เนื่องในโอกาสที่ภาพยนตร์เรื่อง Shin Kamen Rider ผลงานฉลองครบรอบ 50 ปีของซีรีส์ Kamen Rider ที่ได้ ฮิเดอากิ อันโนะ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Shin Godzilla (2016) และ Shin Ultraman (2022) มานั่งแท่นผู้กำกับและเขียนบท กำลังจะเข้าฉายในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้
THE STANDARD POP ขอชวนผู้อ่านมาร่วมสำรวจเรื่องราวของ Kamen Rider อีกหนึ่งซีรีส์โทคุซัทสึยอดฮิตของญี่ปุ่น ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของซีรีส์ Kamen Rider ที่ออกฉายในปี 1971 และการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่ผันเปลี่ยน จนสามารถยืนหยัดมอบความสนุกแก่ผู้ชมมาได้ยาวนานกว่า 50 ปี
Kamen Rider (1971)
ภาพ: TOEI TOKUSATSU WORLD OFFICIAL
กำเนิด Kamen Rider
ย้อนกลับไปในปี 1968 ภายหลังจากซีรีส์โทคุซัทสึเรื่อง Giant Robo จากค่าย Toei ใกล้จะออกฉายถึงตอนสุดท้าย ทาง โทรุ ฮิรายามะ โปรดิวเซอร์จาก Toei จึงวางแผนที่จะสร้างซีรีส์โทคุซัทสึเรื่องต่อไป ด้วยการชวน โชทาโร อิชิโนโมริ นักเขียนมังงะชื่อดัง เจ้าของผลงานอย่าง Cyborg 009 และยังเป็นนักเขียนที่ โทรุ ฮิรายามะ ชื่นชอบมาร่วมพัฒนาโปรเจกต์ใหม่
มังงะ Skull Man
ภาพ: kamenrider.fandom
หลังจากที่ โชทาโร อิชิโนโมริ ได้รับการติดต่อจาก โทรุ ฮิรายามะ พวกเขาก็ได้เริ่มต้นออกแบบตัวละครหลัก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากมังงะเรื่องสั้นของอิชิโนโมริเรื่อง Skull Man ที่ออกตีพิมพ์ในปี 1970 พร้อมตั้งชื่อเรื่องในช่วงแรกว่า Cross Fire แต่เนื่องจากดีไซต์ฉบับแรกของอิชิโนโมริค่อนข้างมีภาพลักษณ์ที่น่ากลัว จึงทำให้ Toei และสถานีโทรทัศน์ Mainichi Broadcasting คิดว่ามันอาจจะไม่เหมาะกับภาพลักษณ์ของฮีโร่ที่เด็กๆ ชื่นชอบ
อิชิโนโมริจึงต้องกลับมาปรับเปลี่ยนดีไซต์ของตัวละครหลักอีกครั้ง เพื่อหาจุดกึ่งกลางระหว่างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับความน่ากลัวอันมีเอกลักษณ์ที่เจ้าตัวอยากให้เป็น และภายหลังจากที่อิชิโนโมริได้ลองออกแบบฮีโร่คนใหม่มากว่าหลายสิบแบบ เขาก็ให้ลูกชายของตนเองช่วยตัดสินใจ จนนำมาสู่คาแรกเตอร์ของฮีโร่คนใหม่ผู้สวม ‘หน้ากากตั๊กแตน’ ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาในปัจจุบัน
ภายหลังจากที่อิชิโนโมริและฮิรายามะได้รับไฟเขียวจากผู้บริหาร พวกเขาก็เริ่มต้นงานสร้างซีรีส์โทคุซัทสึเรื่องใหม่อย่างเป็นทางการ พร้อมเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น Kamen Rider โดยได้ มาซารุ อิกามิ มารับหน้าที่เขียนบท (ในภายหลังอิกามิได้รับหน้าที่เป็นมือเขียนบทให้กับซีรีส์ Kamen Rider ในยุคโชวะและเฮเซอีกหลายเรื่อง) พร้อมได้นักแสดงหนุ่มอย่าง ฮิโรชิ ฟูจิโอกะ มารับบทเป็น ฮอนโก ทาเคชิ ตัวละครหลักของเรื่อง
แรกเริ่มเดิมทีบทบาทของทาเคชิถูกวางให้เป็นตัวเอกที่สามารถแปลงร่างเป็นฮีโร่ร่างยักษ์ได้แบบเดียวกับซีรีส์ Ultraman แต่อิชิโนโมริกลับไม่เห็นด้วย เพราะเขาอยากให้ตัวละครนี้มีขนาดเท่ามนุษย์ เพื่อสะท้อนมุมมองของตัวละครที่แม้ภายนอกจะเป็นมนุษย์ แต่เขากลับไม่ได้เป็นมนุษย์จริงๆ
ในท้ายที่สุด Kamen Rider ก็ได้ออกอากาศอย่างเป็นทางการในปี 1971 บอกเล่าเรื่องราวของทาเคชิ นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ถูกองค์กร Shocker จับตัวไปและผ่าตัดให้กลายเป็นมนุษย์ดัดแปลงที่มีพลังเหนือมนุษย์ เพื่อใช้เหล่ามนุษย์ดัดแปลงในการยึดครองโลก แต่ทาเคชิหนีออกมาได้ เขาจึงตัดสินใจใช้พลังของตัวเองในการขัดขวางแผนการร้ายขององค์กร Shocker
ฮายาโตะ อิจิมอนจิ – Kamen Rider หลายเลข 2
ภาพ: kamenrider.fandom
กำเนิด Kamen Rider หมายเลข 2 ที่นำมาสู่ประโยคสุดไอคอนิกประจำซีรีส์อย่าง ‘แปลงร่าง!’
ในช่วงแรกเริ่มของการออกอากาศ ซีรีส์ Kamen Rider ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายจนเกือบจะไม่ได้ไปต่อ ทั้งการที่ซีรีส์ออกอากาศชนกับซีรีส์โทคุซัทสึชื่อดังอย่าง Return of Ultraman (1971) จนทำให้ตัวซีรีส์มียอดเรตติ้งที่ไม่ค่อยดีนัก อีกทั้งนักแสดงนำอย่าง ฮิโรชิ ฟูจิโอกะ ก็ประสบอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำฉากขับรถมอเตอร์ไซค์และต้องเข้ารับการรักษาเป็นเวลานานหลายเดือน จนทำให้การถ่ายทำต้องหยุดชะงัก
ทางโปรดิวเซอร์อย่าง โทรุ ฮิรายามะ จึงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการสร้าง Kamen Rider คนใหม่ขึ้นมาแทน โดยปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องให้ทาเคชิเดินทางไปจัดการกับองค์กร Shocker ในต่างประเทศ พร้อมเปิดตัว Kamen Rider หมายเลข 2 อย่าง ฮายาโตะ อิจิมอนจิ ช่างภาพหนุ่มที่ถูกองค์กร Shocker ผ่าตัดให้กลายเป็นมนุษย์ดัดแปลง ก่อนที่จะได้ทาเคชิช่วยเหลือเอาไว้ เขาจึงเดินทางมาทำหน้าที่ปกป้องญี่ปุ่นแทนทาเคชิ พร้อมได้นักแสดงหนุ่มชื่อดัง ณ ขณะนั้นอย่าง ทาเคชิ ซาซากิ มารับบทเป็น ฮายาโตะ อิจิมอนจิ
ส่วนช่องว่างในตอนที่ฟูจิโอกะไม่สามารถมาถ่ายทำได้นั้น ทางทีมสร้างได้แก้ปัญหาด้วยการนำฟุตเทจเก่าๆ ของฟูจิโอกะและการอัดเสียงพากย์มาตัดต่อใหม่ในตอนที่ 11-13 พร้อมกับการเพิ่มตัวละครใหม่อย่าง ซากุยะ ไทกิ เจ้าหน้าที่ FBI ที่นำแสดงโดย จิโร ชิบะ มาช่วยดำเนินเรื่องราว
Double Rider
ภาพ: kamenrider.fandom
ฮายาโตะ อิจิมอนจิ ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการในตอนที่ 14 พร้อมกับการเปลี่ยนฉากเปิดเรื่อง (Opening) เพื่อแนะนำตัวให้ทุกคนรู้จักกับตัวละครหลักคนใหม่ อีกทั้งอิจิมอนจิยังเป็น Kamen Rider คนแรกที่มีการออกท่าทางพร้อมกับพูดว่า ‘แปลงร่าง!’ ในฉากแปลงร่างเป็น Kamen Rider ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของธรรมเนียมที่ตัวละครจะต้องออกท่าทางพร้อมพูดว่าแปลงร่าง ที่จะต้องมีในซีรีส์ Kamen Rider ทุกๆ ภาค
อิจิมอนจิกลายเป็นตัวละครหลักประจำซีรีส์ยาวนานถึงตอนที่ 52 ก่อนที่ฟูจิโอกะจะรักษาตัวเสร็จสิ้นและกลับมารับบทเป็นทาเคชิอีกครั้งตั้งแต่ตอนที่ 53 เป็นต้นมา ส่วนนักแสดงอย่าง ทาเคชิ ซาซากิ ที่แม้จะไม่ได้แสดงเป็นตัวละครหลักแล้ว แต่เขาก็ยังกลับมาปรากฏตัวในบทบาทของอิจิมอนจิอยู่หลายตอนเช่นกัน
โดยหลังจากการกลับมารับบทเป็นทาเคชิอีกครั้งของฟูจิโอกะ รวมถึงการโคจรมาพบกันของ Kamen Rider หมายเลข 1 และ 2 ที่ร่วมมือกันต่อสู้กับองค์กร Shocker ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมได้อย่างล้นหลาม จนสามารถทำยอดเรตติ้งสูงขึ้นและสามารถแซงหน้าซีรีส์คู่แข่งอย่าง Return of Ultraman ได้สำเร็จ และนำมาสู่การต่อยอดความสำเร็จด้วยการสร้างซีรีส์ Kamen Rider เรื่องใหม่ๆ รวมถึงการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อบันเทิงอื่นๆ อย่างภาพยนตร์ วิดีโอเกม มังงะ และของเล่นตามมาอีกมากมาย จนส่งให้ชื่อของ Kamen Rider กลายเป็นอีกหนึ่งซีรีส์โทคุซัทสึที่ประสบความสำเร็จและมอบความสนุกให้แก่ผู้ชมมายาวนานกว่า 50 ปี
Kamen Rider Heisei Generations Forever (2018)
ภาพ: Eiga
ซีรีส์โทคุซัทสึที่ ‘แปลงร่าง’ ไปตามยุคสมัยที่ผันเปลี่ยน แต่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวไว้อย่างครบถ้วน
Kamen Rider นับว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่อัดแน่นไปด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะตัวและกลายเป็นที่จดจำของผู้ชมมาในทุกยุคทุกสมัย ทั้งการแปลงร่างด้วยเข็มขัด ขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจ การต่อสู้กับองค์กรชั่วร้าย ไปจนถึงท่าไม้ตายอย่าง Rider Kick
แต่ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ซีรีส์ Kamen Rider ก็พยายามที่จะปรับเปลี่ยนและสร้างสรรค์องค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องและคอนเซปต์ ให้ซีรีส์แต่ละเรื่องมีความแปลกใหม่และทันยุคสมัยอยู่เสมอ เริ่มตั้งแต่ Kamen Rider Stronger (1975) กับการเพิ่มองค์ประกอบให้ Stronger สามารถเปลี่ยนร่าง หรือ Form ใหม่เพื่อเพิ่มพลังของตัวเองได้เป็นครั้งแรก รวมถึงการเปิดตัวฮีโร่หญิงอย่าง ยูริโกะ มิซากิ หรือ Electronic Wave Humanoid Tackle ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับการสร้างสรรค์ตัวละคร Kamen Rider หญิงในเวลาต่อมา, ซีรีส์ Kamen Rider Black (1987) กับเนื้อเรื่องที่ถูกยกระดับให้มีความเข้มข้นจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวของ Shadow Moon ที่ถูกวางไว้ให้เป็นคู่ปรับตัวฉกาจของ Kamen Rider Black จนได้รับการสร้างภาคต่อตามมาในชื่อ Kamen Rider Black RX (1988)
Kamen Rider Zero-One (2019)
ภาพ: Kamen Rider Official
กระโดดข้ามมาที่ซีรีส์ Kamen Rider ยุคเฮเซ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ทีมสร้างพยายามจะฉีกกรอบเดิมๆ จากที่เคยเป็น เพื่อให้ซีรีส์มีความสดใหม่และหลากหลายมากขึ้น เริ่มต้นที่ Kamen Rider Kuuga (2000) กับการเปลี่ยนให้ตัวละครหลักของเรื่องไม่ได้เป็น ‘มนุษย์ดัดแปลง’ เหมือน Kamen Rider ยุคโชวะ รวมถึงเนื้อเรื่องที่ผสมผสานเรื่องราวของโบราณคดี การสืบสวนสอบสวน และตำนานต่างๆ ไว้ด้วยกัน, Kamen Rider Ryuki (2002) กับเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างเหล่า Kamen Rider ด้วยกันเอง, Kamen Rider Den-O (2007) กับเรื่องราวการเดินทางข้ามเวลาที่เป็นจุดขายสำคัญของเรื่อง รวมถึง Kamen Rider Zero-One (2019) ซีรีส์ Kamen Rider เรื่องแรกของยุคเรวะ กับการออกแบบคาแรกเตอร์ของ Zero-One ให้มีลักษณะแบบตั๊กแตน ซึ่งชวนให้ผู้ชมคิดถึง Kamen Rider หมายเลข 1 ที่ออกฉายในปี 1971 ได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังมีการหยิบซีรีส์ Kamen Rider ชื่อดังจากยุคโชวะกลับมาตีความใหม่และนำเสนอในรสชาติที่แตกต่างไปจากต้นฉบับอีกหลายเรื่อง เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Kamen Rider The First (2005) ที่ดัดแปลงมาจาก Kamen Rider ฉบับปี 1971, Kamen Rider Amazons (2016) ที่ดัดแปลงมาจากซีรีส์ Kamen Rider Amazon ที่ออกฉายในปี 1974, ซีรีส์ Kamen Rider Black Sun (2022) ที่ดัดแปลงมาจากซีรีส์ Kamen Rider Black ฯลฯ
Shin Kamen Rider (2023)
ภาพ: Shin_KR / Twitter
ปัจจุบันซีรีส์ Kamen Rider ยังคงสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้แฟนๆ ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยมีซีรีส์เรื่องล่าสุดที่กำลังออกอากาศอยู่ในตอนนี้อย่าง Kamen Rider Geats (2022) ผลงานลำดับที่ 4 ของซีรีส์ Kamen Rider ยุคเรวะ รวมถึงภาพยนตร์ฉลองครบรอบ 50 ปีซีรีส์ Kamen Rider อย่าง Shin Kamen Rider ผลงานการเขียนบทและกำกับของ ฮิเดอากิ อันโนะ
ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้น่าจะพอฉายภาพให้เราเห็นว่า นอกเหนือจากการออกแบบคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นและองค์ประกอบอันมีเอกลักษณ์ที่ทุกคนจดจำได้เป็นอย่างดี อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ซีรีส์ Kamen Rider กลายเป็นหนึ่งในซีรีส์โทคุซัทสึที่ยืนหยัดมอบความสนุกแก่ผู้ชมมาได้อย่างยาวนาน คือการพยายามสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ควบคู่กับการรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของซีรีส์ที่แฟนๆ ทั้งรุ่นแรกและรุ่นใหม่ๆ ชื่นชอบไว้ได้ไปพร้อมกัน
อ้างอิง: