×

เรื่องเล็กๆ ที่ทำให้พรีเมียร์ลีกเป็น The Greatest Show on Earth

09.08.2019
  • LOADING...
2019–20 Premier League

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • บนโลกใบนี้มีถึง 188 ประเทศ ที่รับสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก โดยมีการประเมินมูลค่าของค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดสูงถึง 9.2 พันล้านปอนด์ หรือ 3.4 แสนล้านบาทโดยประมาณ 
  • เคยสังเกตไหมว่า เวลาที่เราชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทำไมภาพมันจึงได้คมชัดและมีสีสันที่สดสวย หญ้าก็เขียว เสื้อทีมก็สีสดใส ทุกอย่างดู ‘เป๊ะ’ ไปเสียหมด
  • ด้วยความใส่ใจของทีมงานพรีเมียร์ลีก (และความมีเงินถึงที่จะสามารถซื้ออุปกรณ์สำหรับบันทึกเสียงคุณภาพดีที่สุด) พวกเขาไม่ละเลยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ด้วยการกระจายไมโครโฟนไว้ตามจุดต่างๆ รอบสนามให้มากที่สุด
  • ความสนุกในการชมฟุตบอลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ 90 นาทีของการแข่งขันครับ มันมากกว่านั้น การวิเคราะห์ฟุตบอลจึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญมาก บางครั้งการวิเคราะห์ที่ดี ต่อให้เกมไม่มีอะไร ก็อาจจะทำให้เหมือนมีอะไรได้

พรีเมียร์ลีกกำลังจะกลับมาลงสนามอีกครั้งในเช้ามืดวันที่ 10 สิงหาคมนี้ เวลา 02.00 น. ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องในสนามที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นพอสมควรกับการตระเตรียมขุมกำลังของทีมต่างๆ แล้ว ฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษที่เราผูกพันมาหลายสิบปีนี้ยังมีแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายที่อยากจะหยิบมาเล่าสู่กันฟังครับ

 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและสังคมของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก (Premier League Economic and social impact) โดยรายงานฉบับดังกล่าวซึ่งจัดทำโดย EY หรือ Ernst and Young LLP มีรายละเอียดมากมายที่น่าสนใจ

 

อันดับแรกเลย รายงานเปิดเผยตัวเลขว่า พรีเมียร์ลีกนั้นทำรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือที่เรารู้จักกันดีตามข่าวว่า GDP มากถึง 7.6 พันล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยในยุคบาทแข็งยิ่งกว่าเพชรได้ประมาณ 2.81 แสนล้านบาท

 

ขณะที่ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ยังทำให้เกิดการจ้างงานในสหราชอาณาจักรมากถึง 100,000 ตำแหน่งด้วยกัน

 

บนโลกใบนี้มีถึง 188 ประเทศ ที่รับสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกครับ โดยมีการประเมินมูลค่าของค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดสูงถึง 9.2 พันล้านปอนด์ หรือ 3.4 แสนล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งในจำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ในสหราชอาณาจักร)

 

2019–20 Premier League

 

โดย SportBusiness Media มีการเปิดเผยครับว่า ในรอบการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกรอบนี้ (2019-2022) มูลค่าของค่าลิขสิทธิ์ในต่างประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 4.35 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 35 เปอร์เซ็นต์

 

แน่นอนครับว่า ตัวเลขขนาดนี้ทำให้พวกเขาเป็นอันดับหนึ่งของโลกแบบไม่ต้องคิดจะแข่ง และจากข้อมูลแล้ว พวกเขาเป็นรายการกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดของโลกมากกว่าลีกชาติอื่นๆ ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นบุนเดสลีกา, ลาลีกา, เซเรียอา, ลีกเอิง หรือแม้กระทั่งอเมริกันเกมส์อย่างเอ็นบีเอ, เอ็นเอฟแอล, เอ็มแอลบี หรือเอ็นเอชแอล ก็สู้ไม่ไหว

 

พรีเมียร์ลีกยังเป็น ‘ซูเปอร์แบรนด์’ ที่สำคัญต่อภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมอังกฤษ

 

สโมสรอย่างลิเวอร์พูลมีความหมายไม่ได้แตกต่างไปจาก แฮร์รี่ พอตเตอร์, เดอะโรลลิงสโตนส์ หรือโรลส์-รอยซ์ 

 

แฟนฟุตบอลมากมายทั่วโลกพร้อมจะเดินทางมาถึงอังกฤษ เพื่อโอกาสที่จะได้ตามติดทีมรักของตัวเองที่เคยได้ชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์สักครั้ง รวมถึงเหล่านักลงทุนที่สนใจจะมาลงทุนในธุรกิจฟุตบอล, นักเรียนที่อยากจะได้มาเรียนในประเทศที่บ้าคลั่งเกมลูกหนัง 

 

อาจเรียกได้ว่า พรีเมียร์ลีกก็เป็น Soft Power ที่ทรงพลังอย่างมากต่อโลกใบนี้ 

 

ว่าแต่นอกจากเรื่องใหญ่ๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้พรีเมียร์ลีกไร้เทียมทาน

 

รายละเอียดเหล่านี้นอกจากเราจะไม่รู้ (แต่ถ้ารู้แล้วก็ถือว่าสุดยอดมากครับ) เราก็อาจจะไม่ทันได้สังเกตและคาดไม่ถึงว่าสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะมีความสำคัญได้มากถึงขนาดนี้

 

มีอะไรกันบ้าง? มาดูกันครับ

 

1. สีสันที่สดสวย

 

2019–20 Premier League

 

เคยสังเกตไหมครับว่าเวลาที่เราชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทำไมภาพมันจึงได้คมชัดและมีสีสันที่สดสวยราวกับเป็นภาพตัวอย่างที่เราจะไปยืนจ้องอยู่หน้าโทรทัศน์ตามแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

หญ้าก็เขียว เสื้อทีมก็สีสดใส ทุกอย่างดู ‘เป๊ะ’ ไปเสียหมด

 

เรื่องนี้มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ นะครับ แต่เป็นรายละเอียดสำคัญที่พรีเมียร์ลีกทำได้ดีกว่าลีกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสดเกมในช่วงกลางวัน หรือจะเป็นแมตช์ในช่วงกลางคืน ภาพที่ปรากฏบนจอนั้นจะต้องออกมาดูดีทั้งหมด

 

ที่เป็นแบบนี้เพราะเรื่องของ ‘สีสัน’ นั้นมีความสำคัญต่อผู้ชมครับ โดยมีผลการสำรวจแล้วว่า ผู้ชมกว่า 90% จะตัดสินผลิตภัณฑ์โดยดูจากเรื่องของสีสันเพียงอย่างเดียว

 

ดังนั้น ระหว่างการชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ทุกอย่างดูสวยงามสดใสไปหมด กับฟุตบอลเซเรียอาหรือลาลีกา ที่ออกมาทะมึนทึม มีโอกาสสูงกว่าที่ผู้ชมจะเลือกดูสิ่งที่สวยกว่าอย่างฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

 

เชื่อไหมครับว่าเคยมีข่าวถึงขั้นที่สโมสรในลาลีกาออกมาเรียกร้องขอให้มีการปรับสีพื้นหญ้าในสนามให้เขียวสดขึ้น เพื่อให้เป็นที่น่าดึงดูดใจไม่แพ้พรีเมียร์ลีก

 

2. เสียงดังฟังชัด

 

2019–20 Premier League

 

ในการชมการถ่ายทอดสด หนึ่งในสิ่งที่จะช่วยทำให้เกิดอรรถรสในการรับชม นอกจากภาพแล้วก็คือเสียงครับ (ก็แหงล่ะ เพราะรสและกลิ่นมันส่งออกมาไม่ได้!) 

 

เสียงบรรยากาศจากในสนามจะช่วยเร้าความรู้สึกของผู้ชมได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเสียงหวดบอลกันดังตุ้บตั้บ เสียงสนับแข้งที่ปะทะกับปุ่มสตั๊ดที่ชวนรวดร้าว ไปจนถึงเสียงตะโกนสั่งการของผู้จัดการทีมข้างสนามที่โหวกเหวกฟังไม่ได้ศัพท์

 

และแน่นอน รวมถึงเสียงของกองเชียร์ในสนามที่ดังกระหึ่ม

 

ด้วยความใส่ใจของทีมงานพรีเมียร์ลีก (และความมีเงินถึงที่จะสามารถซื้ออุปกรณ์สำหรับบันทึกเสียงคุณภาพดีที่สุด) พวกเขาไม่ละเลยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ด้วยการกระจายไมโครโฟนไว้ตามจุดต่างๆ รอบสนามให้มากที่สุด

 

ดังนั้น ถึงในความเป็นจริงแล้ว บรรยากาศในสนามพรีเมียร์ลีก สมมติเช่น คิง เพาเวอร์ สเตเดียมอาจจะไม่ได้ดังเท่ากับสนามซิกนัล อิดูนา ปาร์กของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ในเยอรมนีที่จุผู้ชมได้เกือบแสนคน แต่ทีมงานของพรีเมียร์ลีกก็สามารถ ‘เสก’ ให้บรรยากาศในคิง เพาเวอร์ สเตเดียมยิ่งใหญ่เหมือนสมรภูมิเฮล์มส์ดีพในภาพยนตร์เรื่อง The Lord of the Rings ได้

 

3. สตอรีมากมี

 

2019–20 Premier League

 

ต้นทุนสำคัญที่สุดของพรีเมียร์ลีกที่ไม่สามารถประเมินค่าได้คือ ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘วัฒนธรรม’

 

การที่สโมสรแต่ละแห่งก่อตั้งมายาวนานมากกว่า 100 ปี โดยที่ยังสามารถดำรงอยู่ได้ นั่นหมายถึงพวกเขามี ‘สตอรี’ มากมายที่จะนำมาใช้ในการตกแต่งให้พรีเมียร์ลีกมีความน่าติดตามชม

 

เรื่องราวที่ไม่ว่าจะเป็นความยิ่งใหญ่แต่เดิมของสโมสร ไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเมือง (ลิเวอร์พูล-แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), ความขัดแย้งภายระหว่างแคว้น (ลีดส์-แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), ความขัดแย้งภายในเมือง (อาร์เซนอล-ท็อตแนม ฮอตสเปอร์) เรื่อยไปจนถึงความเป็นปฏิปักษ์กันแห่งยุคสมัย (อาร์เซนอล-แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในยุค อาร์เซน เวนเกอร์ กับ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หรือลิเวอร์พูล-แมนเชสเตอร์ ซิตี้ในปัจจุบัน)

 

สตอรีเหล่านี้ทำให้เราพร้อมที่จะจับจองพื้นที่บนโซฟา เพื่อจะติดตามเกมเหล่านี้ไปด้วย ซึ่งบางครั้งผลการแข่งขันในเวลาก็อาจจะไม่มีความหมายเท่าสตอรีเหล่านี้ก็ได้

 

ความสนุกอีกอย่างของพรีเมียร์ลีกคือ การที่เรามักจะคาดเดาผลการแข่งขันได้ยากมาก (ยกเว้นแมนเชสเตอร์ ซิตี้ของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา) นั่นทำให้ต่อให้ไม่ใช่เกมที่เป็นการพบกันของคู่ปฏิปักษ์ มันก็อาจจะมีจุดพลิกผันที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เสมอ

 

การชมพรีเมียร์ลีกจึงเหมือนการที่เราได้นั่งชมภาพยนตร์ 10 เรื่องในทุกสัปดาห์ (โดยที่ไม่มีใครจะสามารถมาสปอยล์ตอนจบได้ด้วย) จะสนุกบ้าง ไม่สนุกบ้าง เหนือจินตนาการบ้าง เราก็พร้อมจะนั่งดูโดยไม่เบื่อ

 

4. วิเคราะห์บอลแบบจริงจัง

 

2019–20 Premier League

 

ความสนุกในการชมฟุตบอลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ 90 นาทีของการแข่งขันครับ มันมากกว่านั้น

 

30 นาทีก่อนแข่ง 15 นาทีระหว่างพักครึ่ง และอีก 30 นาทีหลังแข่งขัน ก็เป็นช่วงเวลาที่บันเทิงไม่แพ้กัน สำหรับคนที่รักเกมฟุตบอล เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่เราจะได้มีการ ‘ถกเถียง’ ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วของเกมการแข่งขัน

 

การวิเคราะห์ฟุตบอลจึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญมาก บางครั้งการวิเคราะห์ที่ดี ต่อให้เกมไม่มีอะไร ก็อาจจะทำให้เหมือนมีอะไรได้ 

 

จุดนี้เป็นจุดที่พรีเมียร์ลีกเก่งมากครับในการสร้างความรู้สึกให้อยากติดตามเกมฟุตบอล โดยสตูดิโอกลางของอังกฤษ (ซึ่งทราบข่าวว่า ในปีนี้เราจะได้ชมการวิเคราะห์จากสตูดิโออังกฤษในการถ่ายทอดสดทางทรู วิชั่นส์ด้วย) จะมีทีมวิเคราะห์ที่เป็น Football Pundit คือเป็นผู้รู้จริงๆ มาวิเคราะห์เกมให้เราเห็นเป็นฉากๆ

 

หากยังจำกันได้ในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้า หนึ่งในผู้วิเคราะห์ที่เทพสุดๆ คือ เธียร์รี อองรี ที่สามารถทำให้ผู้ชมได้เห็นสิ่งที่อาจไม่ทันสังเกตในจังหวะการเล่นต่างๆ ได้อย่างเหลือเชื่อ จนถูกนำมาตัดเป็นไวรัลคลิปในโลกโซเชียล

 

การจะวิเคราะห์ได้แบบนี้ไม่ใช่นั่งอ่านข่าวฟุตบอลทุกวันแล้วจะทำได้ครับ มันต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ในเกมระดับนี้มาอย่างโชกโชนจริงๆ จึงจะวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างเฉียบขาด 

 

ไม่ใช่ชื่อนักฟุตบอลยังจำไม่ได้ เรียกไม่ถูก เลือก Scenario มาวิเคราะห์ไม่ดี ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องศาสตร์ลูกหนัง ไม่ได้ให้ความรู้ใหม่ๆ แก่ผู้ชม

 

ในขณะที่ลีกอื่นไม่ได้มีสตูดิโอวิเคราะห์แบบจริงจังในระดับนี้ (หรือถ้ามีก็เป็นของผู้ได้รับลิขสิทธิ์ของแต่ละชาติ) ตรงนี้คือข้อได้เปรียบ และนำไปสู่ Engagement ของแฟนบอลที่พร้อมจะติดตามพรีเมียร์ลีก

 

ไม่ว่าจะพยักหน้าหงึกๆ เพราะเห็นด้วย หรือตะโกนโหวกเหวกเพราะไม่เห็นด้วยบนหน้าจอ หรือจะลามไปสู่การแสดงความคิดเห็นบนโลกโซเชียลก็ตาม

 

5. ช่วงเวลาดีๆ

 

2019–20 Premier League

 

เรื่องเล็กๆ สุดท้าย แต่สำคัญคือ เรื่องของเวลาการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

 

แต่เดิมฟุตบอลในอังกฤษจะลงสนามกันในเวลาบ่าย 3 โมงของวันเสาร์ (เป็นที่มาของคำว่า When Saturday Comes) ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองสำหรับตลาดใหญ่ในเอเชีย เพราะจะอยู่ในช่วงหัวค่ำ 1-3 ทุ่ม และจะเป็นช่วงเช้าของตลาดทางอเมริกา

 

อย่างไรก็ดี เพื่อให้แฟนบอลทั่วโลกได้ติดตามพรีเมียร์ลีกอย่างทั่วถึง (และไม่ทรมานเกินไป) ทำให้มีการเริ่มกระจายเวลาแข่งขัน เริ่มจากเที่ยงวันที่อังกฤษ (หรือเย็นๆ บ้านเรา) ล่าสุดคือมีแมตช์รอบค่ำของเกมสุดสัปดาห์ รวมถึงเกมในคืนวันศุกร์ที่เพิ่มขึ้นมาด้วย

 

เรียกว่าในแต่ละสัปดาห์ หรือ Matchweek จะมีสลอตเวลาของพรีเมียร์ลีกกระจายเต็มไปหมด เรียกว่าต้องมีสักช่วงแหละที่จะได้นั่งดูพรีเมียร์ลีก

 

พรีเมียร์ลีกเป็นลีกแรกๆ ที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขณะที่ลีกอื่น อย่างเช่น ลาลีกาหรือเซเรียอาเพิ่งจะเริ่มทำตามได้ไม่กี่ปีเท่านั้น (4-5 ปีก่อน ลาลีกายังเตะกันช้าตามประสาคนสเปนที่กว่าจะได้ดูในบ้านเราก็เกือบสว่าง) ทำให้พวกเขาเข้ากุมพื้นที่หัวใจแฟนบอลทั่วโลกเอาไว้ได้

 

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญที่ทำให้พรีเมียร์ลีกยังเป็น The Greatest Show on Earth ที่หนึ่งในใจของแฟนบอลทั่วโลก ไม่ว่าจะวันนี้หรือวันไหน

 

ส่วนใครจะเชียร์ทีมอะไร ตั้งเป้าหมายเอาไว้ขนาดไหน? 

 

ขอให้โชคดีมีชัยทุกท่านตลอดฤดูกาลที่ยาวนาน 10 เดือนนี้นะครับ 🙂

 

ป.ล. ทีมผมรอมา 30 ปีแล้วครับ…

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • ด้วยมูลค่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกนอกประเทศที่สูงถึง 4.35 พันล้านปอนด์ ทำให้รายได้จากส่วนนี้คิดเป็น 46% ของรายได้ทั้งหมด และกลายเป็นจุดที่เริ่มมีความกังวล เพราะตามข้อตกลง รายได้จากลิขสิทธิ์นอกประเทศจะไม่ถูกแบ่งอย่างเท่าเทียมเหมือนรายได้จากลิขสิทธิ์ในประเทศ โดยจะแบ่งตามผลงานที่แต่ละทีมทำได้ ซึ่งนั่นหมายถึงทีมในระดับ Top 6 จะมีโอกาสมีรายได้มากกว่าทีมรองลงไปถึง 80 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล
  • แต่พรีเมียร์ลีกก็เจอสัญญาณอันตรายเช่นกันในเรื่องมูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในเอเชีย ที่การประมูลรอบนี้ลดลงอย่างมากในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น, เกาหลีใต้,​ ฮ่องกง รวมถึงลาว กัมพูชา และไทย (นับเป็นหนึ่งตลาด)
  • ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกในรอบนี้ของไทยเปลี่ยนมือจากบีอิน สปอร์ตส์ ผู้ให้บริการจากกาตาร์ กลับมาอยู่ที่ทรู วิชั่นส์ ที่จะถ่ายทอดสดครบ 380 นัดตลอดฤดูกาล
  • ขณะที่ลิขสิทธิ์ส่วนของฟรีทีวี (ซึ่งเป็นเงื่อนไขของพรีเมียร์ลีกที่ทุกประเทศจะต้องมีฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้ดูทางฟรีทีวีคู่กับเพย์ทีวี) อยู่กับสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ที่จะถ่ายทอดสดประมาณ 28-30 นัดตลอดฤดูกาล
  • สิ่งที่น่าสนใจคือ พรีเมียร์ลีกยังไม่ได้รับผลกระทบจากยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยี FAANGS (Facebook, Apple, Amazon, Netflix และ Google) มากนัก โดยในอังกฤษ Amazon ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ‘แพ็กเล็ก’ ส่วนนอกอังกฤษไม่มี FAANGS เจ้าใดที่ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเลย (ในไทย ลาว กัมพูชา Facebook เคยประมูลคว้าลิขสิทธิ์ได้ แต่ไม่สามารถตกลงบางประการกับพรีเมียร์ลีกได้ ทำให้การเจรจาล่ม)
  • เทรนด์ใหม่ของสโมสรในพรีเมียร์ลีกคือ การที่แต่ละทีมกลับมาโฟกัสในการผลักดันดาวรุ่งของสโมสรขึ้นมาแทนการทุ่มเงินซื้อสตาร์ผู้เล่นที่ใช้เงินมากมายมหาศาลจากค่าตัวที่เฟ้ออย่างน่าตกใจใน 2 ปีที่ผ่านมา
  • กระนั้นตัวเลขการใช้จ่ายในตลาดฤดูร้อนจนถึงวันสิ้นสุดตลาดเมื่อคืนวันที่ 8 สิงหาคม ยอดสูงถึง 1.41 พันล้านปอนด์ ใกล้เคียงสถิติสูงสุดเมื่อปี 2017 ที่ทำไว้ 1.47 พันล้านปอนด์
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X