องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่าปี 2015-2018 ที่ผ่านมาเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดติดต่อกันถึง 4 ปี นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่เริ่มเก็บบันทึกสถิติ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนในระยะยาว
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเผยว่า หากย้อนกลับไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ปี 2016 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ตามมาด้วยปี 2015 และ 2017 ในขณะที่ปี 2018 อยู่ในอันดับที่ 4
โดยอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นนี้สามารถตรวจวัดได้ทั้งจากพื้นดินและในมหาสมุทร ซึ่งส่งผลให้ภัยธรรมชาติต่างๆ รุนแรงและเกิดบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพายุเฮอร์ริเคน ความแห้งแล้ง หรือแม้แต่การเกิดน้ำท่วม
ในปีที่ผ่านมา เราเห็นน้ำท่วมในทะเลทราย ไฟป่าที่รุนแรงและขยายพื้นที่อย่างรวดเร็ว เห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย ในปีนี้หลายพื้นที่กำลังประสบภัยหนาวจากอิทธิพลลมหมุนขั้วโลกจนทุบสถิติอุณหภูมิติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ในขณะที่โซนแถบออสเตรเลียกำลังประสบปัญหาน้ำท่วมและคลื่นความร้อนปกคลุมประเทศ ทำให้เดือนมกราคมที่ผ่านมาทุบสถิติเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของออสเตรเลีย วัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 30 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก บางพื้นที่อุณหภูมิสูงเกือบครึ่งหนึ่งของจุดเดือด ราวกับธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณเตือนให้มนุษย์รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งหาทางรับมือและป้องกันสถานการณ์ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: