มาร์ติน สกอร์เซซี ให้สัมภาษณ์ในต่างกรรมต่างวาระทํานองว่า หากเลือกได้ ผู้ชมควรดูหนังในสภาพแวดล้อมที่หนังเรื่องนั้นๆ ถูกออกแบบตั้งแต่ต้น นั่นคือในโรงภาพยนตร์ และด้วยเหตุผลนานัปการ ตั้งแต่เรื่องของสมาธิหรือการจดจ่อกับภาพและเสียงเบื้องหน้า (ความเงียบ ความมืด ความต่อเนื่อง) ประสบการณ์ร่วมกับคนดูรอบข้าง (หลายครั้งเราหัวเราะหรือแม้กระทั่งร้องไห้ไปพร้อมๆ กับคนแปลกหน้า และนั่นทําให้การดูหนังเป็นเสมือนการผจญภัยร่วมกัน) ไปจนถึงการผูกมัดตัวเองกับหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ และการลุกหนีไปไหนทําไม่ได้ง่ายดายนัก (ซึ่งแตกต่างจากการดูหนังแบบส่วนตัว ไม่ว่าในรูปแบบใดที่หลายครั้งการหยุดชะงักหรือล้มเลิกเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา)
แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็อาจจะไม่สําคัญเท่ากับประโยคที่สกอร์เซซีเขียนไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times เมื่อเร็วๆ นี้ และนั่นคือ เขาไม่เคยเจอผู้กํากับคนไหนที่ไม่ได้คิดถึงการทําหนังเพื่อฉายบนจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์ต่อหน้าผู้ชมหมู่มาก และตัวเขาก็เช่นเดียวกัน หรืออีกนัยหนึ่ง นี่คือ ‘ช่องทาง’ ที่หนังเรื่องหนึ่งๆ จะสําแดงศักยภาพของตัวมันเองได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด
แต่ก็อย่างที่นักดูหนังรับรู้รับทราบทั่วกัน หนังแก๊งสเตอร์มหากาพย์ที่ใครๆ พากันตั้งตารอคอยของ มาร์ติน สกอร์เซซี เรื่อง The Irishman กลับไม่ใช่หนังที่ผู้ชม ‘ส่วนใหญ่’ จะได้ดื่มด่ำสุนทรียะอันแสนวิเศษในสถานที่ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘โบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์’ ของภาพยนตร์ และต้องดูกันแบบตัวใครตัวมันผ่านระบบสตรีมมิงทางช่อง Netflix (ซึ่งเป็นผู้ออกทุนสร้าง) และก็แน่นอนว่า รายละเอียดทั้งทางด้านภาพและเสียงย่อมจะต้องถูกลดทอน
ฉากหนึ่งที่อาจช่วยยืนยันว่า ‘ขนาดของจอภาพ’ มีความหมายต่อการสื่อสาร ได้แก่ เหตุการณ์ที่ จิมมี่ ฮอฟฟา (อัล ปาชิโน) ตัวละครสําคัญของเรื่องสังเกตเห็นว่า ธงชาติสหรัฐฯ หน้าสํานักงานของเขาถูกลดลงครึ่งเสา เพื่อไว้อาลัยแด่การถึงแก่อสัญกรรรมของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประเด็นก็คือ หากจะมีใครสักคนที่ยินดีต่อการตายของเคนเนดี คนคนนั้นก็ได้แก่ฮอฟฟานั่นเอง และในขณะที่เจ้าตัวสั่งให้ลูกน้องกลับไปชักธงขึ้นยอดเสาตามเดิม รายละเอียดในส่วนแบ็กกราวด์ของ 2-3 ช็อต ระหว่างนี้ซึ่งเล็กมากๆ แสดงให้เห็นว่า ธงชาติสหรัฐฯ บนตึกรอบข้างล้วนอยู่ในระดับครึ่งเสาทั้งส้ิน และมันช่วยสําทับโดยอ้อมถึงความเป็นคนบ้าบิ่น โฉ่งฉ่าง ตาต่อตา ฟันต่อฟันของฮอฟฟา
ทํานองเดียวกัน สกอร์เซซีขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องของการใช้เพลงและดนตรีประกอบ หลายครั้งบอกยุคสมัย แต่หลายครั้งเพลงและเสียงดนตรีก็เปลี่ยนความหมายของสิ่งที่นําเสนอไปโดยสิ้นเชิง และเพลงป๊อปหวานๆ ของยุค 1950 อย่าง In the Still of the Night หรือเพลงบรรเลงอันโด่งดังอย่าง Sleep Walk ก็ให้ความรู้สึกหลอกหลอนเหลือเกิน และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าในสภาวะการดูแบบปิดในโรงภาพยนตร์ ซึ่งมีระบบเสียงรอบทิศทาง สิ่งที่สกอร์เซซีเรียกว่า ‘ปฏิกิริยาเคมีระหว่างผู้ชมกับตัวหนัง’ ก็น่าจะยิ่งทํางานอย่างเข้มข้นและสอดประสานกลมกลืน
แต่มองในมุมกลับกัน ด้วยความที่หนังเรื่อง The Irishman ไม่เพียงแค่กินเวลาฉายเนิ่นนานถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง หากยังบรรจุไว้ด้วยเรื่องปลีกย่อยจํานวนมาก ตัวละครที่จดจําชื่อแซ่กันไม่หวาดไม่ไหว และน่าเชื่อว่า ผู้ชมไม่น่าจะเก็บเกี่ยวโน่นนี่นั่นได้ครบถ้วนในคราวเดียว
นอกจากนี้อีกทั้งหลายเรื่องราวที่หนังบอกเล่า ก็ยังผูกโยงอยู่กับเหตุการณ์ในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเรียกร้องพื้นเพความรู้ตามสมควร (คิวบาและการบุกอ่าวหมู, โรเบิร์ต เคนเนดี้ และนโยบายกวาดล้างกลุ่มอิทธิพล, นิกสันและคดีวอเตอร์เกต ไปจนถึงสงครามที่โคโซโว) นั่นทําให้การดูหนังผ่านช่องทางสตรีมมิงช่วยให้ผู้ชมย้อน กลับไปทบทวนและปะติดปะต่อข้อมูลที่อาจตกหล่นได้ตลอดเวลา
แต่ไม่ว่าหนังของสกอร์เซซีเรื่องนี้จะได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบใด มันก็ยังคงเป็นหนังที่จํากัดความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากผลงานที่อัดแน่นและทรงพลัง และในขณะที่หลายคนอาจบ่นเรื่องหนังยาวเกินไป บางช่วงบางตอนตัดทอนได้ แต่ใครลองตรวจสอบอย่างรอบด้านก็น่าจะพบได้ไม่ยากว่า ไม่เพียงแค่ทุกเหตุการณ์ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลของการดํารงอยู่ของมัน ชั้นเชิงในการบอกเล่าของสกอร์เซซีก็ยังคงแยบยล คมคาย และสลับซับซ้อน สิ่งละอันพันละน้อยเคลื่อนผ่านการรับรู้ของผู้ชมไปอย่างชนิดที่ไม่อาจละวางสายตา หรือว่ากันตามจริง หากจะมีอะไรที่หนังเรื่อง The Irishman ขาดไปสักหน่อย ก็ได้แก่ Intermission หรือการแบ่งหนังออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง เพื่อช่วยให้ผู้ชมได้มีเวลาละเลียด ละเมียด และพักฟื้นจากข้อมูลที่ประดังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
พูดถึงตัวหนัง เป็นเรื่องหักห้ามไม่ได้หากใครจะเปรียบ The Irishman กับ Goodfellas (1990) ซึ่งได้รับโหวตจากหลายสํานักให้เป็นหนังอเมริกันที่ยอดเยี่ยมที่สุดของทศวรรษ 1990 เนื่องด้วยมันไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวคล้ายคลึงกัน อันได้แก่ สิ่งที่เรียกว่า ‘Rise and Fall’ หรือความรุ่งโรจน์และการร่วงหล่นของแก๊งสเตอร์ ทว่า ดังที่เกริ่นก่อนหน้า สไตล์หรือรูปแบบการเดินเรื่องก็ยังใช้แท็กติกแบบเดียวกัน ทั้งเสียงบรรยายของตัวละครหลักของเรื่อง การบอกเล่าเหตุการณ์จํานวนมากภายใต้กรอบเวลาที่ครอบคลุมหลายทศวรรษ และแน่นอน เสียงเพลงเล่นบทบาทสําคัญเหลือเกิน และหลายครั้งมันทําให้ฉากฆ่าแกงมีบรรยากาศเหนือจริง กระนั้นก็ตาม ส่วนที่แตกต่างน่าจะได้แก่จังหวะจะโคนในการบอกเล่าที่เรื่องหลังดูจะสุขุมคัมภีรภาพมากกว่า อีกทั้งระดับของความรุนแรงก็ไม่ได้ถูกขับเน้นอย่างเอาเป็นเอาตายเมื่อเปรียบกับเรื่องแรก
หนังเรื่อง The Irishman ดัดแปลงจากนิยายของ ชาร์ลส์ แบรนด์ เรื่อง I Heard You Paint Houses ตัวเอกได้แก่ แฟรงค์ ‘ดิไอริชแมน’ ชีแรน (โรเบิร์ต เดอนีโร) ผู้ซึ่งในตอนที่ผู้ชมได้พบกับตัวละครนี้ เขาใช้ชีวิตอย่างเดียวดายที่บ้านพักคนชรา หนังไม่ได้บอกตรงๆ ว่าด้วยเหตุผลกลใด แฟรงค์ในช่วงวัยใกล้ฝั่งมากๆ ถึงได้เริ่มต้นเล่าเรื่องราวแต่หนหลังของตัวเอง แต่ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป พวกเราก็น่าจะสังหรณ์ได้ว่า นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของคนแก่เล่าเรื่องเก่าแต่อย่างใด และทีละน้อย มันกลายเป็นการสารภาพความผิดบาปของตัวละคร ซึ่งเจ้าตัวเก็บงํามาเนิ่นนาน ยิ่งเมื่อคํานึงว่า หนึ่งในบุคลิกอันโดดเด่นของแฟรงค์ นอกเหนือจากความสามารถในการ ‘จัดการธุระปะปัง’ ให้กับบรรดาเจ้าพ่อ ได้แก่ การที่เขาไม่เคยปากโป้ง เปิดเผยความลับหรือโยนความผิดให้กับใครเพื่อเอาตัวรอด นั่นยิ่งทําให้เรื่องราวที่ค่อยๆ คลี่คลายตัวมันเองกลายเป็นเรื่องที่พิเศษมากขึ้นเรื่อยๆ
และอย่างที่พวกเราน่าจะบอกได้ ความรู้สึกผิดบาปอันใหญ่หลวงของตัวละครไม่ได้เป็นเรื่องที่เขามีอาชีพเป็นช่างทาสีบ้านเสียทีเดียว ซึ่งคงไม่ใช่ความลับอีกต่อไปหากจะบอกว่า นี่เป็นศัพท์แสงที่ใช้เรียกมือปืน และจากที่หนังให้เห็น แฟรงค์ก็ ‘ทาสีบ้าน’ มานับไม่ถ้วน และในช่วงท้ายเรื่อง เมื่อบาทหลวงถามว่า เขาสํานึกผิดต่อลูกเมียของผู้วายชนม์หรือไม่ คําตอบแบบเลี่ยงๆ ของแฟรงค์ ผู้ซึ่งเป็นคนพูดน้อย และหลายครั้ง สื่อสารด้วยอากัปกิริยาท่าทางมากกว่าการเอ่ยออกมา เป็นประโยคครบถ้วนนั้นบอกว่า เขาไม่รู้จักครอบครัวของคนที่เป็นเหยื่อคมกระสุนของเขาแต่อย่างใด ‘ยกเว้นเพียงหนึ่งเดียว’ ซึ่งจนถึงตอนนั้น ผู้ชมไม่เพียงล่วงรู้ว่า แฟรงค์หมายถึงใคร ทว่า ‘สิ่งที่เกิดขึ้น’ ก็ยังเป็นเสมือนตราบาปที่เกาะกุมและติดแน่นทนนาน เนื่องจากสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก บีบบังคับให้แฟรงค์ต้องทรยศหักหลังบุคคลที่ให้ความไว้เนื้อ เชื่อใจเขามากที่สุด และนับเนื่องเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และเหตุการณ์ครั้งนั้นทําให้แฟรงค์ผู้เงียบขรึมหัวใจสลาย
เรื่องหนึ่งที่พูดถึงกันมาก ได้แก่ เทคนิคพิเศษที่ช่วยลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าของนักแสดง หรือที่เรียกว่า De-Aging เพื่อว่า นักแสดงหลัก อันได้แก่ โรเบิร์ต เดอนีโร, อัล ปาชิโน และ โจ เพสชี ซึ่งล้วนแล้วอายุเจ็ดสิบค่อนแปดสิบกันหมด แล้วจะได้สวมบทเป็นตัวละครช่วงวัยกลางคนได้ไม่ขัดเขิน และผลลัพธ์ก็อยู่ในขั้นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง เทคนิคดังกล่าวไม่เพียงลดอายุนักแสดงได้อย่างแนบเนียน ทว่า หลังจากเวลาผ่านพ้นไปพักหนึ่ง มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผู้ชมให้ความสนใจอีกต่อไป และพวกเราไม่เพียงเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยในแต่ละช่วงวัย ทว่า ฝีไม้ลายมืออันจัดจ้านของนักแสดงหลักทั้งสาม ก็ทําให้ผู้ชมพร้อมจะล่มหัวจมท้ายไปกับตัวละคร
ข้อน่าสังเกตก็คือ แอ็กติ้งแบบโลว์คีย์ของเดอนีโรตัดกับสไตล์อันฉูดฉาดของปาชิโนอย่างน่าตื่นตา ขณะที่แฟนๆ หนังแก๊งสเตอร์คงจะประหลาดใจกับบทบาทของ โจ เพสชี ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เขามักจะสวมบทเป็นตัวละครที่คุกรุ่นเดือดพล่าน ทว่า บท รัสเซลล์ บูแฟลิโน กลับเป็น ‘ดอน’ ที่สงบนิ่งและเยือกเย็น และแอ็กติ้งแบบสงวนท่าทีของเพสชี ยิ่งทําให้คาแรกเตอร์นี้ดูน่าเกรงขามมากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นการรวมตัวกันครั้งสําคัญมากๆ ของนักแสดงรุ่นใหญ่ทั้งสามคน หรือจริงๆ แล้ว ต้องรวม ฮาร์วีย์ ไคเทล ซึ่งเป็นศิษย์เก่าหนังของสกอร์เซซีด้วย และผู้ชมได้แต่นึกสงสัยว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นง่ายดายนัก หรือว่าบางทีนี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย ไม่ว่านั่นจะเป็นเจตนาหรือไม่อย่างไร หนึ่งในธีมสําคัญของหนังเรื่อง The Irishman พูดถึงเรื่องของจุดจบและการผ่านพ้นของหลายสิ่งหลายอย่างพร้อมๆ กัน ตั้งแต่องค์กรอาชญากรรม สถาบันครอบครัว อํานาจ มิตรภาพ ไปจนถึงระบบระเบียบของโลกใบเก่าที่ผ่านพ้นไปแล้วและไม่หวนคืน
และในขณะที่ไม่มีแม้แต่ช่วงเดียวของหนังที่แสดงออกอย่างคร่ำครวญฟูมฟาย บีบเค้นอารมณ์ หรือหวนหาความหลังอย่างอาลัยอาวรณ์ และอันที่จริง ท่าทีในการนําเสนอของหนังกลับดู ‘สร่าง’ จากความหลงละเมอเพ้อพกมากๆ มันเงียบเชียบและเรียบง่าย ทว่า จนแล้วจนรอด ช็อตสุดท้ายกลับเป็นห้วงเวลาที่เศร้าสร้อยที่สุด และกัดกร่อนความรู้สึกอย่างสุดแสนจะทานทน ขณะเดียวกันก็น่าสมเพชเวทนา (ในลักษณะคล้ายๆ กับ ‘ช็อตโทรศัพท์’ ในหนังเรื่อง Taxi Driver) อีกทั้งยังตอกย้ำว่า ไม่ว่า แฟรงค์ ชีแรน จะพยายามแสวงหาหนทางชําระล้าง ความผิดบาปอย่างไร มันก็ไม่เคยเลือนหายไปไหน
เป็นไปได้ว่า จนถึงตอนนี้ แฟนๆ หนังมาร์เวลอาจจะยังคงขุ่นเคืองสกอร์เซซีที่กล่าวหาว่า หนังมาร์เวลไม่ใช่หนัง และเป็นเพียงแค่สวนสนุกหรือธีมพาร์ก ซึ่งเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันได้ไม่มีปัญหา แต่ The Irishman ก็เป็นหนังที่ผิดแผกแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง จริงๆ มันไม่เพียงนําพาผู้ชมไปสํารวจชีวิตของตัวละครในท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี ทว่า ยังถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ทั้งในแง่มุมที่งดงามและอัปลักษณ์ และด้วยสัมผัสอันละเอียดและอ่อนไหว อีกทั้งความขัดแย้งที่ตัวละครต้องเผชิญก็ไม่ได้ห่างไกลจากความสามารถในการเข้าถึงของผู้ชม และในดีกรีที่เบาบางกว่า พวกเราก็คงจะพบเจอสถานการณ์ที่คล้ายคลึง กระทั่งมีคําถามในทางจริยธรรมที่ตอบไม่ได้ง่ายๆ แบบเดียวกัน
ไม่มากไม่น้อย เรื่องที่น่าเศร้าจริงๆ ได้แก่ การที่บรรดาสตูดิโอในฮอลลีวูดไม่ยอมออกเงินให้สร้างหนังเรื่อง The Irishman จนเป็นเหตุให้หนังไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่ได้เป็นอะไรที่อยู่เกินคําอธิบาย ไล่เรียงอย่างสั้นๆ ได้ตั้งแต่ความยาวของหนังที่ไม่ประนีประนอม ไปจนถึงการที่มันไม่ได้มีลักษณะสําเร็จรูปและตายตัว หรือสามารถคาดเดาได้ หรือแม้กระทั่งมอมเมาแบบเดียวกับหนังแฟรนไชส์ทั้งหลายทั้งปวง เหนืออื่นใด นี่เป็นหนังที่นําพาผู้ชมไปเผชิญหน้ากับความจริง (Truth) ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นของแสลงไปเสียแล้วสําหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์บันเทิงในปัจจุบัน
The Irishman (2019)
กํากับ – มาร์ติน สกอร์เซซี
ผู้แสดง – โรเบิร์ต เดอนีโร, อัล ปาชิโน, โจ เพสชี, ฮาร์วีย์ ไคเทล, บ๊อบบี้ คานาวาเล, แอนนา พาควิน ฯลฯ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล