉพาะเงินต้น นโยบายพักชำระเงินต้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย และนโยบายพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สุดท้ายมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-4% ต่อปี และหากเกษตรกรสามารถพักหนี้ได้หลายบัญชีหรือได้รับระยะเวลาพักหนี้นาน ก็จะยิ่งทำให้เกษตรกรสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเดิม

 

สำหรับผลกระทบต่อการชำระหนี้ แม้เกษตรกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ 1 ปี จะสามารถชำระหนี้ได้ตรงต่อเวลามากขึ้นเนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายลดลง แต่ในทางกลับกัน หากเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้ 3-4 ปี จะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นโยบายพักชำระหนี้ยังไม่ได้ช่วยเพิ่มปริมาณการออมและพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด

 

นอกจากนโยบายพักหนี้เกษตรกรแล้ว ยังมีอีกหนึ่งแนวนโยบายคล้ายคลึงกันที่ถูกพูดถึงบ่อยคือ การพักหนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เกิดขึ้นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งหวังช่วยให้ SMEs ที่มีหนี้เสียในช่วงโควิดได้มีภาระการชำระหนี้ลดลง ทำให้สามารถกลับมาฟื้นฟูกิจการและมีเงินชำระหนี้ที่ได้ก่อไว้ ซึ่งแม้นโยบายพักหนี้ SMEs จะมีความหวังดีเหมือนนโยบายพักหนี้เกษตรกร แต่ก็อาจได้ผลน้อยหรือได้ผลในทางตรงข้ามเฉกเช่นกรณีการพักหนี้เกษตรกร

 

แนวนโยบายที่ 2: นโยบายพักหนี้ครัวเรือน หยุดต้น ปลอดดอก รายจ่ายรัฐโปร่ง

 

ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้เป็นหนี้ราว 25 ล้านคน ซึ่งมีหนี้สินโดยเฉลี่ยราว 5-6 แสนบาทต่อคน เมื่อพิจารณาโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในระบบปัจจุบันจากข้อมูลปริมาณหนี้ในระบบทั้งหมด 15.4 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่คือสินเชื่อที่อยู่อาศัย 34.4% รองลงมาคือสินเชื่อเพื่ออุปโภคหรือบริโภค 27.5% ตามมาด้วยสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ และยานพาหนะ 17.6% และ 11.7% ตามลำดับ โดยสินเชื่อแต่ละประเภทมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

 

หนึ่งในนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2023 คือนโยบายพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่หนี้ครัวเรือนในระบบ นโยบายพักหนี้กรณีนี้มีขนาดใหญ่กว่านโยบายพักหนี้เกษตรกรเป็นอย่างมาก อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไปก็สูงกว่าสินเชื่อเกษตรกร โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคหรือบริโภค ดังนั้นภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นจากแนวนโยบายนี้ย่อมมีปริมาณที่สูงกว่าแนวนโยบายพักหนี้เกษตรกรเป็นอย่างมาก

 

นโยบายพักชำระหนี้ครัวเรือนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเป็นข้อเสนอของพรรคภูมิใจไทย ภายใต้ชื่อ ‘พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท’ ซึ่งเป็นการพักหนี้รายคน โดยกำหนดเพดานวงเงินเข้าโครงการไม่เกินคนละ 1 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุมทั้งสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน สหกรณ์ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนหมู่บ้าน บัตรเครดิต ไฟแนนซ์ และลีสซิ่ง อย่างไรก็ตาม อาจมีพรรคการเมืองอื่นนำเสนอการพักหนี้ครัวเรือนอีกได้ในอนาคต

 

เนื่องจากข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวกับหนี้สินรายบุคคลยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึง 101 PUB จึงจำลองความเป็นได้ของภาระงบประมาณที่ใช้ในแต่ละกรณี ซึ่งมีเงื่อนไขในการคำนวณดังนี้

 

  • ปริมาณหนี้เฉลี่ยที่แต่ละคนจะนำเข้าโครงการพักหนี้ แบ่งเป็น 3 ระดับย่อย คือ 150,000 บาท/คน 350,000 บาท/คน และ 550,000 บาท/คน ในกรณีหนี้เฉลี่ยรายคนน้อยที่สุดอาจเกิดขึ้นได้ เพราะคนที่มีหนี้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่กู้เงินเพิ่มเพื่อหวังพักหนี้ ส่วนคนที่มีหนี้ไม่เกิน 1 ล้านบาท สามารถพักหนี้ได้เพียง 1 ล้านบาท ทำให้หนี้เฉลี่ยรายคนที่เข้าโครงการพักหนี้ไม่สูง ในกรณีหนี้เฉลี่ยรายคนสูงสุด (550,000 บาท/คน) อาจเกิดจากคนกู้เงินเพิ่มเพื่อใช้สิทธิ์พักหนี้ให้ได้มากที่สุด หรืออาจมีนโยบายของพรรคใดที่เสนอเพิ่มเติมโดยผ่อนคลายเพดานวงเงิน
  • ดอกเบี้ยเฉลี่ยของสินเชื่อที่เข้าโครงการพักหนี้ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 9% 12% และ 15% ต่อปี ในกรณีดอกเบี้ยสินเชื่อน้อยที่สุด (9%) อาจเกิดขึ้นได้ถ้าคนที่พักหนี้ไม่ปรับโครงสร้างหนี้ตัวเองจากเดิม ส่วนกรณีดอกเบี้ยสินเชื่อสูงที่สุด (15%) อาจเกิดขึ้นเมื่อคนที่พักหนี้เลือกพักหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เพื่อลดภาระการชำระหนี้ในระหว่างพักหนี้ให้ได้มากที่สุด

 

ในกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการน้อย (เฉลี่ย 150,000 บาท/คน) และดอกเบี้ยเป็นไปตามค่าเฉลี่ยของดอกเบี้ยสินเชื่อปัจจุบัน (9%) รัฐจะต้องชดเชยดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ปีละ 345,938 ล้านบาท คิดเป็น 13.9% ของรายรับของรัฐบาล ในกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการปานกลาง (เฉลี่ย 350,000 บาท/คน) และมีเฉพาะคนบางส่วนที่เลือกพักหนี้ดอกเบี้ยสูงแทนหนี้ดอกเบี้ยต่ำ (12%) รัฐจะต้องชดเชยดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้รวมกับจ่ายผลตอบแทนพันธบัตรเพื่อกู้เงินมาดำเนินนโยบายปีละ 1,076,250 ล้านบาท คิดเป็น 43.2% ของรายรับของรัฐบาล ส่วนกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการมาก (เฉลี่ย 550,000 บาท/คน) และมีคนจำนวนมากเลือกพักหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงเพื่อที่จะได้ใช้สิทธิ์การพักหนี้ให้มากที่สุด รัฐอาจต้องจัดสรรงบประมาณมากถึง 2,114,063 ล้านบาท คิดเป็น 84.9% ของรายรับรัฐบาล

 

แนวนโยบายที่ 3: กล้าที่จะยกเลิก ‘แบล็กลิสต์เครดิตบูโร’ ที่ไม่มีอยู่จริง

 

นโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอีกทางหนึ่งที่ถูกหาเสียงคือการยกเลิก ‘แบล็กลิสต์เครดิตบูโร’ พร้อมทั้งรื้อระบบการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะพรรคชาติพัฒนากล้า โดยมีเป้าหมายให้คนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปกู้เงินนอกระบบซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่ามาก

 

ในรายละเอียด ข้อเสนอนี้ต้องการยกเลิกระบบ ‘แบล็กลิสต์’ ของเครดิตบูโร ที่ทำให้ผู้ขอกู้ถูกปฏิเสธสินเชื่อ แล้วปรับระบบการประเมินสินเชื่อโดยใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ร่วมด้วย เช่น รายได้ของผู้กู้ รูปแบบการใช้จ่ายเงิน ประวัติการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น อีกทั้งยังเสนอให้เครดิตบูโรต้องปรับเปลี่ยนการรายงานข้อมูลเป็นคะแนนเครดิต (Credit Score) แทนการรายงานแบบเดิมที่มีเพียงประวัติการชำระหนี้ ทำให้ผู้ที่เคยมีประวัติเสีย (ผิดนัดชำระหนี้) อาทิ ผู้ขาดรายได้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจนต้องถูก ‘แบล็กลิสต์’ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ทั้งที่ในปัจจุบันอาจมีรายได้และความสามารถในการชำระหนี้กลับคืนมาแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กลับไม่มีการรายงานหรือจัดทำข้อมูล ‘แบล็กลิสต์’ ดังที่พรรคชาติพัฒนากล้าระบุไว้ หากแต่มีเพียงข้อมูลด้านสินเชื่อของผู้กู้ เช่น ประวัติการชำระหนี้ วงเงินที่ได้รับอนุมัติและวงเงินที่ใช้ไป สถานะของบัญชีสินเชื่อ เป็นต้น โดยสิ่งที่ใกล้เคียงคำว่า ‘แบล็กลิสต์’ มากที่สุดคือประวัติการผิดนัดชำระหนี้ที่ผ่านมาเท่านั้น นอกจากนี้เครดิตบูโรยังมีการจัดทำและรายงานข้อมูลเป็นคะแนนเครดิตอยู่แล้ว

 

สิ่งเดียวจากข้อเสนอของพรรคชาติพัฒนากล้าที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ คือการเพิ่มข้อมูลทางเลือกเข้าไปในระบบฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ซึ่งถือเป็นส่วนที่ช่วยคนจำนวนมากให้มีข้อมูลในระบบการประเมินสินเชื่อได้ ภายใต้สังคมที่มีแรงงานหรือธุรกิจนอกระบบมากกว่าครึ่งในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ดำเนินงานในต่างประเทศพบว่า การใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ในการประเมินคะแนนเครดิตของผู้กู้เพียงทางเดียวจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำน้อยกว่าผลจากข้อมูลเครดิตแบบดั้งเดิม (Traditional Data) แต่หากผู้ประเมินสามารถนำชุดข้อมูลทั้งสองมารวมกัน (Combined Data) จะได้ผลลัพธ์การประเมินความน่าเชื่อถือที่แม่นยำที่สุด กล่าวคือการประเมินความน่าเชื่อถือด้วยชุดข้อมูลรวมจะช่วยให้ผู้ปล่อยกู้สามารถเลือกปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ได้แม่นยำที่สุด

 

การมุ่งแก้ไขที่จะรื้อระบบสินเชื่อด้วยความหวังดีที่จะให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้นนี้จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะหากรื้อระบบสินเชื่อโดยการลดความสำคัญของประวัติการชำระหนี้ จะทำให้การประเมินความน่าเชื่อถือของผู้กู้ได้ไม่แม่นยำ อีกทั้งยังทำให้ลูกหนี้ได้รับผลเสียน้อยลงเมื่อเบี้ยวหนี้ และถ้ามีการเบี้ยวหนี้เพิ่มมากขึ้นประกอบกับผู้ปล่อยกู้ไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือได้อย่างแม่นยำ ผู้ปล่อยกู้ก็ย่อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่จะถูกเบี้ยวหนี้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเลือกปล่อยกู้น้อยลงด้วยความหวาดระแวง ทำให้ท้ายที่สุด โอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้นดังที่หวังไว้

 

เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างมีประสิทธิผล แนวนโยบายที่ควรทำนั้นไม่ใช่การลดความสำคัญของประวัติการชำระหนี้ หากแต่เป็นการเพิ่มข้อมูลในระบบให้มากขึ้น ซึ่งต้องเพิ่มทั้งความครอบคลุมของคน ระยะเวลาของข้อมูล และประเภทข้อมูลที่ใช้ เพื่อช่วยให้ผู้ปล่อยกู้สามารถเข้าใจสถานการณ์ของผู้กู้และประเมินสินเชื่อได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

 

นอกจากระบบข้อมูลแล้ว การเพิ่มการแข่งขันในระบบการเงินโดยรวมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน โดยการเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการด้านการเงิน พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีบริการสินเชื่อที่หลากหลายและสะท้อนตามความเสี่ยงของผู้กู้ จะช่วยเพิ่มความแข่งขันในระบบการเงินและช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้แก่ผู้ที่มีศักยภาพแต่เดิมไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

 

เสนอนโยบายแก้ปัญหาหนี้ แต่อาจสร้างปัญหาใหม่แทน

 

งานวิจัยของ 101 PUB ระบุว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในขณะนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ และควรมีแนวทางบริหารจัดการโดยเร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องดีที่หลายพรรคการเมืองให้ความสนใจและทำให้มีข้อเสนอแนะจำนวนมากให้ได้วิเคราะห์และตัดสินใจกัน

 

อย่างไรก็ดี แนวนโยบายเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา อาทิ ปัญหาด้านภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลเลือกรับภาระหนี้ภาคครัวเรือนแทนประชาชน และปัญหาด้านประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรของระบบการเงิน ตลอดจนการบั่นทอนเสถียรภาพระบบการเงินและการคลังไทย อาจกลายเป็นการกระทำที่ได้ไม่คุ้มเสีย

 

เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลารอทำร้ายระบบเศรษฐกิจไทย แนวนโยบายที่จะนำมาใช้ควรต้องคำนึงถึงผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การทำงานบนฐานของชุดข้อมูลความรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากไร้ซึ่งชุดข้อมูลความรู้ ก็ไม่อาจที่จะเข้าใจถึงสถานการณ์และผลกระทบที่ตามมาจากการกระทำนั้นๆ ได้

 

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่ https://101pub.org/household-debt-policy/?fbclid=IwAR3D0bPfTwDxMJ-HOCYgSfegSfyMMKIDlKJuvNi6eHGcWvsAlvFM9Qvp794

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising