เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2020 สหราชอาณาจักรได้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) สิ้นสุดการเป็นสมาชิกนาน 47 ปี อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรยังคงต้องเจรจาความตกลงฉบับใหม่ เพื่อกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 ธันวาคม 2020 จึงเรียกว่าเป็น ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ หรือ ‘Transition Period’ ที่ทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาเพื่อกำหนดกฎกติกาใหม่ระหว่างกันในมิติที่หลากหลาย ทั้งการค้า การลงทุน การประมง สิทธิพลเมือง ความร่วมมือด้านตำรวจและยุติธรรม
ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ กฎหมายสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ยังคงบังคับใช้กับสหราชอาณาจักร และประชาชนยังมีเสรีภาพในการเดินทางระหว่างกันจนถึงสิ้นปี 2020
การเจรจาความสัมพันธ์สหภาพยุโรป-สหราชอาณาจักรภายหลัง Brexit มีขึ้นแล้วรวม 4 ครั้ง โดยรอบแรกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 มีนาคม 2020 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หลังจากนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในยุโรป ทำให้คณะเจรจาทั้งสองฝ่ายต้องปรับมาใช้การประชุมผ่านระบบวิดีโอคอล โดยมีการเจรจาอีก 3 รอบ ในช่วงวันที่ 20-24 เมษายน, วันที่ 11-15 พฤษภาคม และวันที่ 2-5 มิถุนายน 2020
การเจรจามาได้ครึ่งทางแล้ว…แต่ไร้ความคืบหน้า
สหภาพยุโรปยืนยันท่าทีว่า จะยอมเปิดตลาดให้สหราชอาณาจักรแบบปลอดภาษีและปลอดโควตา (Zero Tariffs, Zero Quotas) ก็ต่อเมื่อสหราชอาณาจักรยอมรับกฎเกณฑ์เพื่อสร้างความเสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจ (Level Playing Field) และสิทธิของชาวประมงยุโรปในน่านน้ำของสหราชอาณาจักรเท่านั้น
นอกจากประเด็นเรื่องการค้าแล้ว ยังมีอีก 2 ประเด็นสำคัญ ที่ทั้งสองฝ่ายยังหาทางออกร่วมกันไม่ได้ ได้แก่ เรื่องความร่วมมือทางอาญา และเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร (Governance)
- หลักการสร้างความเสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจ หรือ Level Playing Field
ฝ่ายสหภาพยุโรปตั้งเป็นกฎเหล็กว่า สหราชอาณาจักรจะต้องยอมรับที่จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และมาตรฐานของสหภาพยุโรปต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน เช่น มาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาษี กฎระเบียบเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือของรัฐ และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่ง มิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรปกล่าวว่า ฝ่ายสหราชอาณาจักรไม่ต้องการที่จะปฏิบัติตามกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล General Data Protection Regulation ปี 2018 ของสหภาพยุโรปอีกต่อไป และยังจะให้สหภาพยุโรปขัดกฎหมายและคำพิพากษาของศาลยุโรปเองอีกในเรื่องการเก็บข้อมูลผู้โดยสารเครื่องบินหรือ Passenger Name Record โดยฝ่ายสหภาพยุโรปมองว่า หากยอมให้มีการใช้มาตรฐานที่ต่างกัน ก็อาจทำให้บริษัทของสหราชอาณาจักรดำเนินธุรกิจได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าบริษัทยุโรป และได้เปรียบบริษัทยุโรปอย่างไม่เป็นธรรม
- การประมง
ตามกฎหมาย Common Fisheries Policy ของสหภาพยุโรป เรือประมงของทุกประเทศสมาชิกมีสิทธิเข้าไปทำประมงในน่านน้ำของสมาชิกประเทศอื่นได้อย่างเต็มที่ (ยกเว้นทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล) ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีชาวประมงของประเทศข้างเคียง เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เข้าไปทำประมงในน่านน้ำของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นแหล่งจับปลาสำคัญและได้ประโยชน์แบบที่ฝ่ายสหราชอาณาจักรมองว่าไม่เป็นธรรม และต้องการใช้ Brexit เป็นโอกาสในการทวงคืน ‘อธิปไตย’ เรื่องการประมงกลับมาจากสหภาพยุโรป โดยเสนอวิธีการจัดสรรโควตาจับปลาใหม่ เรียกว่า Zonal Attachment ที่โยงสิทธิในการจับปลากับปริมาณปลาที่มีอยู่ในน่านน้ำของแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้โควตาการจับปลาของสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่โควตาการจับปลาของประเทศยุโรปอื่นจะน้อยลงอย่างมาก นอกจากนี้สหราชอาณาจักรยังต้องการเจรจาการจัดสรรโควตาเป็นรายปี ในขณะที่ฝ่ายสหภาพยุโรปพยายามคงโควตาปัจจุบันไว้และต้องการจัดทำความตกลงกำหนดโควตาอย่างถาวร เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับอุตสาหกรรมประมงของตนภายหลัง Brexit
- ความร่วมมือทางอาญา
สหภาพยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีความร่วมมือทางอาญาระหว่างกันสูง ทั้งในระดับตำรวจและระดับศาล เช่น หมายจับ European Arrest Warrant และองค์การตำรวจของสหภาพยุโรป (Europol) การที่สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันต่อไปในเรื่องการปราบปรามอาชญากรรม ก็น่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปตั้งเงื่อนไขว่า หากสหราชอาณาจักรจะต้องการเข้าถึงฐานข้อมูลของ Europol ต่อไป สหราชอาณาจักรก็จะต้องยอมรับเขตอำนาจของศาล European Court of Justice เช่นกัน ซึ่งสหราชอาณาจักรไม่ต้องการ และประสงค์ทวงคืน ‘อธิปไตย’ ด้านงานยุติธรรม นอกจากนี้สหราชอาณาจักรยังแสดงท่าทีที่จะลดพันธกรณีของตนภายใต้ European Convention on Human Rights เพราะไม่พอใจกับคำพิพากษาของศาล European Court of Human Rights (ซึ่งก่อตั้งโดย European Convention Human Rights และเป็นคนละศาลกับ European Court of Justice) ในหลายคดี เช่น เรื่องสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของผู้ต้องขัง เรื่องอำนาจของตำรวจในการขอค้นตัว และสิทธิของผู้ต้องหาในคดีผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น
- โครงสร้างการบริหารจัดการความสัมพันธ์สหภาพยุโรป–สหราชอาณาจักร (Governance)
ฝ่ายสหภาพยุโรปยืนยันที่จะจัดทำความตกลงครอบคลุมรอบด้าน (Comprehensive Agreement) ฉบับเดียวซึ่งมีทั้งมิติเศรษฐกิจ ความมั่นคงและสังคม รวมทั้งให้มีข้อบททั่วไปเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดพันธกรณี อย่างไรก็ดี ฝ่ายสหราชอาณาจักรต้องการแยกการเจรจาแต่ละเรื่องออกจากกัน ไม่นำมาโยงกัน และแยกออกเป็นความตกลงหลายฉบับ ซึ่งเป็นสิ่งที่บาร์นิเยร์ หัวหน้าคณะผู้แทนของสหภาพยุโรปยืนยันว่า จะไม่ยอมให้ฝ่ายสหราชอาณาจักรเลือกเอาแต่สิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์ หรือ Cherry Picking
จับตา Key Dates ช่วงครึ่งปีหลัง
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2020 ผู้นำสหภาพยุโรป ได้แก่ ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป (European Council), อูร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และ เดวิด ซัสโซลี ประธานสภายุโรป ได้หารือทางโทรศัพท์กับ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไม่ต่ออายุช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 นี้ แต่แสดงความมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดการเจรจาเพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อประโยชน์ของพลเมือง EU และสหราชอาณาจักร นั่นหมายความว่า เหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือน ที่สหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักรจะต้องพยายามหาทางออกร่วมกันบางอย่าง เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจาก Brexit ต่อภาคเอกชน ซึ่งก็ตกที่นั่งลำบากอยู่แล้วจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2020 การเจรจา Brexit น่าจะเข้มข้นขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดการเจรจาทุกสัปดาห์ และจะจัดให้มีการประชุมแบบได้เจอหน้ากันบ้าง หลังจากต้องประชุมวิดีโอคอลกันมาหลายเดือน
เดือนตุลาคม 2020 สหภาพยุโรปหวังว่าการเจรจาจะสิ้นสุดลง และสามารถเสนอร่างความตกลงความสัมพันธ์สหภาพยุโรป-สหราชอาณาจักรฉบับใหม่ต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป (European Council Summit) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 15-16 ตุลาคม 2020 หลังจากนั้นร่างความตกลงก็จะต้องผ่านความเห็นชอบของสภายุโรป เพื่อให้สัตยาบันให้ทันภายในสิ้นปี
ในส่วนสหราชอาณาจักรก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายใน เพื่อขอความเห็นชอบในการให้สัตยาบันความตกลงเช่นกัน ก่อนที่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2020
Deal or No Deal?
ในกรณีที่สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ กันได้เลยก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรป-สหราชอาณาจักรก็จะเปลี่ยนจากระบบตลาดเดียว (Single Market) กลับไปสู่การทำการค้าภายใต้กฎเกณฑ์ WTO กล่าวคือ จากที่สินค้าสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างสองโซนได้โดยปลอดภาษี ปลอดโควตา และปลอดพิธีศุลกากร ก็จะกลายเป็นว่ามีกำแพงภาษีเกิดขึ้น สินค้าต้องผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านพรมแดน มีกระบวนการขอใบรับรองและใบอนุญาตเพื่อส่งออก-นำเข้า รวมทั้งอาจมีการใช้มาตรการอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ ด้วย เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เป็นต้น
สถานการณ์ข้างต้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทวีปยุโรปก็ต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งประวัติการณ์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอยู่แล้ว และไม่ต้องการให้ Brexit มาซ้ำเติมแผลทางเศรษฐกิจอีก
สื่อรายงานว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรอาจจะเปลี่ยนใจไม่ตั้งด่านศุลกากรอย่างเต็มรูปแบบสำหรับสินค้าที่มาจากสหภาพยุโรป เพื่อเข้าสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงเปลี่ยนผ่านสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 อีกต่อไป โดยอ้างคำกล่าวของ โมเคิล โกฟ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ที่ยอมรับว่า ภาคธุรกิจอาจจะไม่สามารถปรับตัวกับกระบวนการใหม่ๆ ได้ทัน ในขณะที่ยังต้องต่อสู้กับวิกฤตไวรัสโคโรนาอยู่
ในส่วนของสหภาพยุโรป มิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าคณะเจรจา กล่าวว่า ฝ่ายสหภาพยุโรปพร้อมที่จะประนีประนอมในบางประเด็น แต่ก็ย้ำหนักแน่นเรื่องการไม่ยอมให้สหราชอาณาจักรเลือกเอาแต่เรื่องที่ได้ประโยชน์กับตน (Cherry Picking) และไม่ได้ระบุว่า สหภาพยุโรปจะยอมประนีประนอมในประเด็นใด
แม้จะไม่สามารถตกลงกันได้ทุกเรื่องก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2020 แต่ทั้งสองฝ่ายก็น่าจะพยายามเจรจาตกลงในบางประเด็นสำคัญให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการค้า เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ซึ่งมองในแง่ดี วิกฤตโควิดก็ดูเหมือนจะเป็นตัวแปรพิเศษที่เข้ามาบังคับให้ทั้งสองฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น และยอมประนีประนอมท่าที เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Hard Brexit โดยต้องพยายามประคับประคองให้เครื่องบิน Brexit ลำนี้ลงจอดอย่างนุ่มนวลที่สุด
นัยของ Brexit ต่อเศรษฐกิจไทย
สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับที่ 21 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวมเมื่อปี 2019 ประมาณ 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปสหราชอาณาจักร 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด (ไทยได้ดุลการค้าเล็กน้อย) สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปสหราชอาณาจักร เช่น ไก่แปรรูป รถยนต์และอุปกรณ์ อัญมณี แผงวงจรไฟฟ้า โดยที่มูลค่าการค้าระหว่างกันค่อนข้างน้อย ไทยจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบใดมากจาก Brexit นอกจากนี้ การค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรไม่ว่าจะก่อนหรือหลัง Brexit ก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันขององค์การการค้าโลก
อนึ่ง ในประเด็นเรื่องโควตาภาษี ที่ผ่านมาไทยได้รับโควตาส่งออกไปสหภาพยุโรปในอัตราภาษีต่ำรวม 31 รายการ ภายหลัง Brexit สหภาพยุโรปจะปรับลดโควตาลง เพราะอังกฤษก็จะมีโควตาของตนเองด้วย ในการนี้ ไทยจึงอยู่ระหว่างเจรจาโควตาภาษีกับสหภาพยุโรปและอังกฤษใหม่สำหรับสินค้า เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ปลากระป๋อง ปีกไก่ เป็นต้น โดยเป้าหมายคือให้โควตารวม (ของสหภาพยุโรปกับอังกฤษ) ไม่ลดลงจากที่สหภาพยุโรปเคยจัดสรรให้ไทยก่อน Brexit นอกจากนี้หน่วยงานของไทยและสหราชอาณาจักรก็กำลังจัดทำรายงานเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันในอนาคตต่อไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล