×

สภาทนายความเตรียมฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมให้ชาวบ้าน 16 จังหวัด หลังได้รับผลกระทบปลาหมอคางดำ พร้อมเอาผิดหน่วยงานรัฐละเลย-ละเว้น

โดย THE STANDARD TEAM
31.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (31 กรกฎาคม) ที่สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยคณะ ร่วมแถลงผลการตรวจสอบปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ หลังตัวแทน 14 เครือข่ายร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายและการดำเนินการฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ดร.วิเชียร กล่าวว่า จากที่สภาทนายความได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านในตำบลยี่สาร ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ว่าได้รับความเสียหายจากการระบาดของปลาหมอคางดำที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติและในพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้าน ทางสภาทนายความจึงได้ตั้งประธานสภาทนายความจังหวัดรวม 16 จังหวัดเป็นผู้แทน เพื่อร่วมประชุมกับส่วนราชการ กำหนดวิธีแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน 

 

ต่อมามีชาวบ้านในจังหวัดอื่นๆ ยื่นขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความพิจารณา บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ก่อให้เกิดหรือเป็นต้นเหตุของการระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่น ในกรณีนี้สภาทนายความโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้จดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อ พ.ศ. 2545 และเป็นสมาชิกของสมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษอันเกิดจากการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษ รวมทั้งเป็นผู้แทนในคดีที่มีการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับอันตรายหรือได้รับความเสียหายนั้นด้วย ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

 

ดร.วิเชียร กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงาน พบว่าปลาหมอคางดำซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ได้รับอนุญาตจากกรมประมงให้นำเข้าเพื่อการทดลองศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ โดยมีผู้ประกอบการแห่งหนึ่งเป็นผู้ขออนุญาตนำเข้าและนำเข้ามาศึกษาทดลองเลี้ยงใน พ.ศ. 2553 ที่ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จังหวัดสมุทรสงคราม และพบการระบาดของปลาหมอคางดำใน พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยเริ่มระบาดครั้งแรกที่ตำบลยี่สาร ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และจากการศึกษาพบว่าสายพันธุ์การระบาดของปลาหมอคางดำมาจากจุดร่วมสายพันธุ์เดียวกัน

 

ด้าน ว่าที่ ร.ต. สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ เปิดเผยว่า การฟ้องร้องคดี เบื้องต้นจะใช้หลักการผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดหรือผู้ก่อให้เกิดมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหาย ซึ่งที่จะเรียกร้องได้มี 3 ประเด็น ส่วนแรก ค่าเสียหายส่วนบุคคลของชาวประมงที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ส่วนที่สอง ค่าเสียหายที่หน่วยงานรัฐจะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กรณีใช้งบประมาณ 450 ล้านบาทที่เป็นงบภาษีประชาชน หน่วยงานรัฐต้องมีหน้าที่เรียกค่าเสียหายขจัดปัญหาจากผู้ก่อให้เกิดมลพิษโดยตรง ประการสุดท้าย เมื่อทรัพยากรธรรมชาติสูญเสียไปหน่วยงานรัฐมีหน้าที่เรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ก่อให้เกิดปัญหาเป็นค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ 

 

ว่าที่ ร.ต. สมชาย เปิดเผยต่อว่า ค่าเสียหาย 3 ส่วนนี้จากผู้ก่อมลพิษ เท่าที่มองมี 2 ส่วน คือหน่วยงานที่อนุญาตให้นำปลาหมอคางดำเข้ามาในไทย และละเลย ไม่กำกับดูแลให้ชัดเจน ส่วนเอกชนต้องไปพิจารณาว่าใครนำเข้ามา การนำสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามาจนเกิดการระบาดในไทย และบังเอิญไปเกิดในถิ่นเพาะเลี้ยงของชาวบ้าน และแพร่กระจายตามแหล่งน้ำธรรมชาติ 

 

เบื้องต้นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลปลาหมอคางดำต้องรับผิดชอบ ฐานละเว้นหน้าที่ และหน่วยงานรัฐเหล่านั้นต้องมีหน้าที่ไปเรียกค่าเสียหายต่อผู้ก่อให้เกิดมลพิษดังกล่าว และการนำเข้าครั้งนี้ก็มีหลักฐานว่าบริษัทใดนำเข้าเมื่อไร ระบาดที่บ่อเลี้ยงในพื้นที่ใดบ้าง และแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใด บริษัทดังกล่าวต้องรับผิดชอบด้วย 

 

ดร.วิเชียร กล่าวทิ้งท้ายว่า จากกรณีดังกล่าวคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ และคณะกรรมการสำนักงานคดีปกครอง กำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายใน 2 แนวทางคือ

 

  1. การดำเนินคดีแพ่งกับผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย โดยดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ของชาวประมง และเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ตามหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย

           

  1. การดำเนินคดีปกครองกับหน่วยงานอนุญาตที่ละเลย ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เป็นการกระทำที่ละเมิดทางปกครอง และให้หน่วยงานอนุญาตขจัดการแพร่ระบาดและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป โดยให้เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากผู้ก่อให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ รวมทั้งค่าเสียหายจากการที่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising