×

คลังห่วง ‘นโยบายหาเสียงพรรคการเมือง’ ใช้งบเกินเป้าการคลังระยะกลาง ชี้กู้เพิ่มได้ แต่ต้องสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

25.04.2023
  • LOADING...

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังห่วงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ใช้งบประมาณเกินกว่าแผนการคลังระยะปานกลางที่ตั้งไว้ ชี้กู้เพิ่มได้ แต่ต้องสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ไม่สร้างภาระต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน

 

วันนี้ (25 เมษายน) พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีที่พรรคการเมืองต่างๆ ออกนโยบายหาเสียงซึ่งมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากว่า หลังการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ยังคงต้องใช้งบประมาณปี 2566 ไปก่อน เพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่มาดำเนินการจัดทำงบประมาณปี 2567 

 

สอดคล้องกับ เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่ก่อนหน้านี้เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ครม. ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโดยปกติขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่การจัดทำงบประมาณ 2567 อยู่ในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ขั้นตอนทางกฎหมายต้องหยุดเอาไว้ก่อน เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาหลังจากการเลือกตั้งได้ทบทวนรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ก่อนที่จะเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

 

ห่วงนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ใช้งบ ‘เกิน’

 

พรชัยยังกล่าวว่า สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตั้งไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ระหว่างปี 2567-2570) ซึ่งมีเป้าหมายหลัก ได้แก่ การปรับลดขนาดการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกิน 3% ต่อ GDP และมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

 

“การกำหนดงบรายจ่ายประจำปี 2567 ไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนใช้จ่ายงบประจำ งบลงทุนไว้หมดแล้ว เท่าที่ติดตามข่าวนโยบายพรรคการเมือง มีหลายโครงการใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท ค่อนข้างจะเกินจากรายจ่ายที่กำหนดเอาไว้ ดังนั้นจะต้องดูว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่ เมื่อแถลงนโยบายต่อสภา จะใช้งบประมาณจากแหล่งใด ต้องมีการปรับแผนการคลังหรือไม่” พรชัยกล่าว

 

โดยก่อนหน้านี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า งบประมาณปี 2567 มีอยู่ประมาณ 3.35 ล้านล้านบาท หลังหักงบประจำ งบเงินเดือน งบผูกพัน และงบใช้จ่ายหนี้เงินกู้แล้ว ยังเหลือวงเงินที่มาบริหารจัดการโครงการใดก็ได้ ‘ประมาณ 2 แสนล้านบาท’ เท่านั้น

 

โดยหากยึดตามแผนการคลังปัจจุบัน และระดับเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยที่ตั้งไว้ที่ไม่เกิน 70% ของ GDP สะท้อนว่ารัฐบาลสามารถกู้ได้อีกราว 1.56 ล้านล้านบาท จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งอยู่ที่ 61.13% 

 

กู้เพิ่มได้ แต่ต้องสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม พรชัยระบุว่า แม้ยังมีพื้นที่อยู่ แต่รัฐบาลไม่ต้องใช้เต็มวงก็ได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อรุ่นลูกรุ่นหลานในการหาเงินมาใช้คืน รวมถึงไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับเครดิตของประเทศ เพื่อไม่ให้บริษัทจัดอันดับเครดิตต่างๆ มองว่าไทยใช้จ่ายไม่สมเหตุสมผล เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

 

นอกจากนี้พรชัยยังระบุอีกว่า การกู้เงินเพิ่มสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เช่น การกู้เพื่อนำไปใช้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการกู้เพื่อการลงทุน สร้างผลตอบแทนกลับคืนสู่ประเทศ โดยทางด้านวินัยการคลังมักมองว่าควรกู้เพื่อการลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เป็นต้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising