×

กกร. คงคาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ 3-3.5% แต่ห่วงปีหน้าโตต่ำ หลังการค้าโลกส่อขยายตัวได้แค่ 1%

02.11.2022
  • LOADING...
กกร. คงคาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ 3-3.5% แต่ห่วงปีหน้าโตต่ำ หลังการค้าโลกส่อขยายตัวได้แค่ 1%

กกร. คงคาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ 3-3.5% แต่ห่วงเศรษฐกิจปีหน้าโตต่ำ หลังการค้าโลกส่อขยายตัวได้เพียง 1% ขณะที่นโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศจะถูกลดบทบาทลงเพื่อเข้าสู่ Policy Normalization  

 

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ในวันนี้ (2 พฤศจิกายน) ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 3-3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ 7-8% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6-6.5% 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว และอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่ในวงจำกัด อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและมีโอกาสเผชิญภาวะถดถอยชัดเจน รวมถึงทบทวนการถอนนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ประมาณการขององค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าในปี 2566 การค้าโลกจะเติบโตได้ในระดับต่ำแค่ 1% จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ เนื่องจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงยาวนานและธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินเข้มงวด รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อตลาดพลังงานอย่างต่อเนื่อง 

 

สอดคล้องกับประมาณการล่าสุดของ IMF ที่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของหลายประเทศ อีกทั้งโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยูโรโซน ที่มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า 

 

ที่ประชุม กกร. ระบุว่า ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่มีความชัดเจนขึ้น ทำให้ตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวลงเช่นกัน โดยเศรษฐกิจไทยจะเผชิญต้นทุนต่างๆ ทั้งค่าไฟ ค่าแรง และสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น 

 

ขณะเดียวกันนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศก็เริ่มมีการลดบทบาทออกไปเพื่อปรับนโยบายสู่สมดุล (Policy Normalization) ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ซึ่งการถอนการสนับสนุนเศรษฐกิจหลายมาตรการพร้อมๆ กัน เสี่ยงที่จะส่งผลกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่ทางการประเมินไว้เดิมได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดี การที่ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากกว่าคาด ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศทยอยฟื้นตัว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกันยายนอยู่ที่ 1.3 ล้านคน ทั้งปีน่าจะใกล้เคียง 10 ล้านคน จึงมีส่วนช่วยให้การจ้างงานของเอกชน และอุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมองว่ามาตรการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ยังคงมีความจำเป็น เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงหลายด้าน เพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ และผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สามารถประคองตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้ 

 

ทั้งนี้ กกร. มีความเป็นห่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า เนื่องจากประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ในปีหน้าได้ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงหลายด้าน และมีการทยอยลดบทบาทนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจเพื่อให้เข้าสู่จุดสมดุล หรือ Policy Normalization อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งน้อยกว่าที่คาดไว้ และกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนการแพร่ระบาดล่าช้าออกไป 

 

“การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับขึ้นเงินนำส่งเข้า FIDF เข้าสู่ภาวะปกติจากอัตรา 0.23% เป็น 0.46% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระบบ และการยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV ซึ่งการทยอยลดบทบาทหลายมาตรการพร้อมๆ กัน เสี่ยงที่จะเป็นการกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว” สนั่นกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X