×

ชีวิตที่เคยถูกคิดว่า ‘บ้า’ เพียงเพราะอยากปลูกต้นไม้ของ คุณหญิง ดร.กัลยา โสภณพนิช ประธานมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
24.12.2018
  • LOADING...

ท่ามกลางสถานการณ์พื้นที่สีเขียวในประเทศไทยค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนเริ่มเป็นที่มาของแคมเปญปลูกต้นไม้ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ในวันที่ผู้คนยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้เท่าไรนัก ยังมีผู้หญิงคนหนึ่งที่เริ่มชวนเพื่อนๆ ออกไปปั่นจักรยานเพื่อหาพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่สามารถปลูกต้นไม้ขึ้นมาได้ ถึงแม้ในวันนั้นจะยังไม่มีคนเห็นด้วย เธอต้องไปนั่งรอวันละหลายชั่วโมงเพื่อขอเข้าไปอธิบายในสิ่งที่เธอทำ บางคนถึงขนาดคิดว่าเธอ ‘บ้า’ ที่มาทำอะไรแบบนี้

 

เธอคือ คุณหญิง ดร.กัลยา โสภณพนิช เด็กหญิงที่เติบโตท่ามกลางธรรมชาติ ไม่มีแม้แต่น้ำประปาหรือไฟฟ้า กลายเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขานิวเคลียร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

และเหนือสิ่งอื่นใด เธอคือผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ที่มีเป้าหมายคือการเพิ่มต้นไม้ยืนต้นให้กับแผ่นดินของพระราชาให้ได้มากที่สุดเท่าที่กำลังของเธอพอจะทำได้ และรณรงค์ปลูก ‘ต้นไม้ในใจ’ ให้กับผู้คนรอบข้าง และส่งต่อผืนป่าอันแสนอุดมสมบูรณ์ และอากาศอันแสนบริสุทธิ์ให้กับลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต

 

ชีวิตของคุณหญิงเริ่มผูกพันกับธรรมชาติมาตั้งแต่เมื่อไร

เริ่มจากการเป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เรียกว่าอยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่เกิดจนโตเรียนหนังสือ เพราะไม่มีแม้กระทั่งน้ำประปาหรือไฟฟ้าให้ใช้ ต้องหาบน้ำจากคลองมากวนสารส้มเพื่อเอาไว้ใช้ ส่วนน้ำดื่มก็รองจากน้ำฝน

 

แล้วก็จะมีความสุขมากกับการได้ลงเล่นน้ำในคลอง ได้เรียนว่ายน้ำจากธรรมชาติที่ไม่มีสระมาตรฐานเหมือนในกรุงเทพฯ ครูของเราคือดิน หิน ทราย โคลนกับน้ำ ชุดว่ายน้ำก็ไม่มี วันพีซ ทูพีซ ใส่ผ้าถุงนุ่งกระโจมอก ตีโป่งลอยตัวข้ามจากอีกฝั่งไปอีกฝั่ง เป็นความสุข

 

เรียนหนังสือก็ที่ศาลาวัด ห้องน้ำก็คือป่าข้างๆ ศาลา จะอ่านหนังสือก็ชอบปีนขึ้นไปอ่านบนต้นไม้เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและฝึกสมาธิ หลังจากนั้นก็สมัครเป็นยุวเกษตรกร ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู อาบน้ำ แปรงขนล้างขี้หมูด้วยมือเปล่า เท้าเปล่า เป็นความน่าภูมิใจอีกอย่าง เพราะที่เราทำทั้งหมดสามารถเปลี่ยนเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้

 

 

จากเด็กที่อยู่กับธรรมชาติมาตลอด เริ่มมีความสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไร

ตั้งแต่เรียนหนังสือ เพราะเราเรียนพวกวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้ดี ตอนนั้นยังไม่มีการสอนวิชาแนะแนวแบบจริงจัง เราคิดว่าเรียนอะไรได้ดีก็ควรจะเลือกอย่างนั้น อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากที่คุณพ่อเป็นคนสนใจเรื่องเครื่องจักร กลไก ทำให้เรารู้จักพวกเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ จากคุณพ่อ แล้วก็เข้ามาเรียนต่อเป็นนักเรียนประจำที่กรุงเทพฯ แล้วก็เลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ตอนนั้นคิดว่า ชีวิต ธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้ เพราะวิทยาศาสตร์คือวิชาการที่ศึกษาธรรมชาติ เพื่อมาคิด ประดิษฐ์สิ่งที่สามารถแปรความเป็นธรรมชาติ และอำนวยความสะดวกสบายตามความต้องการของมนุษย์ให้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าทุกอย่างในชีวิตของเราตั้งแต่ตื่นมา ล้างหน้า แปรงฟัน กินอาหาร ทำงาน ไปจนถึงเข้านอน จะต้องมีเรื่องของธรรมชาติและวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งนั้น  

 

แล้วก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผกผันชีวิตตอนปี 5 มีอาจารย์ที่คณะถามว่า มีใครอยากไปเมืองนอก ยังไม่ทันคิดอะไร เราก็รีบยกมือทันที เพราะอยากไปใช้ชีวิตที่เมืองนอก ตอนแรกเราคิดว่าจะไปแค่ปีเดียว แต่ที่วิทยาลัยอิมพีเรียล ในเครือมหาวิทยาลัยลอนดอน เขาจะมีการสอบ qualifying ที่ถ้าเราผ่านจะสามารถเรียนทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกพร้อมกันได้ ก็เลยต้องอยู่ยาวไปอีก 5 ปี จนจบปริญญาเอกสาขา High-energy Nuclear Physics

 

 

จากคนเรียนที่จบปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ เริ่มมีความคิดกลับมาทำงานเกี่ยวกับธรรมชาติอีกครั้งได้อย่างไร

ได้รับแรงบันดาลใจเรื่องต้นไม้ตั้งแต่เรียนที่อังกฤษ ที่นั่นเขามีแดดน้อย ทำให้ต้นไม้เติบโตได้ไม่ดีเท่าในบ้านเรา ทำให้เห็นว่าคนที่อังกฤษหรือหลายๆ ประเทศในยุโรป ถ้าไปเดินในสวนสาธารณะแล้วเด็ดดอกไม้ออกมาแค่ดอกเดียว คนที่ผ่านมาเขาจะดุคุณทันทีเลย แสดงให้เห็นว่าเขารักต้นไม้มากจริงๆ พอต้นไม้โตขึ้นมาก็จะดูแล ทำแผลให้ต้นไม้ ช่วงหน้าหนาวก็เอาฟางมาห่มเป็นเสื้อให้เพราะกลัวต้นไม้หนาว

 

พอเรากลับมา จากคนที่เติบโตมากับธรรมชาติ ตั้งแต่เด็กๆ เรารู้ว่าป่าไม้ในประเทศเรามีพื้นที่ประมาณ 60-70% พอไปเรียนกลับมาปรากฏว่า ต้นไม้หายหมดเหลือแค่ครึ่งเดียว ก็เลยเริ่มคิดทั้งๆ ที่เรามีป่าไม้ที่มากกว่าเขาตั้งเยอะ ในขณะที่เขาพยายามรักษา แต่ของเรากลับมีน้อยลง ทำไมเราถึงไม่มาช่วยกันฟื้นฟูต้นไม้ เพราะต้นไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียวในโลกที่เราสามารถฟื้นฟูได้ในช่วงชีวิตของเรา

 

ตอนนั้นกลับมาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ชวนนักศึกษากับเพื่อนๆ ที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน ตั้งเป็นโครงการเล็กๆ ที่ชื่อ ราชพฤกษ์ เพราะเราอยากปลูกต้นไม้แทนคุณแผ่นดินของพระราชา แล้วปั่นจักรยานไปรอบๆ เมืองเพื่อดูว่ามีพื้นที่ไหนที่พอจะให้เราปลูกต้นไม้ขึ้นมาได้บ้าง พอปี พ.ศ. 2529 ก็ตั้งเป็นมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ขึ้นมาเพื่อเดินหน้าอย่างจริงจัง

 

 

ผลตอบรับของคนส่วนใหญ่กับโครงการปลูกต้นในเวลานั้นเป็นอย่างไร

มีคนบอกว่าคุณหญิงบ้า (หัวเราะ) เพราะคนไทยจะรู้สึกว่าเรามีป่าไม้เยอะแยะอยู่แล้ว จะปลูกไปเพื่ออะไร แต่เราไม่คิดแบบนั้น แล้วก็ไม่สนว่าใครจะมองเราอย่างไร เพราะเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราคิดและทำเป็นผลดีกับส่วนรวม เป็นผลดีกับประเทศชาติ ก็มุ่งมั่นทำมาตลอด เจอปัญหาเยอะแยะมากมาย ต้องติดต่อเข้าไปคุยกับหน่วยงาน ห้างร้านต่างๆ เพื่ออธิบายว่าเรากำลังทำอะไรเพื่อขอความสนับสนุน บางที่ก็ต้องไปรอหลายชั่วโมง สุดท้ายไม่ได้เข้าไปคุยด้วยซ้ำไป มีไม่ถึง 20% ด้วยซ้ำนะที่เขาเข้าใจและให้ความร่วมมือกับเรา

 

 

เคยคิดบ้างไหมว่าเราเองก็เป็นคุณหญิง ต้องแบกหน้ามาทำอะไรแบบนี้ แต่ทำไมไม่มีคนสนใจเราเท่าที่ควร

ไม่เคยเลย เพราะพื้นฐานเรามาจากคนต่างจังหวัด ที่ไม่มีอะไรสะดวกสบายอยู่แล้ว รวมทั้งการไปเรียนเมืองนอกที่สอนให้เป็นคนอดทนอดกลั้น เคยคิดมาตลอดนะคะว่า ถ้าเราขยันได้เท่าตอนเรียนหนังสือ ตอนทำวิจัย ชาตินี้ก็ไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้ว (หัวเราะ)

 

 

เพราะอะไรทำให้คุณหญิงยังเดินหน้าทำโครงการต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เกิดปัญหาขึ้นมามากมาย

เพราะเรารู้ว่างานที่ทำอยู่คืองานที่ต้องทำ และเป็นงานระยะยาวที่หยุดไม่ได้ การที่เราปลูกต้นไม้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ก็ไม่ได้หมายความว่าผลทั้งหมดจะเกิดขึ้นทันที เราต้องรออีกกี่ปีถึงจะเป็นป่าที่สมบูรณ์ แล้วทุกโครงการของมูลนิธิ เราไม่ได้แค่ปลูกอย่างเดียวแล้วจบ เราดูแลจนกว่าพื้นที่ตรงนั้นจะพร้อม ถึงจะส่งมอบต่อให้กรมป่าไม้ ให้ชุมชนดูแลต่อไป เรารู้ดีว่าถ้าเราต้องการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับประเทศไทย เราต้องทำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ถึงจะเหนื่อยแค่ไหนก็ห้ามหยุด

 

อีกหนึ่งอย่างคือ ยังไม่ต้องมองภาพรวมของประเทศ ในทุกๆ วันที่เราออกไปปลูกต้นไม้ทั่วประเทศ ก็ถือว่าเป็นการฟอกปอด ออกไปรับอากาศบริสุทธิ์ อันนี้ได้กับตัวเราเต็มๆ อยู่แล้ว ยิ่งทำไปเรื่อยๆ ยังไม่ต้องเห็นต้นไม้โตทั้งหมด แต่เราเห็นความร่วมมือของคนอื่นๆ ที่เข้าใจมากขึ้น ก็ทำให้มีกำลังใจ

 

มีพระท่านหนึ่งเคยบอก คุณหญิงจะเป็นคนแก่ที่มีความสุข เพราะการปลูกต้นไม้ได้บุญทั้งหลับและตื่น นอกจากปลูกป่าบนพื้น ให้เขามีอากาศที่บริสุทธิ์ ให้สัตว์ป่ามีที่อยู่อาศัย เรายังได้ปลูกต้นไม้ในใจคน มันคือการให้ชีวิตที่ต่อชีวิตออกไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งหมด แล้วจะไม่ให้มีความสุขได้อย่างไร  

 

 

รู้สึกอย่างไรบ้างทั้งๆ ที่มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ก็พยายามปลูกป่าขึ้นมาตลอด แต่ข่าวที่เราได้ยินกลับกลายเป็นว่าพื้นที่ป่าในประเทศกลับเหลือน้อยลงไปทุกที

ไม่ถึงกับเสียใจ เพราะเราอยู่กับความจริง ต้องยอมรับว่าพื้นที่ป่าลดลงปีละเป็นล้านๆ ไร่อยู่แล้ว เรามีวิธีคิดอย่างนี้ว่า สมมติมีคนตัดไม้หนึ่งหมื่นคน ทำให้พื้นที่ลดลงไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐ เพราะเราไม่มีอาวุธ ไม่มีกฎหมายไปทำอะไรเขาได้อยู่แล้ว

 

สิ่งที่เราทำได้คือ มีคนตัดไม้หนึ่งหมื่นคนใช่ไหม แต่เรามีคน 70 ล้านคนนะ ขอแค่ปลูกต้นไม้คนละต้นได้ไหม พวกคนตัดไม้เขาจะตัดได้มากเท่าไรกัน เราก็เลยพยายามรณรงค์ให้ทุกคน เด็ก ผู้ใหญ่ คนรวย คนจน มาปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับแผ่นดิน เพราะผลลัพธ์เราจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันจริงๆ ทั้งคนรวย คนจนจะมีน้ำกิน น้ำใช้ มีที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค และที่สำคัญคือมีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ มูลนิธิอยากสร้างความตระหนักตรงนี้ว่า นี่คือหน้าที่ของพวกเราที่จะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกหลานเหลนโหลนของเราต่อไป 30 กว่าปีมานี้ เราปลูกต้นไม้กว่า 20 ล้านต้น

 

 

มูลนิธิมีวิธีการส่งต่อแนวคิดให้กับคนรุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่ทันได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาป่าไม้อย่างไรบ้าง

ตั้งแต่เริ่มมูลนิธิมา สิ่งที่เรามาทำตลอดคือ การจัดค่ายเยาวชนสู่ความเขียวขจีมา 30 กว่าครั้ง โดยพาเด็กกรุงเทพฯ ไปใช้ชีวิตร่วมกับเด็กต่างจังหวัดที่เติบโตมากับธรรมชาติ ไปนอนกลางดินกินกลางทราย เดินป่าเพื่อให้เราเรียนรู้ชีวิตซึ่งกัน

 

เป็นภาพที่ดีมาก เวลาเห็นเด็กกรุงเทพฯ สามารถกระโดดลงไปเล่นน้ำในแม่น้ำได้เหมือนเด็กต่างจังหวัด เห็นเขาช่วยกันก่อไฟ หุงข้าว ทำอาหาร ได้เดินป่าในเวลากลางคืนที่มืดมาก มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ฟังเสียงของธรรมชาติร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ ซึมซับเรื่องความรักในธรรมชาติของเขาไปทีละน้อย และถ้าเขารู้สึกชอบสัตว์ป่า ชอบต้นไม้ เขาจะคิดต่อว่าจะทำอย่างไร ถ้าวันหนึ่งไม่มีสิ่งเหล่านี้อีกต่อไปแล้ว

 

 

กิจกรรมในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุดคือโครงการไหน

จริงๆ มีหลายโครงการมาก แต่ถ้าต้องเลือกคงเป็นการปลูกป่าที่อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกแล้วรัฐบาลยึดคืนมาได้ เราก็ขอไปปลูกป่าตรงนั้น แล้วได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งกองทัพภาคที่ 2 กรมป่าไม้ อุทยาน สิบหมู่บ้านโดยรอบ และ 4 โรงเรียนในพื้นที่ มาร่วมโครงการกับเราตั้งแต่ต้น

 

จากเดิมเรามีความคิดปลูกในพื้นที่ 136 ไร่ กลายเป็นว่าทุกคนในพื้นที่บอกว่า เขาจะปลูกของเขาเพิ่มเองอีก 80 กว่าไร่ นี่คือสิ่งที่มีความสุขยิ่งกว่าการเห็นต้นไม้ที่เราปลูกเติบโตขึ้นมาบนพื้น คือการได้เห็นต้นไม้ค่อยๆ เติบโตขึ้นในหัวใจของคน ให้เขามีความคิดอยากปลูกต้นไม้ อยากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเขาด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีใครคอยมาบอก

 

และตอนนี้เรากำลังจะทำหลักสูตรป่าไม้ท้องถิ่น เป็นการเรียนการสอนเพื่อปลูกและดูแลต้นไม้โดยเฉพาะที่ใกล้ประสบความสำเร็จเข้าไปทุกที เหลือแค่ให้กระทรวงศึกษาธิการรองรับหลักสูตรนี้เป็นครั้งแรกเท่านั้น

 

 

เป้าหมายต่อไปในอนาคตของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์คืออะไร

ไม่เคยกำหนดเป็นตัวเลขว่าเราจะต้องปลูกต้นไม้ให้ได้เท่าไร หรือพื้นที่สีเขียวจะต้องเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน มูลนิธิเรามีแค่เป้าหมายเดียวมาตลอด คือการเพิ่มจำนวนต้นไม้ยืนต้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้ ไม่ต้องกำหนดตัวเอง เรารู้แค่ว่าเราต้องทำ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีกำลังคนเท่าไร มีกำลังทรัพย์ มีเวลา มีความร่วมมือเท่าไร เราทำให้เต็มที่ที่สุดเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราไม่เคยคาดหวังในเรื่องตัวเลข เรารู้อย่างเดียวแค่ว่า เราจะทำต่อไปอย่างไม่หยุด ไม่ว่าเงื่อนไขจะเป็นอย่างไรก็ตาม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • สามารถเข้าไปดูข้อมูลและผลงานของมูลนิธิราชพฤกษ์ได้ที่ www.facebook.com/rajapruekfoundation
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X