จากการศึกษาตลาดแรงงานของ McKinsey and Co. พบว่าแนวโน้มการ ลาออก จากงานของชาวอเมริกันจะเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปีและไม่ใช่กระแสชั่วคราวเท่านั้น และจากการศึกษาได้ข้อค้นพบว่าแรงงานที่ลาออกไป เกือบครึ่งเลือกจะหางานใหม่ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อโอกาสเพิ่มผลตอบแทน ขณะที่บางส่วนเลือกที่จะเป็นนายตัวเอง
ตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน ชาวอเมริกันลาออกจากงานมากกว่า 4 ล้านคนต่อเดือนมาตลอด และงานวิจัยพบว่ากระแสการลาออกจากงานยังไม่สิ้นสุดในเร็วๆ นี้ โดยรายงานของ McKinsey and Co. ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสำรวจผู้คนกว่า 13,000 คนทั่วโลก รวมถึงชาวอเมริกัน 6,294 คน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน พบว่า พนักงานประมาณ 40% ของการสำรวจ กำลังพิจารณาที่จะลาออกจากงานปัจจุบันของตนในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า
“นี่ไม่ใช่แค่กระแสที่ผ่านมาแล้วผ่านไป และไม่ใช่เพราะผลกระทบจากวิกฤตการณ์โรคระบาดที่กระทบต่อตลาดแรงงาน แต่เป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในความคิดของพนักงาน และความเต็มใจที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นในชีวิตนอกเหนือจากงานที่พวกเขาทำ…เราจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมในปี 2019” บอนนี ดาวลิง หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าวถึงอัตราการเลิกจ้างที่เพิ่มขึ้น
ท่ามกลางกระแสการลาออกนี้ ส่วนใหญ่แล้วประเด็นถกถามมักจะพุ่งเป้าไปที่สาเหตุที่คนลาออก ซึ่งอาจได้คำตอบมาว่า เพราะค่าจ้างต่ำ โอกาสก้าวหน้าในอาชีพน้อย ตารางงานที่ไม่ยืดหยุ่น เป็นต้น แต่แทบจะไม่มีใครได้รู้เลยว่าเมื่อผู้คนลาออกจากงานไปแล้ว พวกเขาไปทำอะไรหลังจากนั้น
McKinsey and Co. ได้พูดคุยกับผู้คนมากกว่า 2,800 คนใน 6 ประเทศ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา สิงคโปร์ อินเดีย และสหราชอาณาจักร ที่ลาออกจากงานประจำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อค้นหาว่าแรงงานกำลังจะมุ่งไปที่ไหน
และนี่คือข้อค้นพบจากการศึกษาครั้งนี้
1. เกือบครึ่งของคนที่ลาออกจากงาน คิดจะเปลี่ยนอุตสาหกรรม
ดาวลิงกล่าวว่า มี 2 สิ่งที่ขับเคลื่อนการลาออกและย้ายอุตสาหกรรมครั้งนี้ เรื่องแรกคือ ความเหนื่อยหน่ายที่เกิดจากโรคระบาด เรื่องที่สองคือ โอกาสที่ดีกว่าในการรักษาบทบาทที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าในตลาดแรงงานที่คับแคบ
“ผู้คนจำนวนมากตระหนักดีว่าอุตสาหกรรมของพวกเขามีความผันผวนหรือไม่ปลอดภัยเพียงใดในช่วงโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานในด่านหน้า” ดาวลิงกล่าว
ท่ามกลางการดิ้นรนเพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานของบริษัทต่างๆ ซึ่งสร้างความปวดหัวให้กับแผนกทรัพยากรบุคคลทั่วทั้งสหรัฐฯ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก็เป็นการเปิดประตูให้ผู้หางานใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ที่อาจอยู่ไกลเกินเอื้อมก่อนเกิดโรคระบาด
“นายจ้างจำนวนมากเปิดโลกมากขึ้น เพื่อค้นหาทักษะและความสามารถที่บริษัทต้องการจริงๆ โดยขณะนี้นายจ้างทั้งหลายเริ่มให้ความสำคัญแก่ทักษะมากกว่าภูมิหลังทางการศึกษาหรือประสบการณ์การทำงานก่อนหน้านี้ ซึ่งนับเป็นประตูที่เปิดกว้างขึ้นทุกภาคส่วนสำหรับผู้หางาน” ดาวลิงกล่าว
จากสถานการณ์ดังกล่าว บางอุตสาหกรรมสูญเสียแรงงานผู้มีความสามารถไปอย่างเร็วเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยจากการศึกษาพบว่า มากกว่า 60% ของผู้ที่ลาออกจากงานในอุตสาหกรรมด้านผู้บริโภค / ค้าปลีกและการเงิน / การประกันภัย ไม่เปลี่ยนอุตสาหกรรม และไม่ลาออกแบบถาวร ขณะที่ 54% ของแรงงานในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพและการศึกษา มีความคิดจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมหรือลาออกถาวรไปเลย
2. เริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง หรือทำอาชีพอิสระ
ในบรรดาผู้ที่ลาออกโดยไม่มีงานใหม่อยู่ในมือ ราว 47% หรือเกือบครึ่ง เลือกที่จะกลับไปทำงาน แต่มีเพียง 29% เท่านั้นที่กลับไปทำงานประจำแบบเดิมๆ เปอร์เซ็นต์เหล่านี้มาจากการสำรวจของ March McKinsey & Co. เกี่ยวกับพนักงาน 600 คนในสหรัฐฯ ที่ออกจากงานโดยสมัครใจ
ส่วนที่เหลืออีก 18% เลือกที่จะมีบทบาทใหม่ ทั้งทำงานชั่วคราวเพื่อลดชั่วโมงทำงานของตัวเอง งานกิ๊ก หรือนอกเวลา รวมทั้งตัดสินใจที่จะเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง
ดาวลิงกล่าวว่า แรงงานไม่ต้องการอดทนกับเจ้านายและวัฒนธรรมที่ท็อกซิกอีกต่อไป เพราะพวกเขาสามารถออกไปและหาวิธีอื่นในการสร้างรายได้โดยไม่ต้องอยู่ในสถานการณ์เชิงลบ มากไปกว่านั้น ตอนนี้ก็มีโอกาสด้านการงานมากขึ้นกว่าเดิมด้วย
ผู้คนจำนวนมากขึ้นเลือกที่จะเป็นเจ้านายตัวเอง โดยในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ แอปพลิเคชันทางธุรกิจใหม่ๆ เติบโตขึ้นมากกว่า 30% จนเพิ่มเป็นเกือบ 5.4 ล้านแอปใหม่ในปี 2021 เพียงปีเดียว
จึงเห็นได้ว่าการลาออกจากงานไม่ใช่แค่การหลบหนีจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ท็อกซิกเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสวงหาความต้องการใหม่ๆ ของแรงงานอีกด้วย ไม่ว่าเป็นความยืดหยุ่น เสรีภาพในการทำงานจากทุกที่ หรือเลือกเวลาทำงานของตัวเอง ซึ่งล้วนเป็นความต้องการที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด และล้วนเป็นความต้องการมีความสำคัญพอๆ กับการได้ปรับขึ้นเงินเดือน 10% ด้วยซ้ำ
แนวโน้มคนลาออกยังพุ่ง แม้เสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย
การศึกษาระบุว่า กระแสการลาออกอย่างรวดเร็วนี้จะเกิดขึ้นตลอดปี 2022 เว้นเสียแต่ว่าฝั่งนายจ้างหรือบริษัทจะมีการเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญ
ดาวลิงกล่าวว่า แม้โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะมีเพิ่มขึ้น แต่แรงงานก็ยังเลือกที่จะลาออกหรือเปลี่ยนงานอยู่เช่นเดิม และในไม่กี่เดือนข้างหน้า ก็ยังจะเห็นอัตราการลาออกที่สูงอยู่
เหตุผลหลักเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วของบรรทัดฐานของสังคมแรงงาน โดยก่อนหน้านี้แรงงานจะมีกรอบความคิดว่า ‘ฉันไม่คิดจะเปลี่ยนงาน เว้นแต่ว่าจะมีงานใหม่รออยู่’ แต่ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมานี้ กรอบความคิดแรงงานส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็น ‘ถ้ามั่นใจว่าเมื่อฉันต้องการทำงานสักอย่างจริงๆ มันจะมีงานนั้นสำหรับฉัน’
สำหรับบริษัทและองค์กร แทนที่จะคร่ำครวญถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังเผชิญอยู่ บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องมองภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในสหรัฐฯ และใช้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานขององค์กร และสร้างรูปแบบการทำงานที่ดียิ่งขึ้น
“เรียกว่าต้องเปลี่ยนใหม่หมดทุกอย่าง ตั้งแต่การปลูกฝังความยืดหยุ่นในองค์กร ไปจนถึงการประเมินคุณค่าพนักงานด้วยวิถีใหม่ ตลอดจนการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการทำงานของพวกเขา…นายจ้างทุกคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายครั้งนี้ได้ ที่สำคัญคือต้องเริ่มดำเนินการ แทนที่จะนั่งเฉยๆ และเฝ้าหวังว่าสิ่งต่างๆ จะกลับไปเป็นเหมือนตอนก่อนเกิดโควิด เพราะทุกสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานจะไม่กลับไปสู่วิถีเก่าอีกต่อไป” ดาวลิงสรุป
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP