GDH นับเป็นหนึ่งในบริษัทที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่บนเส้นทางของการทำหนังมาโดยตลอด ซึ่งในปัจจุบันได้ผลิตผลงานคุณภาพมากมายมาให้คนไทยดูกันอย่างต่อเนื่อง
แต่หลังจากที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาเกือบสองทศวรรษ ไม่นานมานี้ GDH เริ่มขยับขยายตัวเองกลายเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศอีกเจ้าหนึ่งในไทย ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่หลายคนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
THE STANDARD POP มีโอกาสพูดคุยกับ วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ และ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ถึงที่มาที่ไปของ Out of the box by GDH ตั้งแต่การเลือกหนัง มุมมอง ประสบการณ์ ไปจนถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
GDH เป็นบริษัทที่ทำหนังมาโดยตลอด อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เริ่มหันมาเป็นผู้จัดจำหน่ายหนัง
วรรณฤดี: อย่างที่บอกว่า GDH เราทำหนังมาโดยตลอด คือ ณ วันนี้เป็น GDH ทำหนังมา 7 ปี แต่ถ้านับรวมสมัยเป็น GTH ด้วยคนทำงานก็ค่อนข้างจะเป็นกลุ่มเดียวกัน หลายคนก็เติบโตต่อเนื่องมาจากนั้นอีก 11 ปี คือรวมๆ ก็เกือบ 20 ปีแล้วที่เราเป็นคนทำหนังไทยอย่างเดียวเลย ยังไม่เคยทำธุรกิจจัดจำหน่ายหนังต่างประเทศมาก่อน ซึ่ง 20 ปีที่ผ่านมาวงการหนังก็มีอะไรเปลี่ยนไปเยอะ วงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์บ้านเราก็มีอะไรเปลี่ยนไปเยอะ บุคลากรที่อยู่กับ GDH ก็มีการเปลี่ยนแปลงเติบโตขึ้นมาเยอะ
ถามว่าทำไมเราถึงลุกขึ้นมาทำ พี่ว่าเป็นไปตามกระบวนการเติบโตของบริษัทหนึ่งแหละ คือในมุมหนึ่งมันเป็นการสนับสนุนการเติบโตของบริษัท แต่ถ้าในมุมคนทำหนังก็จะเห็นว่าผู้กำกับที่เคยมีพี่กับพี่เก้งเป็นโปรดิวเซอร์ วันนี้ก็จะเริ่มเติบโตขึ้นมาเป็นโปรดิวเซอร์ แล้วก็เริ่มโปรดิวซ์ให้น้องๆ
ในพาร์ตของบริษัทเองเราก็มีบุคลากรที่วันหนึ่งเขาเคยเป็นแค่แผนกต่างประเทศ ซึ่ง ณ วันนี้เขาก็เติบโตขึ้น และอยากเริ่มที่จะลองจัดจำหน่ายหนังต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย แล้วเขาเองก็มีรสนิยม มีคอนเนกชันที่บริษัทอยากสนับสนุนให้ลองทำดู ก็เลยเป็นสถานการณ์ทั้ง 2 ส่วน
“เรารู้สึกว่าถ้าดำเนินธุรกิจนี้ไปได้ก็น่าจะเป็นกำไรทั้งของตัวเรา โรงหนัง และคนดู คือ Win-Win ทุกฝ่าย ถ้าเราทำได้สำเร็จร่วมกัน” – วรรณฤดี
ชื่อ Out of the box มีที่มาอย่างไร
วรรณฤดี: เป็นชื่อที่ทีมต่างประเทศนำโดย พี่ทรงพล (ทรงพล วงษ์คนดีผู้อำนวยการฝ่ายขายและธุรกิจต่างประเทศ) ที่เขาเป็นคนเลือกหนัง Past Lives มีความตั้งใจปลูกปั้นทีมนี้ขึ้นมา แล้วพอพี่จิน่า (จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด) อนุญาตให้ทำ เขาก็มาขอให้พี่เก้งตั้งชื่อ พี่เก้งเขาเป็นนักตั้งชื่อ (หัวเราะ) เขาตั้งมาหลายบริษัท อย่างเช่น นาดาว บางกอก พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ก็เป็นคนตั้งชื่อให้พี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) สมัยนั้น คือเป็นเหมือนการเอาฤกษ์เอาชัยแบบพี่เก้งช่วยตั้งชื่อให้หน่อย พี่เก้งเขาก็เป็นคนคิดแล้วได้ที่มาของคำว่า Out of the box ซึ่งจริงๆ เป็นชื่อที่พี่เก้งได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นแผ่นเสียงเพลงแจ๊สชื่อ Out of the Blue (หัวเราะ) เขาก็แบบ เฮ้ย! ชื่อ Out of the box ดีกว่า
ส่วนความหมายของมันคือ หนังนอกกระแสหรือหนังต่างประเทศที่เราเคยดูสมัยเด็กๆ เมื่อก่อนเราจะต้องไปคุ้ยกระบะดู (หัวเราะ) เวลามีคนเอาเข้ามาขายเป็นวิดีโอบ้าง เป็นดีวีดีบ้าง ซึ่งถ้าอยากดูหนังที่แปลกแตกต่างไปจากหนังฮอลลีวูด หรือหนังไทยก็ต้องไปคุ้ยดูจากกระบะเหล่านี้
พี่เก้งเขาก็เลยรู้สึกว่า หนังพวกนี้เป็นหนังที่อยู่นอกกรอบ เป็นหนังที่เราต้องไปคุ้ยออกมาจากกล่อง ทั้งหมดนี้ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า Out of the box
ทีมก็ชอบเพราะเขารู้สึกว่าเป็นแรงบันดาลใจมาก แล้วก็รู้สึกว่าได้ทิศทางของการเลือกหนังเลย (หัวเราะ) ว่าเราจะเลือกหนังที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า มันนอกเหนือไปจากหนังเมนสตรีมที่เราเห็นกันตามปกติ ซึ่งก็คือหนังไทยกับหนังฮอลลีวูด
พี่จิน่าเคยพูดเอาไว้คำหนึ่งว่า การที่เราลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้เพราะอยากให้วงการหนังไทย และการกลับมาดูหนังในโรง ไม่ว่าจะเป็นหนังไทย หรือหนังต่างประเทศ รวมถึงหนังในโรงหนังเองมีความแตกต่างหลากหลายให้คุณได้เลือกเยอะขึ้น ไม่แพ้กับหนังที่อยู่ในแพลตฟอร์มอื่นๆ
เราเลยรู้สึกว่าถ้าดำเนินธุรกิจนี้ไปได้ก็น่าจะเป็นกำไรทั้งของตัวเรา โรงหนัง และคนดู คือ Win-Win ทุกฝ่าย ถ้าเราทำได้สำเร็จร่วมกัน
ทาง GDH ศึกษาอะไรบ้างก่อนเลือกหนังแต่ละเรื่องมาฉาย
วรรณฤดี: จากที่เคยคุยกับพี่ทรงพลมา พี่ว่าเขาใช้ทั้งสองอย่างคือ ใช้สัญชาตญาณในฐานะนักดูหนัง ซึ่งเขาเป็นนักดูหนังที่เคยทำงานด้านนี้มาบ้างแล้ว และหลายๆ เรื่องก็เป็นเรื่องที่พี่นึกย้อนไปแล้วรู้สึก ขอบคุณเลยนะ ว่าพี่ทรงพลเคยเป็นคนเลือกหนังเหล่านี้มาให้เราดูในโรงเหรอ เช่น Talk to Her, Amélie, My Sassy Girl หรือว่าหนัง Ghibli
พอวันนี้เขาได้มาร่วมงานกับเรา ด้วยความที่มีประสบการณ์ด้านการซื้อขายหนังมาก่อน เขาก็ทำข้อมูลทั้งในเชิงธุรกิจ แล้วก็เลือกด้วยสัญชาตญาณของการที่เขาเป็นคอหนังที่ดูหนังมาหลากหลายชาติ
แต่อย่างแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ แผนกต่างประเทศของ GDH ทุกๆ ปีจะทำหน้าที่พาหนังของ GDH ไปขายในตลาดต่างๆ เช่น เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์, AFM (American Film Market) หรือเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ซึ่งตามเทศกาลหนังเหล่านี้ก็มักจะมีทั้งคนซื้อและคนขายผสมอยู่รวมกัน บทบาทหนึ่งเราเคยเป็นคนเอาหนังไปขาย แต่เราก็รู้จักคู่ค้า รู้จักผู้จัดจำหน่ายเจ้าอื่นๆ จนมาวันนี้เราเองกลายเป็นคนที่ไปดูหนังและเลือกซื้อหนังของคนอื่นมา
ทั้งหมดนี้มันประกอบรวมกันตั้งแต่ความรู้เชิงข้อมูล ความรู้ทางคอนเนกชัน แล้วก็รสนิยมในการเลือกหนังของหัวหน้าทีมที่เรามี จนสุดท้ายออกมาเป็นหนังเรื่องแรกอย่าง Past Lives
หากไม่พูดในมุมของธุรกิจ เวลาเลือกหนัง GDH เลือกในฐานะคนที่เคยทำ หรือคนดูมากกว่ากัน
วรรณฤดี: น่าสนใจ พี่ว่าทั้งคู่ เพราะตอนเป็นคนทำหนัง เราก็เลือกแบบทั้งคนทำแล้วก็คนดู คือหมายถึงว่าการเป็นโปรดิวเซอร์ของพี่กับพี่เก้ง หรือกระทั่งผู้กำกับเอง พี่ว่าคนเรามันแยกความรู้สึกนี้ออกไปจากตัวไม่ได้
เหมือนเวลาเราเจอไอเดียเรื่องหนึ่งที่เราอยากทำ เราจะมีทั้งความรู้สึกว่า เราอยากทำมันในฐานะคนทำ ในขณะเดียวกันความเป็นคนดูในตัวเราก็จะวัดด้วยว่า ในฐานะคนดูเราอยากจะดูไหม เพราะฉะนั้นพี่ว่าก็ทั้งสองอย่างที่ช่วยให้เราตัดสินใจว่าเราอยากทำหนังเรื่องนี้
ดังนั้นตอนเป็นคนเลือกมาจัดจำหน่าย พี่ว่าก็น่าจะมีความรู้สึกของทั้งคนดูและคนทำ คือตอนนี้ทีม Out of the box เขาไม่ใช่คนทำหนังจริงๆ พี่เลยคิดว่าเขาอาจใช้ความรู้สึกของคนดูมากกว่า แต่ว่าประสบการณ์ของผู้บริหาร GDH ที่จะพูดคุยกับเขา หรือให้ความเห็นเขามันก็เป็นความเห็นของคนทำ ทั้งสองอย่างนี้เลยปนกันอยู่เป็นไปตามธรรมชาติ
โต้ง: เห็นด้วยกับวรรณ ผมว่าน่าจะทั้งคู่นะ แม้จะเป็นการทำคนละอย่างแต่น่าจะมีความคล้ายกันอยู่ในวิธีการ
“หนังเหล่านี้เราคิดว่าแฟน GDH เขาน่าจะสนใจ รับได้ในคุณภาพ และเราก็ภูมิใจที่เลือกมาให้เขาดู ที่สำคัญคือเราอยากให้คนดูเข้าถึงจริงๆ ไม่ว่าเขาจะอยู่จังหวัดไหน” – วรรณฤดี
ด้วยความที่เป็นบริษัทที่ทำหนังมาก่อน GDH มีความคิดอะไรที่แตกต่างจากผู้จัดจำหน่ายหนังเจ้าอื่นบ้าง
วรรณฤดี: ความคิดของ GDH คือ ความเกี่ยวพันกันของการไม่ใช่หนังเมนสตรีม แต่ยังเป็นหนังที่เราคิดว่ายังสื่อสารกับคนดูได้ในแบบที่ใกล้เคียงกับตัวตนของ GDH เหมือนจะมีจุดตัดกันนิดหน่อย จุดตัดที่เรารู้สึกว่านี่คือหนังที่ Out of the box เลือกมาให้กับแฟนๆ หนังไทยที่เคยดูหนัง GDH มา ซึ่งถ้าคุณอยากจะลองดูหนังต่างประเทศที่ไม่ใช่หนังไทย หรือหนังฮอลลีวูด หนังเหล่านี้เราคิดว่าแฟน GDH เขาน่าจะสนใจ รับได้ในคุณภาพ และเราก็ภูมิใจที่เลือกมาให้เขาดู ที่สำคัญคือเราอยากให้คนดูเข้าถึงจริงๆ ไม่ว่าเขาจะอยู่จังหวัดไหน
โต้ง: เป้าหมายของ Out of the box ก็น่าจะทำให้มีคนดูมากขึ้น รวมไปถึงคนที่ดูหนัง GDH ได้เปิดใจดูหนังเหล่านี้ด้วย แม้บางคนอาจไม่เคยดูมาก่อนก็เป็นได้เหมือนกัน แต่อาจมากกว่าตลาดหนังอิสระที่มีเป้าหมายของเขาอยู่ ซึ่งเราอยากให้มันกว้างกว่านั้น
ในฐานะที่เคยเป็นผู้ขายอย่างเดียว แต่นับจากนี้จะเป็นผู้ซื้อด้วย อะไรคือความต่างระหว่างสองสิ่งนี้
วรรณฤดี: ในฐานะผู้ซื้อพี่ว่าอันนี้เรากำลังเพิ่งเริ่ม ถามว่าเห็นอะไรมากหรือยัง ไม่เห็นยังตื่นเต้นอยู่ (หัวเราะ) คือพี่ว่าเรากำลังจะได้เรียนรู้เหมือนกับตอนทำหนังไทยที่เราพยายามจะทำความรู้จักกับคนดูหนังไทยนั่นแหละ ก็เหมือนกับตอนนี้ที่เรากำลังพยายามจะทำความรู้จักกับคนที่เขาอาจเป็นคนดูหนังไทยเดิมที่อยากจะลองมาดูหนังชาติอื่นๆ แบบที่ไม่ใช่หนังฮอลลีวูดบ้าง ซึ่งการได้ลองทำอะไรแบบนี้ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและดูสนุกดี เพราะมันเพิ่งเริ่มก็คงต้องให้เวลากับ Out of the box แป๊บหนึ่งว่าลองทำแล้วได้ความว่าอย่างไรบ้าง
เล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่าอันนี้อาจไม่ใช่ความรู้สึกของทีม แต่เป็นความรู้สึกเฉพาะของพี่กับพี่เก้งคือ ปีนี้ได้มีโอกาสไปเมืองคานส์ ก็เลยอยากไปสังเกตการซื้อขายหนังที่ตามปกติเราเป็นคนขายมาโดยตลอด ซึ่งการเป็นคนขายก็ดูเหนื่อยยากนะกว่าจะขายอะไรได้สักชิ้นหนึ่ง (หัวเราะ) แต่พอขายได้เสร็จกลับมาถึงประเทศไทยความรู้สึกมันจะเหมือนเราตัวใหญ่ น้องๆ ในทีมจะบอกว่า พี่ถ้าเราขายได้นะกลับมาเมืองไทยเราจะรู้สึกตัวใหญ่มาก กลับไปบอกบริษัทเลยว่าเราหาเงินมาได้ค่ะ (หัวเราะ)
แต่พอเราเป็นคนซื้อ ตอนที่อยู่คานส์เราจะรู้สึกตัวใหญ่มาก ทุกคนจะมาดูแลเรา ถามว่าอยากจะดูเทรลเลอร์เรื่องไหน อยากดูฟิล์มคลิปอะไร เอาหนังเรื่องนี้ไหม แต่พอเราซื้อเสร็จทันทีที่เครื่องแลนดิ้งประเทศไทย น้องๆ ในทีมก็จะบอกว่า เริ่มรู้สึกเครียดขึ้นมาทันที (หัวเราะ) เริ่มรู้สึกว่ามีภาระที่เราจะต้องมาค้าขายหนังเรื่องนี้ต่อเพื่อทำกำไรให้บริษัท
พี่ว่าเป็นประสบการณ์ที่สนุกดีนะ มันต่างกันแน่แหละ แต่ก็น่าสนุกดีเหมือนกัน
ตลาดหนังในไทยดูมีปัญหาหลายอย่าง ทั้ง โรงหนัง ค่าตั๋ว ไปจนถึงจำนวนรอบที่อาจถูกลดได้ทุกเมื่อ GDH มีวิธีต่อรอง หรือวางแผนจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร
วรรณฤดี: อย่างที่บอกว่าอันนี้เราเพิ่งเริ่มทำเรื่องที่หนึ่ง แล้วเรายังไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอะไรขนาดนั้น คือหมายถึงว่าจริงๆ โรงหนังเขาเป็นคู่ขาที่ดีของเรานะ ณ วันที่ทำหนังไทย เราก็เข้าฉายกับโรงหนัง แน่นอนว่าการเป็นคู่ค้าก็มีเรื่องธุรกิจที่ต้องดีล เห็นตรงกันบ้าง ไม่เห็นตรงกันบ้าง แต่สิ่งที่เราจะต้องทำร่วมกันคือ ไปชนะใจคนดู และอยากให้คนดูกลับเข้ามาดูหนังในโรง
เพราะฉะนั้นในวันที่เรามาทำ Out of the box พี่ว่าจุดยืนก็คล้ายๆ กันนะ คือเราต้องจับมือกับโรงหนังให้ได้ แล้วทั้งเราทั้งโรงหนังมีสิ่งที่อยากทำร่วมกันคือ อยากให้คนดูมาดูหนังในโรง ซึ่งถ้าถามว่าเป็นอุปสรรคไหม พี่มองว่าเราและโรงหนังไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกัน พี่ว่าเรายังต้องเป็นคู่ค้ากับโรงหนัง และมีเป้าหมายเดียวกันคือ พาคนดูมาดูหนังในโรง เพียงแต่เปลี่ยนจากหนังไทยมาเป็นหนังต่างประเทศเรื่องหนึ่ง
โต้ง: อันหนึ่งที่เห็นน่าจะเป็นเรื่องว่า ถึงแม้จะเป็นหนังต่างประเทศที่ดูไม่ได้มีตลาดใหญ่อะไร แต่ก็ต้องทำให้โรงหนังเห็นว่า เราโปรโมตแบบสมน้ำสมเนื้อที่เขาจะให้รอบเยอะ ไม่ใช่แบบว่าหนังเล็กไม่รู้จักหรอกแล้วก็โปรโมตน้อยมากๆ
“ผมว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างที่โดนคนรุ่นใหม่ด้วย มันมีความธรรมดา แต่ขณะเดียวกันก็มีความป๊อปในความอาร์ตของมัน ผมชอบมาก จบแล้วยังอยู่กับมันอยู่เลย” – โต้ง
ทำไมถึงเลือก Past Lives เป็นหนังเรื่องแรกในฐานะผู้จัดจำหน่าย GDH เห็นศักยภาพอะไรในหนังเรื่องนี้
วรรณฤดี: Past Lives ทำให้เรานึกถึงจุดเริ่มต้นของ GDH นิดหน่อย ด้วยความที่มันเป็นรักครั้งแรก แต่ส่วนสำคัญที่ต้องยอมรับจริงๆ ก็คือ A24
ในวันที่ GDH จะเริ่มเปิด Out of the box พอเขารู้ว่าเราจะทำจัดจำหน่ายด้วยเครดิตของบริษัท GDH ทาง A24 ก็ดูเหมือนอยากจะร่วมงานกับเรา และเขาก็ให้หนังเรื่องนี้มา ซึ่งถ้าพูดตรงๆ ก็คือเป็นหนังเรื่องเด่นของค่ายมากๆ แล้วเรารู้สึกว่าเรื่องนี้คนดูหนังไทยก็มีคนรอดูอยู่เยอะ
เหมือนกับทันทีที่ปล่อยไป แฟนๆ GDH หรือแฟนๆ หนังไทยเองก็พูดถึงว่ามันดูไปกันได้นะกับความรู้สึกของ GDH พี่เลยคิดว่าคงเป็นความรู้สึกรวมๆ ของการที่เราอยากจะร่วมงานกับ A24 ด้วย แล้วก็สัญชาตญาณของการที่เราชอบหนังเรื่องนี้จริงๆ เลยคิดว่าคนดูหนังไทยน่าจะเปิดใจให้หนังเรื่องนี้ได้
พี่ว่าคงไม่ได้มีเหตุผลเป็นตรรกะข้อๆ แบบวิเคราะห์มาแล้วทางสถิติอะไรขนาดนั้น แต่เป็นความรู้สึกที่รวมกันหลายๆ อย่าง ซึ่งในมุมของพี่ Past Lives เป็นหนังที่มีความจริงใจอยู่ในนั้นเยอะมาก และก็สนุกดีที่หนังจบไปวันสองวันแล้วเรายังคิดถึงเรื่องความรักของตัวละครอยู่
โต้ง: ส่วนตัวผมคือ ใช่เลย เป็นหนัง A24 ที่รู้สึกว่ามีเรื่องเกี่ยวกับความรัก ความถวิลหาอะไรบางอย่าง หรือมีความจี๊ดบางอย่าง ซึ่งรู้สึกว่าคอหนังรัก GDH น่าจะชอบด้วย แล้วพอทางทีมผู้กำกับทุกคนได้ยินก็ตื่นเต้นมาก เพราะอยากดูเรื่องนี้มาก เลยถือว่าเป็นเรื่องแรกที่ว้าวมากเลย
ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้ดูหนังรักเอเชียนที่มีความรู้สึกโหวงๆ เคว้งๆ อะไรบางอย่าง อารมณ์ถวิลหามันออกเยอะมาก เหมือนผู้กำกับเขาทำมาจากเรื่องของเขาเองแล้วอินมาก มันสัมผัสได้ในหนังเลย ซึ่งผมว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างที่โดนคนรุ่นใหม่ด้วย มีความธรรมดาแต่ขณะเดียวกันก็มีความป๊อปในความอาร์ตของมัน ผมชอบมาก จบแล้วยังอยู่กับมันอยู่เลย
ตอนประกาศว่าจะนำหนังเรื่องนี้มาฉาย กระแสตอบรับจากทางฝั่งคนดูเป็นที่พูดถึงอย่างมาก ในฐานะผู้จัดจำหน่าย GDH เคยคิดไปถึงขั้นที่ว่ากระแสตอบรับในไทยจะดีขนาดนี้ไหม
วรรณฤดี: หวังว่าจะดี (หัวเราะ) พอมันดีก็ดีใจ แต่ถามว่ารู้ก่อนไหม ตอบเลยว่าไม่รู้หรอก เพราะไม่เคยทำไง ซึ่งความรู้สึกนี้มันกลับไปตื่นเต้นเหมือนตอนทำหนังไทยแรกๆ ที่เราก็ทำไปด้วยความไม่รู้อะไรมาก ณ วันนี้รู้อะไรเยอะแล้วก็ตื่นเต้นอีกแบบหนึ่ง (หัวเราะ) แต่ตอนนี้กลับไปตื่นเต้นแบบไม่รู้ ไม่รู้จริงๆ ซึ่งพี่ว่าไม่ได้คาดคิดไว้ แต่อยากให้มันดี ถ้ามันดีก็ดีใจ
โต้ง: เปลี่ยนยอดแชร์ไปเป็นยอดตั๋วด้วยแล้วกัน
นี่เป็นการลองตลาดด้วยหรือเปล่า
วรรณฤดี: จริงๆ พอเราจะเริ่มทำอันนี้ เราไม่ได้คิดว่าเลือกหนังเรื่องหนึ่งมาลองแล้วถ้าเจ๊งก็เลิกกันดีกว่า คือมีแพลนระยะยาวประมาณหนึ่ง คล้ายๆ กับตอนเราเข้ามาทำหนังไทย เราคิดว่าเราอยากเดินต่อไปให้ได้ในการเป็นคนทำหนังไทย
ส่วนในการเป็นคนจัดจำหน่ายหนังต่างประเทศ จริงๆ ทีม Out of the box ซื้อหนังมาแล้ว 3 เรื่อง แปลว่าเรามีแพลนแล้วว่าจะเป็นอย่างไรต่อ จากนั้นก็จะเรียนรู้ดูว่า เราเลือกหนังได้ดีแล้ว หรือต้องปรับเปลี่ยนการเลือกหนังของเรา การโปรโมตแบบไหนคือใช่ ซึ่งจริงๆ เราแพลนไว้ประมาณหนึ่ง ไม่ได้ทำแค่เรื่องเดียวแน่นอน
“รู้สึกว่าพอเป็นนาทีนี้แล้ว เหมือนเดายากมากๆ นะ เพราะพฤติกรรมคนค่อนข้างเปลี่ยนหลังโควิด คือลุ้นมากเลยละกัน” – โต้ง
ถามอย่างตรงไปตรงมา คิดว่าหนังเรื่องนี้จะได้กำไรเท่าตัว หรือขาดทุน?
วรรณฤดี: พี่ไม่รู้เหมือนกันเลยรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ว่าเชียร์และเอาใจช่วย แล้วก็รู้สึกว่าน่าจะดี ซึ่งพี่ว่าตอนนี้เหมือนเวลาที่เราทำงานกับผู้กำกับใหม่ๆ คือเขาจะตื่นเต้นมาก เพราะไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นนึกออกไหม แต่เรามองเห็น เราทำงานออกมาเราพอรู้นะว่าจะเกิดอะไรขึ้น
อันนี้พูดถึงหนังไทยนะคือ เรารู้อยู่แก่ใจว่าหนังเรื่องนี้ที่เราเริ่มต้นทำมามันน่าจะได้ผลลัพธ์ปลายทางอย่างไรถ้าเราทำได้ดี และเราพามันไปถึงไหม ทำเสร็จแล้วเป็นอย่างไร โปรโมตเป็นอย่างไร เราจะพอรู้ แต่ถ้าเป็นผู้กำกับครั้งแรก เขาจะไม่รู้จริงๆ ไม่รู้ว่ามันคืออย่างไร เห็นตัวเลขรายได้ก็ไม่รู้เลยนะว่านี่คือเยอะหรือน้อย
ณ วันนี้พี่ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างนั้น เพียงแต่เปลี่ยนจากผู้กำกับเป็นคนจัดจำหน่ายหนังครั้งแรกกับหนังเรื่อง Past Lives เท่านั้นเอง ถามว่ารู้ไหม ไม่รู้จริงๆ
โต้ง: รู้สึกว่าพอเป็นนาทีนี้แล้ว เหมือนเดายากมากๆ นะ เพราะพฤติกรรมคนค่อนข้างเปลี่ยนหลังโควิด คือลุ้นมากเลยละกัน ผมก็คงเหมือนวรรณคือ หวังว่ามันจะออกมาดี แต่ถ้าใช้สัญชาตญาณคือไม่รู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกเรื่องเลยละกัน ณ ตอนนี้ แต่เราก็ทำหน้าที่ของเราแหละ (หัวเราะ)
ถ้าจำไม่ผิดไม่เคยมีหนังแบบนี้ที่ได้รับการโปรโมตแบบนี้ด้วย เลยอยากรู้มากๆ เพราะว่าหนัง A24 ก็มีเข้ามาฉายเรื่อยๆ ตามรอบปกติ แต่ไม่ได้มีการโปรโมตแคมเปญออนไลน์อะไรมากมาย ยกตัวอย่างเช่น สมัย Hereditary (2018) หนังผีเขาก็เอาเข้าทั่วไป
แต่ถ้าดูจากผลลัพธ์ (ในแง่กระแส) ของ Past Lives เราอาจพูดได้ว่าประสบความสำเร็จ แล้วถ้าสมมติว่าหนังเรื่องนี้ หรือเรื่องหน้าไม่ประสบความสำเร็จ GDH มีวิธีรับมือกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร
วรรณฤดี: คือเราแพลนแล้วว่าเราจะซื้อหนัง 3 เรื่อง ถ้า Past Lives ประสบความสำเร็จ เราคงต้องมานั่งวิเคราะห์ว่าเราทำอะไรได้ดี แล้วอะไรที่เรายังทำได้ไม่ดี ถ้าไม่ประสบความสำเร็จคงต้องกลับมานั่งวิเคราะห์เหมือนกันว่าผิดพลาดตรงไหน การเลือกหนังเหรอ กลุ่มคนดูเหรอ การโปรโมตเหรอ ซึ่งพี่ว่าไม่ต่างอะไรกับเวลาเราทำหนังไทย
ถามว่า 20 ปีที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกเรื่องนะ มีเรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือเรียกว่าเจ๊งเหมือนกัน แต่ทุกครั้งที่เราเจ๊งเราได้เรียนรู้ หรือทุกครั้งที่เราประสบความสำเร็จ เราก็พยายามที่จะเรียนรู้จากความสำเร็จนั้น แม้การเรียนรู้จากความสำเร็จจะยากกว่าก็ตาม (หัวเราะ)
แต่เราพยายามจะเรียนรู้เพราะว่าโลกเปลี่ยนไปตลอดเวลา การทำหนังทุกอย่างเปลี่ยนไปตลอดเวลา พี่เลยรู้สึกว่าต่อให้ไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้อย่างไรก็คุ้มค่า เพราะมันจะสอนเราหลายอย่างแน่นอน แล้วถ้ายิ่งประสบความสำเร็จทางรายได้ด้วย อันนั้นยิ่งดี พี่เลยรู้สึกว่าไม่ได้แตกต่างกันมากกับตอนที่เราเริ่มทำหนังไทย เอาจริงๆ เสี่ยงน้อยกว่าทำหนังไทยอีก (หัวเราะ)
“เราไม่ได้อยากจำกัดตัวเองไว้ที่อะไร หนังที่เราเลือกมาเป็นหนังที่รู้สึกว่าน่าดู สนุก แตกต่าง เป็นหนังที่มีคุณภาพมาก และเราอยากให้คนดูได้ดู” – วรรณฤดี
ในอนาคตจะยังคงเอาหนังที่อยู่นอกกระแสเข้ามาฉายอย่างเดียวไหม หรือจะเอาหนังที่เมนสตรีมมากขึ้นเข้ามาด้วย
วรรณฤดี: วันหนึ่งเราอาจจะซื้อหนังอินเดียก็ได้ คือเป็นไปได้หมด เราไม่ได้อยากจำกัดตัวเองไว้ที่อะไร หนังที่เราเลือกมาเป็นหนังที่รู้สึกว่าน่าดู สนุก แตกต่าง เป็นหนังที่มีคุณภาพมาก และเราอยากให้คนดูได้ดู เรียกว่าเป็นหนังต่างประเทศที่ไม่ใช่หนังฮอลลีวูดแบบที่รสนิยมคน GDH ชอบ หมายถึงคนทำ GDH ชอบก็เลยไปเลือกแบบนี้มาแล้วเชียร์ให้แฟนๆ GDH ดู เหมือนเวลาเราเชียร์ให้เพื่อนดูหนังที่เราชอบ แบบดูไหมๆ มันดีนะ ความรู้สึกแบบ Proud to Present (หัวเราะ)
แล้วเราจะมีโอกาสได้เห็น GDH ซื้อหนังไทย หรือหนังต่างประเทศเก่าๆ กลับมาฉายอีกครั้งบ้างหรือเปล่า
วรรณฤดี: เป็นข้อเสนอแนะที่ดี ไม่แน่เหมือนกันนะ เพราะจริงๆ พี่ทรงพลที่เขาเป็นหัวหน้าทีม Out of the box และเป็นคนเลือกหนังทั้ง 3 เรื่องนี้ เขาก็มีความคิดรสนิยมในการเลือกหนังของเขาอยู่ แต่ว่าอย่างปีล่าสุดที่พี่กับพี่เก้งไปคานส์แล้วเราไปจิ้มไปสนใจอะไรที่นอกเหนือความคิดเขา พี่ทรงพลก็จะตื่นเต้นมากแบบว่า พี่เก้งไปจิ้มอันไหน เขาจะซื้อให้ได้เลย (หัวเราะ) อารมณ์แบบพี่เก้งอยากได้อันนี้เหรอครับ ซึ่งสิ่งที่พี่เก้งเลือกนี่ โห แปลกกว่าที่พี่ทรงพลเลือกมากเลยนะ
เอาง่ายๆ หนังที่พี่เก้งเลือก ถ้าคุณเคยดูหนังที่พี่เก้งโปรดิวซ์ได้ ไม่แน่คุณอาจชอบก็ได้นะ ทั้งที่แบบว่าพี่เก้งเลือกเรื่องนี้เลยเหรอคะ ทุกคนรู้สึก โอ้โฮ อันนี้ดูน่าจะยากมากเลยนะ แต่พี่เก้งก็บอก ผมเชื่อว่าอันนี้ดี อะไรแบบนี้ ก็เลยอย่างที่บอกว่าต้องรอดูกัน ต้องเป็นกำลังใจให้ Out of the box มากๆ ให้กำลังใจ Past Lives แล้วรอดูกันว่าเราจะกล้าทำไปถึงขั้นไหน (หัวเราะ)
เพราะอย่างรอบล่าสุดนี้เป็นความรู้ใหม่เหมือนกัน พี่ก็นึกว่าเขาจะซื้อขายกันแต่หนังปัจจุบัน ปรากฏว่าพอเราไปสตูดิโอญี่ปุ่น มีค่ายหนังค่ายหนึ่งที่รู้สึกว่าเวลาเราดูหนังญี่ปุ่นเราก็จะเห็นสตูดิโอ TOHO อะไรอย่างนี้ใช่ไหมที่ชื่อคุ้นๆ
แต่จะมีสตูดิโอหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดในวงการภาพยนตร์เลยนะ คือ 100 กว่าปี แล้วแคตตาล็อกของเขามีแต่หนังบรมครูแทบจะทุกคน แบบเยอะมากและเป็นหนังขาวดำหมดเลย พี่ก็ถามเขาว่าอันนี้ยังเป็นหนังที่ซื้อขายกันเหรอ เขาบอกซื้อขายหมดเลย ซึ่งเซอร์ไพรส์มากว่า เออ บางประเทศเขาก็ยังให้คุณค่ากับการซื้อหนังเก่าที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหนังคลาสสิกของยุคหนึ่ง แต่วันเวลาผ่านไปคนยุคใหม่อาจไม่ได้ดู ถ้าไม่มีใครซื้อหนังแบบนี้เข้ามา
หรืออย่างเวลาไปญี่ปุ่น เราจะพบว่ามีโรงหนังที่ฉายแต่เฉพาะหนังเก่าอยู่ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้นคุณจะไม่มีโอกาสได้ดูหนังเหล่านี้ในโรงหนังเลย แล้วเหมือนคนในสังคมเขาก็ให้คุณค่าของการที่มันเป็นหนังที่ทำมาเพื่อฉายในโรงหนัง
วันหนึ่งคุณจะเห็นแก่ความสะดวกสบายดูในมือถือ ดูในสตรีมมิงหรืออะไรก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ผิดนะ แต่เขาแค่อยากให้มีทางเลือก แบบบางคนเขาอาจรู้สึกว่าอยากดูหนังเรื่องนี้ในโรงหนังเหมือนที่คนยุคก่อนเขาเคยดูกัน เขาก็มีทางเลือกที่ให้ไปดูได้อย่างนั้น ซึ่งพี่รู้สึกว่าเป็นวิธีคิดที่ดีนะ ถ้าวันหนึ่งเกิดขึ้นได้ในประเทศเรา คืออาจเป็นเรื่องที่อีกไกลแต่ต้องช่วยกัน
ถ้าสนับสนุนสิ่งแรกก็เกิดขึ้นได้ วันหนึ่งเราอาจซื้อหนังเก่า หรือหนังบรมครูมาฉาย แต่เราต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ลอง ซึ่งถ้าไปได้ในทางธุรกิจเรากล้าทำอยู่แล้ว และดีนะถ้าวันหนึ่งจะมีทางเลือกแบบนั้นบ้าง
โต้ง: ก็มีหนังที่ส่วนตัวผมเองอยากดูมากๆ แล้วก็ได้ยินมานาน คนถามมาเยอะเลยว่าทำไมไม่เข้าๆ เป็นหนังเก่าที่รีมาสเตอร์ หนังไต้หวัน ยกตัวอย่างเช่น หนังของ Edward Yang ซึ่งรู้ว่าแพงมากๆ และเราอยากดูในโรงมาก อาจเคยดูแค่ครั้งเดียวตอนที่มาเทศกาลหนังที่เมืองไทย แล้วเรารู้สึกว่า โห ทำไมคนไม่ได้ดูในโรงกัน
ถ้าเป็นในฝั่งผมก็คือ Yi Yi (2000) แบบทำไมไม่มีคนซื้อมา อยากดูในโรงใหญ่ หนัง 3 ชั่วโมงด้วย แต่ได้ยินมาว่าแพงนรกแตกอะไรอย่างนี้ คือมีรีมาสเตอร์เรื่อยๆ พวกหนังระดับชั้นครู ซึ่งประเทศไหนก็มี อย่างเราเองจะรีมาสเตอร์หนังตัวเองที่มันผ่านเวลาไปแล้วคนยังซื้อยังดูอยู่ก็ไม่แน่ลองดูก่อน แต่ถ้าเป็นหนังไทยผมก็อยากเห็น ผีเสื้อและดอกไม้ (1985) เรื่องนี้คือดีมาก
“ในเมื่อเรารู้สึกว่าเรามีไพ่ในมือที่ดีเหมือนกัน เราก็กล้าเสี่ยง” – วรรณฤดี
ณ ตอนนี้เราอยู่ในสนามของผู้จัดจำหน่ายแล้ว เรามองถึงความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้
วรรณฤดี: อืม ไม่ได้คิดมาก เพราะว่าอย่างที่บอกทำหนังไทยเสี่ยงกว่า ในเมื่อเรายังเลือกทำสิ่งที่เสี่ยงกว่า หมายถึงว่าทำ Out of the box นี่ยังทำหนังไทยอยู่นะ ไม่เกี่ยว (หัวเราะ) คือการเป็นคนทำหนังไทยเข้าโรงหนังยังทำอยู่ และนี่คือคอร์ธุรกิจหลักที่ให้ความสำคัญที่สุด
การทำ Out of the box คือเป็นส่วนเสริมที่เรารู้สึกว่าน่าจะสร้างความแปลกแตกต่างขึ้นมาได้ ในเมื่อเรายังเลือกทำคอร์ธุรกิจที่เสี่ยงที่สุดอยู่ จริงๆ พี่ว่าเสี่ยงกว่าธุรกิจใดๆ แล้วนะ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเราเลยไม่คิดอะไรกับ Out of the box มาก คือในเมื่อเรารู้สึกว่าเรามีไพ่ในมือที่ดีเหมือนกัน เราก็กล้าเสี่ยง
โต้ง: เหมือนที่มีคนเคยพูดเอาไว้ว่า ถ้าคุณไม่ชอบใครคุณก็ไปชวนเขามาลงทุนทำหนังสิ พูดกันเล่นๆ (หัวเราะ)
ก่อนหน้านี้บอกว่า GDH ซื้อหนังมาแล้ว 3 เรื่อง นอกเหนือจาก Past Lives เรื่องที่เหลือคือหนังอะไร และจะเข้าฉายเมื่อไร
วรรณฤดี: ถ้าไม่นับ Past Lives เรื่องที่ 2 จะเป็นหนังแอนิเมชันจากญี่ปุ่น ซึ่งน่าจะเข้าฉายช่วงปลายปีนี้ แล้วก็เรื่องที่ 3 เป็นหนังเกาหลี น่าจะเข้าฉายช่วงต้นปีหน้า
สุดท้ายมีอะไรอยากจะฝากไปถึงผู้ที่รอดูภาพยนตร์จากทาง GDH อยู่บ้าง
วรรณฤดี: ก็ยังทำหนังอยู่ แล้วก็จะทำให้ดี เลือกหนังก็จะเลือกให้ดี (หัวเราะ)
โต้ง: ถ้ายังอยากดู Past Lives จริงๆ มาดูในโรงก็ดี มันช่วยวงการมากๆ เพราะตอนนี้คำถามเดียวในใจคือ มันยากมาก แล้วหนังบางประเภททำงานน้อยลงเมื่ออยู่ในสตรีมมิง อันนี้มองในมุมของคนทำมากๆ เลยนะ เราไม่มีสิทธิ์ไปขอร้องให้เขามาดูในโรงหรอก แต่เรารู้สึกว่าถ้าคุณอยากดูคุณต้องดูในโรง แล้วเราจะดีใจมาก เพราะเพิ่มโอกาสให้กับหนังบางประเภท และเรารู้สึกว่าการดูในโรงรสชาติต่างกันโดยสิ้นเชิงแบบคนละเรื่องเลย
Past Lives เข้าฉายในไทยอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้
รับชมตัวอย่างได้ที่: https://youtu.be/glxCvLDtd7g