×

คนต่างเจเนอเรชันกับคุณค่าของงานที่ต่างกัน องค์กรเตรียมรับมือกับ The Great Reshuffle เทรนด์เปลี่ยนสายงานเพื่อหาสมดุลชีวิต

31.10.2023
  • LOADING...

‘The Great Resignation’ เทรนด์การลาออกครั้งใหญ่ที่ถูกพูดถึงและเป็นประเด็นร้อนไปทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากความไม่พอใจของเหล่าพนักงานที่ต้องแบกรับงานหนัก แต่หลังจากที่คนลาออกได้ทบทวนตนเองและกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว หนึ่งเทรนด์ที่องค์กรจำเป็นต้องรู้คือ ‘The Great Reshuffle’ ซึ่งเป็นผลพวงจากการลาออกครั้งใหญ่ เมื่อคนรุ่นต่อไปมีแนวโน้มที่จะเลือกงานหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนสายอาชีพ เพื่อความสุข ความยืดหยุ่น และสมดุลระหว่างงานและชีวิตที่ดีกว่า

 

ล่าสุดผลสำรวจจาก Gallup บริษัทที่ปรึกษาและจัดทำโพลเพื่อศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ระดับโลก พบว่า คนทำงานไทยกว่า 46% กำลังมองหางานใหม่ โดยคนที่ทำงานประเภท Hybrid และแบบ Remote-work มีความต้องการที่จะย้ายงานมากกว่าคนที่ทำงานในสำนักงาน (On-site) โดย 48% ของพนักงานประเภท Hybrid และ Remote-work กำลังอยู่ระหว่างการหางานใหม่ ในขณะที่ตัวเลขของคนทำงาน On-site อยู่ที่ 40%

 

สำหรับภาพรวมทั่วโลก ความต้องการย้ายงานของแรงงานนั้นยิ่งสูงกว่าประเทศไทยที่ 51% ซึ่งส่งสัญญาณถึงแนวโน้มตลาดแรงงานที่กำลังจะเจอกับความผันผวนอย่างมาก

 

เมื่อโครงสร้างของแรงงานทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไป คนในสองเจเนอเรชันอย่าง Gen Z และ Millennials กำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้น โดยปัจจุบันคนทั้งสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนที่ 38% ของแรงงานทั้งหมดในโลก แต่เมื่อถึงปี 2030 ตัวเลขนี้จะขึ้นไปอยู่ที่ 58% โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเข้าใจความต้องการของคนสองกลุ่มที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้กับธุรกิจต่างๆ และระบบเศรษฐกิจ ท่ามกลางคนกว่าครึ่งที่กำลังมองหาโอกาสใหม่

 

ข้อมูลจาก LinkedIn ในปี 2022 พบว่า Gen Z ชาวอเมริกันมีอัตราในการเปลี่ยนงานเพิ่มมากขึ้นถึง 134% เมื่อเทียบกับปี 2019 ในขณะที่กลุ่ม Millennials อยู่ที่ 29% และ Baby Boomers ที่ 4%

 

ก่อนที่จะสายเกินรั้ง องค์กรจำเป็นต้องเข้าใจว่าคนที่กำลังจะย้ายงานในแต่ละเจเนอเรชันกำลังมองหาอะไร เพื่อนำไปปรับใช้ให้พนักงานคนเก่งอยู่กับองค์กรต่อไป หรือเพื่อดึงดูดพนักงานใหม่ให้เข้ามาร่วมงาน

 

ผลสำรวจของ Gallup ชี้ชัดว่า ‘สมดุลของงานและชีวิตกับความเป็นอยู่ที่ดี’ เป็นปัจจัยที่ทั้ง Gen Z, Millennials และ Gen X ที่มีสัดส่วนประมาณ 3 ใน 4 ของแรงงานทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนปัจจัยอื่นๆ ก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ เช่น Baby Boomers ให้คุณค่ากับ ‘งานที่ตนเองถนัด’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่คน Gen Z และ Millennials มองว่าสมดุลของงาน ชีวิต รายได้ และความมั่นคงในงาน ต้องมาก่อน

 

 

เมื่อกลุ่มคนทำงานส่วนใหญ่ในอนาคตเป็นเจเนอเรชันที่มีแนวโน้มจะย้ายงานสูงขึ้นในอัตราที่ถี่ขึ้น ความได้เปรียบด้านทรัพยากรบุคคลจะตกอยู่กับองค์กรที่ปรับตัวได้เร็วและตอบโจทย์กับสิ่งที่แรงงานยุคต่อไปให้คุณค่า

 

ค่านิยม ความเชื่อ และทัศนคติ ของคำว่า ‘วัฒนธรรมการทำงาน’ กำลังถูกตั้งคำถามจากสิ่งที่เคยเป็น เมื่อคนทำงานยุคใหม่สามารถเลือกทำสิ่งที่แตกต่างจากสมัยก่อนได้ แต่ในความต่างนั้นเองก็เป็นอะไรที่สมเหตุสมผลมากกว่าในมุมมองของพวกเขา

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising