×

ค้นพบ Gaia BH3 หลุมดำดาวฤกษ์มวลมากที่สุดในทางช้างเผือก

19.04.2024
  • LOADING...

นักดาราศาสตร์ตรวจพบหลุมดำ Gaia BH3 หลุมดำดาวฤกษ์มวลมากที่สุดในทางช้างเผือก อยู่ห่างโลกไปประมาณ 2,000 ปีแสง

 

หลุมดำดาวฤกษ์ หรือ Stellar Black Hole เป็นหลุมดำที่เกิดจากการยุบตัวภายใต้แรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์ โดยมักพบว่ามีมวลระหว่าง 5-10 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม Gaia BH3 มีมวลมากถึง 33 มวลดวงอาทิตย์ ทำลายสถิติเดิมของหลุมดำ Cygnus X-1 ที่มีมวลประมาณ 21 มวลดวงอาทิตย์ลงเป็นที่เรียบร้อย

 

นอกจากเป็นหลุมดำดาวฤกษ์ที่มีมวลมากแล้ว Gaia BH3 ยังอยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 2,000 ปีแสง ในทิศของกลุ่มดาวนกอินทรี ที่แม้ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อชีวิตบนโลกหรือระบบสุริยะ แต่ถือเป็นหลุมดำแห่งที่อยู่ใกล้โลกที่สุดเป็นอันดับสอง เป็นรองเพียงหลุมดำ Gaia BH1 ที่ห่างออกไปราว 1,500 ปีแสง

 

ปาสกาล ปานุซโซ นักดาราศาสตร์จาก CNRS ของฝรั่งเศส หนึ่งในคณะทำงานของการตรวจพบหลุมดำแห่งนี้ ให้ความเห็นว่า “ไม่มีใครคาดคิดว่าเราจะเจอหลุมดำมวลมากอยู่ใกล้โลกเพียงนี้ โดยที่มันหลบซ่อนการตรวจพบต่างๆ มาได้นานขนาดนี้ นี่คือการค้นพบแบบเพียงหนึ่งครั้งในชีวิตการเป็นนักวิจัยเลย”

 

หลุมดำ Gaia BH3 ถูกพบจากยาน Gaia ขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ที่ตรวจพบการส่ายไปมาอย่างผิดปกติของดาวฤกษ์ที่โคจรอยู่คู่กัน ก่อนที่ข้อมูลเพิ่มเติมจากกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope บนภาคพื้นโลกของ ESO จะช่วยยืนยันการค้นพบ เช่นเดียวกับการวัดค่ามวลของหลุมดำอย่างแม่นยำ

 

หลุมดำแห่งนี้เป็นดั่งการยืนยันว่าดาวฤกษ์ที่มีธาตุหนักกว่าไฮโดรเจนและฮีเลียมอยู่น้อยจะสูญเสียมวลในตลอดวัฏจักรชีวิตของมันน้อยกว่าดาวฤกษ์ที่มีธาตุหนักกว่า ทำให้หลงเหลือมวลสารมากพอให้ยุบตัวกลายเป็นหลุมดำมวลมากได้ โดยนักดาราศาสตร์อาศัยการศึกษาองค์ประกอบของดาวฤกษ์ที่โคจรอยู่คู่กับหลุมดำ Gaia BH3 พบว่าเป็นดาวฤกษ์ที่มีธาตุหนักอยู่น้อย และดาวฤกษ์ที่โคจรอยู่คู่กันมักมีองค์ประกอบใกล้เคียงกัน

 

อย่างไรก็ตาม Gaia BH3 เป็นเพียงหลุมดำดาวฤกษ์ที่มีมวลมากสุดในทางช้างเผือกเท่านั้น สำหรับตำแหน่งหลุมดำมวลมากที่สุดในกาแล็กซีของเราตกเป็นของ Sagittarius A* หลุมดำมวลยิ่งยวดที่ใจกลางดาราจักร ซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 4 ล้านเท่าด้วยกัน

 

ภาพ: ESO / L. Calçada

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X