×

รู้จักสองนักเขียนโนเบลวรรณกรรม 2018-19 กับภาพสะท้อนการเมืองในแวดวงหนังสือ

11.10.2019
  • LOADING...
The Nobel Prize in Literature 2019

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • จากข่าวอื้อฉาวในกรณี #MeToo เมื่อปีที่แล้ว นำมาสู่การมอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมถึง 2 ปีซ้อนในคราวเดียวคือ โอลกา โตการ์ชุก นักเขียนหญิงชาวโปแลนด์ และพีทาร์ ฮานด์เคอ นักเขียนชาวออสเตรีย
  • โตการ์ชุกเริ่มเป็นที่รู้จักในบ้านเรา หลังนวนิยายเรื่อง Flights ของเธอได้รับรางวัล Man Booker International Prize ในปี 2018 และหากไม่เกิดเรื่องฉาวขึ้นจนมีเหตุให้เลื่อนคำประกาศ โตการ์ชุกก็น่าจะได้รับ 2 รางวัลใหญ่ในปีเดียวกัน
  • การให้รางวัลแก่ฮานด์เคอในครั้งนี้ถูกนำไปเปรียบเชิงจิกกัดเหมือนครั้งที่ บ็อบ ดีแลน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาดนตรีประจำปี 2016 โดยปีนี้กลายเป็นรางวัลโนเบลสาขาภาพยนตร์ประจำปี 2019 จากการที่เขาคลุกคลีในแวดวงภาพยนตร์และการละครมากกว่าวงการวรรณกรรม

รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมกับประเด็นการเมืองดูเป็นเรื่องที่มักถูกนำมาผูกโยงกันอยู่เสมอ แม้เกือบทุกครั้งคำประกาศที่ใช้เป็นเหตุผลกำกับรับรองจะเป็นกรอบเกณฑ์กว้างๆ ที่บ่งบอกถึงการเชิดชูความเป็นมนุษย์ คุณค่าสากล นวัตกรรม และความสร้างสรรค์ในตัวผลงาน ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย บทกวี หรือบทละคร แต่ในหลายคราวก็ดูราวกับจะเป็นการประเมินจากตัวบุคคล เกียรติประวัติที่สั่งสมมาตลอดชีวิต และทำให้การมอบรางวัลกลายเป็นภาพแทนของอุดมการณ์บางอย่าง 

 

เช่นครั้งที่ ออร์ฮาน ปามุก (Orhan Pamuk) ได้รางวัลนี้ในปี 2006 สื่อต่างๆ ก็พากันวิพากษ์วิจารณ์ไปว่าน่าจะมีส่วนมาจากบทบาททางการเมืองของปามุกมากกว่าตัวงาน แล้วก็เป็นดังที่เราทราบกันว่ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2018 จำเป็นต้องเลื่อนการประกาศผลออกไป เพราะข่าวอื้อฉาวที่ ฌอง-โคลด อาร์โนลต์ (Jean-Claude Arnault) ผู้เป็นสามีของ คาตารีนา ฟรอสเตนสัน (Katarina Frostenson) หนึ่งในองค์คณะผู้ตัดสิน ได้ถูกข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศสุภาพสตรีหลายราย โดยหนึ่งในนั้นเป็นถึงมกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน จนเกิดผลสืบเนื่องให้คณะกรรมการต้องลาออกทั้งชุด และทำให้ในปีนี้ (ปี 2019) มีการมอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมถึง 2 ปีซ้อน

 

คนแรกคือ โอลกา โตการ์ชุก (Olga Tokarczuk) นักเขียนหญิงชาวโปแลนด์ ที่ชื่อเสียงเริ่มเป็นที่รู้จักในบ้านเราภายหลังที่นวนิยายเรื่อง Flights ของเธอได้รับรางวัล Man Booker International Prize ในปี 2018 และหากไม่เกิดเรื่องฉาวขึ้นจนมีเหตุให้เลื่อนคำประกาศ โตการ์ชุกก็น่าจะได้รับ 2 รางวัลใหญ่ในปีเดียวกัน

 

โตการ์ชุกเกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 1962 ที่ซุเลฮุฟ เมืองทางภาคตะวันออกของโปแลนด์ เธอสำเร็จการศึกษาทางด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอร์ซอว์ ก่อนสมัครเข้าทำงานในสถานบำบัดสำหรับวัยรุ่นที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมในช่วงเวลาหนึ่ง เธอเป็นนักเคลื่อนไหวและปัญญาชนสาธารณะที่มีชื่อเสียงของโปแลนด์ เริ่มมีผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่ช่วงปลายของทศวรรษที่ 1980 โดย Cities in Mirrors (1989) ถือเป็นหนังสือรวมบทกวีเล่มแรกของเธอ และมี The Journey of the Book-People (1993) ที่เป็นเรื่องของคู่รักซึ่งมีฉากหลังย้อนกลับไปยังฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 เป็นนวนิยายเล่มแรก 

 

ผลงานที่ทำให้ชื่อของเธอเป็นที่กล่าวขานในแวดวงย่อมหนีไม่พ้น Primeval and Other Times (1996) ที่กล่าวถึงหมู่บ้านในจินตกรรมที่ไม่ยากเกินจินตนาการซึ่งมีชื่อว่า ปราเวียก (Prawiek) อันเป็นดินแดนที่มนุษย์และเทพมีชีวิตอยู่ร่วมกัน จัดเป็นปกรณัมในโลกสมัยใหม่ที่สามารถวิจารณ์ความเป็นไปของภูมิภาคยุโรปกลางได้อย่างเฉียบคม

 

ส่วนผลงานที่จัดว่าขายดีหรือทำให้เธอเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติครั้งแรกก็คือ House of Day, House of Night (1998) ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยสำนักพิมพ์แกรนตาในปี 2002 และสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นในปี 2003 โดยฉากในเรื่องเป็นเมืองโนวารูดาที่มีอยู่จริง เป็นเรื่องราวของนักเขียนที่ได้ย้ายไปพำนักยังเมืองดังกล่าวเพื่อเก็บเกี่ยวเรื่องเล่าจากคนเมืองที่ทั้งประหลาด ชวนหัว ขื่นขัน แต่ก็สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

 

โตการ์ชุกย้ายไปพำนักที่หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อครายานัฟ ใกล้กับเมืองโนวารูดา เธอได้เปิดสำนักพิมพ์ชื่อ Ruta และเริ่มต้นทำงานวรรณกรรมอย่างจริงจังเรื่อยมา เป็นที่ทราบกันว่าเธออุทิศตนให้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบซ้ายจนกลายเป็นประเด็นให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งในโนวารูดาที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมขวาจัดออกมาเคลื่อนไหวให้ยกเลิกความเป็นพลเมืองดีเด่นของโตการ์ชุก โดยอ้างว่างานเขียนและกิจกรรมทางการเมืองของเธอทำให้ประเทศโปแลนด์เสื่อมเสีย

 

The Nobel Prize in Literature 2019

 

โตการ์ชุกได้เขียนและตีพิมพ์ผลงานอย่างต่อเนื่อง Drive Your Plow Over the Bones of the Dead (2009) ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยผู้กำกับหญิงชาวโปแลนด์ อักเนียชกา ฮอลลันด์ (Agnieszka Holland) The Books of Jacob (2014) ได้รับรางวัล Kulturhuset International Literary Prize ในปี 2015 และเป็นที่ทราบกันดีว่าโตการ์ชุกได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมมาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากผลงานและเกียรติประวัติต่างๆ ก็ดูเหมือนเธอจะเป็นหนึ่งในบุคคลที่เพียบพร้อมถึงขั้นนอนมารับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ แต่สำหรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2019 ดูจะไม่เป็นเช่นนั้น

 

พีทาร์ ฮานด์เคอ (Peter Handke) อาจไม่ใช่ชื่อที่นักอ่านโดยทั่วไปจะรู้จักและคุ้นเคยมากเท่ากับนักดูหนัง เพราะเมื่อสืบย้อนกลับไปนั้น นักเขียนชาวออสเตรียผู้นี้ผูกพันอยู่กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะภาพยนตร์และละครไม่น้อยไปกว่าวรรณกรรม จนกระทั่งนักเขียนหญิงชาวออสเตรีย เอลฟรีเดอ เยลิเนก (Elfriede Jelinek) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2004 ถึงกับเคยพูดว่า หากรางวัลนี้มอบให้การอุทิศตนต่อวรรณกรรมและการละครออสเตรีย เธอเห็นว่าฮานด์เคอควรจะเป็นผู้รับรางวัลนี้ก่อนใคร

 

The Nobel Prize in Literature 2019

 

ฮานด์เคอเกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 1942 ที่เมืองกริฟเฟิน ประเทศออสเตรีย และศึกษาทางด้านกฎหมายพาณิชย์ที่มหาวิทยาลัยกราสในปี 1961 และระหว่างที่ร่ำเรียนอยู่นั้นเขาก็ได้ก่อตั้งกลุ่มวรรณกรรมขึ้นมา เขาออกจากมหาวิทยาลัยในปี 1965 ภายหลังจากสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในเยอรมนี Suhrkamp Verlag ตกลงที่จะตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกของเขา The Hornets (1966)

 

ผลงานที่สร้างชื่อให้กับฮานด์เคอคือ A Sorrow Beyond Dreams (1972) นวนิยายเชิงอัตชีวประวัติที่บอกเล่าถึงแม่ของเขาที่ฆ่าตัวตาย และนับจากนั้นมาเขาก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหววรรณกรรมฝ่ายก้าวหน้าต่างๆ เช่น Gruppe 47, Grazer Autorinnen Autorenversammlung รวมถึงมีส่วนก่อตั้งสำนักพิมพ์อย่าง Verlag der Autoren และในช่วงทศวรรษที่ 70 นี้เองที่ฮานด์เคอเริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งจากการเขียนบทให้ผู้กำกับเยอรมันมือรางวัลอย่าง วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) ตั้งแต่เรื่อง The Goalie’s Anxiety at the Penalty Kick (1970), The Wrong Move (1974) จนมาถึง Wings of Desire (1987) และการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์จากเรื่อง The Left–Handed Woman (1978)

 

ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 60-70 ภาพยนตร์เยอรมันถือเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวทางด้านศิลปะที่มีความสำคัญอย่างมาก หลังคำประกาศ Oberhausen Manifesto ที่เห็นว่าภาพยนตร์เยอรมันยุคเก่าได้ตายไปหมดสิ้นแล้ว ถึงเวลาของคนรุ่นใหม่ที่ต้องสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ได้ก่อให้เกิดกลุ่ม New German Cinema ซึ่งเวนเดอร์สและฮานด์เคอเข้าร่วมเป็นสมาชิก และมีส่วนผลักดันให้ภาพยนตร์กลายเป็นเครื่องมือในการนำเสนอความคิดที่เป็นอิสระและมีพลังสร้างสรรค์ไม่แพ้ศิลปะแขนงอื่นๆ

 

ฮานด์เคอได้รับรางวัลสำคัญทางวรรณกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Büchner Prize ในปี 1973 รางวัล Kafka Prize ในปี 2009 แต่ชื่อเสียงและผลงานของเขาก็นับว่าเงียบหายหรือไม่โด่งดังมากเท่ากับการที่เขาเขียนบทความเพื่อแก้ต่างให้กับผู้นำเผด็จการ สโลโบดาน มิโลเชวิช (Slobodan Milošević) แห่งยูโกสลาเวีย อีกทั้งในปี 2006 ที่มิโลเชวิชถึงแก่อสัญกรรม ฮานด์เคอยังได้กล่าวคำไว้อาลัยที่ยกย่องเชิดชูผู้นำเผด็จการคนนี้ จนเป็นเหตุให้มีการเสนอให้ระงับการมอบรางวัลสำคัญอย่าง Heinrich Heine Prize ให้กับฮานด์เคอ 

 

แต่ถึงกระนั้น คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมก็เห็นว่าสมควรที่จะมอบรางวัลนี้ให้แก่เขา แม้จะเรียกได้ว่าล่าช้า เช่น กรณีของ กึนเทอ กราสส์ (Günter Grass) ที่ได้รับรางวัลเมื่อคนอ่านแทบจะจดจำเขาไม่ได้อีกแล้ว 

 

การให้รางวัลแก่ฮานด์เคอในครั้งนี้จึงถูกนำไปเปรียบเชิงจิกกัดเหมือนครั้งที่ บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาดนตรีประจำปี 2016 โดยปีนี้กลายเป็นรางวัลโนเบลสาขาภาพยนตร์ประจำปี 2019 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • prachatai.com/journal/2018/05/77187
  • Olga Tokarczuk, Primeval and Other Times, Translated by Antonio Lloyd-Jones (Prague: Twisted Spoon Press, 2010)
  • Martin Brady and Joanne Leal, Wim Wenders and Peter Handke, Collaboration, Adaptation, Recomposition (Amsterdam: Rodopi, 2011)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising