×

คดีหุ้น ITV ชี้ชะตา ‘พิธา’ ได้กลับเข้าสภา หรือต้องอยู่ข้างสนาม

โดย THE STANDARD TEAM
24.01.2024
  • LOADING...

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล สส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรค ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับหัวหน้าพรรคร่วมอุดมการณ์ก่อนหน้านี้คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในคดีการถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 

 

การถือหุ้น ITV ของพิธากลายเป็นเรื่องร้อนไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 หลังถูก เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สอบกรณีที่พิธาถือหุ้น ITV 

 

ก่อนที่ กกต. จะส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้อง และสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในวันเดียวกับที่รัฐสภากำลังถกเถียงว่าจะสามารถลงมติให้ความเห็นชอบพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยประชุมเดียวกันได้หรือไม่ คือตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา

 

แม้ระหว่างนั้นจะมีการถกเถียงจากหลายฝ่ายว่าตกลงแล้ว ITV ถือเป็นหุ้นสื่อหรือไม่ เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้หยุดออกอากาศเป็นระยะเวลากว่า 15 ปีแล้ว คงเหลือไว้เพียงตัวบริษัทที่ใช้ในการสู้คดีความ 

 

และมีการตรวจสอบพบว่า รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ประจำปี 2566 ระบุว่า ‘บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่’ ขณะที่คลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ที่ระบุว่า ‘ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ’ ซึ่งไม่ตรงกัน จนแกนนำพรรคก้าวไกลเชื่อว่านี่คือกระบวนการปลุกผี ITV ขณะที่พิธาเองก็ยืนยันว่าการถือหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่มาจากผู้เป็นบิดา โดยตนเองถือในฐานะผู้จัดการมรดก

 

และในช่วงบ่ายวันนี้ (24 มกราคม) เวลา 14.00 น. จะเป็นช่วงนาทีชี้ชะตา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าจะพ้นจากเก้าอี้ สส. หรือไม่ THE STANDARD ชวนไล่ลำดับข้อมูลภาพรวมคดีก่อนฟังคำวินิจฉัยพร้อมกัน

 

เส้นทางคดีจากวันเริ่มต้นถึงวันชี้ชะตา

 

  • 24 เมษายน 2566: นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร สส. กทม. พรรคภูมิใจไทย เปิดประเด็นนักการเมืองถือหุ้น ITV

 

  • 26 เมษายน 2566: ITV จัดประชุมผู้ถือหุ้น มีการตอบผู้ถือหุ้นว่าบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท 

 

  • 10 พฤษภาคม 2566: เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ พรรคพลังประชารัฐ ร้อง กกต. ให้ตรวจสอบ ‘พิธา’ / ITV ส่งงบการเงินระบุประเภทธุรกิจเป็นสื่อโทรทัศน์ 

 

  • 6 มิถุนายน 2566: พิธาชี้แจงว่าได้โอนหุ้นให้กับทายาทอื่น ยืนยันไม่ได้โอนหนีความผิด

 

  • 9 มิถุนายน 2566: กกต. รับเรื่องไว้พิจารณาเป็นความปรากฏ

 

  • 11 มิถุนายน 2566: ข่าว 3 มิติ รายงานความผิดปกติในรายงานประจำปี 2566 ITV มีเนื้อหาที่ไม่ตรงกับข้อมูลบันทึกการประชุม

 

  • 12 กรกฎาคม 2566: กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

 

  • 19 กรกฎาคม 2566: ศาลรับคำร้องสั่ง ‘พิธา’ หยุดการปฏิบัติหน้าที่ สส.

 

  • 15 กันยายน 2566: ‘พิธา’ ลาออกหัวหน้าพรรคก้าวไกล

 

  • 20 ธันวาคม 2566: ศาลนัดไต่สวนพยานบุคคล ‘พิธา’ บอกสื่อ “รอวันนี้มานาน มั่นใจในข้อเท็จจริง และหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม ยินดีตอบทุกคำถามให้สิ้นข้อสงสัย

 

  • 24 มกราคม 2567: ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย เวลา 14.00 น.

 

พิธาแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร

 

พิธายืนยันมาตลอดว่าตนเองมั่นใจในความบริสุทธิ์ มั่นใจในเจตนา รวมถึงข้อเท็จจริงที่ใช้ในการต่อสู้คดี จึงไม่ได้กังวลใจแต่อย่างใด และมั่นใจว่าจะได้กลับมาเข้าสภาอีกครั้งในฐานะ สส. 

 

โดยไม่กี่วันก่อนหน้านี้ได้เผยแพร่ข้อเท็จจริง 6 ข้อ ผ่านคลิปความยาว 7.03 นาทีทางสื่อออนไลน์ของพรรคก้าวไกล ภายใต้หัวข้อ ‘เปิดข้อมูลคดีหุ้นสื่อ ทำไมพิธาจะได้กลับเข้าสภา 24 มกราคมนี้’ ดังนี้

 

  1. ไม่มีใบอนุญาตคลื่นความถี่ เนื่องจากไอทีวีถูกรัฐบาลไทยแจ้งยกเลิกสัญญาตั้งแต่ พ.ศ. 2550

 

  1. ภายหลังมีการออก พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก่อให้เกิด ‘สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส’ ส่งผลให้ไอทีวีต้องเลิกประกอบกิจการโทรทัศน์ รวมถึงยังมีคดีพิพาทเกี่ยวกับค่าเสียหายในศาลปกครองกับรัฐบาลไทยด้วย

 

  1. คิมห์ ประธานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ยืนยันต่อศาลว่า ไอทีวีไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ ไม่มีการทำสื่อ และยังไม่มีแผนจะทำสื่อ และถ้ายึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะศาลเคยเห็นว่าหากไม่มีรายได้จากการทำสื่อก็ไม่ถือเป็นสื่อ

 

  1. ไม่มีหลักฐานจดแจ้งการพิมพ์ จึงไม่อาจเป็นผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อื่นได้

 

  1. ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณา จึงไม่อาจประกอบกิจการดังกล่าวได้

 

  1. ศาลปกกครองสูงสุดเคยชี้ว่าไอทีวีไม่ปรากฏหลักฐานการดำเนินการสื่อวิทยุโทรทัศน์แล้ว

 

นอกจากนั้น ในคลิปยังได้กล่าวถึงรายละเอียดคำสั่งศาลแพ่ง ตั้งพิธาเป็นผู้จัดการมรดกถือหุ้นไอทีวี

 

เช็กข้อกฎหมาย ‘สส.-รัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรี’ ห้ามถือครองหุ้นสื่อ

 

ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 160 ได้กำหนดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีไว้ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. 

 

นั่นเท่ากับว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ‘ห้ามถือครองหุ้นสื่อ’

 

สำหรับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ระบุไว้ดังนี้

  1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี
  3. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
  4. มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  5. ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
  6. ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (คุณสมบัติ สส.)
  7. ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
  8. ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปีนับถึงวันแต่งตั้ง

 

อ้างอิง: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

 

ปัจจุบันของหุ้น ITV 

 

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ITV คือ บริษัท อินทัช โฮสดิ้ง จำกัด ถือหุ้นประมาณ 75% ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 

 

สถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้ยุติการออกอากาศตั้งแต่ปี 2550 และได้ถอนชื่อออกจากตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2557 สาเหตุที่ยังคงสถานะเป็นบริษัท เพราะยังมีการฟ้องร้องอยู่กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จากการที่ สปน. ยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ทำกับ บมจ.ไอทีวี

 

แล้วคำวินิจฉัยเป็นแบบไหนได้บ้าง

 

THE STANDARD สรุปฉากทัศน์ของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ 5 แนวทางที่อาจเป็นไปได้ ดังนี้

 

แนวทางที่ 1: ถือครองหุ้นจริง และหุ้นดังกล่าวประกอบกิจการสื่อจริง
จึงถือว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ให้พ้นจากตำแหน่ง สส.

 

แนวทางที่ 2: ถือครองหุ้นจริง และหุ้นดังกล่าวประกอบกิจการสื่อจริง ไม่เข้าข่ายครอบงำ

จึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ไม่พ้นจากตำแหน่ง สส

 

แนวทางที่ 3: ถือครองหุ้นจริง แต่หุ้นดังกล่าวไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ

จึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ไม่พ้นจากตำแหน่ง สส.

 

แนวทางที่ 4: ไม่ได้ถือครองหุ้น แต่หุ้นดังกล่าวประกอบกิจการสื่อ 

จึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ไม่พ้นจากตำแหน่ง สส.

 

แนวทางที่ 5: ไม่ได้ถือครองหุ้น และหุ้นดังกล่าวไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ 

จึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ไม่พ้นจากตำแหน่ง สส.

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X