ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบดูหนังหลายรอบ ส่วนใหญ่เป็นเพราะอรรถรสและความประทับใจที่ได้จากหนังเรื่องนั้นๆ แต่น้อยครั้งที่จะวิเคราะห์มันอย่างแท้จริง จนกระทั่งได้เข้าร่วมคลาส The Film Master Craft ของ Camp G The X Gen 2019 ที่ได้ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัลจาก อนธการ (The Blue Hour) และ มะลิลา (Malila: The Farewell Flower) หนังตัวแทนประเทศไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 91 ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และเจ้าของ 7 รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 28 โดยเฉพาะสาขาหลักอย่างผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ภายในคลาส นุชชี่แกะโค้ดลับในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Acting Style, Time and Space, Pacing และ Motive พร้อมๆ กับชวนผู้ร่วมคลาสพูดคุยในหลายประเด็น เช่น
- การเล่นใหญ่ของนักแสดงให้ความรู้สึกอย่างไรกับคุณ
- หนังบางเรื่องที่ว่าอินดี้ เขาทิ้งจังหวะหรือบทพูดที่จับใจความได้ยากไว้ทำไม
- ความช้าและความเร็วในการเปิดเผยเรื่องราวหรือคลี่คลายอะไรบางอย่างเกิดขึ้นด้วยไอเดียแบบไหน
- ระหว่างทางผู้เขียนได้ดูหนังและวิเคราะห์ร่วมกันกับนุชชี่ และร่วมเวิร์กช็อปไปพร้อมกับเพื่อนๆ ในคลาส
เริ่มต้นคลาสด้วย Acting Style วิชาที่ว่าด้วย ‘การแสดง’ ของนักแสดงว่าจัดอยู่ในประเภทใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ‘น้อยแต่มาก’ หรือการแสดงแบบหนังฮอลลีวูดเองก็มีรูปแบบการแสดงราวๆ นี้อยู่ ซึ่งหนังที่เราดูกันอยู่ที่หน้าจอล้วนผ่านการดีไซน์จากผู้กำกับมาแล้วว่าอยากจะเน้นบทพูดตรงจุดไหน บางทีอยากตัดทอนความเลอะเทอะ หรือควรเรียบเรียงฉากเหล่านั้นออกมาอย่างไร ฯลฯ
Dramatic คือการแสดงที่คนดูอย่างเราคุ้นมากที่สุด คือค่อยๆ ไล่อารมณ์ของคนดูให้ขึ้นสู่จุดพีกก่อนจะคลี่คลายในที่สุด เช่น The Wife (2017) กำกับโดย บียอร์น รุงเกะ หรือ Green Book (2018) กำกับโดย ปีเตอร์ ฟาร์เรลลี
Realistic จะมีความสะเปะสะปะของเรื่องมาก เหมือนกับชีวิตคนจริงๆ ที่บางทีก็หันไปคุยกับเพื่อนบ้าง หรือเกาหัวเกาแขนกันไป อย่างเรื่อง Ma’ Rosa (2016) กำกับโดย บริลลันเต เมนโดซา แค่ดูตัวอย่างนี้คุณก็จะเข้าใจเลยว่า Realistic คืออะไร
https://www.youtube.com/watch?v=Wyd31XIB6yM
Minimalist จะมีการเรียงลำดับเรื่อง ตัดทอนความเทอะทะหลายอย่างออกไป และที่แตกต่างอย่างสุดขั้วคือ Atmospheric ที่ตัวละครกลืนเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศ เพราะบรรยากาศสำคัญกับเรื่องมากกว่า ซึ่งต่างกันสุดขั้วกับ Exaggurate ที่จะขยายการแสดง มีความเกินจริงสูง อย่างหนังเรื่อง The Favourite (2018) ที่เป็นหนังพีเรียดอยู่แล้ว ผู้กำกับอาจจะอยากเติมความแตกต่างเข้าไปในตัวหนังด้วยการให้นักแสดงเล่นใหญ่ขึ้น จริงให้น้อยลง
แต่ใช่ว่าหนังเรื่องหนึ่งจะใช้การแสดงแบบเดียวกันเสมอไป ความจริงอาจใช้หลายๆ รูปแบบผสมกัน เช่น มีการแสดงที่รวมทั้ง Dramatic และ Minimalist ก็ไม่ผิดอะไร แล้วแต่ผู้กำกับว่าอยากจะเน้นอะไรในฉากนั้นๆ
Green Book (2018), The Wife (2017), The Favourite (2018)
อีกหัวข้อที่นุชชี่ชวนเราสังเกตคือ Time and Space เพราะช่วงเวลามีผลกับความรู้สึกมาก ผู้กำกับจะเป็นคนคิดและดีไซน์ว่าจะลดทอนช่วงเวลาของหนังอย่างไร อะไรคือสิ่งที่สำคัญ อะไรคือสิ่งที่ไม่สำคัญ
นุชชี่ชวนสังเกตว่าตอนจบของหนังหรือการย้อนเหตุการณ์อีกรอบนั้นทำได้หลายแบบมาก แต่ก็แล้วแต่ผู้กำกับ เช่น Slumdog Millionaire (2008) กำกับโดย แดนนี่ บอยล์ ช่วงท้ายมีการใช้แฟลชแบ็กเล่าให้เห็นการพลัดพรากของพระเอก-นางเอกระหว่างที่ทั้งสองวิ่งมาเจอกันที่สถานีรถไฟ ส่วน La La Land (2016) กำกับโดย เดเมียน ชาเซล ก็เล่าแฟลชแบ็กอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือแฟลชแบ็กความสุขและความน่าจะเป็นของพระเอก-นางเอก ซึ่งความจริงก็ไม่มีใครผิดหรือถูก สิ่งที่เรียนรู้ได้คือเครื่องมืออย่าง ‘เวลา’ นั้นสำคัญกับหนังมาก และผู้กำกับก็เลือกที่จะให้ความสำคัญกับอะไรก็ได้
Slumdog Millionaire (2008), La La Land (2016)
เคยสังเกตไหมว่าบางทีเรารู้เลยว่าจังหวะต่อไปของหนังจะต้องเกิดการยิงระเบิดแน่ๆ หรือว่าเป็นฉากที่ตัวเอกจะพูดประโยคเด็ดๆ บางอย่างแน่ๆ นี่คือเรื่องของ Pacing หรือจังหวะของหนัง ผู้กำกับต้องกลายเป็นคอนดักเตอร์เพื่อกำหนดความช้า-เร็วในการเปิดเผยเรื่องราว รวมทั้งการโต้ตอบกันของนักแสดง เช่น ฉากบทพูดที่จะเปิดเผยตัวตนของตัวเอกในหนังเรื่อง Moonlight (2016) ที่กำกับโดย แบร์รี เจนกินส์ ใช่ว่าจะโพล่งออกมาเลย แต่ผู้กำกับดึงจังหวะช้า-เร็วเรื่อยๆ เพื่อให้คนดูลุ้นว่าตัวเอกจะพูดอะไรต่อไป
สิ่งล้ำค่าของคลาสนี้คือการได้เวิร์กช็อปกับเพื่อนๆ ตั้งแต่ลองจัดเรียง Time and Space ของหนังเรื่อง อนธการ ใหม่ หรือลองปรับจังหวะบทพูดของหนังและวิเคราะห์กันกับโค้ชเจ้าของคลาส
คลาสนี้เปลี่ยนมุมมองเรื่องการทำหนังและการดูหนังของผู้เขียนได้ จากการที่คิดว่าการทำหนังคือเรื่องของศิลปะ คือเซนส์ของผู้กำกับ แต่จริงๆ แล้วมันก็มีทฤษฎีเหล่านี้ที่สามารถอธิบายและแบ่งหมวดหมู่ให้เราไปสืบค้นต่อได้ด้วย
The Film Master Craft เป็นคลาสที่ 2 ในปีนี้จาก Camp G The X Gen 2019 และจะตามมาอีกหลายคลาสหลากศาสตร์ที่จะเปิดมุมมองความคิดของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ เช่น
- คลาส The Sound Creator โดย ต้าร์-สักกพิช มากคุณ (ผู้ร่วมก่อตั้ง Rap is Now), เดียร์ T-Biggest – ศุภณัฐ ปรีย์วัฒนานันท์ (ผู้ก่อตั้ง Beatsway)
- คลาส Experience Design โดย เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และนัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล (ผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill)
- คลาส The Acting Effect โดย ครูร่ม-ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์ (แอ็กติ้งโค้ช ผู้ก่อตั้ง Spark Drama Studio), ครูบิว-อรพรรณ อาจสมรรถ (แอ็กติ้งโค้ช ผู้ก่อตั้ง Bew’s Act-Things Studio) และครูกุ๊กไก่-รังสิมา อิทธิพรวณิชย์ (แอ็กติ้งโค้ช ผู้ก่อตั้ง ActionPlay)
- และปลายปีกับคลาสนิเวศวิทยาการสร้างสรรค์งาน โดย เต๋อ-นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์ (ผู้กำกับ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย..ห้ามพัก..ห้ามรักหมอ)
ผู้สนใจสามารถเข้าไปทำความรู้จักกับทุกคลาสของ Camp G Academy ตลอดปีนี้ได้ที่ www.facebook.com/watch/?v=279411256274558
และเช็กตารางเรียนพร้อมจองคลาสที่ชอบได้ทาง www.ticketmelon.com/campg/campgthexgen
ภาพ: G Village
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์