มัวแต่ให้อภัย แล้วเมื่อไรจะได้แก้แค้น? The Glory ซีรีส์แนวดราม่าล้างแค้นสีสันใหม่ๆ ของนักเขียน คิมอึนซุก, ผู้กำกับ อันกิลโฮ และนักแสดงนำ ซงฮเยคโย ยังคงยืนอยู่บนอันดับซีรีส์ที่มีผู้ชมมากที่สุดของ Netflix ในตอนนี้ หลังจากปล่อย 8 ตอนของพาร์ตแรกออกมาตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม
นอกจากจะได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ชมชาวไทยแล้ว ซีรีส์ยังเป็นเชื้อเพลิงชั้นเยี่ยมให้สังคมไทยและวงการบันเทิงมีเรื่องมีราวให้พูดถึงตลอดหลายวันที่ผ่านมา กับประเด็นการกลั่นแกล้งและการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนซึ่งเป็นพล็อตหลักของเรื่อง
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ความรุนแรงในโรงเรียนไปได้สุดถึงเบอร์ไหน? มีบางคำวิจารณ์บอกว่าเนื้อเรื่องไม่ค่อยสมเหตุสมผล ไม่น่ามีการทำร้ายกันในโรงเรียนอย่างสุดโต่งแล้วเอาตัวรอดได้สบายๆ ขนาดนั้น ซึ่งก็น่าเห็นด้วยได้อยู่บ้าง ถ้าไม่มองว่าความรุนแรงอย่างการรุมตบ ยกพวกตี หรือครูทำร้ายนักเรียนในสังคมไทยเป็นการ ‘บูลลี่’ ทางร่างกายและจิตใจเหมือนๆ กัน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น หากพูดถึงกรณีนักเรียนทะเลาะหรือกลั่นแกล้งกันในหมู่นักเรียนเกาหลี รัฐบาลเองมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและตอบโต้ความรุนแรงในโรงเรียน ออกมาเมื่อปี 2004 โดยตั้งบทลงโทษสำหรับผู้กระทำไว้ทั้งหมด 9 ระดับคือ
- เขียนจดหมายขอโทษเหยื่อ
- ห้ามติดต่อ ข่มขู่ หรือตอบโต้เหยื่อและนักเรียนที่รายงานเหตุความรุนแรง
- ทำงานบริการให้โรงเรียน
- ทำงานบริการให้ชุมชน
- เข้าหลักสูตรฝึกอบรมพิเศษหรือเข้ารับการบำบัดพฤติกรรม
- พักการเรียน
- ย้ายชั้นเรียน
- ย้ายโรงเรียน
- ถูกไล่ออกจากโรงเรียน
แน่นอนว่ากระบวนการต่างๆ เป็นไปเพื่อปกป้องเหยื่อและมอบโอกาสให้เยาวชนได้รับบทเรียน แต่ในความเป็นจริง หลายกรณีรุนแรงเกินกว่าจะใช้แค่บทลงโทษเหล่านี้ได้เมื่อเทียบกับความทุกข์ทรมานระยะยาวของเหยื่อ โดยเฉพาะถ้าอีกฝ่ายเป็นคนที่มีอิทธิพลในโรงเรียน
ในภาษาเกาหลีมีคำศัพท์เรียกกลุ่มนักเรียนอันธพาลหรือหัวโจกที่แกล้งคนอื่นว่า ‘อิลจิน’ (일진) ส่วนนักเรียนที่ถูกแกล้ง/กีดกันคือ ‘วังตา’ (왕따) บางครั้งก็เรียกว่า ‘ปังชยอทึล’ (빵셔틀) ซึ่งมาจาก Bread + Shuttle เพราะเหยื่อมักจะถูกสั่งให้ไปซื้ออาหารให้เหล่าอิลจินระหว่างพัก แล้วก็ยังมีอีกหลายคำที่เปลี่ยนจากขนมปังเป็นคำอื่นๆ ตามสิ่งที่เหยื่อถูกบังคับให้ทำ สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นแพตเทิร์น คือฝ่ายหนึ่งที่มีอำนาจเหนือกว่าจงใจรวมหัวกันเลือกเหยื่อมาแกล้งเพราะความสนุกเท่านั้น
ปี 2011 ควอนซึงมิน เด็กชายวัย 14 ปีในเมืองแทกูกระโดดลงมาจากระเบียงอพาร์ตเมนต์ชั้น 7 เขาทิ้งจดหมายขอโทษครอบครัว เล่าเรื่องที่ถูกเพื่อนนักเรียนรีดไถเงิน ด่าทอ ทำร้ายร่างกาย โดยที่การกระทำส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้านของเขาเอง
ปี 2013 นักเรียนชายวัย 15 ปีในเมืองคยองซังเขียนโน้ตระบุชื่อนักเรียน 5 คนที่รังแกเขา พร้อมบอกตำรวจว่าตลอด 2 ปีของการโดนรังแก เขาถูกทำร้ายในที่ที่ไม่มีกล้องวงจรปิด หรือต่อให้มีก็คุณภาพไม่ชัดจึงไม่มีหลักฐาน ก่อนเขาจะฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกหลังจากนั้น
ปี 2017 นักเรียนหญิงวัย 14 ปีในปูซานถูกกลุ่มนักเรียนรุมทำร้าย ผู้กระทำคนหนึ่งส่งรูปที่เหยื่อกำลังคุกเข่าและร่างกายเปรอะเปื้อนเลือดทั้งตัวมาให้เพื่อนดูทางแชตพร้อมข้อความเชิงขำขัน
ปี 2021 นักเรียนวัย 13 ปีชาวมองโกเลียในเมืองปูซานถูกจับมัดและรุมทำร้ายร่างกาย เขียนคำเหยียดเชื้อชาติลงบนหน้าผาก คลิปการกลั่นแกล้งตลอด 6 ชั่วโมงถูกเสนอขายให้กับเพื่อนนักเรียนคนอื่นในราคา 5,000 วอน (ประมาณ 135 บาท)
ปลายทางของคดีที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ มีทั้งผู้ที่ถูกส่งไปยังแผนกคดีเยาวชนแทนเนื่องจากอายุยังไม่เกิน 14 ปี และมีทั้งผู้ที่ถูกตัดสินให้รับโทษเรือนจำ เช่นคดีปี 2011 ที่กล่าวไป ผู้กระทำ 2 คนได้รับโทษ 2 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ
ถัดมาในปี 2021 แม่ของเหยื่อที่เดินหน้าพูดถึงปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนมาตลอดได้เปิดเผยเนื้อหาเต็มๆ ในจดหมายลาของลูกชายจนกลายเป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้ง และทำให้เกิดการตั้งคำถามซ้ำๆ ว่ากฎหมายจะจัดการกับอาชญากรรมของเยาวชนให้มีประสิทธิภาพกว่านี้อย่างไร
“ใครๆ ก็ทำเรื่องผิดพลาด โดยเฉพาะผู้กระทำผิดยังเด็กจึงทำผิดพลาดกันได้ แต่อย่างน้อยๆ ก็ต้องใช้ชีวิตโดยตระหนักว่าความผิดพลาดของฉันสามารถส่งผลกับชีวิตของคนอื่น ฉันได้แต่สงสัยว่าเด็กที่กระทำความผิดกำลังใช้ชีวิตด้วยความคิดแบบนั้นอยู่หรือเปล่า”
เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าผ่านมา 10 ปีแล้วก็ยังคงรอคำขอโทษจากผู้กระทำผิดอยู่เสมอ เพราะตั้งแต่ที่เด็กผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัว พวกเขายังไม่เคยติดต่อมาหาครอบครัวของเธอเลยสักครั้ง
นอกจากนี้เธอยังพูดถึงมาตรการป้องกันและตอบโต้ความรุนแรงในโรงเรียนว่า ควรยกเลิกระบบที่จะลบประวัติการกระทำผิดภายใน 2 ปีหลังจากจบการศึกษาด้วย เพราะถึงแม้คำว่า ‘ความรุนแรงในโรงเรียน’ จะถูกลดทอนน้ำหนักด้วยคำว่าโรงเรียน แต่อย่างไรความรุนแรงก็เป็นสิ่งเลวร้ายที่จะทำให้เป็นเรื่องชอบธรรมไม่ได้เด็ดขาด ผู้กระทำจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าแม้จะเคยเป็นผู้กระทำความรุนแรงในโรงเรียน แต่ก็ได้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่กำลังใช้ชีวิตอย่างตั้งใจและเติบโตขึ้นแล้ว
“ฉันไม่มีความฝันหรอกดงอึน คนอย่างพวกเธอเท่านั้นที่มีความฝัน ฉันคือคนจ่ายเงินให้พวกเธอตอนความฝันเป็นจริง”
ย้อนกลับมาที่ซีรีส์ The Glory ที่เน้นแก้แค้นไม่แก้ไขของเรา กลุ่มของ พัคยอนจิน, อีซาร่า, ชเวฮเยจอง, จอนแจจุน และ ซนมยองโอ 5 คนนี้ไม่เคยต้องเผชิญกับบทลงโทษอะไร แถมยอนจินยังสามารถสารภาพหน้าตาเฉยต่อหน้าครูว่าเธอแค่ทำเพราะ ‘ทำได้’ ส่วนดงอึนก็ตกเป็นเหยื่อแค่เพราะเธอเกิดมาในครอบครัวยากจน ง่ายดายแค่นั้นเอง
ผู้กระทำที่ไม่เคยต้องรับโทษ ครูที่ใช้ความรุนแรงซ้ำเติม ตำรวจที่เพิกเฉยต่อคำร้องทุกข์ พ่อแม่ที่ขายเธอแลกกับเงิน หรือแม้แต่พระเจ้าที่ไม่เคยยื่นมือมาหา ทั้งโลกโหดร้ายมากพอจะทำให้เด็กสาวทิ้งชีวิตตัวคนเดียวไปเงียบๆ ก่อนจะเปลี่ยนใจอยู่ต่อเพื่อวางแผนแก้แค้นแทน
ผ่านมาเกือบ 20 ปี ความสัมพันธ์ของเพื่อนทั้ง 5 คนอีรุงตุงนังไปหมด ทั้งรักทั้งเกลียดทั้งเหยียดกันเองโดยแทบจะลืมว่าเคยรวมหัวกันทารุณใครระดับปางตาย (และตายไปแล้ว) ดงอึนเฝ้ามองยอนจินได้ใช้ชีวิตอย่างสง่าผ่าเผยอย่างที่เธอว่า ใช้เส้นให้ได้งานตำแหน่งดีๆ แต่งงานกับผู้ชายที่เหมาะสม มีลูกสาวตัวน้อยให้ภูมิใจว่าเธอมี ‘สัญชาตญาณความเป็นแม่’ เช่นตอนที่ร้อนรนว่าลูกจะถูกทำร้ายเหมือนที่ตัวเองเคยทำกับลูกสาวของคนอื่น
เวลาอันยาวนานและความสุขในชีวิตที่ดงอึนเสียสละไปพาเธอมาพบความจริงที่ว่าทั้ง 5 คนในวัยผู้ใหญ่ยังคงไม่เคยรู้สึกผิดเลยเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือสร้างเรื่องให้หยิบมาใช้เป็นแต้มต่อได้อีก สุดท้ายสิ่งที่ผู้ชมอยากเห็นในซีรีส์จึงไม่มีอะไรไปมากกว่าการรอดูเธอเดินเกมอย่างเชื่องช้าไปเรื่อยๆ ก่อนจะกระชากให้คนเหล่านั้นพังทลายลงมาอย่างสาสมที่สุด แม้ตัวเองจะต้องโรยราไปพร้อมกัน
นอกจากการแก้แค้นของดงอึน สิ่งที่น่าติดตามไม่แพ้กันคือเส้นเรื่องรองของเหยื่อที่ลุกมาแก้แค้น ไม่ว่าจะเป็น จูยอจอง หมอหนุ่มผู้เข้ามาเป็นความสดใสให้ดงอึน ขณะเดียวกันก็มีด้านมืดเมื่อฆาตกรที่ฆ่าพ่อของเขาไม่เคยสำนึกผิด, คังฮยอนนัม ป้าแม่บ้านที่ถูกสามีตบตีกับลูกสาววัยเรียนของเธอ ไปจนถึงความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับ ฮาโดยอง สามีของยอนจิน ที่รู้แล้วว่าตัวเองเป็นหมากตัวหนึ่งบนกระดาน ฯลฯ หมากเกมนี้ของมุนดงอึนจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามต่อได้ในพาร์ตสองซึ่งจะลงทาง Netflix ในเดือนมีนาคมปีนี้
ภาพ: Netflix
อ้างอิง:
- https://star.ytn.co.kr/_sn/1406_202301070903018098
- https://elaw.klri.re.kr/eng_mobile/viewer.do?hseq=24031&type=new&key=
- https://edition.cnn.com/2012/07/25/world/asia/south-korea-school-bully/index.html
- https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2021/12/281_319996.html
- https://news.nate.com/view/20210225n46744?mid=n1101