×

‘ร่างทรง’ วัฒนธรรมคนทรงเจ้าที่ยังไม่เลือนหาย และกลายมาเป็นภาพยนตร์ร่วมทุนไทย-เกาหลี

02.06.2021
  • LOADING...
ร่างทรง

ร่างทรง (The Medium) ภาพยนตร์ร่วมทุนไทย-เกาหลี ผลงานผู้กำกับ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล และค่าย GDH ร่วมกับโปรดิวเซอร์ นาฮงจิน และบริษัท SHOWBOX ผู้ผลิตภาพยนตร์ของเกาหลี ปล่อยตัวอย่างแรกที่น่าขนลุกและสมจริง พร้อมด้วยซีนที่ฉายผ่านกล้องวงจรปิดภายในบ้านในช่วงท้ายที่เรียกได้ว่าหลอนสุดๆ และนั่นทำให้ภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไฮไลต์สำคัญของไทยปีนี้ทันที

 

ความเชื่อเรื่องร่างทรงสำหรับสังคมไทยนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ผูกโยงกันมายาวนาน แม้ว่าโลกสมัยใหม่จะถาโถมเข้ามามากมาย ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมีอยู่ทั่วทุกหนแห่ง แต่ความเชื่อเรื่องร่างทรง ผี วิญญาณ ก็ยังคงอยู่ ไม่ต่างจากเกาหลีที่วัฒนธรรมดูหมอ-ร่างทรง ยังคงได้รับความนิยม ด้วยความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายตามคติแบบเอเชีย

 

ร่างทรง

ร่างทรง

 

ร่างทรงในภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลี

ลัทธิชาแมนก่อกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับเกาหลี โดยมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้ารวมถึงธรรมชาติ ซึ่งจะมี ‘มูดง’ หรือร่างทรง ทำหน้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างมนุษย์และเทพเจ้า

 

การทำความเข้าใจเรื่องเทพเจ้า ต้นกำเนิดมนุษย์ อาจจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นในบริบทวัฒนธรรมเกาหลีผ่านซีรีส์เรื่อง Arthdal Chronicles (2019) ที่ย้อนไปเล่าเรื่องราวยุคเริ่มต้นของเผ่าพันธุ์เกาหลีที่แยกเป็นหลายเผ่า ต่างมีเทพเคารพที่เชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติ

 

การสืบทอดความเชื่อเรื่องนี้จึงถูกส่งต่อมายาวนาน และทำให้เรื่องเหนือธรรมชาติ ผี วิญญาณ หมอดู การทรงเจ้า จึงมีปรากฏอยู่ในงานภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่น ในซีรีส์ Lucky Romance (2016) ก็เป็นเรื่องของหญิงสาวที่เชื่อหมอดูและโชคลางอย่างยิ่ง, Crash Landing on You (2019) มีหลายฉากที่แสดงให้เห็นว่าการดูหมอเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในเกาหลีเหนือ แต่ก็ยังมีการแอบดูหมอกันอย่างลับๆ เพราะเป็นความเชื่อที่ส่งผลกับการตัดสินใจและฤกษ์ยามต่างๆ, The Cursed ซีรีส์ที่มาพร้อมเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติและความเชื่อในลัทธิหมอผี ผลงานเขียนบทซีรีส์เรื่องแรกของ ยอนซังโฮ ผู้กำกับ Train To Busan

 

ในฝั่งภาพยนตร์ก็มีไม่น้อย ไล่มาตั้งแต่ A Shaman’s Story (1972) และภาพยนตร์หลายเรื่องในยุคนั้นที่เรื่องราวเกี่ยวข้องกับหมู่บ้านห่างไกล ความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ยังเป็นสิ่งสำคัญ เช่น Oyster Village (1972), The Early Years (1977), Divine Bow (1979) และ The Placenta (1986) สะท้อนให้เห็นการใช้ชีวิตของผู้คนที่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่มูดงทำนายเอาไว้ ขณะเดียวกันความผิดพลาดของการทำนายอาจนำมาซึ่งการลงโทษมูดงคนนั้นๆ ได้ด้วย

 

ยุคหลังปี 2000 ภาพยนตร์เกาหลียังคงมีเรื่องราวของมูดง ไม่ว่าจะเป็น Fortune Salon (2009), Ghost Sweepers (2012), Man on the Edge (2013), Manshin: Ten Thousand Spirits (2013) ภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดชีวิตจริงของ คิมคึมฮวา มูดงชื่อดัง, The Classified File (2015) ที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของมูดงที่ร่วมทีมสอบสวนในการไขคดีลักพาตัวเด็ก, และ The Wailing (2016) ของผู้กำกับ นาฮงจิน ที่ว่าด้วยเรื่องลี้ลับในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะผู้ชายญี่ปุ่นที่เพิ่งมาอาศัย เป็นตัวอาเพศนำสิ่งร้ายแรงให้เกิดในหมู่บ้าน 

 

ร่างทรง ร่างทรง

 

นาฮงจิน และ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล

 

นาฮงจิน  ในภาพยนตร์ ร่างทรง เขารับตำแหน่งโปรดิวเซอร์และร่วมเขียนบท ซึ่งด้วยชื่อชั้นงานกำกับภาพยนตร์ของเขาที่ผ่านมาก็ต้องบอกว่าโดดเด่นตั้งแต่เริ่มต้น เพราะผลงานเรื่องแรก The Chaser (2008) ทำรายได้สูงสุดอันดับ 3 ของเกาหลีใต้ปีนั้น และยังได้รับรางวัลแดซัง (รางวัล Grand Prize) และผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม จากเวทีประกาศรางวัล Beaksang Arts Awards ครั้งที่ 44 รวมถึง 5 รางวัลสำคัญจากงาน Grand Bell Awards ครั้งที่ 45 ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ของเกาหลีใต้ที่เทียบเท่ากับงานประกาศรางวัล Oscars

The Wailing (2016) ภาพยนตร์สยองขวัญของ นาฮงจิน ที่ว่าด้วยเรื่องของร่างทรง ก็ได้กวาดรางวัลจากแทบทุกเวทีในปีนั้น ส่งผลให้ภาพยนตร์ทุนสร้างราว 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำรายได้ไปมากกว่า 51.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐเฉพาะในเกาหลีใต้ และยังได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ รวมถึงเข้าโรงภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา

 

สำหรับโต้ง บรรจง เริ่มต้นด้วย ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) ผลงานสร้างชื่อที่เขากำกับร่วมกับ โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ  ในนาม GTH นอกจากทำรายได้ในประเทศไปกว่า 107 ล้านบาท ยังทำรายได้ในสิงคโปร์ บราซิล และติดอันดับ 5 Box Office ที่เกาหลี รวมทั้งได้รับรางวัลจากเวทีสำคัญๆ ทั้งในและต่างประเทศ

 

แฝด (2550), สี่แพร่ง (2551), ห้าแพร่ง (2552), พี่มาก..พระโขนง (2556) คือภาพยนตร์สยองขวัญของโต้ง บรรจง ที่ล้วนเป็นกระแส โดยเฉพาะ พี่มาก..พระโขนง ที่นำเรื่องของแม่นาคพระโขนงไปตีความใหม่ ขึ้นเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้ทั่วประเทศสูงสุดตลอดกาล 1 พันล้านบาท ความน่าสนใจคือ โต้ง บรรจง เป็นผู้กำกับที่ถนัดทั้งงานโรแมนติกคอเมดี้และเรื่องสยองขวัญ ซึ่งการมาถึงของภาพยนตร์ ร่างทรง นับเป็นการกลับสู่ความเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเต็มรูปแบบ พร้อมพื้นฐานความเชื่อ และเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย 

 

ร่างทรง ร่างทรง

 

แขวนเสื้อสีแดงหน้าบ้านไล่ผีแม่ม่าย

 

ความเชื่อเรื่องผีในสังคมไทยถูกผูกโยงมายาวนาน จนกลายเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมไปแล้ว ซึ่งแม้โลกจะก้าวหน้าไปถึงขั้นว่ามีรถไฟความเร็วสูง ยานอวกาศ ทดสอบรูหนอนการข้ามเวลา แต่สำหรับเรื่องผี วิญญาณ และอำนาจเหนือธรรมชาติ ก็ยังคงเป็นสิ่งลี้ลับที่ผูกพันอยู่ในความเป็นไทยอย่างลึกล้ำ

 

โต้ง บรรจง ได้ให้สัมภาษณ์ในงาน GDH Extraordinary Lineup 2021 ว่า เขาและ เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมเขียนบท ใช้เวลากว่า 1 ปีเต็ม เพื่อศึกษา เก็บข้อมูล และเดินทางไปพบร่างทรงมากกว่า 30 คนทั่วประเทศไทย ทั้งยังทำงานร่วมกับ นาฮงจิน ก่อนจะออกมาเป็นบทภาพยนตร์เรื่องนี้ 

 

หนึ่งในความน่าสนใจที่ปรากฏในตัวอย่าง ร่างทรง คือภาพหมู่บ้านหนึ่งทางเหนือที่มีเสื้อสีแดงแขวนเอาไว้หน้าบ้านแทบทุกหลัง เพื่อป้องกันวิญญาณร้ายหรือใช้ป้องกันสิ่งไม่ดีไม่งามเข้าไปคร่าชีวิตคนในบ้าน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและยังคงมีความเชื่อเช่นนี้อยู่ในปัจจุบัน ดังเช่นที่ปรากฏในหน้าข่าว

 

  • ชาวบ้านอำเภอศรีสัชนาลัยแขวนเสื้อแดงทั้งหมู่บ้าน หลังมีผู้ชายเสียชีวิตอย่างไร้สาเหตุ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผีแม่ม่ายมาเอาชีวิตผู้ชายไปเป็นสามี (Workpoint Today, 25 พฤษภาคม 2561)
  • ชาวพิมายผวาผีแม่ม่ายคร่าชีวิต แห่แขวนเสื้อแดงหน้าบ้าน หลังพบมีคนตายติดต่อกัน 13 ราย ในรอบ 3 เดือน (PPTV, 19 มกราคม 2563)
  • ลำปาง-ชาวบ้านอำเภอแม่ทะ แขวนเสื้อแดง ทำพิธีส่งข้าวให้ผี ช่วยปัดเป่าโควิด-19 สมัยอดีตเคยกันโรคห่า-ผีแม่ม่าย (Post Today, 9 เมษายน 2563)

 

ร่างทรง

 

ร่างทรง เป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ท้าทายฝีมือในการนำพาภาพยนตร์ให้ไปไกลระดับโลก โดยการร่วมมือกับ นาฮงจิน และ SHOWBOX บริษัทภาพยนตร์ในเกาหลีนั้น นับเป็นแรงส่งสำคัญให้ตัวภาพยนตร์มีที่ทางระดับสากลได้ไม่ยากนัก ยิ่งกระแสภาพยนตร์เกาหลีที่ดีวันดีคืนในสายตาผู้ชมทั่วโลก น่าสนใจว่า ร่างทรง อาจเดินทางไปไกลอย่างที่ภาพยนตร์ไทยไม่เคยไปถึง

 

ร่างทรง หรือ The Medium จะเข้าฉายในไทยโดย GDH เกาหลีใต้โดย SHOWBOX และจะจัดจำหน่ายไปทั่วโลกโดย The Jokers Films บริษัทที่เคยดูแลการจัดจำหน่ายให้กับ The Handmaiden และ Parasite มาแล้ว

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ ร่างทรง

 

 

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X