ปี 2563 ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับภาคค้าปลีกของไทย เพราะไม่เพียงเจอแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่นิ่งสนิท ยังมาเจอวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า ทำให้ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอยน้อยลง แม้ออกโปรแรงก็ช่วยได้บ้างแต่ไม่มากนัก ดังนั้นในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ ทุกค่ายจึงทุ่มหมดหน้าตัก หวังทำให้ตัวเลขที่ติดลบไม่แย่ลงไปกว่าเดิม
วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ประเมินว่า การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงปลายปีนี้ถือว่ากระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงกลางปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกระตุ้นด้วยแคมเปญลด แลก แจก แถม ที่จัดเต็ม ซึ่งผู้บริโภคต่างรออยู่แล้ว ด้วยไม่เพียงโปรโมชันจากร้านค้าเท่านั้น แต่ยังมีบรรดาบัตรเครดิต ธนาคาร และค่ายมือถือเข้ามาร่วมอีก
อีกส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จาก ‘มาตรการช้อปดีมีคืน’ ซึ่งภาครัฐเปิดใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีจากค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน โดยมีลูกค้ากว่า 25% ของเดอะมอลล์ที่เข้าร่วมแคมเปญนี้
“เมื่อเทียบกับแคมเปญก่อนๆ ช้อปดีมีคืนถือว่ามีจำนวนลูกค้าที่เข้าร่วมมากกว่ามาตรการช้อปช่วยชาติ เชื่อว่าสาเหตุสำคัญมาจากการที่ลูกค้ามีประสบการณ์อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีระยะเวลานานขึ้น ทำให้ลูกค้ามีเวลาทำการบ้านและตัดสินใจ และลูกค้าหลักของเดอะมอลล์อยู่ในกลุ่มระดับกลางถึงบน จึงได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ ดังนั้น ตอนแรกเราคิดว่าจะติดลบเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่จากช่วงปลายปีที่กระเตื้องขึ้น จึงคาดว่าจะติดลบในอัตราตัวเลข 1 หลัก”
สำหรับช่วงปลายปีนี้ ‘เดอะมอลล์’ ได้ทุ่มงบการตลาด 250 ล้านบาท ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ใช้ไป 400 ล้านบาท โดยจัด 2 แคมเปญใหญ่ของทั้งศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าคือ ‘Happier Together 2021’ และ ‘The Mall Joy of Giving Happy Factory’
ฝั่งห้างสรรพสินค้า ตั้งเป้าโกยยอดจากแคมเปญนี้รวมกว่า 5.9 พันล้านบาท ส่วนในภาพรวมนั้น คาดว่าการจัดแคมเปญและกิจกรรมต่างๆ เพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่นี้จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อลูกค้าในช่วงปลายปี และช่วยเพิ่มทราฟฟิกในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ 20% จากช่วงเวลาปกติ
สำหรับภาพรวมค้าปลีกของไทยในปี 2563 วรลักษณ์ระบุว่า คาดการณ์ได้ยากจากปัจจัยต่างๆ แต่ข้อมูลจากสมาคมค้าปลีกได้ปรับตัวเลขใหม่ จากเดิมคาดการณ์ -7.8% ดีขึ้นอยู่ที่ -6% อันเป็นผลจากช้อปดีมีคืน ที่ช่วยหนุนธุรกิจรีเทลให้กลับมาคึกคักได้ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี
ในส่วนของเดอะมอลล์ตั้งเป้าปีนี้ต้องการจะพิชิตยอด 5 หมื่นล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มียอดขายประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท เพราะแม้ฐานลูกค้าหลักของเดอะมอลล์กว่า 95% จะเป็นคนไทย ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่น้อยกว่าห้างอื่นๆ ที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่มากกว่า
แต่กระนั้น “ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคนไทยที่แม้ไม่ได้ออกไปช้อปปิ้งในต่างประเทศ จึงหันมาช้อปปิ้งในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าลักชัวรี แต่ก็เทียบไม่ได้กับกำลังซื้อที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมีจำนวนกว่า 30 ล้านคน”
โดยหลังจากช่วงโควิด-19 สินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักคือกลุ่มแฟชั่น ส่วนสินค้าที่ขายดีคือกลุ่มเครื่องสำอาง และสินค้าส่วนบน เนื่องจากผู้บริโภคทำงานจากที่บ้าน และมีการประชุมออนไลน์ ดังนั้นจึงต้องแต่งท่อนบนให้ดูดีไว้ก่อน
สำหรับปี 2564 วรลักษณ์มองจะติดลบน้อยลง เพราะ ‘เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน’ จะเปิดให้บริการเต็มปี หลังจากช่วงที่ผ่านมามีการรีโนเวต จึงต้องปิดบางส่วนไป อย่างไรก็ตาม การที่ภาคค้าปลีกจะกลับมาคึกคักได้นั้นต้องรอเปิดประเทศอย่างเดียว เพราะเป็นไปไม่ได้ที่กำลังซื้อภายในประเทศจะสามารถทดกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยว ด้วยมีจำนวนที่มากเกินไป
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล